“การใช้สิทธิในสังหาริมทรัพย์ระหว่างการขนส่ง" ในกฎหมายขัดกันของไทยและ รัฐเซียเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร”


หลักถิ่นที่ทรัพย์ตั้งอยู่เจ๋งกว่าหลักสัญชาติจริงหรือ

 การใช้สิทธิในสังหาริมทรัพย์ระหว่างการขนส่ง" ในกฎหมายขัดกันของไทยและ รัฐเซียเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร 

                       กฎหมายขัดกันของรัสเซีย  มาตรา 1249  ว่าด้วยเรื่องการใช้สิทธิในสังหาริมทรัพย์ระหว่างการขนส่ง   มีใจความสาระสำคัญดังต่อไปนี้           

                  เว้นแต่ในระหว่างคู่กรณีจะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น  ท่านว่าในเรื่องการใช้สิทธิ์ในทรัพย์สินและสิทธิ์อื่นๆในสังหาริมทรัพย์ในระหว่างการขนส่งตกอยู่ภายใต้สัญญาที่ถูกกำหนดตามกฎหมายของประเทศที่สังหาริมทรัพย์ได้ถูกส่งไป

                     กฎหมายขัดกันของไทยที่มีบัญญัติไว้ใน   พรบ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481       ได้กล่าวถึงเรื่อง  การใช้สิทธิในสังหาริมทรัพย์ระหว่างการขนส่ง" ไว้ ในมาตรา 16 ซึ่งมีใจความสาระสำคัญดังต่อไปนี้ 

                      ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่ทรัพย์สินตั้งอยู่บังคับแก่สังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์อย่างไรก็ดี  ในกรณีการส่งสังหาริมทรัพย์ออกนอกประเทศให้ใช้กฎหมายสัญชาติของเจ้าของทรัพย์บังคับแก่ทรัพย์นั้นตั้งแต่เวลาส่งทรัพย์ออกนอกประเทศ 

                    หลักกฎหมายขัดกันของรัฐเซียและของไทยมีความเหมือนและความแตกต่างกันในเรื่องดังต่อไปนี้  คือ

กฎหมายขัดกันของรัฐเซียและกฎหมายขัดกันของไทย มีความเหมือนกันดังต่อไปนี้คือ

                  ตามหลักของกฎหมายโดยทั่วไปในเรื่องสัญญาของประเทศไทยนั้น ให้ถือ หลักการแสดงเจตนาโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย เป็นสำคัญ  กล่าวคือ  หากคู่สัญญาได้มีการแสดงเจตนาหรือได้ตกลงกันในเรื่องใดเป็นอย่างอื่นไม่เหมือนกับที่บัญญัติไว้ในกฎหมายของไทยไว้ในสัญญาโดยสุจริตไม่ได้ถูกบังคับหรือถูกฉ้อฉลให้แสดงเจตนาและไม่เป็นการขัดกับหลักกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน  ให้ถือข้อตกลงดังกล่าวระหว่างคู่สัญญาเป็นข้อสรุปหรือข้อกำหนดในเรื่องนั้นๆ

                        หากเปรียบเทียบหลักการแสดงเจตนาของคู่สัญญา หรือ Choice of  Law กับกฎหมายในประเทศอื่น จะเห็นได้ว่า ทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้งกฎหมายของรัฐเซียต่างให้ความสำคัญกับหลักทั่วไปนี้แทบจะทุกประเทศ  ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษและประเทศต่างๆในยุโรปที่ป็นภาคีใน EC Directive  ว่าด้วยเรื่องกฎหมายขัดกัน หรือ Applicable Law นั้น  มีหลักในการพิจารณาในปัญหาข้อกฎหมายโดยสังเขปดังต่อไปนี้  กล่าวคือ                   

                        (1)                           ให้พิจารณาในเบื้องต้นก่อนว่าคู่สัญญาได้มีการแสดงเจตนาให้ใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับใช้ก็ให้ถือว่ากฎหมายฉบับนั้นเป็น Applicable Law ที่จะใช้กำหนดเรื่องแบบ ( Formation)  ความสมบูรณ์หรือมีผลบังคับใช้ (Validity)  เรื่องสิทธิ หน้าที่ และเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

                       (2)                           หากคู่สัญญาไม่ได้แสดงเจตนาที่จะเลือกใช้กฎหมายใดที่จะมาบังคับใช้ไว้ในสัญญา  ให้นำหลักในกฎหมายขัดกันมาปรับใช้เป็นกรณีๆไป

                         ดังนั้น เราสามารถ ยกเรื่องนี้ขึ้นมาวินิจฉัยกับปัญหาความเหมือนกันของกฎหมายขัดกันของไทยและกฎหมายขัดกันของรัฐเซียโดยได้บทสรุปดังต่อไปนี้ คือ       

                           ประโยคแรกที่ว่า เว้นแต่ในระหว่างคู่กรณีจะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น  ตามมาตรา 1249 ของ   กฎหมายขัดกันของรัสเซีย  เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า ประเทศรัฐเซียให้ความสำคัญกับหลักการแสดงเจตนาของคู่สัญญาเช่นเดียวกับประเทศไทย  จึงมีความเหมือนกันตามความที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น

                        2.  กฎหมายขัดกันของรัฐเซียและกฎหมายขัดกันของไทยมีความแตกต่างกันดังต่อไปนี้คือ

                      หากคู่สัญญาไม่ได้แสดงเจตนาที่จะเลือกใช้กฎหมายใดที่จะมาบังคับใช้ไว้ในสัญญา  ให้นำหลักในกฎหมายขัดกันมาปรับใช้เป็นกรณีๆไป

                     เมื่อนำหลักทั่วไปดังกล่าวข้างต้นนี้มาปรับใช้กับเรื่อง การใช้สิทธิในสังหาริมทรัพย์ระหว่างการขนส่ง" ในกฎหมายขัดกันของไทยและ รัฐเซีย มีความแตกต่างดังต่อไปนี้            

             2.1     ขอบเขต

                  มาตรา   16  ตามกฎหมายขัดกันของไทย  มีใจความสาระสำคัญดังต่อไปนี้  ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่ทรัพย์สินตั้งอยู่บังคับแก่สังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์              

                       เมื่อทำการเปรียบเทียบบทกฎหมายของทั้งสองประเทศจะเห็นได้ว่า กฎหมายขัดกันของไทยได้ระบุในกรณีที่สังหาริมทรัพย์ไม่ได้ถูกขนส่งหรือถูกเคลื่อนย้ายไว้อย่างชัดเจนว่าให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่ทรัพย์สินตั้งอยู่บังคับแก่สังหาริมทรัพย์  ส่วนกฎหมายขัดกันของรัฐเซียไม่ได้ระบุเกี่ยวกับเรื่องนี้  ดังนั้นกฎหมายขัดกันของไทยจึงมีขอบเขตที่กว้างกว่ากฎหมายขัดกันขอรัฐเซีย            

                   2.2  กฎหมายสาระบัญญัติ

                   มาตรา 1249 ของ กฎหมายขัดกันของรัสเซีย  มีใจความสาระสำคัญดังต่อไปนี้    ท่านว่าในเรื่องการใช้สิทธิ์ในทรัพย์สินและสิทธิ์อื่นๆในสังหาริมทรัพย์ในระหว่างการขนส่งตกอยู่ภายใต้สัญญาที่ถูกกำหนดตามกฎหมายของประเทศที่สังหาริมทรัพย์ได้ถูกส่งไป

                          มาตรา 16 ของ กฎหมายขัดกันของไทย มีใจความสาระสำคัญดังต่อไปนี้   อย่างไรก็ดี  ในกรณีการส่งสังหาริมทรัพย์ออกนอกประเทศให้ใช้กฎหมายสัญชาติของเจ้าของทรัพย์บังคับแก่ทรัพย์นั้นตั้งแต่เวลาส่งทรัพย์ออกนอกประเทศ              

                          หลักตามกฎหมายขัดกันของรัฐเซียและไทยมีใจความสาระสำคัญที่แตกต่างกัน  กล่าวคือ  

                        กฎหมายขัดกันของรัฐเซียระบุให้นำกฎหมายของประเทศที่สังหาริมทรัพย์ได้ถูกส่งไป (หลักถิ่นที่ทรัพย์ตั้งอยู่) มาบังคับใช้  ส่วนกฎหมายขัดกันของไทยให้นำกฎหมายสัญชาติของเจ้าของทรัพย์ ( หลักสัญชาติ) มาบังคับใช้ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวอาจจะทำให้ได้ผลของกฎหมายที่แตกต่างกัน และหรือ ในข้อเท็จจริงที่เหมือนกันอาจต้องใช้กฎหมายที่แตกต่างกันมาบังคับใช้  กล่าวคือ

                         ประเทศที่สังหาริมทรัพย์ได้ถูกส่งไปอาจจะไม่ได้เป็นประเทศเดียวกับที่เจ้าของทรัพย์มีสัญชาติ เช่น นาย A  (ผู้ซื้อมีสัญชาติรัฐเซียและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เพราะได้มีการชำระราคาค่าสินค้าเรียบร้อยแล้วและเลือก Incoterm  Ex Work คือได้ซื้อสินค้าที่หน้าโรงงานโดยให้ขนส่งสินค้าในภายหลัง) และ  นาย B (ผู้ขายมีสัญชาติไทย) โดยผู้ซื้อได้ตกลงให้ นาย B  ดำเนินการขนส่งสังหาริมทรัพย์จากประเทศไทยส่งไปยังประเทศอังกฤษให้แก่ตน 

                      กรณีนี้คู่สัญญาไม่ได้แสดงเจตนาเป็นอย่างอื่นว่าให้ใช้กฎหมายใดบังคับใช้  ก็ให้นำกฎหมายขัดกันมาบังคับใช้  ตามกฎหมายขัดกันของรัฐเซีย ให้นำกฎหมายของประเทศที่สังหาริมทรัพย์ได้ถูกส่งไป กล่าวคือ กฎหมายของประเทศอังกฤษ  ส่วนกฎหมายขัดกันของไทยให้นำกฎหมายสัญชาติของเจ้าของทรัพย์ กล่าวคือ กฎหมายของประเทศรัฐเซีย  จะเห็นได้ว่า ข้อเท็จจริงเหมือนกันแต่ใช้กฎหมายแตกต่างกันมาบังคับใช้ เพราะกฎหมายขัดกันในแต่ละประเทศได้วางหลักกฎหมายไว้แตกต่างกัน

                        ตามความคิดเห็นของผู้เขียน เห็นว่า ในกรณีสังหาริมทรัพย์ในระหว่างขนส่งนั้นกฎหมายไทยควรเปลี่ยนแปลงไปใช้หลักถิ่นที่ทรัพย์ตั้งอยู่ หรือกฎหมายของประเทศที่สังหาริมทรัพย์ได้ถูกส่งไป เหมือนของประเทศรัฐเซีย เพราะ หากนำหลักสัญชาติมาปรับใช้ในเรื่องทรัพย์นั้นจะมีความไม่แน่นอนและอาจมีปัญหาข้อกฎหมายมาสู่ศาลจำนวนมาก

                   สรุป  ในเรื่อง การใช้สิทธิในสังหาริมทรัพย์ระหว่างการขนส่ง" ในกฎหมายขัดกันของไทยและ รัฐเซียเหมือนกันตามหลักทั่วไปเรื่องการแสดงเจตนา และแตกต่างกันในแง่ของขอบเขตและสาระสำคัญของหลักกฎหมายขัดกัน

หมายเลขบันทึก: 50085เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2006 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท