นักศึกษาสาขาเกษตรเชิงระบบ คณะเกษตรฯ มข.ดูงานการจัดการกลุ่มของเกษตรกร


การศึกษาดูงานเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาในการเรียนรู้ปัญหาจากสภาพพื้นที่จริง รวมทั้งการปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาของเกษตรกรทั้งในแง่ของรายบุคคลและกลุ่ม เป็นประเด็นปัญหาเพื่อใช้ในการทำวิทยานิพนธ์

     เมื่อวันที่ 22-23 สิงหาคม 2555 นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสาขาวิชาเกษตรเชิง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งนักศึกษาไทยและนานาชาติ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ สิมารักษ์ อาจารย์ดร.นิสิต คำหล้า อาจารย์ดร.อรุณี พรมคำบุตร และ Prof. Dr.Fukui Hayao สังกัดสาขาวิชาเกษตรเชิงระบบ ลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้และศึกษาระบบการจัดการกลุ่มของกลุ่มเกษตรกร ณ จังหวัดยโสธร และ จังหวัดมุกดาหาร
     โอกาสนี้นายสุพี วงศ์พิทักษ์ ประธานกลุ่ม กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์หนองแหน (โคขุน) ตำบลหนองแหน อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ได้ให้การต้อนรับและให้รายละเอียดความเป็นมาของกลุ่ม โดยกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์หนองแหนเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้เลี้ยงโคขุนส่งให้กับกลุ่มโคขุนโพนยางคำ จังหวัดสกลนคร ด้วยความเข้มแข็งของผู้นำกลุ่ม การบริหารงานที่โปร่งใส ยุติธรรม และการประสานงานของเครือข่ายกลุ่มผู้เลี้ยงโคทั่วประเทศ รวมทั้งการร่วมมือระหว่างนักวิจัยและเกษตรกรในการพัฒนาสูตรอาหาร ทำให้กลุ่มนี้ดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี โดยปัจจุบันกลายเป็นกลุ่มต้นแบบในการเลี้ยงสัตว์และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคในพื้นที่
     พ่อมั่น สามสี ประธานกลุ่ม กลุ่มโรงสีข้าวชมรมรักษ์ธรรมชาติของกลุ่มเกษตรกรทำนา ตำบลนาโส่ อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ได้ให้การต้อนรับและชี้แจงความเป็นมาของกลุ่ม ที่เกิดจากความเข้มแข็งของผู้นำกลุ่ม และกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาที่เป็นระบบแบบสากล ทำให้ปัจจุบันกลุ่มโรงสีข้าวชมรมรักษ์ธรรมชาติเป็นกลุ่มโรงสีที่ผลิตข้าวอินทรีย์ที่มีตลาดรองรับแน่นอนและหลากหลาย มีเครือข่ายความร่วมมือทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ สามารถสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกรในพื้นที่
     นอกจากนี้ นักศึกษายังได้ศึกษาระบบการเปิดกรีดยางพาราในหน้าฝนและการจัดการระบบน้ำชลประทานของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร เพิ่มอีก ซึ่งการศึกษาดูงานครั้งนี้ เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาในการเรียนรู้ปัญหาจากสภาพพื้นที่จริง รวมทั้งการปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ของเกษตรกรทั้งในแง่ของรายบุคคลและกลุ่ม ซึ่งเหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมของเกษตรกร และเป็นการหาประเด็นปัญหาเพื่อใช้ในการทำวิทยานิพนธ์ โดยเป็นกรณีตัวอย่างในการรวบรวมข้อมูล การนำใช้หลักการและทฤษฎีเกี่ยวกับระบบเกษตรที่มีการเรียนการสอนในห้องเรียนได้เป็นอย่างดี

     คลิกชมภาพข่าว

หมายเลขบันทึก: 500423เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2012 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 สิงหาคม 2012 15:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท