ชาวบ้านนักวิจัย มองการท่องเที่ยวโดยชุมชน อย่างไร? : จากวงสนทนาน้ำชา


เขาทำอะไรมากไม่ได้ ก็เป็นคนเล็กๆ แต่สิ่งที่ทำอยู่ก็คือ "การขายความคิด" ให้ชุมชน ขายความคิดใน หมู่บ้านกระเหรี่ยงของเขา ที่กำลังจะถูกผลักเข้าสู่กระแสการท่องเที่ยว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได

วันนี้ช่วงบ่ายไปบ้านกระเหรี่ยงแม่ปิง อำเภอปายเพื่อไปดู ความเรียบร้อยและเตรียมพื้นที่ที่ นศ.ป.โท สาขาการส่งเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จะเข้ามาเรียนรู้หมู่้บ้านจัดการสุขภาพ ในอีก ๒-๓ วันข้างหน้า  และผมเข้าร่วมเป็นวิทยากร ร่วมเรียนรู้ในครั้งนี้ด้วย

วันนี้ผมถือโอกาสไปนั่งคุยกับ "แพบู"  หนุ่มใหญ่ชาวกระเหรี่ยงหนึ่งในทีมงานวิจัยร่วม "โครงการวิจัยการสังเคราะห์การท่องเที่ยวโดยชุมชนแม่ฮ่องสอน"

แพบู เป็นชาวกระเหรี่ยง เคยผ่านงานศึกษาวิจัย ของ สกว. มาครั้งหนึ่ง โดยได้รับทุนจาก สกว. ครั้งนั้น เป็นการวิจัยประเด็นการท่องเที่ยวโดยชุมชน แต่ก็นานมาแล้ว

วงน้ำชา กับการสนทนาอย่างออกรสชาติ เรื่อง ของ "การท่องเที่ยวโดยชุมชน"

แพบูให้ข้อคิดเห็นอย่างน่าสนใจ

 เขาบอกว่า การท่องเที่ยวโดยชุมชน มีทั้งผลดีและผลเสียกับชุมชน

หากจะให้ยั่งยืน การท่องเที่ยวโดยชุมชน จะช่วยสร้างสรรค์ชุมชน ๒ประเด็น คือ

  • การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
  • การอนุรักษ์ ฟื้นฟูวัฒนธรรม

หากไม่มีจิตสำนึก และขาดการดูแลทั้ง ๒ สิ่งที่ว่า การท่องเที่ยวนั้นไม่ยั่งยืน

ปัญหาที่เขาคิดว่า...การจัดการการท่องเที่ยวที่"ปาย" ควรต้องตระหนักมากๆ คือ "จิตสำนึก"

แพบู ย้ำคำว่าจิตสำนึก เขาอธิบายว่า อยากให้นักธุรกิจที่ทำเรืื่องการท่องเที่ยวมีจิตสำนึก ตระหนักใน ๒ ประเด็นข้างต้น...และมีคำถามต่อ ว่า "จะสร้างจิตสำนึกกับนักธุรกิจเหล่านั้นอย่างไร?"

ในขณะเดียวกันชุมชนเองก็ต้องมีจิตสำนึกเช่นเดียวกัน

ประเด็นคำถามที่ แพบู ตั้งไว้ เป็นโจทย์ที่เราต้องนำมาขบคิด และคิดกระบวนการการพัฒนาในระดับอำเภอต่อ... 

การท่องเที่ยวโดยชุมชน หากมอง "เงินเป็นตัวตั้ง" การท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบนั้นไม่ยั่งยืน...และล้มเหลวในที่สุด

แพบู บอกผมอีกครั้งเมื่อเราจิบชาหมดไปครึ่งกา

ชุมชนต้องมองเรื่องการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการสืบสานวัฒนธรรม และอนุรักษ์ทรัพยากร เครื่องมือในพัฒนาชุมชน ี่สำคัญที่สุดคือต้องมองการท่องเที่ยวเป็น "อาชีพเสริม" ไม่ใช่ "อาชีพหลัก"

การท่องเที่ยวทำให้เกิด "วัฒนธรรมที่จอมปลอม" แพบูพูดคำน่าสนใจ ...จนผมถามว่า  แพบูหมายถึงอะไร?

เขาบอกต่อว่า วัฒนธรรมจอมปลอมคือ การจัดฉากทางวัฒนธรรม ซึ่งขัดต่อวิถีชีวิตของชุมชน...การท่องเที่ยวที่ทำแบบนั้นก็ไม่รุ่ง มีแต่ทำลาย 

ผมเข้าใจว่าที่แพบูบอกคือ การที่ชุมชนจัดฉากสร้า้งวัฒนธรรมปลอม ๆ เพื่อเอาใจนักท่องเที่ยวโดยที่ไม่ถึงกาละที่เหมาะสม เช่น การจัดประเพณีบางอย่าง โดยแสดงให้นักท่องเที่ยวดู โดยขาดสาระ องค์ประกอบ และกาละที่เหมาะสม

แพบู คุยต่อว่า  เขาทำอะไรมากไม่ได้ ก็เป็นคนเล็กๆ แต่สิ่งที่ทำอยู่ก็คือ "การขายความคิด" ให้ชุมชน ขายความคิดใน หมู่บ้านกระเหรี่ยงของเขา ที่กำลังจะถูกผลักเข้าสู่กระแสการท่องเที่ยว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ผมมองว่า เป็นสิ่งที่ชอบ ที่คนในชุมชนเริ่มต้นด้วยวิธีคิดดีๆ และขายความคิดสร้างแนวร่วม ผลักดันการพัฒนาที่ถูกทิศถูกทาง ดีกว่า ไปรอฟังความคิดจากคนข้างนอก ที่ไม่ได้ร่วมทุกข์ร้อนปัญหาของชุมชนโดยตรง  

ประเด็นในวงสนทนาแบบบังเอิญในวันนี้ ผมได้วิธีคิด และ ได้สนทนาประเด็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนจากปากของชาวบ้าน ซึ่งแหลมคม และน่าสนใจ ...จนต้องเก็บประเด็นที่คุยไปคิดและบันทึกไว้

 

หมายเลขบันทึก: 49970เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2006 21:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 13:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)
  • อยากให้นักธุรกิจทั้งหลายมาอ่านบันทึกนี้จัง
  • เขาจะได้ คิดเป็น ไม่ทำลายธรรมชาติ และเกิดความหวงแหนสมบัติของชาติบ้าง..นิ

ขอบคุณครับพี่เล็ก...ตอบกลับเร็วจนตกใจ

 เรื่อง ผลประโยชน์ เงิน ไม่เข้าใครออกใคร ผู้ประกอบการที่เอาแต่ได้บางกลุ่มไมาได้มองและคิดอย่างนี้เลย

คิดแต่ว่า จะทำอย่างไรได้เงิน กำไร มากที่สุด

การสร้า้งสรรค์ปัญญาให้กับชุมชน  ร่วมกันสร้างความมั่นใจให้ชุมชน จะเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่ให้ชุมชนเข้มแข็ง และคานผลประโยชน์ของกลุ่มนายทุนเอาแต่ได้มากขึ้น

เกิดกรณี ชาวบ้านปิดล้อมรถนายทุนขนไม้ใผ่จากดอยของเขา ชาวบ้านต่อต้านการดูดทรายของนายทุนจากแม่น้ำของเขา ซึ่งพวกเขารักษา หวงแหนทรัพยากรของชุมชน และเพื่อพวกเราด้วยครับ

ขอบคุณพี่เล็กครับ 

  • ยินดีด้วยครับที่คนในชุมชนมีแนวคิดที่ดี ๆ อย่างนี้
  • สมควรได้รับการสนับสนุนให้ขยายวงออกไป

ขอบคุณอาจารย์ Panda ครับ

สัปดาห์หน้าผมจะไป ตามหา "มิยาวดี" ที่ ยังหมู่บ้านแถบแม่น้ำสาละวินเพื่อไปเก็บข้อมูลหมู่บ้านท่องเที่ยว

งานนี้ไปในหลายๆหมู่บ้าน ประมาณ ๕ - ๖ วันครับ น่าจะมีข้อมูล "การท่องเที่ยวโดยชุมชน" หลากหลาย มาฝากอาจารย์Panda และมีวิธีคิดที่แตกต่างในชุมชนที่แตกต่าง มาเขียนบันทึกด้วย

บางชุมชนทำ home stay สำเร็จ แต่บางชุมชนล้มเหลว...เพราะอะไร?

ผมคิดว่าประเด็นนี้อาจารย์ Panda คงสนใจอยู่ครับ 

การจัดฉากทางวัฒนธรรม

เป็นคำที่ฟังแล้ว ปวดใจ  ดีแท้
มีให้เห็นทั่วทุกภาคของประเทศไทยเลยล่ะ

  • แล้วรีบ ๆ ถ่ายทอดออกมาเร็ว ๆ นะ พี่จะติดตามคอยดูค่ะ

พี่ Nidnoi

การส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ขาดความเข้าใจ ทำให้เกิดการจัดฉากทางวัฒนธรรมขึ้นมาให้เห็นอยู่บ่อยๆ ไม่ได้สรา้งสรรค์แต่เป็นการทำลายครับผม

ดังนั้น การที่จะเข้าใจมิติของวัฒนธรรมต้องลุ่มลึกและ พัฒนาแบบเข้าใจ...ให้เกียรติวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า

พี่เล็ก ศุภลักษณ์

พี่เล็กคงหมายถึง ที่ผมจะไปตะลอนทัวร์ที่หมู่บ้านแถบชายแดนสาละวิน หรือเปล่าครับ...หากใช่่ ผมจะเก็บทั้งภาพและเหตุการณ์มากฝาก เผื่อผมไปเจอน้อง "มิยาวดี" ผมจะถ่ายรูปมาฝากด้วย 

สวัสดีคะ...คุณเอก

...

ตามมาทักทายยามดึกคะ...

เป็นกำลังใจให้เสมอนะคะ

*^__^*

กะปุ๋ม

ผมจิบชากับ "แพบู" เยอะไปหน่อยครับ เลยไม่ง่วงเลย

....................

ขอบคุณเสมอนะครับ สำหรับกำลังใจ ผมรู้สึกดีๆครับ ในวันนี้... 

ขอบคุณครับ 

นั่นสิคะ...คุณเอก... กะปุ๋มก็รู้สึกแปลก...กับการได้เจอในยามค่ำคืน... ... จิบกาแฟ...ชมดาว...ในยามค่ำคืน.. ซึมซับแห่งอารมณ์สุนทรียะ...และความรักต่อตนเอง...

Dr.Ka-Poom 

ปกติผมจะนอน ประมาณ ๔ - ๕ทุ่มครับ เพราะพยายามจะนอนไม่ดึกครับ ตอนกลางวันนั่งเขียนหนังสือจะได้สมองปลอดโปร่งครับ

กำลังเร่งต้นฉบับ...ครับผม 

ยังตามอ่านอยู่เงียบๆ ไม่ได้หายไปไหน แวะมาให้กำลังใจนะครับ

เห็นว่า พี่ยอดดอย เงียบๆไป ไม่ทราบซุ่มทำโปรเจคค์อะไรใหม่ๆ  หรือเปล่า...? และมีอะไรให้ได้ร่วมสร้างสรรค์ก็ยินดีนะครับ

ขอบคุณครับ สำหรับกำลังใจครับ 

สวัสดีค่ะ  คุณจตุพร

เรื่องที่เขียนเล่ามาน่าสนใจมากๆ ค่ะ  และตอนนี้  สคส.  กำลังคิดว่า  น่าจะมีการเชื่อมโยงโครงการการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืนบนฐานการวิจัยท่องเที่ยวไทย  ให้เป็น  CoP  จึงขอหารือและขอคำแนะนำจากคุณจตุพร  ว่าน่าจะมีแนวโน้มหรือมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนค่ะ  งานนี้  อ.วิจารณ์  มอบหมายให้  หญิง  เป็นผู้ประสานงานค่ะ

หญิง  สคส.

คุณหญิง

ผมคิดว่าเป็นไปได้มากเลยครับ ซึ่งปกติแล้วเรามีเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งเป็นชุมชนที่วิจัยด้านการท่องเที่ยว ที่เป็นทั้งตัวบุคคลและหมู่บ้าน รวมถึงเครือข่ายในระดับต่างๆ ครับ

ที่แม่ฮ่องสอน เรามีเครือข่าย ระดับอำเภอ และจังหวัดครับ ทั้งในส่วนของหมู่บ้านที่มาจากฐานงานพัฒนาอื่นๆ และฐานงานวิจัย  ซึ่งกำลังขับเคลื่อนอยู่ครับ

ส่วนเครือข่ายระดับจังหวัด เห็นมีการเคลื่อนน่าสนใจ อยู่ ๓ จังหวัด เชียงใหม่ เชียงรายและแม่ฮ่องสอน 

ผมคิดว่า สคส.รันงานในส่วนของ CoP ได้เลยครับ  เห็นว่าทาง สกว.เองก็พยายามเรื่องนี้อยูุ่่ด้วยครับ

ยินดีครับ สำหรับข้อแลกเปลี่ยนในโอกาสต่อไป 

อ่านแล้วอยากไปจิบชากับท่านแพบูจัง

ผมเคยคิดมาเหมือนกันว่า การท่องเที่ยวกับการแทรกแซง แทบจะเป็นสิ่งเดียวกัน

เพราะพอเงินมาทุกอย่างก็จะตามมาไม่ว่านักธุรกิจ การคมนาคม การสื่อสาร สินค้า+บริการแปลกๆ เพื่อตอบสนองกิเลสนักท่องเที่ยวเพื่อเงินเป็นเป้าหมาย ในที่สุด..การเมืองก็เข้ามาแทรกแซงเมื่อเงินมหาศาลเข้ามา.....เป็นการแทรกแซงที่ถูกกฎหมายเสียด้วย

หวังว่าชุมชนจะตื่นตระหนัก เช่นเดียวกับตอนนี้ที่ตื่นตระหนักต่อห้างต่างชาติที่มาขยี้ค้าปลีกเราด้วยเถิด

มีพันกว่าสาขาแล้วนึกได้ ยังดีครับ ดีกว่าอาเจนตินาที่โดนทั้งประเทศแล้วถึงเพิ่งรู้สึก

คุณจันทร์เมามาย

เราไม่สามารถทานการท่องเที่ยวกระแสหลักได้...มีเวทีหนึ่ง ที่ผมให้ข้อคิดเห็นในเวทีเรื่อง การปรับตัวของชุมชนในการรองรับการท่องเที่ยว

มีอาจารย์ท่านหนึ่ง ติงผมว่า พูดแบบผมก็หมายถึงเรายอมรับการท่องเที่ยวเข้าไปในชุมชนเต็มๆ ซึ่งอันตรายมาก

ผมก็มองว่า เราต้านกระแสไม่ได้ ในอนาคตการท่องเที่ยวรุกคืบเข้าไปแน่ๆ การท่องเที่ยวที่ไม่สรา้งสรรค์ ทำร้ายชุมชน แต่ทางกลับกัน การจัดการ บริหารให้ชุมชนลองคิด ลองจัดการชุมชนเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยก็ดี การพัฒนาก็ได้...ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องจำเป็น

ตื่นตระหนกไว้ก่อนก็จะดี สำหรับเรื่อง "การท่องเที่ยวโดยชุมชน"

ขอบคุณท่านจันทร์เมามายครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท