Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บรรยากาศการทำงานวิจัยและพัฒนาภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ : ทุกข์และสุขเราแบ่งปันกัน !! มันเกิดได้อย่างไร ?


แต่เมื่อเราทำงานจริง ความถึงลูกถึงคนของทีมประเมินผลฯ จึงกลายเป็นความถึงหัวจิตหัวใจ จนความทุกข์และความสุขของเราจึงได้รับการแบ่งปันโดยทีมประเมินผลฯ

      ดิฉันได้อาสา มสช.ที่จะทำงานวิจัยและพัฒนาในช่วงเวลา ๑๒ เดือน (๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๗๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘) ภายใต้โครงการวิจัยผลกระทบของความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของเด็ก เยาวชน และครอบครัวในสังคมไทย : การตรวจสอบปัญหาและแนวคิดในการแก้ไขปัญหา หรือเรียกโดยย่อว่าโครงการเด็กไร้รัฐ

           โครงการเด็กไร้รัฐมิใช่งานวิจัยเกี่ยวคนไร้รัฐงานแรกของดิฉัน แต่เป็นงานแรกที่พยายามจะทำร่วมกับลูกศิษย์ที่ก้าวตามเข้ามาทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายประชาชนไร้รัฐไร้สัญชาติ  การทำงานวิจัยครั้งนี้จึงเป็นความอิ่มเอิบระหว่างดิฉันและลูกศิษย์ซึ่งได้มีโอกาสร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน

          ขอให้สังเกตว่า ความทุกข์ความสุขที่กล่าวถึงนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ

          ในประการแรก ความทุกข์สุขที่เราเสพร่วมกันในระหว่างการทำงานนี้เกิดขึ้นจากความพยายามของเราที่จะใช้วิชานิติศาสตร์ที่เราทักทอร่วมกันมาให้ความช่วยเหลือประชาชน เมื่อเราช่วยคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติได้ เราก็มีความสุข แต่เมื่อเราช่วยคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติไม่ได้ เราก็มีความทุกข์ เรา หมายถึงดิฉันและลูกศิษย์สานความผูกพันทางความเชื่อในนิติศาสตร์เพื่อสังคมกันมากขึ้นและแน่นขึ้น เรารักกันมากขึ้น

              ในประการที่สอง ความเป็นมนุษย์ปุถุชนของเราแต่ละคน ก็นำมาซึ่งความทุกข์ความสุขแก่คนทั้งหมดที่ร่วมงานกัน ทุกข์ที่ถาโถมมาที่ชลฤทัย ผู้จัดการโครงการฯ ก็เป็นความทุกข์ของทุกคนในทีม เราเรียนรู้ว่า ความอบอุ่นที่ประคองกันในยามยากนั้น สร้างสุขให้แก่มนุษย์ได้เช่นกัน

          โครงการเด็กไร้รัฐของเราอาจไม่สามารถส่งรายงานความคืบหน้าได้ทันเวลา จนเขาไม่อาจให้เงินงวดที่ ๒ และ ๓ แก่เราได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราได้รับ ก็คือ ความมั่นใจในกันและกัน แม้เราไม่มีเงิน เราก็ทำงานของเราจนเสร็จสิ้นตามที่เสนอขอโครงการ และเรายังได้ทำงานนอกข้อกำหนดตามสัญญาอีกหลายอย่าง

          ทีมประเมินการวิจัยให้เราได้ A เพราะเขาไม่สนใจว่า เราส่งเอกสารทางธุรการครบไหม เขาดูแค่ว่า เขาทำงานตามสัญญาครบไหม ขอบคุณมากสำหรับความเข้าใจที่มีให้คนทำงานด้านสังคม ขอขอบคุณอาจารย์สายฤดี วรกิจโภคาทร และคณะ  ไม่เคยเห็นทีมประเมินผลที่ตามเราลงพื้นที่ เหนื่อยกับเรา แปรเปลี่ยนจากผู้ตรวจสอบการทำงานของเรา มาเป็นผู้ช่วยวิจัยของเรา อดๆ อยากๆ กับเรา เมื่อเข้าไปทำงานบนเขาหรือในทะเล

         เราซึ่งชินกับการประเมินผลเพียงจากรายงานที่เป็นกระดาษและจากการสัมภาษณ์ จึงรู้สึกแปลกใจมากที่เห็นความใหม่ที่ควรจะน่ากลัวหากเราทำงานแบบผักชีโรยหน้า แต่เมื่อเราทำงานจริง ความถึงลูกถึงคนของทีมประเมินผลฯ จึงกลายเป็นความถึงหัวจิตหัวใจ  จนความทุกข์และความสุขของเราจึงได้รับการแบ่งปันโดยทีมประเมินผลฯ

             ทีมบริหารจัดการกลาง โดยพี่หมอชูชัย ศุภวงศ์ และคณะ ก็เป็นอีกทีมร่วมแบ่งปันความทุกข์สุข เราแทบทุกคนเป็นคนทำงานประมาณปอเต๊กตึ้งก็คือ เมื่อเรื่องด่วนแห่งความเป็นความตายมาถึงคนไร้รัฐของเรา เราก็จะต้องกระโจนถึงตัวคนไร้รัฐก่อน เราทั้งหลายชินต่อการละทิ้งงานตรงหน้า แล้วระดมสู่พื้นที่เกิดเหตุ เด็กตายหนึ่งคน เด็กถูกปฏิเสธสิทธิทางการศึกษาหนึ่งคน สำหรับเรา เป็นเรื่องใหญ่มาก พวกเราจึงเป็นพวกที่ทำบัญชีไม่เป็น เป็นพวกที่ทำเอกสารรายงานความคืบหน้าทางธุรการไม่เป็น หรือในส่วนตัวของดิฉันนั้น ทำเป็น แต่มันไม่มีเวลา แม้การไม่ส่งรายงานความคืบหน้า ก็คือ การไม่ได้รับค่าตอบแทนการวิจัย สำหรับพวกเรา มันก็ไม่มีค่ามากไปกว่าการรักษาสิทธิมนุษยชนของเด็กบ้านนอกสักหนึ่งที่ประสบความไร้รัฐหรือความไร้สัญชาติ โชคดีที่ทีมบริหารจัดการเข้าใจเรา และพยายามที่จะจัดการเราอย่างมีเหตุมีผล อย่างมีจิตมีใจ โดยเฉพาะคุณปิยนุชที่เข้าใจเราอย่างลึกซึ้ง เป็นอีกความสุขหนึ่งที่ดิฉันสัมผัสได้ เมื่อเราทุกข์ น้องปิจะทุกข์อย่างมากกับเรา

           เรารู้สึกว่า เราทำงานสำเร็จ เพราะดูเหมือนเราจะสื่อความทุกข์ของเด็กและครอบครัวอันเนื่องมาจากความไร้รัฐความไร้สัญชาติให้แก่คนรอบตัวเราและสังคมทั้งสังคมได้

       อีกปรากฏการณ์หนึ่ง ที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงาน ภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐนี้ ก็คือ สื่อมวลชนที่มีความรักในสิทธิมนุษยชนได้เข้ามาช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เราสังเคราะห์ได้สู่สังคม  เราไม่ต้องร้องขอด้วยเงิน ด้วยอำนาจ ด้วยการเกลี้ยกล่อมใดๆ มีสื่อกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความเป็นมนุษยนิยมในหัวใจอยู่แล้ว ก้าวมาอยู่ข้างๆ เรา เมื่อเด็กไร้รัฐหรือไร้สัญชาติคนหนึ่งเดือดร้อน สังคมทั้งสังคมก็จะรับรู้โดยผ่านเพื่อนสื่อมวลชนของเรา  และที่เราตื้นตันมากในหลายสถานการณ์ เราตระหนักว่า ความทุกข์ของเราได้รับการแบ่งปันโดยเพื่อนสื่อมวลชน ซึ่งเป็นคนแปลกหน้าสำหรับเราเมื่อเราเริ่มทำงานโครงการเด็กไร้รัฐ เขาร้องไห้กับเราเมื่อเราร้องไห้ เราตระหนักได้ทันทีว่า เขารู้สึกเจ็บเหมือนเราเมื่อเขาเห็นเด็กไร้สัญชาติคนหนึ่งถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ต้องขอบคุณ น้ำตาของแจงฐิตินบที่ไหลทุกหนเมื่อเราทุกข์ด้วยกัน ต้องขอบคุณด๋อย ชวิดาที่เจ็บปวดร่วมกับเราเมื่อเด็กเจ็บปวด ต้องขอบคุณภาสกร จำลองราช ซึ่งไม่เคยลังเลที่จะเข้ามาเป็นกระบอกเสียงให้แก่เด็กและครอบครัวรากหญ้าที่เดือดร้อน

          สำหรับดิฉัน ซึ่งทำงานวิจัยมามาก แม้ในเรื่องเกี่ยวกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ก็มิใช่เรื่องใหม่ แต่การทำงานวิจัยในบรรยากาศของความรักและความร่วมทุกข์ร่วมสุขดังที่เกิดนี้ เป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ต้องถอดประสบการณ์ ประชาคมวิจัยเพื่อการพัฒนาที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐนี้ไม่ควรจะเป็นเพียงความบังเอิญ เราควรจะโคนนิ่งบรรยากาศการทำงานด้วยความรักนี้ให้ได้อีกครั้งหนึ่งหรือหลายครั้ง
       มันเป็นบรรยากาศที่แสดงความดีงามของมนุษย์ ท่ามกลางกระแสอัตตานิยมและวัตถุนิยม
หมายเลขบันทึก: 50058เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2006 12:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท