การเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง : อีกหนึ่งเครื่องมือหนุนเสริมการบริการวิชาการและวิจัยเพื่อท้องถิ่น


หากสามารถนำการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลังไปหนุนเสริมเป็นเครื่องมือในการสรุปบทเรียน หรือถอดบทเรียนในงานบริการวิชาการและงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้อย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการสกัด “รายงานวิชาการ” ออกมาในรูปของ “เรื่องเล่าเร้าพลัง” จะกลายเป็น “นวัตกรรม” ของการสื่อสารสร้างสุขไปสู่สาธารณะได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเรื่องเล่าเร้าพลัง เป็นงานเขียนที่มีขนาดไม่ยาว สามารถเขียนได้หลากรูปแบบ ทั้งเรียงความ, อนุทิน, บันทึกประจำ, บทความกึ่งสารคดีสั้นๆ

           การเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง (story telling)  เป็นเครื่องมือหนึ่งในบรรดาเครื่องมืออันหลากหลายของการจัดการความรู้ (Knowledge Management)  โดยส่วนใหญ่จะนิยมนำมาขับเคลื่อนภายหลังการดำเนินงานของแต่ละกิจกรรมได้เสร็จสิ้นลง  เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการดำเนินงาน  รวมถึงภาพสะท้อนอื่นๆ ที่ปรากฏเป็นองค์ประกอบของผลลัพธ์ เช่น  ความสำเร็จและปัจจัยแห่งความสำเร็จ  รวมถึงความล้มเหลวและปัจจัยแห่งความล้มเหลว  
           ด้วยเหตุนี้เรื่องเล่าเร้าพลัง หรือการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง  จึงมีสถานะเหมือนการสรุปบทเรียน (AAR : After Action Review) หรือการถอดบทเรียน (lesson learned)  ไปในตัว  เพื่อก่อให้เกิดชุดความรู้ในการที่จะขับเคลื่อนการงานให้สำเร็จสืบต่อไป  พร้อมๆ กับการป้องกันมิให้ปัญหาเดิมๆ วนเวียนกลับมาเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก

 

 

 

การเขียนเรื่องเล่าเร้าพลังกับสถานะของการจัดการความรู้

 

          เรื่องเล่าเร้าพลัง  มีสถานะเป็นหนึ่งในเครื่องมืออันทรงพลังของการจัดการความรู้  
         เนื่องเพราะการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง  เป็นการเขียนเพื่อสกัดเอา “ความรู้ในตัวตนของคนแต่ละคน” ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคน  พัฒนางาน พัฒนาองค์กรและสังคม  ทั้งในมิติของการพัฒนาต่อยอดและมิติของการแก้ปัญหา  ครอบคลุมถึง “ความรู้ประเภทเปิดเผย”  (Explicit Knowledge)  และ “ความรู้ประเภทฝังลึกในตัวคน (Tacit Knowledge)  
         โดยเฉพาะความรู้ประเภทหลังนั้น  ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวด  เพราะถือเป็นความรู้  หรือเคล็ดวิชา ภูมิปัญญา  เทคนิคที่เกิดจากการ “ทำจริง เรียนรู้จริง”  จนก่อเกิดเป็น “ปัญญา”  หรือ “ปัญญาปฏิบัติ”  ของแต่ละบุคคล  ซึ่งอาจเรียกในมิติหนึ่งว่า “คนหน้างาน” ก็ไม่ผิด 
          และโดยทั่วไปการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลังจึงมักสะท้อนให้เห็นมิติ “ความรู้” ที่ฝังลึกในตัวตนของแต่ละคนใน  3 สถานะคือ

  • ความรู้ที่ฝังลึกในสมอง (Head)
  • ความรู้ที่ฝังลึกจากการปฏิบัติ (Hand)
  • และความรู้ที่ฝังรากลึกในจิตใจ (heart)

 

          ดังนั้นการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง  จึงเริ่มต้นจากการสกัดความรู้จากตัวตนของผู้เขียน หรือผู้ปฏิบัติเสียก่อน  เป็นการทบทวนประสบการณ์ชีวิตและการทำงานให้ตกผลึก  เสมือนการจัดระบบระเบียบวิธีคิดจากโลกภายใน (ตัวเอง)  ไปสู่โลกภายนอก (สังคม)  อันหมายถึงการถ่ายทอดเรื่องราวออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร  หรืองานเขียนเพื่อสื่อสารไปยังผู้อื่น 
           การสื่อสารเช่นนั้น จึงเป็นกระบวนการของการแบ่งปัน (share) และเรียนรู้ร่วมกัน  (learn)  หรือแม้แต่การสะท้อนถึงหัวใจหลักของการจัดการความรู้ คือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge sharing) 
           โดยเริ่มจากการสกัดความรู้จากตัวบุคคลสู่ระบบเอกสาร  เน้นการถ่ายทอดด้วยกลวิธีของการ “เล่าเรื่อง”  เพื่อสะท้อนให้ถึงภาพรวมของการดำเนินงานในกระบวนการทั้งหมด  ซึ่งครอบคลุมถึงประเด็นสำคัญๆ เช่น  จุดเริ่มต้น แรงบันดาลใจ หรือกรอบแนวคิด  (Theory) กลยุทธ (Tactic)  กระบวนการ (Process)  กิจกรรม (Activity)  หรือวิธีการและขั้นตอนที่ใช้ในการขับเคลื่อน       
          รวมถึงขุมความรู้ (Knowledge Assets)  อันเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ  หรือแม้แต่ความล้มเหลวที่ค้นพบในการดำเนินงาน

 

 

 

องค์ประกอบที่ต้องคำนึงถึงในการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง

 

         การเขียนแบบเรื่องเล่าเร้าพลัง เป็นการเขียนเพื่อการสื่อสารที่มุ่งให้ผู้อ่านได้อ่านเรื่องราวนั้นๆ ด้วยบรรยากาศเสมือนการ “นั่งฟังผู้เขียนเล่าเรื่อง” ด้วยตนเอง  เห็นภาพบรรยากาศของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนจบ (Process)   พบข้อมูลของการปฏิบัติทั้งในมิติของ “กระบวนการ” และ “ผลลัพธ์” 
        และผลลัพธ์ที่ว่านั้นมักยึดโยงให้เห็นถึง “ความสำเร็จ” และ “ความสุข” ที่เกิดจากการดำเนินการของ “คนหน้างาน” ซึ่งผู้เล่าอาจเป็นได้ทั้ง “ผู้ปฏิบัติ”  ในเรื่องดังกล่าว หรือเป็นเพียง “ผู้สังเกตการณ์”  ก็ได้ 
        แต่หากเป็นเรื่องเล่าที่ถูกเขียนขึ้นจากผู้ปฏิบัติจริง จะถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะนั่นคือการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงที่เกิดจากการฝังตัวกับงานนั้นๆ

         ดังนั้น การเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง  จึงเป็นการเขียนเรื่องเล่าด้วยภาษาที่เป็นได้ทั้งทางการและไม่เป็นทางการ  แต่สาระสำคัญจะสื่อสารให้เห็นว่า “ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และด้วยวิธีการใด (ความสำเร็จ,อุปสรรค,การคลี่คลาย)

 

            ในทำนองเดียวกันนี้ การเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง  หากไม่นับเรื่องทักษะในทาง “วรรณศิลป์”  ที่ประกอบด้วยการใช้ภาษาและกลวิธีการนำเสนอ  การเขียนเรื่องเล่าเร้า  เมื่อผู้อ่านได้อ่านแล้ว จะสัมผัสได้กับองค์ประกอบที่สำคัญๆ 2 ประการ คือ

  • สาระ หรือ ความรู้  อันเกิดจากประสบการณ์ตรง  (ปัญญาปฏิบัติ) ในเวทีแห่งการปฏิบัติงานในเรื่องนั้นๆ  เป็นหัวใจหลัก  และในบางขณะอาจหมายถึงการบูรณาการระหว่างประสบการณ์ตรงกับความรู้ที่มาจากการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยก็ได้
  • สีสันบรรยากาศ หรือกลวิธีการเขียน เป็นส่วนเติมให้งานเขียนน่าอ่าน คล้ายการเล่าเรื่อง หรือสารคดีที่มีชีวิตชีวา อ่านสนุก ได้ข้อเท็จจริงและความรู้ไปพร้อมๆ กัน

 

         แต่อย่างไรก็ดี  การเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง  ผู้เขียนจึงควรต้องเริ่มต้นจากการสร้าง ”ทัศนคติที่ดี” แก่ตัวเองเป็นอันดับแรก  ด้วยการเชื่อและศรัทธาต่อกระบวนการเรียนรู้ 
         เชื่อและศรัทธาต่อความรู้อันเกิดจากการลงมือปฏิบัติจริงของตนเอง (ปัญญาเกิดจากการปฏิบัติ) 
         รวมถึงเชื่อและศรัทธาว่า “โลก คือคลังความรู้ของชีวิต” 
         เพราะความเชื่อและความศรัทธาเช่นนั้น เป็นพลังภายในที่จะหนุนส่งให้ผู้เขียนมี “แรงบันดาลใจที่จะเขียน”  หรือมีพลังที่จะลงมือเขียน ทั้งเพื่อเป็นจดหมายเหตุชีวิตส่วนตัวของตัวเอง  และเป็นวัตถุดิบ หรือผลผลิตในการนำไปแลกเปลี่ยนร่วมกับคนอื่น เพื่อสร้างสรรค์และยกระดับสู่การเป็น “ฐานความรู้”  (Knowledge Bases)  อันเป็นแนวทางให้คนอื่น หรือสังคมได้นำไป “ประยุกต์” ใช้ให้เกิดความสำเร็จ และพัฒนาต่อยอดไปอย่างไม่หยุดนิ่ง

         นอกจากนี้แล้ว  จุดเริ่มต้นที่ดีของการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง  ก็ควรเริ่มต้นจากการเขียนในเชิงบวก  อันหมายถึงการมุ่งเขียนถึงเรื่องราวอันเป็น “ความสุข” และ “ความสำเร็จ” (Success Story)  ของการทำงาน  
          เพราะความสำเร็จที่ถูกกล่าวถึงในเรื่องเล่าเร้าพลัง  จะง่ายต่อการปลุกเร้าให้ผู้อ่านเกิดแรงบันดาลใจและมีพลังในการขับเคลื่อนการงานและชีวิตของตนเอง  ซึ่งง่ายกว่าการหยิบยกประเด็น  “ความล้มเหลว”  มาชูโรงเป็นประเด็นหลักตั้งแต่ต้นเรื่อง 
          เพราะหากนำเสนอเช่นนั้น  และยิ่งหากไม่มีศิลปะในการนำเสนอที่ดีพอ   อาจสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้ผู้อ่านเกิดความไขว้เขว  รู้สึกอึดอัด และไม่มีความสุขกับการอ่านเรื่องที่นำเสนอก็เป็นได้

         และที่สำคัญเลยก็คือ  ต้องไม่ลืมว่า  การเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง  ต้องเน้นความรู้อันเป็น “ทักษะ” มากกว่าความรู้ในเชิง “ทฤษฎี”  เสมือน “พูด หรือเขียนในสิ่งที่ทำ ย้ำในสิ่งที่มี”  ซึ่งสอดรับกับวาทกรรมบรรพบุรุษไทยที่ว่า “สิบปากว่า  ไม่เท่าตาเห็น.. สิบตาเห็น  ไม่เท่ามือคลำ

     

 

 

การเขียนเรื่องเล่าเร้าพลังในงานบริการวิชาการและงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

 

          โดยปกติแล้วงานบริการวิชาการ หรืองานวิจัยเพื่อท้องถิ่น  อาจมีรูปแบบการเขียนรายงานที่หลากหลาย 
           แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเขียนจำนวนไม่น้อยมักถูกกำหนดด้วยรูปแบบของงานเขียนเชิงวิชาการ  หรืออย่างน้อยก็มีรูปแบบการเขียนที่บูรณาการในเชิงสารคดีเข้าไปหนุนเสริม  เพื่อให้เกิดอรรถรสในการอ่าน  แต่ยังชัดเจนและหนักแน่นด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้หรือวิจัยเป็นที่ตั้ง

          แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น  หากสามารถนำการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลังไปหนุนเสริมเป็นเครื่องมือในการสรุปบทเรียน หรือถอดบทเรียนในงานบริการวิชาการและงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้อย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการสกัด “รายงานวิชาการ”  ออกมาในรูปของ “เรื่องเล่าเร้าพลัง”  จะกลายเป็น “นวัตกรรม”  ของการสื่อสารสร้างสุขไปสู่สาธารณะได้เป็นอย่างดี  เนื่องจากเรื่องเล่าเร้าพลัง เป็นงานเขียนที่มีขนาดไม่ยาว  สามารถเขียนได้หลากรูปแบบ  ทั้งเรียงความ, อนุทิน, บันทึกประจำ,  บทความกึ่งสารคดีสั้นๆ  ฯลฯ

           และงานเขียนทุกประเภทที่กล่าวข้างต้นนั้น  สามารถใช้ภาษาอย่างไม่เป็นทางการ  เน้นกลวิธีการนำเสนอแบบ “เล่าเรื่อง”  ย่อมจะช่วยให้ผู้อ่านสามารถอ่านได้ง่าย  เข้าใจง่าย   ช่วยลดช่องว่าง หรือลดความเลื่อมล้ำในทางการศึกษาระหว่าง “นักวิจัยกับชาวบ้าน”  ได้เป็นอย่างดี 

  • ยิ่งหากมุ่งสื่อสารกลับไปสู่กลุ่มผู้ปฏิบัติในระดับท้องถิ่นที่  รวมถึงกลุ่มคนที่มีต้นทุนในการอ่านและการเขียนไม่มากนัก  เมื่อได้อ่านเรื่องเล่าเร้าพลัง  ก็เชื่อเหลือเกินว่าจะมีความรู้สึกผ่อนคลาย  อ่านได้เรื่อยๆ ได้รับทั้งความบันเทิงและความรู้คู่กันไป (บันเทิง เริงปัญญา)  เพราะเรื่องเล่าเร้าพลังที่ดี  จะตอบโจทย์ที่เกี่ยวกับประเด็นสำคัญๆ ได้อย่างชัดเจน อาทิ  วิธีคิด วิธีการ ความสำเร็จ ความล้มเหลว ปัจจัยที่หนุนนำให้สำเร็จและล้มเหลว  หรืออื่นๆ ที่ค้นพบจากการวิจัยนั้นๆ

 

          และสำคัญก็คือ  เรื่องเล่าเร้าพลัง  ไม่เพียงสื่อสารและให้อานิสงส์แต่เฉพาะ “ความรู้”  ที่ค้นพบจากเวทีของการบริการวิชาการและการวิจัยเพื่อท้องถิ่นเท่านั้น  แต่ยังจะทำหน้าที่ปลุกเร้าให้ผู้อ่านเกิดพลังและแรงบันดาลใจในการที่จะพัฒนาตนเองผ่านการอ่านและการเขียนในเรื่องที่ตนเองสันทัด และมีประสบการณ์ตรง  พร้อมๆ กับการแบ่งปันสู่คนอื่นไปในตัว

 

          เหนือสิ่งอื่นใด  หากสามารถนำกระบวนการของการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลังไปผนึกเป็นส่วนหนึ่ง (เครื่องมือ)  ในกิจกรรมการบริการวิชาการและวิจัยเพื่อท้องถิ่น  ผ่านการเขียนเรื่องราวในท้องถิ่น  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตำนานบ้านตำนานเมือง  ประเพณีวัฒนธรรม คติความเชื่อ ชีวประวัติปราชญ์ชาวบ้าน  หรือแม้แต่นิทานชุมชน  ฯลฯ  ยิ่งจะเพิ่มมูลค่าให้กับกระบวนการศึกษาวิจัยมากขึ้น   รวมถึงการสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรม (งานสร้างสรรค์)  ที่สามารถสื่อสารกลับไปยังกลุ่มคนหลากวัยในพื้นที่นั้นๆ ได้อย่างง่ายงามและมีพลัง พร้อมๆ กับการเผยแพร่ไปสู่การเรียนรู้ในเวทีสาธารณะได้อย่างกว้างขวาง

 

 

 

หมายเหตุ : 

การเขียนเรื่องนี้เกิดจากแรงบันดาลใจในการพยายามนำเรื่องเล่าเร้าพลังเข้าสู่กระบวนการของการขับเคลื่อนนโยบายการบริการวิชาการแก่สังคม  ภายใต้โครงการ “1 หลักสูตร 1 ชุมชน” ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 500639เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2012 07:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (25)

- ขอขอบคุณมาก ๆ เลยนะครับ

- บันทึกนี้ ทำให้ผมได้ รู้ - เข้าใจ - พัฒนา งานเขียนบันทึกของผมได้ดียิ่งขึ้นมาก ๆ ๆ เลยครับ

- ขอชื่นชม และเป็นกำลังใจในการทำงานของคุณ "แผ่นดิน" ต่อ ๆ ไปนะครับ

ชยพร   แอคะรัจน์

  • เขียนออกมามากเท่าไร
  • ก็เป็นการถอดบทเรียนชุมชน คนทำค่าย
  • ได้ความรู้มากมาย
  • มาชื่นชม
  • สบายดีไหมครับ

สวัสดีครับ อ.ชยพร แอคะรัจน์

ผมเองเชื่อในกลไกของการอ่านและการเขียนครับ..
สิ่งเหล่านี้ เป็นกระบวนการขัดเกลาชีวิต-ปัญญาเราได้เป็นอย่างดี
เมื่อวานคุยกันในทีประชุม สมาชิกหลายท่าน ทั้งอาจารย์ฯ และชุมชน
เห็นพ้องว่า หากสามารถเขียนงานวิจัยในเวอร์ชั่นที่ชาวบ้านอ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย
เด็กและเยาวชนได้อ่านง่ายๆ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒคนและสังคมเป็นอย่างมาก

ผมเองก็เลยมองมายังประเด็น "เรื่องเล่าเร้าพลัง" ไปพรางๆ...

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

  • ขอบพระคุณที่แวะมาเติมไฟให้นะครับ
  • ชีวิต ผมผูกพันกับการเดินทาง
  • เช้า-สาย-บ่าย ลงชุมชน
  • เย็นๆ สอนหนังสือนิสิต
  • ...นั่นคือ วัฒนธรรมชีวิตในห้วงนี้ของผม
  • ...
  • ขอบพระคุณครับ 

สวีสดีค่ะท่านBlank  แผ่นดิน   มาชื่นชมให้กำลังใจในการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง

กับสถานของการจัดการความรู้ ค่ะ  ขอให้ท่านมีสุขภาพแข็งแรง และสบายดีค่ะ

 

ชอบใจขอกด "ให้ดอกไม้" สักหลายๆ ช่อนะครับ ผมคิดว่าจะทำงานวิจัย (ที่อ่านยาก น่าเบื่อ วิชาการเกิ๊น) มาแปลงเป็น infographic ซึ่งก็อยู่ในขั้นทดลองและรับฟังเสียงตอบรับจากเพื่อนร่วมงานในวงแคบอยู่ครับ เรื่องเขียนงานออกมาให้เป็นภาษาที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย ก็อยู่ในใจเสมอมาครับ บทบันทึกนี้ก็ย้ำเตือนถึงความตั้งใจที่มี

ขอบคุณครับ

..ชอบมากเจ้าค่ะ..กับการ..กลั่นกรอง..ออกมาเป็นข้อเขียน..การสรุป..ขั้นตอน..วิจัย..วิจารณ...ของคนชื่อแผ่นดิน..เจ้าค่ะ..ยายธี

ระหว่างอ่านบันทึกไป คิดถึงบันทึกของหลาย ๆ ท่านในโกทูโนนี้ ชอบอ่านค่ะ เรื่องเล่าแบบง่าย ๆ บ้าน ๆ จากใจ

พอเลื่อนเม้าส์มาถึงช่องความคิดเห็น พบบล็อกเกอร์ในดวงใจที่ว่าBlank ก็ได้ยิ้มอีก 

 

มีความสุขมาก ๆ นะคะอาจารย์แผ่นดิน

 

เรื่องเล่าเร้าพลัง  ... จะทำให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ... รู้สึกเบา + สนุก+ มีพลัง...ฮึดสู้ๆๆ นะคะ

 

ขอบคุณบทความดีดีมคุณภาพนี้ค่ะ 

คือว่า ... ผมหิวแตงโมครับ ;)...

มีพลังและน่าสนในทุกครั้งเมื่อฟังจากการเล่าเรื่องที่เรายังไม่เคยได้เรียนรู้ ขอบคุณอาจารย์ที่นำมาบอกต่อ ค่ะ

เป็นอีกหนึ่งกลไกที่สำคัญของการจัดการความรู้ที่สื่อแรงบันดาลใจระหว่างกันค่ะ

ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่ๆ มากค่ะ

เรื่องเล่าเร้าพลัง ที่สามารถถอดความคิดของผู้เขียนไปสู่ สังคม เป็นความรู้ ที่เกิดจากประสบการณ์ สรุปเป็นบทเรียน ที่ได้เห็นทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชีวิต ขอบคุณบทความที่ดี ๆ ...สวัสดีครับ

เยี่ยมมาก ขอบคุณครับ ผมจะเก็บบันทึกนี้ไว้ อ่านทบทวนหลายๆครั้ง

สวัสดีครับ พี่ครูทิพย์ Blank

ขอบพระคุณที่แวะมาให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอนะครับ
ช่วงนี้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สุพรรณบุรี...

ผมมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า  การเขียนเรื่องเล่าเร้าพลังเริ่มต้นได้ง่าย  เพราะเราสามารถใช้รูปแบบได้หลากหลาย  แม้กระทั่งเขียนในรูปของบันทึกประจำวันก็ทำได้

ยิ่งเขียน ยิ่งเป็นการเจียระไนชีวิตของผู้เขียนเอง... เมื่อสื่อสารไปสู่คนรอบขาย ก็ย่อมถูกคนรอบกาย หรือสังคม เจียระไนให้แหลมคมเพิ่มขึ้น...

ขอบพระคุณครับ

 

สวัสดีครับ อาจารย์แว้บBlank

ด้วยความที่ผมเชื่อว่าเรื่องเล่าเร้าพลัง เป็นงานที่มี "พลัง" ท้าทายการตีความ สังเคราะห์ความ  ผมจึงกล้าพอที่จะหยิบจับมาขับเคลื่อนอย่างจริงๆ จัง  โดยพยายามสอดแทรก หรือหาพื้นที่เล็กๆ ในงานวิชาการของกิจกรรม 1 หลักสูตร 1 ชุมชนอันเป็นงานบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยฯ ด้วยการกระตุ้นให้นิสิตและอาจารย์ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนในสไตล์ของการ "เล่าเรื่อง"

ผมมองว่ารูปแบบเช่นนี้ จะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายในชุมชนได้เรียนรู้เรื่องราวท้องถิ่น หรือปรากฏการณ์เรียนรู้ในท้องถิ่นได้อย่างใกล้ชิด มากกว่าการต้องมาอ่านบทความที่หนักแน่นและเข้มข้นทางวิชาการ  จากนั้นค่อยพัฒนาแบบมีส่วนร่วมเพื่อสร้างชุมชน หรือคนในชุมชนเป็นนักวิจัยอย่างค่อยเป็นค่อยไป

สำคัญ,เรื่องเล่าเร้าพลังยังเหมาะต่อเด็ก-เยาวชนในชุมชนอย่างมากๆ...เพราะอ่านสนุก ได้สาระ... ดีไม่ดียังเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการอ่านและการเขียนไปในตัว

ขอบคุณครับ 

สวัสดีครับ พี่kunrapee  Blank

ขอบพระคุณที่แวะมาหนุนเสริมพลังใจนะครับ...
และขอส่งความปรารถนาดีกลับคืนไปยังพี่อีกสองเท่าตัว...นะครับ

สวัสดีครับ พี่ Somsri Blank

ผมหลงรักเรื่องเล่าเร้าพลังอยู่อย่างหนึ่งเป็นพิเศษก็คือ...
อ่านแล้ว ประหนึ่งว่าได้นั่งฟังเจ้าของเรื่องเล่าเรื่องด้วยตนเองก็ไม่ปาน...


สนุก-ผ่อนคลาย-ได้สาระ...และใกล้ชิด..ครับ

 

สวัสดีครับ อ.วัส Wasawat DeemarnBlank

ซีกนี้ ยกให้หมดเลย
รวมถึงเจ้าตัวเล็กที่จับอยู่ตรงนั้นด้วยนะ...

เป็นวิธีการเขียนที่คนเขียนเล่าเรื่องมีความสุขมากมายที่ได้สร้างสรรค์ความงามออกมาเป็นภาษาชีวิตให้ผู้อ่านได้อ่านค่ะ

มาเรียนรู้กาเขียนเรื่องเล่าจากอาจารย์ 

ลองเขียนบทความเกี่ยวกับข้อมูลตำบลในblog:ตามรอยวัฒนธรรม ภูเก็ต

จะนำความรู้นี้ไปใชค่ะ

ขอบคุณด้วยความเคารพค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท