วิถีพุทธ


มนุษย์ควรที่จะพัฒนาการกิน อยู่ ดู ฟัง ให้เป็นอยู่ตลอดเวลาเพื่อที่จะได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขณะที่มีชีวิตอยู่

รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบวิถีพุทธ

"การศึกษา" นับว่ามีความสำคัญมากต่อการพัฒนาบุคลากรตลอดจนไปถึงเป็นพื้นฐานของการพัฒนาส่วนอื่น ๆ ด้วย เพราะไม่ว่าจะทำการพัฒนาส่วนใดต้องเริ่มมาจากการพัฒนาคนเสียก่อน ดังนั้นการพัฒนาคนสามารถทำได้หลาย ๆ รูปแบบ อย่างที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาคนคือการให้การศึกษา ดังนั้นการพัฒนาประเทศต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาคนโดยต้องคำนึงถึงการศึกษาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาวิถีพุทธ เป็นการศึกษาที่มุ่งเน้นให้ผู้ศึกษาเข้าใจธรรมชาติ ของโลกและชีวิตที่แท้จริง และฝึกให้ผู้ศึกษาสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ตั้งแต่ระดับการดำเนินชีวิตประจำวันของคนทั่วไป คือ การกิน อยู่ ดู ฟัง จนถึงระดับการดำเนินชีวิตของนักบวชผู้มุ่งมีชีวิตที่บริสุทธิ์ และในทุกระดับยังผลให้ผู้ศึกษาเองมีความสุขพร้อมๆ กับช่วยให้คนรอบข้างและสังคมมีความสุขพร้อมกันไปด้วยอย่างชัดเจน

                โรงเรียนวิถีพุทธจึงเป็นหนึ่งในโรงเรียนรูปแบบใหม่ ที่จะช่วยผลักดันให้เด็กและเยาวชนไทยสามารถพัฒนาตามศักยภาพ  เป็นคนดี  คนเก่งของสังคม  และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข

รูปแบบโรงเรียนวิถีพุทธ

        จุดเน้น  โรงเรียนวิถีพุทธดำเนินการพัฒนาผู้เรียนโดยใช้หลักไตรสิกขา  คือ   ศีล   สมาธิ  ปัญญา   อย่างบูรณาการ  ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการพัฒนา“การกิน  อยู่  ดู  ฟัง เป็น”  คือ  มีปัญญารู้เข้าใจในคุณค่าแท้ ใช้กระบวนการทางวัฒนธรรมแสวงปัญญา  และมีวัฒนธรรมเมตตา  เป็นฐานการดำเนินชีวิต และเป็นการอบรมเพื่อพัฒนากาย  ความประพฤติ  จิตใจ  และปัญญาของผู้เรียนทุกวัยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งยังมีผู้บริหารและคณะครู รวมถึงบุคลากร เป็นกัลยาณมิตร

     ลักษณะโรงเรียนวิถีพุทธ  เน้นการจัดสภาพทุก ๆ ด้าน  เพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนพัฒนาตามหลักพุทธธรรมอย่างบูรณาการที่ส่งเสริมให้เกิดความเจริญงอกงามตามลักษณะแห่งปัญญาวุฒิธรรม  ๔ ประการ  คือ

๑.  สัปปุริสสังเสวะ  หมายถึงการอยู่ใกล้คนดี ใกล้ผู้รู้  มีครู อาจารย์ดี มีข้อมูล มีสื่อที่ดี

๒.  สัทธัมมัสสวนะ  หมายถึง  เอาใจใส่ศึกษาโดยมีหลักสูตร การเรียนการสอนที่ดี

              ๓.  โยนิโสมนสิการ  หมายถึง  มีกระบวนการคิดวิเคราะห์พิจารณาหาเหตุผลที่ดีและถูกวิธี

              ๔.  ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ  หมายถึง  ความสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตได้ถูกต้องเหมาะสม

แนวการสอนวิถีพุทธ แบ่งได้เป็น ๒ อย่างคือ

                ๑.การสอนเป็นรูปแบบคือ การสอนวัฒนธรรมไทย เช่น การไหว้  การทำบุญตามประเพณี  การทำตัวเป็นพุทธมามะกะ

                ๒.การสอนแบบตัวแท้จริง คือ สอนหลักการแนวคิดของแนวพุทธ ซึ่งคงสรุปได้ว่าแนวพุทธที่เรานำมาสอนคงเป็นการสอนในแบบไตรสิกขา

 

การบริหารจัดการโรงเรียนวิถีพุทธ  

          มีขั้นตอนสำคัญ เช่น การเตรียมการ เตรียมทั้งบุคลากร  ผู้เกี่ยวข้อง แผนงาน ทรัพยากร ที่มุ่งเน้นสร้างศรัทธาและฉันทะในการพัฒนา  การดำเนินการจัดสภาพและองค์ประกอบต่างๆ  ที่จัดเพื่อส่งเสริม ให้เกิดความเจริญงอกงามหรือปัญญาวุฒิธรรม ในการพัฒนาผู้เรียน การดำเนินการพัฒนาทั้งผู้เรียนและบุคลากร ตามระบบไตรสิกขาอย่างต่อเนื่อง  โดยใช้สภาพและ องค์ประกอบที่จัดไว้  ขั้นต่อมา คือ การดูแลสนับสนุน ใกล้ชิด ด้วยท่าทีของความเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ที่จะทำให้การพัฒนานักเรียนและงาน ดำเนินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อจากนั้น มีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  ด้วยอิทธิบาท 4 และหลักอุปัญญาตธรรม คือ ความไม่สันโดษในกุศลธรรม และความไม่ระย่อในการพากเพียร เป็นต้น   ขั้นสุดท้ายของกระบวนการบริหารแต่เป็นฐานสู่การพัฒนาในลำดับต่อไป  คือ ขั้นประเมินผลและเผยแพร่ผลการดำเนินงาน

                การดำเนินงานที่ผ่านมาของโรงเรียนวิถีพุทธส่วนใหญ่นั้น  นักเรียนเข้าสู่ระเบียบวินัยเป็นผู้มีความประพฤติดี  คิดดี  มีคุณธรรม  คณะครู – ผู้บริหาร ร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาการเรียนการสอน กิจกรรมเสริมการเรียน ตลอดจนจัดหลักสูตรสถานศึกษาที่บูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นและเชื่อมโยงกับชุมชนได้  ผลที่ตามมาคือ  ผู้ปกครอง  ครอบครัวให้การยอมรับเชื่อถือและพอใจในพฤติกรรมที่ดีของนักเรียน

                การศึกษาที่กลายเป็นการบริโภคความรู้แต่ขาดการเรียนรู้  ฉะนั้นความท้าทายของโรงเรียนวิถีพุทธน่าจะเป็นเรื่องการสร้างคนดีที่เก่ง และมีความสามารถทางวิชาการ ที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ามาตรฐานการศึกษาสากล และยิ่งไปกว่านั้นคือสามารถเรียนรู้ถึงระดับคุณค่าของสาระวิชาต่างๆที่เป็นไปเพื่อความดีความงามได้

                ดังนั้น หากทำได้จริง คนดีย่อมมีแนวโน้มที่จะเก่ง  และใช้ศักยภาพได้เต็มที่กว่าคนอื่นๆ เช่นนั้นหรือไม่  เป็นคำถามที่คงต้องรอคอยการพิสูจน์  เพื่อให้คำตอบแก่สังคมไทยในเรื่องทิศทางการศึกษากันต่อไป

J  J  J  J  J  J  J  J  J  J

คำสำคัญ (Tags): #วิถีพุทธ
หมายเลขบันทึก: 499333เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2012 22:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2012 22:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท