ทำไมคนไทยยืมคำจีนมาใช้น้อยจัง


คนจีนเป็นอีกชนชาติหนึ่งที่มีอิทธิพลยิ่งใหญ่ ทั้งในแผ่นดินและนอกแผ่นดิน คนไทยคงจะรู้จักชาวจีนมาช้านาน ไม่ว่า “คนไทย” ในที่นี้จะหมายถึงคนพูดภาษาไทยเมื่อสมัยไหนก็ตาม

เราจึงคุ้นเคยกับอะไรจีนๆ เรื่อยมา อย่างตอนเด็กๆ มีคนชอบถามว่า ทำไมคนจีนถึงไม่จน ตอบกวนๆ ว่า เพราะมีสระอีไงล่ะ แต่เอามาถามสมัยนี้คงไม่ขำ เพราะเล่นกันบ่อยจนเป็นตลกฝืดไปแล้ว

นักเล่นกลอนก็น่าจะรู้จักคำว่า "จีน" ดี เพราะคำนี้ชวนให้จน เนื่องจากหาสัมผัสยาก เท่าที่จำได้ สุนทรภู่ใช้คำว่าจีน ลงสัมผัสก็ได้แต่ ตีน ศีล หีน(หิน) เท่านั้นเอง 

คนไทยรู้จักคนจีนตั้งแต่สมัยโบราณ ศัพท์เดินเรือหลายคำมาจากภาษาจีน ขณะเดียวกันเราก็รู้จักขนบธรรมเนียมจีนหลายอย่าง รวมทั้งลัทธิความเชื่อ

นอกเหนือจากนี้ คนจีนมีชื่อในเรื่องการค้าจนเป็นที่นับถือกันว่า ชาวจีนค้าขายเก่ง เสื่อผืนหมอนใบมา ก็รวยเป็นเศรษฐีได้ในเวลาไม่นาน

แต่น่าแปลกใจว่า ภาษาจีนไม่ค่อยแพร่หลายในภาษาไทยอย่างที่ควรจะเป็น (เมื่อเทียบกับอิทธิพลของชาติอื่น หรืออิทธิพลด้านอื่นๆของจีน)

 

Guanhua.png

(http://en.wikipedia.org/wiki/Mandarin_Chinese)

 

 ภาษาจีนในภาษาไทย

      ภาษาจีนนั้นไม่ด้อยไปกว่าภาษาอื่น มีประวัติอันยาวนาน วรรณคดีจีนก็มีประวัติที่สืบสาวย้อนไปได้เป็นพันๆ ปี ทั้งยังปริมาณไม่ใช่น้อยๆ คำศัพท์สำนวนก็มหาศาลตามไปด้วย แต่ภาษาจีนที่เรารับมาในภาษาไทยนั้น น้อยนิดจริงเชียว

      ที่พบมากก็ชื่ออาหาร ได้แก่ โจ๊ก บ๊ะจ่าง ซีอิ๊ว เกาเหลา เฉาก๊วย ปอเปี๊ยะ ก๋วยเตี๋ยว ซาลาเปา ฯลฯ ภาชนะหรือวิธีการปรุงอาหาร ก็มี ซึ้ง เจี๋ยน ตุ๋น ฯลฯ

      นอกจากนี้ก็เป็นคำเรียกญาติ หรืออาชีพ เช่น อากง อาม้า เฮีย เตี่ย เจ๊ เจ้ ฯลฯ เถ้าแก่ ซินแซ หลงจู๊ ไต้ก๋ง ฯลฯ

      นอกนั้นก็เป็นสัพ(ศัพท์)เพเหระ ใช้พูดอย่างไม่เป็นทางการ เช่น กงสี ก๊ก กุ๊ย เก๊ เบ๊ เจ๊ง ซวย .. ว้า ทำไมมีแต่คำแบบนี้ อ้อ คำดีๆ ก็มี อย่าง เจ เซ้ง เซียน ตงฉิน กวนอิม ฮ่องเต้ ฯลฯ

      จากบทความในคราวที่แล้ว คำยืมภาษาจีนมี 126 คำ ที่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน และระบุว่าเป็นภาษาจีน ส่วนที่มีอยู่ในพจนานุกรมฯ แต่ไม่ระบุว่าเป็นภาษาจีน (เช่น คำว่า กวางตุ้ง ปาท่องโก๋ ฮกเกี้ยน ซึ่งน่าจะเป็นคำจีน) อีกราว 36 คำ รวมเบ็ดเสร็จก็ 162 คำเท่านั้นเอง

      คำเหล่านี้จำแนกได้เป็น คำเกี่ยวกับอาหาร (อาหาร ผัก ผลไม้ ปลา วิธีทำ  ร้านอาหาร) ราว 37% คำเรียกตำแหน่ง อาชีพ หรือพื้นเพของคน ราว 15%  เป็นภาษาปาก ซึ่งมักเป็นคำกริยาและวิเศษณ์ ราว 13% ที่เหลือเป็นศัพท์เกี่ยวกับธุรกิจ เช่น หุ้น ห้าง ตาเต็ง (ตาชั่ง) หรือศัพท์เกี่ยวกับการพนัน และอื่นๆ

      

File:Sampan-01.png(http://en.wikipedia.org/wiki/Sampan)

 

คนไทยเรียก “จีน” แต่สมัยไหน

      คนไทยเรียกจีนว่า “จีน” มาแต่หนไหน ยังไม่มีโอกาสหรือปัญญาจะสืบค้น ตามไปพอได้ความว่า ในวรรณคดีเรื่อง ท้าวฮุ่งท้าวเจือง (อายุน่าจะอยู่ในช่วงต้นกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างน้อย... หมายความว่า อาจเก่ากว่านี้ก็ได้) ก็มีคำวา “แพรจีน” และคำว่า “จีน” แล้ว วรรณคดีเรื่องนี้เป็นภาษาลาว แต่ก็พออนุโลมใช้กับไทยได้

      ในกฎหมายลักษณะอาญาหลวง พ.ศ. 1974 ก็กล่าวถึงชาติต่างๆ ได้แก่ ฝรั่ง อังกฤษ จีน จาม ฯลฯ

      อันที่จริง มีหนังสือหลายเล่มเล่าว่าคนไทยติดต่อชาวจีนมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่จะสมัยไหนก็เถอะ อย่างน้อยเราก็พอสรุปได้ว่า คนไทยรู้จักและติดต่อชาวจีนมานานไม่แพ้ชาติอื่นๆ (อาจจะด้อยกว่าก็แค่ บาลี สันสกฤต และเขมร)

      ปัจจุบันนี้ จีนเป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางธุรกิจ มีการเปิดโรงเรียนสอนภาษาจีนมากมายในบ้านเรา มีคนเรียนภาษาจีนมากขึ้น แต่ภาษาจีนก็ยังแทบจะไม่แทรกเข้ามาในภาษาไทย จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดไม่น้อยเลย.

 

File:Departure Herald-Detail.jpg(http://en.wikipedia.org/wiki/File:Departure_Herald-Detail.jpg)


ทำไมมีภาษาจีนน้อย

      ในภาษาไทยมีภาษาจีนราว 160 คำ (เท่าที่บันทึกไว้ในพจนานุกรม) แม้อาจมีนอกเหนือจากนี้อีกสักหน่อย แต่ก็มักจะเป็นภาษาพูด หรือภาษาที่ใช้เฉพาะกลุ่ม ไม่ค่อยยอมรับเป็นภาษาทางการ ขณะที่ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตนั้น สองภาษารวมกันน่าจะได้ 5,000 คำ และภาษาอังกฤษก็มีเข้ามาเป็นพันๆ อีกเช่นกัน นี่ไม่นับศัพท์เทคโนโลยีและวิชาการที่ทะลักเข้ามาอย่างไม่ระย่อ

      สาเหตุที่ภาษาจีนมีอิทธิพลในภาษาไทยน้อย อาจวิเคราะห์ได้ดังนี้

      1. ยอมรับสมมุติฐาน คำภาษาจีนในภาษาไทยมีน้อยจริง

      ก. ภาษาจีนไม่เข้ากันกับภาษาไทย โดยเฉพาะภาษาหรู ภาษาแบบแผน หรือภาษาวรรณกรรม แทบจะเข้ากันไม่ได้เอาเสียเลย มีแนวโน้มว่าภาษาไทยมีความซับซ้อนมากขึ้น มีความยาวยืดมากขึ้น และนิยมภาษาบาลีและสันสกฤตเรื่อยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย (ขณะที่ความนิยมภาษาเขมรมีปรากฏเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยา และไม่มีการรับเพิ่มมากนัก)

      ข. คนจีนอาจไม่ชอบพูดภาษาจีนกับคนไทย หรือว่าง่ายๆ คนจีนไม่ยอมพูดจีนปนไทย หรือไม่ยอมพูดจีนกับคนไทย การเผยแพร่ภาษาจีนในภาษาไทยจึงเกิดขึ้นน้อย จะว่าไปแล้วลูกหลานจีนในไทยก็พูดจีนได้น้อยลงเช่นกัน 

 

      2. ไม่ยอมรับสมมุติฐาน, เพราะคำภาษาจีนในภาษาไทยมีมาก เพียงแต่พบน้อย เพราะ...

      ก. การเก็บคำจีนในพจนานุกรมอาจไม่ครบถ้วน เช่น มีคำว่า ลื้อ แต่ไม่เก็บคำว่า อั๊วะ ซึ่งน่าจะเป็นคำที่ใช้แบบเดียวกัน คำเรียกญาติซึ่งพบมาก เช่น เตี่ย ก๋ง กง กู๋ เฮีย ซ้อ ฯลฯ ก็ไม่มี

      ข. เราไม่รู้ว่าเป็นคำจีน. คำภาษาจีนในภาษาไทยอาจมีอยู่มาก รับมาช้านานแล้ว และกลมกลืนจนกลายเป็นคำไทย ชนิดที่ว่าหาต้นตอไม่เจอ อย่าง เก้าอี้ คำนี้ก็ใช้กันมานาน ไม่มีใครคิดว่าเป็นคำจีนมาก่อน (แต่ในพจนานุกรมบอกไว้) บางคำ เช่น หวย, แตงกวา  นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่ามาจากภาษาจีน แต่ก็ไม่มีระบุไว้ในพจนานุกรม (อาจจะยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน) ส่วน ผลท้อ (桃) ออกเสียง เถา ในภาษาจีนกลาง ภาษาแต้จิ๋วคงจะเรียก ท้อ ก็ไม่ระบุที่มา คำแบบนี้ก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง หากศึกษาโดยละเอียดอาจพบคำยืมภาษาจีนมากขึ้น (อีโต้ มีดบังตอ โต๊ะ เป็นภาษาจีนหรือเปล่า?)

      ค. รู้ว่าเป็นคำจีน แต่ส่วนมากเป็นภาษาพูด จึงไม่เก็บในพจนานุกรมหรือตำรา.  คำบางคำอย่างเช่น (ที่คุณ หยั่งราก ฝากใบ แนะนำมา) เล่าเต๊ง,  ซี้ซั้ว (สองคำนี้ไม่มีในพจนานุกรม) เซ้าซี้ (คำนี้มีในพจนานุกรม แต่ไม่ระบุว่าเป็นภาษาจีน) หรือที่เราคุ้นๆ อย่าง เจี๊ยะ แป๊ะเจี๊ยะ เจ๋ง (มีผู้เสนอว่า เจ๋ง เป็นคำจีน จากชื่อก๊วยเจ๋ง) คงจะมีคำอื่นอีก ภาษาจีนคำที่กล่าวมาข้างต้น เป็นภาษาปาก (ภาษาพูด) จำนวนไม่น้อย (แม้จะไม่ระบุว่าเป็นภาษาพูด แต่บางคำเราก็ไม่นิยมนำมาเขียน เช่น กุ๊ย กังฉิน ตงฉิน ตุ๊ย)   

 

     ภาพรวมรายการคำยืมจากภาษาจีนที่เราบันทึกไว้นั้น ปรากฏชัดเจนว่ามีคำจีนในภาษาไทยไม่มาก แต่ความเป็นจริงอาจแตกต่างออกไป หากมีการศึกษาคำจีนในภาษาไทยอย่างครบถ้วนมากกว่านี้ โดยศึกษาจากภาษาที่มีอยู่อย่างกว้างขวาง และผู้ศึกษาต้องรู้ภาษาจีน ทั้งจีนกลางและจีนถิ่นต่างๆ (มิใช่ศึกษาเฉพาะคำที่เก็บไว้ในพจนานุกรม) ก็อาจจะพบคำจีนมากกว่านี้อย่างมีนัยสำคัญก็ได้.

 


หมายเหตุ แก้ไข "เซ้าซี้" เป็น "ซี้ซั้ว" ขอบคุณคุณหยั่งราก ฝากใบ ที่ท้วงติงครับ.

คำสำคัญ (Tags): #คำยืม#ภาษาจีน
หมายเลขบันทึก: 500760เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2012 19:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กันยายน 2012 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

น่าคิดมากเลยครับ หรือเป็นไปได้ว่าจีนก็รับจากอินเดีย อินเดียเลยเป็นต้นน้ำที่ไหลไปทั้งจีนทั้งไทย (และประเทศอื่นๆ ในแถบนี้) ศัพท์จีนเลยทวนน้ำมาปรากฎในภาษาไทยน้อยครับ

ผมเดาว่าเหมือนภาษาอังกฤษไปปรากฎในภาษาต่างๆ ในโลกนี้มาก มากกว่าประเทศที่อยู่ติดๆ กันด้วยซ้ำ อาทิเช่นศัพท์มลายูไม่ค่อยมีในภาษาไทย (ใช่ไหม?) ครับ

แปลกจริงๆ ครับ ภาษาเพื่อนบ้านไม่ค่อยจะเข้าไทยเลยครับ ภาษาพม่าคงจะได้ มิงกะลาบา คำเดียว  ส่วนภาษาเขมร ก็เป็นศัพท์เก่าๆ ตั้งแต่สมัยอยุธยา ไม่มีอะไรเพิ่มมากนัก

ภาษามลายู ในพจนานุกรม มีราว 40 คำ บวกอีกนิดหน่อยในภาษาพูด แต่ก็ยังน้อยอยู่ดี ทั้งๆ ที่รั้วติดกัน

สวัสดีค่ะคุณครู

น่าจะมาอ่านบันทึกนี้ก่อน เลยปล่อยไก่ในบันทึก คำยืมภาษาจีนในภาษาไทย เพิ่งได้ทราบจากที่นี่ว่าคำในวงเล็บ (ปาก) ที่ต่อท้ายคำนั้นคือ ภาษาพูด

คิดเองเล่นๆ แบบไม่ค่อยมีความรู้ด้านวิวัฒนาการทางภาษาว่า สาเหตุที่คำจีนมีน้อยในภาษาไทย เมื่อเทียบกับความเก่าแก่ของวัฒนธรรมจีนและจำนวนคนจีนที่อยู่ในเมืองไทย น่าจะมีหลายสาเหตุ (ผิดถูกต้องขออภัยด้วยความไม่รู้)

1. ภาษาเป็นวัฒนธรรมที่ผ่านมาทางความเชื่อ/ศาสนา จีนมีความเชื่อและนับถือ "ขงจื้อ" ส่วนไทยนับถือศาสนาพุทธ การเรียนรู้ สืบทอด อ่านคำ(คำสวดมนต์) ในหนังสือคำสอน/ตำรา จึงอิงภาษาบาลีสันสกฤตที่บันทึกคำสอนทางพระพุทธศาสนามากกว่า

2.ภาษาจีน เป็นภาษาสัญลักษณ์ ไม่มีเน้นตัวสะกดต่างๆ แต่เขียนเป็นตัวๆ ตามลักษณะที่ใกล้เคียงธรรมชาติ การถ่ายทอด/การรับต่อมาใช้จึงยุ่งยากกว่าภาษาอื่นๆ

3. ภาษาจีนในประเทศไทยมีหลายตระกูล ทั้งจีนฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว แคะ ไหหลำ คำเดียวกันออกเสียงต่างกันไป อาจทำให้การบันทึกไว้ในพจนานุกรมยากและอาจสับสนได้ จึงไม่นิยมบันทึกไว้(หรือเปล่า?)

คิดอะไรได้ค่อยมาถามใหม่นะคะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ

เรื่องคำยืมนี้น่าสนุก และน่าคิด

ข้อสันนิษฐานที่ยกมานับว่าน่าสนใจเพื่อการขบคิดกันต่อไปครับ ผมเองก็แทบจะไม่รู้ภาษาจีนเลย ต้องอาศัยคนรู้ภาษาจีนมาช่วยกันคิดด้วยครับ ;)

...แป้ะเจี้ยะ..เก๋าเจี๊ยะ...คำนี้หายไปในภาษา..เหลือแต่ภาค..ปฏิบัติ..๕...๕๕๕๕...(ยายธี)

ยายธี เก่งจริงๆ ค่ะ ท่านอจ. ....., หมอเปิ้น เป็นแต่ ฟัง ที่แปลว่า "ตกลง" = ฮ้อๆๆ น่าจะใช่นะคะ

ขอบคุณมากค่ะ (ฮ้อๆๆ ท่านอจ. ตอบแบบนี้ใช่ไหมค่ะ)

สวัสดีครับ คุณยายธี Blank

อุๆ มีเก๋าเจี๊ยะด้วย คำนี้พจนานุกรมไม่กล้าใส่ไว้แน่เลยครับ

 

สวัสดีัครับ พี่หมอเปิ้นBlank Somsri

ฮ้อๆ กำเสี่ย ครับ ;)

สงสัยต้องหาคนมาช่วยสอนภาษาจีนซะแล้ว...

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท