ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง : 2. ห้องเรียนกลับทางเป็นอย่างไร


เวลาของครูจะใช้สำหรับมีปฏิสัมพันธ์สองทางกับศิษย์ ทำให้เด็กที่เรียนช้าหรือหัวช้าได้รับการเอาใจใส่ ครูจะไม่ยืนอยู่หน้ากระดานดำที่หน้าชั้นอีกต่อไป แต่จะเดินไปเดินมาในชั้น เพื่อช่วยเหลือลูกศิษย์ที่มีปัญหาก

ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง  : 2. ห้องเรียนกลับทางเป็นอย่างไร

หนังสือ Flip Your Classroom : Reach Every Student in Every Class Every Day บทที่ ๒ เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนของผู้เขียนหนังสือท่านหนึ่ง คือ Aaron Sams ในวิชาเคมีสำหรับนักเรียน AP (โครงการเรียนล่วงหน้า - Advance Placement Program)

เขาบอกว่าต้องฝึกวิธีดูวิดีโอที่บ้านอย่างได้ผลดี ให้แก่เด็ก   เริ่มตั้งแต่แนะนำให้ขจัดสิ่งรบกวนสมาธิ ได้แก่ปิดโทรศัทพ์  ไอพ็อด  ทีวี  และตัวรบกวนอื่นๆ   แนะนำให้เด็กรู้จักหยุดวิดีโอ หรือดูบางตอนซ้ำ    บอกเด็กว่า โดยการดูวิดีโอ เด็กสามารถ “หยุด” และ “กรอกลับ” ครูได้   แนะนำให้กดปุ่มหยุด เพื่อจดบันทึกประเด็นสำคัญหรือคำถาม   แนะนำให้ไปศึกษา วิธีจดบันทึกแบบ Cornell สำหรับนำมาใช้

ตอนกลางคืนนักเรียนทุกคนได้ดูวิดีทัศน์สาระวิชาที่จะเรียนในวันรุ่งขึ้น พร้อมทั้งจดประเด็นสำคัญ  จดคำถาม หรือส่วนที่ไม่เข้าใจ 

ชั้นเรียนในโรงเรียนนี้ให้เวลาคาบละ ๙๕ นาที

เริ่มด้วยการใช้เวลาสั้นๆ ทบทวนวิดีทัศน์ และตอบคำถามสิ่งที่ไม่เข้าใจหลังดูวิดีทัศน์   ซึ่งจะช่วยให้ครูได้แก้ไขความเข้าใจผิดของนักเรียนบางคน   หรือถ้าเด็กทั้งชั้นเข้าใจผิดก็แสดงว่าวิดีทัศน์มีข้อบกพร่อง ครูจะได้แก้ไข

หลังจากนั้น ครูมอบงานให้ทำ   โดยอาจเป็น lab, หรือเป็นกิจกรรมค้นคว้า, โครงงานหรือกิจกรรมแก้ปัญหา, หรือการทดสอบ    ตามปกติจะมีเวลาทำหลายกิจกรรมข้างต้น 

เขายังคงให้คะแนนจากการทดสอบ เช่นเดียวกับการสอนแบบเดิม

บทบาทของครูเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง   คือไม่ใช่ผู้ถ่ายทอดความรู้   แต่ทำบทบาทไปทางเป็นติวเตอร์   ซึ่งผมเรียกว่าเป็นโค้ช หรือเป็นผู้จุดประกาย โดยการตั้งคำถามยุแหย่ให้เด็กคิด สร้างความสนุกสนานในการเรียน   และเป็นผู้อำนวยความสดวกในการเรียน

เวลาของครูจะใช้สำหรับมีปฏิสัมพันธ์สองทางกับศิษย์   ทำให้เด็กที่เรียนช้าหรือหัวช้าได้รับการเอาใจใส่   ครูจะไม่ยืนอยู่หน้ากระดานดำที่หน้าชั้นอีกต่อไป   แต่จะเดินไปเดินมาในชั้น เพื่อช่วยเหลือลูกศิษย์ที่มีปัญหาการเรียน

กิจกรรมและเวลาที่ใช้ เปรียบเทียบระหว่างห้องเรียนแบบเดิม กับห้องเรียนกลับทาง แสดงในตารางข้างล่าง

 

ห้องเรียนแบบเดิม

ห้องเรียนกลับทาง

กิจกรรม warm-up 5 นาที

กิจกรรม warm-up 5 นาที

ทบทวนการบ้านของคืนก่อน 20 นาที

ถาม-ตอบ เรื่องวิดีทัศน์ 10 นาที

บรรยายเนื้อวิชาใหม่ 30 – 45 นาที

กิจกรรมเรียนรู้ที่ครูมอบหมายหรือ นร. คิดเอง หรือ lab 75 นาที

กิจกรรมเรียนรู้ที่ครูมอบหมายหรือ นร. คิดเอง หรือ lab 20 - 35 นาที

 

 

ในห้องเรียน ครู Aaron Sams จะเริ่มเวลา 75 นาทีสำหรับทำกิจกรรมเรียนรู้ด้วยตนเอง ในการแนะนำวิธีทำแบบฝึกหัด หรือทำร่วมกัน 2-3 ข้อ แล้วปล่อยให้นักเรียนทำเอง   แนะนำวิธีใช้คู่มือเฉลยคำตอบแบบฝึกหัด เป็นต้น   ครูจะเน้นช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักการ ไม่ใช่ท่องจำ   หัวใจคือครูเน้นทำหน้าที่ช่วยแนะนำการเรียนของเด็ก ไม่ใช่ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้   ครูเปลี่ยนจากบทบาทปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนทั้งชั้น   เป็นมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนเป็นรายคน

วิจารณ์ พานิช

๑ ก.ย. ๕๕                

หมายเลขบันทึก: 500809เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2012 06:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2020 10:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณค่ะ..ได้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นมากถึงประโยชน์ของวิถีเช่นนี้

ผมเห็นด้วยกับบทความนี้ครับ ครูสมัยนี้ต้องเปลี่ยนวิธีการสอนจากการสอนตามหนังสือมาเป็นโค้ช ยกประเด็นให้นักเรียนได้คิด และนำมาเสนอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปพร้อมๆ ครูสมัยนี้ต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆกับเด็ก อย่างไรก็ตามขออนุญาตินำบทความนี้ไปเผยแพร่ในเวปไซด์ของ ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ www.thaiihdc.org

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท