ใช้ KM "ถอด" ความรู้


ใช้ KM "ถอด" ความรู้

       วันที่ 4 ต.ค.48   ได้รับโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือทำนองเดียวกันถึง 2 รายซ้อน   รายแรกคือ ดร. สมชาย  ดุรงค์เดช  แห่งคณะสาธารณสุขศาสตร์  ม.มหิดล   รายที่สองคือแม่ชีศันสนี  เสถียรสุต  แห่งเสถียรธรรมสถาน

       ดร. สมชายทำโครงการวิจัยให้แก่ WHO   พัฒนาโมเดลเมืองน่าอยู่โดยทำกับเทศบาล 20 แห่ง  และ อบต. 100 แห่ง   ทำมาหลายปี   รู้สึกว่าขาดพลังและเมื่อปรึกษากับทีม KM ของกรมอนามัยก็คิดจะใช้ KM เป็นเครื่องมือในการ ลปรร. จาก Best Practice ที่เกิดขึ้นในโครงการ   โดยทีมของกรมอนามัยเป็นวิทยากร (ตรงนี้แหละครับที่ผมชื่นใจ   ที่ทีม KM ของกรมอนามัยสามารถช่วยหน่วยงานอื่นได้แล้ว)   แต่ทีมของกรมอนามัยบอกว่าน่าจะเชิญผมไปช่วยขมวดตอนท้าย   ผมเดาว่าเขาคงจะติดใจ AAR ที่ผมไปช่วยทำให้ทีมคุณสร้อยทอง  เตชะเสน ตามที่เคยเล่าไว้แล้ว (click)  ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลก   เพราะการเป็นวิทยากร AAR นี่เป็นกิจกรรมที่สบายที่สุด   วิทยากรแทบไม่ต้องทำอะไร   เพียงสร้างบรรยากาศให้อิสระ   กิจกรรมก็จะมีพลังโดยตัวของมันเอง

        ไหน ๆ ก็จะร่วมมือกับโครงการ "เมืองน่าอยู่"   ต้องหาความรู้เสียหน่อย   ผมใช้ Google ค้นด้วยคำหลัก "เมืองน่าอยู่" และ "Healthy Cities" จึงรู้ว่าเป็นกุศโลบายที่ริเริ่มโดย WHO   เพื่อให้มีการพัฒนาชุมชนเมืองอย่างบูรณาการหรือ holistic   ไม่ใช่เฉพาะด้านสุขภาพ   เพราะเรื่องการพัฒนาความเป็นอยู่นั้นทุกอย่างเกี่ยวพันกันหมด   เป็นเรื่องที่ทำกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537   กรมอนามัยถึงกับพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ออกมา  WHO มีทั้งหนังสือและเว็บไซต์   และมีเว็บไซต์เรื่องนี้โดยเฉพาะ

         ผมได้เรียนรู้วิธีจัด platform เพื่อการทำงานแบบ holistic เป็นผลพลอยได้   ขอขอบคุณ ดร. สมชายไว้ ณ ที่นี้

         ดร. สมชายได้มาคุยกับคุณอ้อและผมที่ สคส. ตอนเช้าวันที่ 5 ต.ค.   และตกลงกันว่าจะจัด workshop เอา Best practice ด้านการจัดการรวมตัวของชาวบ้าน   empower ชาวบ้านให้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่   เป็นตัวเดินเรื่อง   ซึ่งเราเห็นด้วยอย่างยิ่ง   ว่านี่คือหัวใจของเมืองน่าอยู่

         ดร. สมชายจะจัด workshop นี้ที่ชะอำ  ในวันที่ 3 - 4 พ.ย.48   โดยทีมของกรมอนามัยเป็นวิทยากร   แต่อ้อจะเป็นวิทยากร AAR ในตอนท้าย   โดยผมไปร่วมในวันที่ 4 พ.ย.

         ทาง สคส. เรายินดีมากที่ได้ ดร. สมชายเป็นพันธมิตรใหม่   เราเชื่อว่าจะเป็นพันธมิตรที่มีศักยภาพสูงมาก   เนื่องจาก ดร. สมชายเป็น วิทยากรฝึกอบรมที่เก่งมาก   บัดนี้จะเปลี่ยนใจจากเน้น training หันมาเน้น learning แล้ว

         ส่วนแม่ชีศันสนี   ต้องการขอความช่วยเหลือ "ถอดความรู้" ในโครงการ "บ่มเพาะ  แตกหน่อ  ต่อยอด  เมล็ดพันธุ์แห่งปัญญา"   แค่ฟังชื่อเรื่องคน สคส. ก็หลงใหลแล้ว   ซึ่งจะจัดเป็นแคมป์ที่เสถียรธรรมสถาน   นำเยาวชน 200 คนที่ทำงานอาสาสมัครเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นเช่น  กลุ่ม We volunteer,  กลุ่มไม้ขีดไฟ,  กลุ่มมะขามป้อม,  กลุ่มสภาเยาวชน, ฯลฯ มา ลปรร. เพื่อหาเส้นทางเดินทางและส่งเสียงให้รัฐบาล   โครงการนี้จัดวันที่ 20 - 21 ต.ค.48

        ได้เรียนแม่ชีศันสนีว่า สคส. ไม่มีคนมากพอที่จะไปจัดกระบวนการในวันเข้าแคมป์ให้ได้   จึงตกลงกันว่าเราจะส่งคุณเพชร (สุภาภรณ์  ธาตรีโรจน์) กับคุณอ้อ (วรรณา เลิศวิจิตรจรัส) ไปเป็นวิทยากรฝึกทักษะการเป็น "คุณอำนวยกลุ่ม" และ "คุณลิขิต" ให้แก่ทีมงานของเสถียรธรรมสถาน   โดยทางเสถียรธรรมสถานจะต้องหาคนที่เหมาะสมมาทำหน้าที่นี้และเข้ารับการฝึก   ทักษะที่จะฝึกคือทักษะ storytelling,  dialogue,  การสกัด "ขุมความรู้",   การใช้ card technique สังเคราะห์ "แก่นความรู้"    โดยในวันงานจริง ๆ ทีมของเสถียรธรรมสถานจะเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด   ทีมของ สคส. จะไปช่วยแนะอยู่ห่าง ๆ

วิจารณ์  พานิช
  5 ต.ค.48

หมายเลขบันทึก: 5007เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2005 08:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท