กฎหมายขัดกันรัสเซีย ว่าด้วย ละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้


ความแตกต่างและเหมือนกันของกฎหมายขัดกันรัสเซีย ไทย ญี่ปุ่น

กฎหมายขัดกันรัสเซีย ว่าด้วย ละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

จากการพิจารณาร่างกฎหมายขัดกันรัสเซีย ในเบื้องต้น พบว่า กฎหมายขัดกันของรัสเซียได้นำกฎหมายขัดกันไปอยู่ในกฎหมายแพ่ง ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายขัดกันไทย ที่ออกเป็นพระราชบัญญัติออกมาต่างหาก

ละเมิด 

ต่อมา หากเราพิจารณาถึงหลักกฎหมายขัดกันของรัสเซียว่าด้วยละเมิด พบว่า จะอยู่บทบัญญัติ มาตรา 1259 ซึ่งรัสเซียก็ใช้หลักการเช่นเดียวกับกฎหมายไทยและญี่ปุ่น กล่าวคือ

  1. ให้บังคับตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุให้เกิดหนี้นั้นได้เกิดขึ้น และ
  2. ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นเหตุให้เกิดละเมิดไม่เป็นความผิดตามกฎหมายรัสเซีย

แต่กฎหมายรัสเซียมีข้อแตกต่างจากกฎหมายไทยและญี่ปุ่นอยู่ 2 ประการคือ

  1. การเรียกร้องค่าเสียหายหรือการเยียวยาใดๆ กฎหมายขัดกันรัสเซียไม่ได้กำหนดว่าจะต้องได้รับการรับรองจากกฎหมายรัสเซีย ดังเช่นที่กล่าวไว้ในกฎหมายไทยกับญี่ปุ่น
  2. กฎหมายรัสเซียได้บัญญัติข้อยกเว้นหลักการนำกฎหมายแห่งถิ่นที่เกิดมูลละเมิดมาบังคับแก่คดี คือ หากมูลหนี้แห่งละเมิดเกิด ณ ต่างประเทศ ถ้าคู่กรณี (บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล) แห่งมูลละเมิดนั้น มีสัญชาติเดียวกัน ก็ให้นำกฎหมายแห่งสัญชาติที่ร่วมกันของคู่กรณี มาบังคับใช้แก่คดี (เป็นการนำหลักสัญชาติมาใช้)

ลาภมิควรได้

หากพิจารณาหลักกฎมายขัดกัน ว่าด้วยลาภมิควรได้ ของรัสเซีย ในมาตรา 1258 มีหลักเกณฑ์ดังนี้

  1. ให้บังคับตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ลาภมิควรได้นั้นได้เกิดขึ้น
  2. หากลาภมิควรได้นั้น เกิดจากโมฆะกรรมแห่งเหตุที่ได้มาหรือสงวนไว้ซึ่งทรัพย์สิน ให้ใช้กฎหมายของประเทศที่บังคับกับเหตุนั้นบังคับแก่ลาภมิควรได้
  3. หลักกฎหมายลาภมิควรได้ให้ตีความตามกฎหมายรัสเซีย

จะเห็นได้ว่า กฎหมายรัสเซียได้บัญญัติข้อยกเว้นการนำหลักกฎหมายแห่งถิ่นที่ลาภมิควรได้นั้นได้เกิดขึ้นมาบังคับใช้ ในขณะที่กฎหมายไทยและญี่ปุ่นไม่มีบทบัญญัติดังกล่าว

จัดการงานนอกสั่ง

กฎหมายขัดกันรัสเซีย ไม่มีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับจัดการงานนอกสั่งไว้อย่างชัดแจ้ง แต่หากจะหาหลักกฎมายขัดกัน ว่าด้วย จัดการงานนอกสั่ง (ชื่อเรียกตามกฎหมายไทยและญี่ปุ่น) จะต้องพิจารณา กฎหมายขัดกันรัสเซีย 2 มาตรา คือ มาตรา 1224 ประกอบกับ มาตรา 1260 กล่าวคือ

ตามมาตรา 1260 กฎหมายที่ใช้บังคับแก่ความสัมพันธ์ของบุคคลที่ไม่ใช่สิทธิในทรัพย์สิน คือ กฎหมายแห่งประเทศที่การกระทำหรือเหตุการณ์ได้เกิดขึ้น ซึ่งใช้เป็นมูลเหตุในการอ้างความคุ้มครองในสิทธินั้น ซึ่งจากบทบัญญัติของรัสเซียนี้ สามารถตีความว่าเป็นหลักกฎหมายว่าด้วยการจัดการงานนอกสั่ง (ตามกฎหมายไทยและญี่ปุ่น) โดยอาศัยบทบัญญัติมาตรา 1224 ซึ่งมีหลักว่า หากมีหลักกฎหมายใดที่ไม่มีในกฎหมายของประเทศที่พิจารณาคดี หรือว่ามีแต่มีชื่อและองค์ปรกอบที่แตกต่างกันไป และไม่สามารถกำหนดโดยวิธีตีความใดๆแห่งศาลที่พิจารณาคดีนั้น สามารถนำกฎหมายต่างประเทศมาตีความหลักกฎหมายดังกล่าวได้

ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เราอาจอาศัยมาตรา 1224 นี้ ในการตีความมาตรา 1260 ของกฎหมายขัดกันรัสเซีย เป็นเรื่องของกฎหมายขัดกันว่าด้วยจัดการงานนอกสั่ง ตามกฎหมายไทยและญี่ปุ่นได้

ดังนั้น ในเรื่องจัดการงานนอกสั่ง กฎหมายขัดกันไทย ญี่ปุ่น รัสเซีย ต่างบัญญัติไว้เหมือนกัน คือ ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่ข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุให้เกิดการเรียกร้องหรือหนี้นั้นได้เกิดขึ้น

สรุปได้ว่า กฎหมายขัดกันรัสเซีย มีบทบัญญัติที่คล้ายๆกับกฎหมายขัดกันของไทย และญี่ปุ่น แต่มีข้อยกเว้นบางประการ เช่น การนำหลักสัญชาติมาใช้กับเรื่องละเมิดด้วย เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 49995เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2006 23:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท