“การประเมิน” ส่วนเกิน หรือ ความจำเป็น?


.... จะได้ตระเตรียมข้อมูลได้ตรงจุด ....จะได้ “เข้าตากรรมการ” ....จะได้ “สอบผ่าน” เรียกได้ว่า “เบิกบาน” กันทั้งสองฝ่าย ....ฝ่ายที่ถูกประเมิน ก็จะได้รับการ “ประทับตรา” ว่าที่ทำมานั้น O.K......
        ทำงานโดยไม่มีการประเมินได้ไหม? ....เรียนหนังสือโดยไม่ต้องมีการสอบได้ไหม? . . . สอบไปทำไม? . . . ประเมินไปทำไม? ....ถ้าไม่มีการสอบแล้วคนจะตั้งใจเรียนไหม? ถ้าไม่มีการประเมินแล้วคนจะตั้งใจทำงานไหม? . . . แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าที่ทำๆ กันอยู่นี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง . . . เดินไปถูกทาง?
ความคุ้นชินบอกเราว่า ....การประเมินเป็นสิ่งที่ ไม่มีไม่ได้ หลักการบริหารส่วนใหญ่สอนเราว่าถ้าจะทำอะไร ต้องมีการวางแผน  ...แล้วจึงไปดำเนินงาน  และก็ต้องประเมินผลสิ่งที่ได้ทำไปด้วย จะได้รู้ว่า .... ต้องแก้ไข พัฒนางานอย่างไร ต่อไปในอนาคต
นักคิดหลายคนได้ตั้งคำถามในทำนองที่ว่า การที่เรานำข้อมูลในอดีตมาใช้กำหนดอนาคตนั้น เป็นสิ่งที่สมควรทำหรือไม่? เพราะอนาคตนั้นมิใช่ส่วนต่อ (projection) ของอดีตที่ยื่นออกไป ในขณะเดียวกันก็มีหลายท่านเช่นกันสะท้อนในทางที่กลับกันว่า เราน่าจะเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ เรียนรู้จากข้อมูลในอดีต เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา
ผมคงจะไม่มาวิเคราะห์หรอกครับว่า คำพูดใดผิด คำพูดใดถูก เพราะผมเชื่อว่าในทุกคำพูดทุกหลักการนั้นมีทั้งผิดและถูกอยู่ในตัว ไม่มีสิ่งใดถูกต้องสมบูรณ์จนใช้ได้ในทุกกรณี และก็ไม่มีสิ่งใดที่ผิดไปเสียทั้งหมด จนใช้การอะไรไม่ได้ ...ตัวผมเองยอมรับครับว่าสนใจเฉพาะในมุมมองของการปฏิบัติ (practical point of view) มากกว่า จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันนั้นมีหลักการบริหารใหม่ๆ เข้ามาให้ลองใช้ในองค์กรมากมายเหลือเกิน
แต่ละอย่างล้วนอ้างสรรพคุณต่างๆ นานา บอกว่าจะสามารถช่วยให้งานดีขึ้น ได้คุณภาพ มีประสิทธิภาพ ฯลฯ .... แต่ครั้นพอนำเข้ามาใช้จริงๆ หลายสิ่งเริ่มทำให้ผู้ปฏิบัติงานเริ่มอึดอัด ...รู้สึกว่าเป็นภาระที่เพิ่มขึ้น ทำให้ตนไม่ได้ให้ความสนใจ (concentrate) กับงานหลักมากเท่าที่ควร ....ไม่ได้ใช้เวลาอยู่กับลูกค้า ....ครูมีเวลาอยู่กับลูกศิษฐ์น้อยลง เพราะต้องไปใช้เวลาตระเตรียมข้อมูลเอกสารเพื่อให้เป็นไปตามที่ผู้ประเมิน ตัองการเป็นต้น
การทำงานทุกวันนี้ มันแปลกดีนะครับ ....จะทำอะไรสักอย่าง เราต้องทำทั้งหมดอย่างน้อย สามครั้ง ด้วยกัน ครั้งแรกตอนที่วางแผนว่าเราจะทำอะไร อย่างไร ที่ไหน เมื่อไร ....ครั้งที่สองตอนที่ลงไม้ลงมือทำจริง และครั้งที่สามก็ตอนที่ต้อง ท้าพิสูจน์ (defense)” ให้เห็นว่า สิ่งที่ได้ทำลงไปนั้น เป็นไปตามเป้าหมาย ได้ ประสิทธิผล ตามที่พูดไว้ ซึ่งก็ต้องอาศัยการประเมินนี่แหละครับ
 การประเมินส่วนใหญ่เป็น การวัด สิ่งที่สามารถ วัดได้ ...หลายคนพูดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถวัดได้ทั้งสิ้น ซึ่งผมเองไม่เคยเห็นด้วยกับคำพูดนี้เลย! ผมเองกลับมองว่าสิ่งที่สำคัญยิ่ง มักจะเป็นสิ่งที่วัดได้ค่อนข้างยาก ตัวอย่างเช่น เรื่องแรงบันดาลใจ หรือ เรื่องผลลัพธ์ที่ออกมาในเชิงนามธรรม ผมเคยอ่านพบในหนังสือเล่มหนึ่ง (รู้สึกว่าจะชื่อ Synchronicity) บอกว่าการวัด หรือที่ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Measurement” นั้น มีรากศัพท์คำเดียวกันกับคำว่า มายา ซึ่งก็หมายถึง สิ่งลวงตา นั่นเอง
สรุปว่า การวัดนั้นเป็นมายาอย่างหนึ่ง ซึ่งก็น่าจะถือว่าเป็นเรื่องที่ธรรมดา เพราะเราต่างก็รู้ดีว่าเรานั้นอยู่ในโลกแห่ง สมมติบัญญัติ เรายังไม่ได้ หลุดโลก ไปไหน ...เพียงแต่เราคงจะต้องทำความเข้าใจ ตื่นรู้ รู้ตัวในทุกขณะด้วยครับ จะได้ไม่ หลง ติดอยู่แต่ในโลกแห่งสมมติจนมองไม่เห็นโลกแห่ง ปรมัตต์ ซึ่งก็จะทำให้เราพลาดจาก ความจริงแท้ หรือ ความเข้าใจใน ธรรมชาติ (ธรรมะ) ไปอย่างน่าเสียดาย!
ผมเองยังคงห่าง ธรรมะ จึงละความหงุดหงิดไม่ได้ ...ยอมรับครับว่าต้อง ทำใจ ทุกครั้งที่ถูกดึงให้ไปเกี่ยวข้องกับการประเมิน ทั้งๆ ที่การประเมินหลายที่ กรรมการที่มาประเมินก็แสนจะใจดี ...ท่านมักจะบอกพวกเราเสมอว่า ....ที่ท่านมองหาอยู่นี้คืออะไร? เราจะได้ตระเตรียมข้อมูลได้ตรงจุด ....จะได้ เข้าตากรรมการ ....จะได้ สอบผ่าน เรียกได้ว่า เบิกบาน กันทั้งสองฝ่าย ....ฝ่ายที่ถูกประเมิน ก็จะได้รับการ ประทับตรา ว่าที่ทำมานั้น O.K. (อาจจะมี comment บ้างเล็กน้อย จะได้ดูไม่เข้าข้างจนเกินไป!) ส่วนฝ่ายที่มาทำหน้าที่ประเมิน ก็จะได้ชื่อว่าได้ทำตามหน้าที่ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว มีหลักฐานข้อมูลยืนยันอย่างชัดเจน ว่าผลการประเมินที่ออกมานี้มิได้มั่วมา ทุกอย่างเป็นไปอย่าง มืออาชีพ
สคส. กำลังอยู่ในช่วงการประเมินครับ ผมได้รับมอบหมายให้เขียนสรุปผลการดำเนินงาน และให้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดจากผู้ปฏิบัติงานส่งกรรมการประเมิน ผมเองมักจะ พลัดวันประกันพรุ่ง ในเรื่องนี้เรื่อยมา อ้างกับตัวเองว่าไม่ค่อยมีเวลาที่จะมา concentrate เรื่องนี้ ....แต่ในวันพรุ่งนี้ก็เป็นวันที่สัญญาไว้ว่าจะส่งข้อมูลให้กับกรรมการประเมินแล้วครับ ...ผมเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า แล้วดันเอาเวลามาเขียน blog นี้อยู่ทำไม แทนที่จะไปเตรียมข้อมูลให้กรรมการประเมิน!!
หมายเลขบันทึก: 50093เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2006 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ที่ มอ.เช่นกันค่ะอาจารย์ กำลังอยู่ในช่วงรับการประเมิน และหนูเองและอีกหลายคนน่าจะเข้าใจ ประโยคนี้ของอาจารย์ดี ..."ผมเองมักจะ พลัดวันประกันพรุ่ง ในเรื่องนี้เรื่อยมา อ้างกับตัวเองว่าไม่ค่อยมีเวลาที่จะมา concentrate เรื่องนี้ ....แต่ในวันพรุ่งนี้ก็เป็นวันที่สัญญาไว้ว่าจะส่งข้อมูลให้กับกรรมการประเมินแล้วครับ" ...
ระยะนี้หนูชอบว่าตัวเอง........ ช่างเป็นคนบริหารเวลาที่ไม่ได้เรื่องซะเลย.....หนูจะเลือกทำงานที่ชอบก่อน.....การลงมือทำงานที่ไม่ชอบ...จนถึงเวลาสุดท้ายหนีไปไหนไม่ได้ต้องทำ...ยังต้องมานั่งทำใจอีกพักใหญ่....ก่อนเขียน  งานประเมินนี่หล่ะที่หนูจะเขียนเป็นเรื่องหลังสุด
มีคนบอกว่าวัฒนธรรมคุณภาพยังไม่เข้าเส้นเลือดหนูจึงไม่ชอบเขียน....  ขอบคุณค่ะ

  • ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ชอบทำรายงานส่ง เพื่อรับการประเมิน
  • ผล...เดือนหน้าต้องเปลี่ยนงาน
แวะมาให้กำลังใจอาจารย์ให้เขียนรายงานส่งให้ทันค่ะ    เป็นคนไม่ชอบถูกประเมินแต่ชักจะชอบประเมินคนอื่นค่ะ     คงจะเป็นโรคติดต่อจากระบบของต่างประเทศ    

การประเมินกับสังคมไทย เป็นสิ่งที่ทำยากมาก ทั้งตัวผู้ประเมินเองก็รู้สึกลำบากใจในการไปประเมิน และตัวผู้ถูกประเมิน ก็รู้สึกกังวลใจในการถูกประเมิน

เพราะว่าบางครั้ง บางที ไม้บรรทัดของการประเมินของทั้งสองฝ่าย อาจจะคนละอันกัน หรืออันเดียวกันแต่ใช้กันคนละด้านก็เป็นได้

เห็นด้วยกับคุณไออุ่น และการประเมินก็เป็นสิ่งที่ท้าทายหน่วยงานถูกประเมิน ที่ต้องการใช้กระบวนการพัฒนาใหม่ๆที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมตนเอง ซึ่งไม้บรรทัดเดิมเหมาะหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายผู้ประเมินเช่นกันค่ะ

ขอแสดงความคิดเห็นด้วยคนครับ โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์และจำเป็นอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือจุดมุ่งหมายและวิธีการประเมินนั้นมันต้องเหมาะสม ต้องถูกกับกาลเทศะ ถ้าทำการประเมินด้วยวิธีการที่ดี ที่ถูกต้อง สมเหตุสมผล ผลของการทำการประเมินก็จะดีและมีประโยชน์ แต่ถ้าเป็นไปในทางกลับกัน นอกจากจะไม่มีประโยชน์กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแล้วยังจะกลายเป็นโทษเกินความคาดคิด เสียเวลา เสียเงินเสียทอง และที่ร้ายแรงมากที่สุดก็คือการเกิดทัศนะคติที่ไม่สู้จะดีกับการประเมิน (ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์)
     ครั้งหนึ่งเป็นระยะเวลาที่ติดต่อกันหลายปี ผมมักจะเป็นผู้ถูกประเมินเสมอ เพราะทำงานระดับสถานีอนามัย ครานั้นผมเกลียดการมาประเมินมาก ทั้ง ๆ ที่ใช้ชื่อสวยหรูว่ามานิเทศงาน เพราะให้ความรู้สึกกับผม พี่ ๆ ที่สถานีอนามัย ว่าเราโง่เป็นนิสัย และเหมือนถูกย่ำยีทางความคิด เสร็จแล้วเขาก็กลับ
     ต่อมาผมมีโอกาสได้เป็นผู้ประเมินบ้าง เมื่อขยับมาอยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ภาพอันทรงจำที่ติดตาอยู่ จึงคิดว่าการประเมินน่าจะเป็นเครื่องมือของการพัฒนา ทั้งตัวผู้ประเมิน ผู้รับการประเมิน และองค์กรของเราเอง ผมจึงเลือกเทคนิค Empowerment Approach โดยให้เกิดบรรยากาศที่เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันจริง ๆ มักจะพบว่าหากไม่อคติใด ๆ ต่อกันจนเกินไป ผลจะออกมาเป็นกัลยณมิตรต่อกันดีมาก และดีต่อการประสานงานในห้วงเวลาต่อมาด้วย
     ยังยืนยันครับว่าการประเมินผลจำเป็นเพื่อการพัฒนาโดยเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนก่อนดำเนินงานจริง (ประเมินความเป็นไปได้) จนถึงเสร็จสิ้นตามแผนงาน/โครงการแล้วครับ

ชอบและเห็นด้วยกับทัศนะของคุณชายขอบนะคะ การประเมินเป็นเครื่องมือของการพัฒนาตนและองค์กรที่ดีเครื่องมือหนึ่ง ซึ่งจะใช้ได้ดีก็ขึ้นอยู่กับหลายๆ อย่าง เช่น ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องของผู้ประเมินและผู้รับการประเมิน เจตนาของการใช้งาน  เครื่องมือหรือเกณฑ์ที่ใช้วัดซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก (เรามักใช้เครื่องมือที่เหมือนๆ กัน แต่วัดในสิ่งที่แตกต่างกัน esp มนุษย์ซึ่งมีความแตกต่างกันในเรื่องบทบาทและภาระหน้าที่)  ดิฉันไม่เคยไปประเมินใคร แต่เป็นคนถูกประเมินที่ได้รับความเจ็บปวดมากมาก่อน (มากพอที่จะเกือบเดินออกจากองค์กรนั้นๆ)  แต่พอไปเรียนหนังสือได้เรียนหลักวิชาของการประเมิน ทำให้เห็นคุณค่าและสิ่งดีๆ อีกมาก ... มันก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่นำไปใช้ ...  ตอนนี้ก็เลยตั้งจิตว่าจะพยายามสร้างความเข้าใจให้กับคนที่เกี่ยวข้อง และสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรสำหรับการประเมิน (เน้นการประเมินเพื่อพัฒนาจริงๆ)  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝังจรรยาบรรณการประเมินเชิงสร้างสรรค์ลงไปในหัวใจของลูกศิษย์ค่ะโดยตัวเองต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่างค่ะ (มีบางครั้งก็เจ็บปวดจากการประเมินของลูกศิษย์บ้าง ก็มาทำความเข้าใจและคุยกันค่ะ)

     หากเอาอิทธิบาท ๔ มากางดูก็จะพบว่า ถ้ามีเพียง ฉันทะ  วิริยะ และ จิตตะ โดยไม่มี  วิมังสา ดูจะเสี่ยงเอามากๆ โดยเฉพาะในยุคของโลกสับสนวุ่นวายเช่นปัจจุบัน แต่การตรวจสอบทบทวน หรือ ประเมิน โดยไม่เข้าใจ หรือ ไม่มีใจ หรือ ไม่ศรัทธา  ก็ย่อมได้ความทุกข์เป็นสิ่งตอบแทน ทั้งอาจทำให้สูญเสียเวลาและทรัพยากร ไปอย่างไม่คุ้มค่าก็ได้

     โดยส่วนตัวคิดว่าการประเมินเป็นสิ่งที่ช่วยให้งานของเราพัฒนา  มีความกระตือรือร้น  ทันโลกมากขึ้น  ในขณะเดียวกัน  ก็ทำให้งานเอกสารมีมากมาย  เพื่อนๆเริ่มบ่นและเครียด

     การพัฒนาเป็นสิ่งที่เราหนีไม่พ้น  การประเมินก็เช่นกัน  ถ้าเราทำใจให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้  ยอมรับที่จะมีคนอื่นมาถามว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันดีจริงไหม  ถูกไหม  ก็จะช่วยให้เราค้นหาตัวตนของเราได้  จากเคยคิดว่าต้องทำเพื่อให้ผ่านประเมิน  มาเป็นการมองประโยชน์และคนที่ได้ประโยชน์  ตอนนี้จิตใจเริ่มสบาย  เวลาเพื่อร่วมงานบ่นเครียด  เราสามารถถ่ายทอดให้กำลังใจกันได้  ถึงแม้เส้นชัยยังมาไม่ถึง  แต่คิดว่าคงไม่ยาวไกล  เมื่อคิดว่า "หลังประเมินแล้วเราจะได้ประโยชน์อะไร"

 

แต่ละท่านให้แง่คิดที่เป็นประโยชน์มาก ..ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท