หมากลิ้นฟ้า


หมากลิ้นฟ้า ดอกลิ้นฟ้า

ตั้งชื่อบันทึกนี้ ต้องขอขอบคุณท่านที่แสดความคิดเห็น ท่านบอกว่า มีแต่คนแก่ที่ชอบกินผักขมๆ

   ต้องขอบอกว่า อาจจะเป็นที่พ่อแม่พาพวกเราทานนะคะ ว่าผักขมแบบนี้ ต้องกินกับอาหารประเภทไหนมันถึงจะเข้ากันและอร่อย กับอาหารอย่างหนึ่งที่ทุกคนต้องเคยทานและบางคนจะชอบด้วย  ภาคกลางคงจะเรียกน้ำพริก แต่ที่บ้านท่าขอนยาง (จ.มหาสารคาม) เอิ้นว่า "ป่น"  จะป่นปลาอะไรก็แล้วแต่ หากทำป่นแล้วต้องมีผัก เป็นเครื่องเคียงมากมาย เช่น ถั่วฝักยาว มะเขือ ผักกระถิน ยอดผักที่นำมาลวกต่าง ๆ จะเข้าหน้าหนาวขาดไม่ได้ คือ ดอกหมากลิ้นฟ้า  ดีหน่อย ก็เป็นหมากลิ้นฟ้า (ต้นเพกา) แสดงว่า "ป่นมื้อนั้นแซ่บบักคัก"เลยค่ะ วิธีลวกดอกหมากลิ้นฟ้า พ่อเคยบอกว่า ต้อเอเกสรออกให้หมด ล้างน้ำให้สะอาด ตั้งหม้อน้ำให้เดือด แล้วนำดอกหมากลิ้นฟ้าลงลวก คนให้ดอกถูกน้ำร้อนทุกส่วนรอซัก 10  นาที แล้วตักออกใส่น้ำเย็น ซัก 2  น้ำ หากใครชอบทานขมก็ไม่ต้องใส่น้ำเย็นก็ได้ พอบอกว่าหากแช่ไว้ในน้ำร้อน เมื่อเย็นแล้ว ความขมจะกลับคืนอีก จะทำให้ขมมากขึ้น เคยทำแล้วขมจริง ๆ ค่ะ อีกวิธีหนึ่งที่ท่านคณบดีคนก่อนแนะนำคือนำดอกไปนึ่ง ให้สุก ก็ไม่ขมเหมือนกัน แต่ยังไม่เคยลองวิธีนี้ค่ะ

   ส่วนหมากนั้น กินกับอาหารที่หรูหน่อยคือลาบ ก้อยเนื้อวัว ลาบเป็ด อาหารขึ้นโต๊ะว่างั้นเถอะ วิธีการนำหมากลิ้นฟ้ามาเผาไฟ ให้พองเกือบไหม้ ทั้งฝักนะคะ เสร็จแล้วน้ำฝักที่เผาไปแช่น้ำเย็น จึงนำช้อนมาขูดผิวที่ไหม้ออก คราวนี้จะเหลือเนื้อข้างในที่มีสีเขียวอมเหลืองน่ารับประทาน นำมาหั่นในแนวเฉียง เป็นเครื่องเคียงอาหารดังกล่าว ชั้นเลิส ค่ะ 

  แล้วสรรพคุณ นอกจากใช้เป็นผักแล้ว เพกายังให้ประโยชน์อีกหลายด้าน เช่น เปลือกของลำต้นนำมาใช้ย้อมผ้าฝ้ายให้สีเขียวอ่อน เนื้อไม้สีขาวละเอียดมีความเหนียวเหมาะสำหรับนำมาแกะสลักเป็นตุ๊กตาต่างๆ เมล็ดแก่ที่มีเยื่อบางๆนั้น ชาวบ้านนำมายัดหมอนใช้แทนนุ่นได้ดี เพกาเป็นไม้โตเร็วและแข็งแรง ทนทาน สามารถปลูกเอาไว้ใช้สอยเป็นไม้ฟืน  เคยถามคนที่ทำตะไล เขาบอกว่าต้องเอาไม้จากต้นนี้ไปเผาเป็นถ่านเพื่อเป็นส่วนผสมในการทำตะไลเล็ก ที่จุดตามงานบวช 
   ในตำราประมวลสรรพคุณยาไทย อธิบายสรรพคุณทางยาของต้นลิ้นฟ้า (เพกา) เอาไว้ดังนี้ เปลือก รสฝาดเย็น ขมเล็กน้อย เป็นยาสมานดับพิษโลหิต แก้น้ำเหลืองเสีย ใช้ฝนกับน้ำปูนใส ทาแก้อักเสบ ฟกช้ำ บวม ราก บำรุงธาตุ แก้ท้องร่วง
เมล็ดแก่ เป็นยาระบาย ใช้เข้าเครื่องยาจีนหลายชนิด

   ตำราปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้านของคนไทยโบราณห้ามปลูก (ต้นลิ้นฟ้า) เพกา ในบริเวณบ้าน เพราะถือว่าฝักเพกามีรูปร่างคล้ายดาบหรือปลายหอก อาจนำเรื่องเดือดร้อนเลือดตกยางออกมาสู่เจ้าของบ้านได้ อีกอย่างหนึ่ง ฝักเพกาเป็นชื่อเรียกเหล็กประดับ ยอดพระปรางค์มี 10 กิ่ง (เพราะมีรูปร่างคล้ายฝักเพกา) จึงนับเป็นของสูงไม่คู่ควรนำมาปลูกในบ้าน (เช่นเดียวกับต้นโพธิ์ ต้นไทร) แต่หากนำไปปลูกไว้ตามเรือกสวนไร่นาหรือรั้วบ้านคงจะไม่ถือสากัน

ขอบคุณ ความรู้ดีๆ จากหมอชาวบ้าน

หมายเลขบันทึก: 499392เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2012 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2012 10:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เพิ่งมีความรู้นะเนี่ย เพื่่อนชาวอีสานนำมาให้ ๑ ต้น ปลูกจนโตสูงใหญ่ ลูกมันปลิวไปขึ้นเป็นต้นเล็กอีก ๓ ต้น ครับ ขอบคุณความรู้ดีๆ นี้ครับ

แล้วท่าน ผอ. นำไปปลูกไว้ที่หน้าบ้านรึเปล่าคะ หากไม่มีเรื่องเดือดร้อนเหมือนในตำรา คงไม่เป็นไรหรอกค่ะ เพราะว่าสิ่งชั่วร้ายคงไม่กล้าเข้าใกล้คนดีเป็นแน่ค่ะ

ไอศูรย์ สมาคมเลี้ยงแพะแม่ฮ่องสอน

ความคิดเห็น  ความรู้นิดหนึ่งครับ แนะนำเทคนิคง่ายๆ  ผมเป็นคนเหนือชอบทานลิ้นไม้กับลาบ  หลังบ้านปลุกไว้  2-3  ต้น  กับการที่ว่า " วิธีการนำหมากลิ้นฟ้ามาเผาไฟ ให้พองเกือบไหม้ ทั้งฝักนะคะ เสร็จแล้วน้ำฝักที่เผาไปแช่น้ำเย็น จึงนำช้อนมาขูดผิวที่ไหม้ออก "  ผมมีความรู้ในเรื่องการเผาลิ้นฟ้าแบบเทคนิควิทยาศาสตร์ง่าย  หลังเผาไม่ต้องแช่น้ำเย็น  ไม่ต้องใช้ช้อนขุดผิวไหม้ดำออกครับ  แต่ผมมีวิธีที่ง่ายกว่านั้น และรับรองว่าลิ้นฟ้าสะอาดปราศจากเปลือกไหม้ไฟติดอยู่...วิธีการคือเผาลิ้นฟ้าบนไฟถ่านแรงให้เปลือกไหม้จนทั่วโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้  ทีนี้หลังเผาเสร็จผิวลิ้นฟ้าไหม้ดำจนทั่วฝักแล้ว  ให้ริบห่อครับ  ห่อด้วยใบตองกล้ว  หรือห่อด้วยถูงพลาสติก  หรือกระดาษก็ได้  ขณะกำลังร้อนๆนะครับ  ห่อให้มิดหลายชั้นก็ได้  ทั้งนี้เพื่ออบลิ้นฟ้าไว้  จากนั้นปล่อยทิ้งไว้สัก  10  20  นาที  หรือทิ้งไว้จนเย็นเลยก็ได้ถ้าไม่รีบร้อนกิน  จากนั้นแกะห่อออกครับ  จะพบว่าไอความร้อนจาการเผาได้ข้บให้ผิวไหม้ดำของลิ้นฟ้าหลุดออกจากฝักโดยง่ายดาย  ไม่ต้องขุด  ไม่ต้องลาง  แค่เอามือลูบออก  ก็ออกจนหมด...เป็นเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ง่ายๆ...ใช้ประโยชน์ได้....


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท