ต่างศาสตร์ ต่างประสบการณ์ ต่างมุมมอง


ไม่ใช่เพราะได้เงินน้อย แต่เสียใจเพราะได้รับการยอมรับน้อย

ไปเป็นทีมประเมินระบบสุขภาพเขมรให้กับองค์กรพัฒนาแห่งประเทศสวิสเซอร์แลนด์มาเมื่อต้นเดือน กย ที่ผ่านมามีเรื่องน่าสนใจมาเล่ามากมาย

ขอเล่าเรื่องแรกที่ประทับใจเอามากๆ เพราะหัวหน้าทีมประเมินผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ และเป็นที่ปรึกษามืออาชีพ (แปลว่าหากินกับการเป็นที่ปรึกษาแก่องค์กรระหว่างประเทศเป็นหลัก) แถมยังเป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดี คอสตาริกาด้วย

ส่วนผมเป็นหมอ และเป็นนักสาธารณสุข แม้จะสนใจและมีความรู้เศรษฐศาสตร์บ้างก็ไม่เข้ากระดูกเหมือนหัวหน้าทีมคนนี้ ชื่อ Mr James Cercone

มีอยู่วันนึงเราตกลงออกไปเยี่ยม รพ ชุมชน และสำนักงาน สสอ กัน (ที่นี่เขาไม่ได้เรียกแบบนั้น แต่ผมเทียบเอาเองตามความเข้าใจของผม)

เพราะคนที่ผมเรียกว่า สสอ ที่นี่เขาเป็นหมอ และเป็นหัวหน้าทีมในระดับอำเภอทั้งหมด เรียกชื่อทางการว่า operational district officer โดยที่ไม่ได้เป็นหัวหน้าของ ผอ รพ อำเภอ เพราะเขาเรียก ผอ รพอำเภอว่า director of referral hospital แปลว่ารับคนไข้ส่งต่อมาจาก สถานีอนามัย (ซึ่งบางแห่ง ผอ ก็เป็นหมอเหมือนกัน) ไม่ได้แปลว่าเป็น รพ ระดับตติยภูมิ แบบที่บ้านเราเรียกกัน

ที่เขมรคล้ายบ้านเราสมัยก่อนคือมีนโยบายให้เก็บเงินชาวบ้านที่มารับบริการ เพื่อ รพ และ สอ จะได้มีเงินมาคอยซื้อยา และจัดบริการให้ประชาชน เพียงแต่ที่นี่แปลกเล็กน้อย ตรงที่เขามีเป้าหมายชัดเจนว่าให้เอาเงินี่เก็บได้มาจัดสรรเป็นรายได้ของ เจ้าหน้าที่ได้ 60% อีก 39% เอาไว้ใช้พัฒนาบริการ อีก 1% ส่งส่วนกลาง (ไม่ได้บอกว่าเอาไปไว้ไหน)

เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่จะมีแรงจูงใจในการเก็บเงินจากประชาชนชัดเจน ส่วนทางรัฐบาลก็ต้องทำแบบนี้เพราะเงินเดือนที่มีให้มันไม่พอใช้ หมอที่นี่จะได้เงินเดือนจากรัฐบาลเดือนละราว 30 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1200 บาท

หมอส่วนใหญ่จะกินเงินเดือนรัฐบาล แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปเปิดร้านของตัวเอง

ตอนที่เราไปถึง รพ เป็นเวลา เกือบ 10 โมงเช้า มี ผอ รพ มาคุยกับเราอยู่คนเดียว คนไข้ไม่มีแล้ว มีแต่คนไข้ในอยู่ 14 คน (จาก 34 เตียง) ส่วนหมออีก 4 คนไปอยู่ที่ร้านของตัวเองกันหมด

ก็น่าเห็นใจใช่ย่อย เพราะทำงานที่ รพ หลวงก็ได้แค่เงินเดือน ในขณะที่คนทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาอังกฤษที่เราจ้างระหว่างอยู่ที่นี่ คิดค่าตัววันละ 120 เหรียญ

อย่าแปลกใจที่ไม่มีหมอลาออกไปทำหน้าที่ล่าม เพราะความรู้ภาษาอังกฤษมีจำกัด และคงไม่ค่อยมีใครลาออกจากงานหลวงเพราะเงินเดือนหลวงเหมือนเงินแถมฟรี

ทางรัฐบาลจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อเพิ่มรายได้หมอโดยให้ทำงานที่ รพ ของหลวง สำหรับชาวบ้านอาจไม่ต่างกัน เพราะไม่ว่าจะไปที่คลินิค หรือ มา รพ หลวง ก็ต้องจ่ายเงินเหมือนกัน

อาจจะดีหน่อยตรงที่ขอฟรีได้ถ้าไม่มีปัญญาจ่าย

แต่ที่เหมือนกันแน่ๆ คือค่ายาต้องจ่ายเอง ถ้าไม่ได้นอน รพ

ยาที่ รพ หลวงมีไว้ให้คนไข้ที่นอน รพ เท่านั้น

เราพูดคุยกับคุณหมอ ผอ รพ จนคุ้นเคยก็พากันไปกินข้าวกลางวัน ระหว่างกินข้าวก็เลียบเคียงถามเรื่องรายได้ว่า ที่เก็บเงินคนไข้มาจ่ายค่าตอบแทนเพิ่ม ผลเป็นยังไง ได้เงินพอใช้ไหม มีสูตรในการแบ่งเงินระหว่างสมาชิกในทีมยังไง

คุณหมอเล่าให้ฟังว่า ได้เงินมาเท่าไร ก็เอามาแบ่งออกมา 60% ตามกติกา แล้วเอาจำนวนคนมาหารเท่าๆกัน

เสร็จแล้วก็ตัดออกมาคนละ 10% เอามาเพิ่มให้พวกหมอ

ฟังถึงตรงนี้ผมคิดถึงเมืองไทยที่มีเสียงบ่นกันมากมายว่า ทำไมต้องเอาใจแต่หมอ ให้ค่าตอบแทนก็ให้แต่หมอ

และผมเชื่อว่าพอได้ยินแบบนี้ก็อาจจะไม่มีใครชื่นชมว่าที่เขมรดีกว่าตรงที่ทุกวิชาชีพ (ที่จริงรวมคนงานทุกคนด้วย) ได้ค่าตอบแทนเหมือนกัน

เพราะคงสงสัยแกมหงุดหงิดว่า ทำไมต้องตัดให้หมอเพิ่มอีก 10% พร้อมอาจจะคิดต่อว่า ไม่ว่าที่ไหนๆ พวกหมอก็เอาเปรียบคนอื่นเขาร่ำไป

แต่บางคนก็อาจจะคิดว่าที่เขมรดีมากที่ให้ทุกคนได้ค่าตอบแทนเพิ่ม แถมยังให้เท่ากันไม่แบ่งวิชาชีพ จะยกเว้นหมอบ้างก็พอทนได้ เพราะถ้าไม่มีหมอก็ไม่มีคนไข้ และไม่มีรายได้มาแบ่งกัน

แต่คุณ james ของผมเขาคิดแบบไหนพวกเราทราบไหมครับ ลองเดาดูก่อนอ่านต่อก็ได้นะครับ

คำถามแรกของเขาคือ ทำไม 10%

ไอ้ผมก็นึกว่าเขาคงเป็นประเภทหมั่นไส้หมอเหมือนหลายคนในเมือไทย ที่รู้สึกว่าคนเป็นหมอนี่เป็นอภิสิทธ์ชนอยู่เรื่อย

ปรากฏว่าตรงข้าม เพราะคำถามต่อไปของเขาคือ เงินเดือนหมอ เท่าไร และเงินเดือน พยาบาลเท่าไรเงินเดือนคนงานเท่าไร

สำหรับเขาในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ สูตรการแบ่งเงินที่เป็นธรรม คือแบ่งตามระดับเงินเดือน เพราะเงินเดือนสะท้อนราคาตลาด (แม้จะไม่จริงเท่าไรในกรณี เงินเดือนหลวง แต่ก็พอแบ่งระดับได้ เมื่อได้เงินเพิ่มมาก็ควรแบ่งตามระดับเงินเดือน คือคนมีเงินเดือนมากก็ได้ค่าตอบแทนมาก)

เขาอธิบายไปก็กลัวว่าคุณหมอ ชาวเขมรจะไม่เข้าใจ ลงมือเอากระดาษเช็ดปากแผ่นบางๆบนโต๊ะกินข้าว เอามาลงมือเขียนตาราง สมมุติตัวเลขเงินเดือน และเขียนสูตรการคำนวณ พร้อมกับมอบให้คุณหมอ เขมร ซึ่งทำหน้างงว่าคุณ james พยายามจะบอกอะไร และเขียนอะไรให้เขา

พอดีเรามีล่ามไปด้วย (ไม่งั้นคงไม่ได้อยู่ดูงานจนถึงเวลากินข้าวเที่ยงหรือหลอกถามเรื่องเงินรายได้หรอกครับ) ล่ามเลยอธิบายให้ฟัง

พอเขาเข้าใจว่าคุณ james พยายามจะบอกอะไรเขา เขารีบตอบโดยไม่ชักช้าว่า ไม่ได้หรอกครับ ที่นี่เขามีคณะกรรมการมาคอยดูแล ตัดสินใจว่าจะแบ่งเงินกันยังไง และนี่ก็เป็นสูตรที่ทางคณะกรรมการตกลงกันไม่ใช่แบบที่คุณเจมส์ เสนอ

คุณเจมส์ของผมก็ยังไม่ลดละ พยายามพูดต่อว่า อ๋อ มิน่าเล่า ก็หมอมีแค่ 5 คน ในท่ามกลางคนรวมกัน 40 คนยังไงก็คงโหวตแพ้แน่ๆ ใช่ไหม

คุณหมอเลยบอกต่อไปว่าไม่ใช่หรอกครับ ที่จริงเวลามีคนไข้มาคนนึง หมอดูคนไข้เสร็จแต่คนอื่นๆต้องมาดูแลต่อ มีหน้าที่และเรื่องต้องทำกันอีกคนละมากๆ

คุณเจมส์ก็ยังหันมาหัวเราะกับผมอีก ว่ามิน่าเล่า พวกหมอที่นี่มันอู้งาน (เขาไม่ได้พูดแบบนี้นะครับ เพราะในภาษาอังกฤษไม่มีคำว่าอู้) คนอื่นเขารู้ทันเลยไม่แบ่งเงินให้มากสมกับที่ควรได้

โดยสรุปคุณเจมส์ยังเชื่อว่า การแบ่งตามสัดส่วนเงินเดือนเป็นวิธีที่เป็นธรรมที่สุด มิวายที่ทางท่าน ผอ รพจะพยายามเอา หลักเกณฑ์อื่นมาบอก

เช่นข้อเท็จจริงที่ว่า ในแง่ปริมาณงาน และเวลาที่ใช้ในการดูแลคนไข้ หลายคนและหลายวิชาชีพ อาจจะต้องใช้เวลากับคนไข้มากกว่าหมอ

หรือเกณฑ์ที่ว่า กติกาต้องกำหนดโดยคนส่วนใหญ่ โดยฉันทานุมัติ และในฐานะสมาชิกก็ต้องฟังเสียงคนอื่นในที่ทำงาน

ไม่ใช่เรื่องหมอขยันหรือขี้เกียจ อู้งานไปเปิดร้านตัวเองหรือไม่

เพราะถึงไม่หนีไปเปิดร้านก็อาจจะมาอ้างว่าต้งแบ่งตามสัดส่วนเงินเดือนไม่ได้หรอก

อันหลังนี่เขาไม่ได้พูดแต่ผมสรุปเอง หลังจากได้ทราบท่าทีของคุณเจมส์ ในตอนหลังว่าด้วยความขยัน และขี้เกียจของคนเป็นหมอ

ความจริงหลายคนอาจจะอยากให้โลกนี้เป็นเหมือนที่คุณเจมส์มองเห็น คือทุกเรื่องมีกติกา และหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เป็นมาตรฐาน บนพื้นฐานวิธีคิดอันหนึ่งที่ไม่ต้องไปเที่ยวปรับหรือประยุกต์ หรือแม้กระทั่งมีข้ออ้าง ที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ และสิ่งแวดล้อม

ก็ในเมื่อจ้างคนโดยมีวิธีคิดเรื่องเงินดือนที่ชัดเจน ทำไมเวลาแบ่งค่าตอบแทนเพิ่มไม่ใช้หลักเดียวกัน ก็เรื่องการคิดรายได้เหมือนกัน

ผมคิดเอาเองว่าคุณเจมส์อาจจลืมไปว่า เงินที่เราคิดว่ามีคุณค่า และความหมายเหมือนๆกัน เพราะเป็นตัวแทนในเชิงมูลค่าของสิ่งต่างๆที่มีค่าทางเศรษฐกิจได้นั้น

ที่จริงมันมีความหมาย และคุณค่าเชิงสัญญลักษณ์อยู่ในหลายกรณี

โดยเฉพาะคือถูกเอามาใช้บอกคุณค่าของตัวคนทำงานอยู่บ่อยๆ

เราจึงเห็นคนที่ได้เงินไม่เท่ากัน ทั้งที่จำนวนต่างกันก็ไม่มาก รู้สึกเสียอกเสียใจที่ตัวเองได้น้อยกว่า

ไม่ใช่เพราะเสียดายที่ได้เงินน้อย แต่เพราะรู้สึกว่าไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร

หรืออาจถึงขั้นตีความหมายว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

ตอนขึ้นเงินเดือนประจำปีในภาครัฐ มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ จนหลายคนที่เป็นหัวหน้า แทบไม่อยากจะให้ถึงเวลาขึ้นเงินเดือนประจำปี

เพราะคนทำงานดีๆมาด้วยกันทั้งปี ต้องมาถูกแบ่งเป็นกลุ่มๆ เพื่อเอาไปคำนวณการขึ้นเงินเดือน เลยเกิดการแตกแยก

ไม่ใช่เพราะแย่งเงิน แต่แย่งการยอมรับ และผลงานมากกว่า แย่งจะเอาเงินแยะๆ

บางทีคนที่เห็นเงินเป็นใหญ่ก็อาจจะดีไปอย่าง

ไม่ต้องมาคิดมาก เหมือนคนที่เห็นเงินเป็นสัญญลักษณ์สะท้อนอัตตา ความสามารถ และการยอมรับ

หมายเลขบันทึก: 49979เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2006 22:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท