งบเทศบาลเมืองน่านไม่ผ่าน


สัปดาห์ที่ผ่านมา  ทราบว่า  ฝ่ายบริหารเทศบาลเมืองน่านเสนองบประมาณให้่ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สภาพิจารณาปรากฏว่างบประมาณร้อยกว่าล้านไม่ผ่าน เบื้องต้นสอบถามแล้ว  เทศบัญญัติ หรือกฎหมายการเงินไม่ผ่านจริง ๆ เพราะคณะเสียงฝ่ายตรงข้ามฝ่ายบริหารตอนเลือกตั้งเข้ามาทั้ง ๓ เขต ๆ ละ ๖  ฝ่ายตรงข้ามชนะใน ๒ เขตเลือกตั้งที่เหลือเฉลี่ยกัน  เป็นว่าฝ่ายตรงข้ามมีมากกว่าเยอะ  เป็นการประลองพลังครั้งแรกของสนามการเมืองท้องถิ่นเทศบาลเมืองน่าน

หลายคนสนใจว่า  สมาชิกสภาได้อภิปรายกันด้วยเหตุผลอะไร  บันทึกการประชุมจะปรากฏให้เห็นข้อมูลการอภิปราย   หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า  ก่อที่ฝ่ายบริหารจะนำอะไรไปบรรจุไว้ในเทศบัญญัติ  จำเป็นต้องปฏิบัิติตามระเบียบ กฎหมาย โดยต้องมีคณะกรรมการพัฒนา มีการไปประชาคมแผน นำเผยมาประชุมกลั่นกรองและประกาศตามระเบียบ  ในขั้นตอนที่ว่ามา มีประชาชน ชุมชนและนักการเมืองอยู่ด้วย  ไหงต้องมาล้มกระดานกัน คือไม่ผ่านวาระแรก อยากอ่านบันทึกการประชุมสภาฯ ในครั้งนี้มาก

กฎระเบียบมีทางออกทางแก้ไข  คงไม่ปล่อยให้ใครนำบ้านเมืองมาเล่น ๆ  กัน ควรเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ฝ่ายสภา บรรดาสื่อมวลชนจะได้ไขข้อสงสัยว่า  การไม่ผ่านงบประมาณเทศบาลเมืองน่าน กลางเดือนสิงหาคม ๒๕๕๕  เพราะอะไร  นอกจากเสียงที่ชนะกันตั้งแต่อยู่ในมุ้ง ข้อมูล เนื้อหาสาระสำคัญในการอภิปรายกันอย่างเป็นเหตุ  เป็นผลในสภา  ปรากฏข้อความอะไรไว้น่าสนใจ  คงไม่มีใครไม่ได้ผ่านงบดื้อ ๆ  เพราะเป็นสภาตามกฎหมาย  ประชาชนทั่วไปติดตามข้อมูลกันอยู่ ไม่ใช้พูดกันเอามัน  พูดกันไปเรื่อย ๆ ข้อมูลสำคัญที่สุดครับ

                                                                          ธนู : ๑๙ ส.ค.๒๕๕๕

หมายเลขบันทึก: 499276เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2012 16:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2012 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

คุณธนู เป็นนักกฎหมาย ก็จะขอขึ้นต้นด้วยกฎหมายก่อนแล้วกัน ที่คุณธนูอ้างว่า การที่ฝ่ายบริหารจัดทำร่างเทศบัญญัติงบประมาณนั้น จะต้องเป็นไปตามระเบียบกฎหมาย มีคณะกรรมการพัฒนา มีการไปประชาคมแผน นำเผยมาประชุมกลั่นกรองและประกาศตามระเบียบ นั้น คุณธนูคงเข้าใจว่างบประมาณนั้นเมื่อทำตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดแล้ว จะถูกต้องใช่ไหม

ไม่ใช่ครับ คุณธนูเข้าใจถูก แต่ไม่ถูกทั้งหมด เพราะร่างเทศบัญญัติงบประมาณฯ นั้นเปรียบไปแล้วก็คือแผนการใช้จ่ายเงินของเทศบาลนั่นเอง การจ่ายเงินควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น สามารถแก้ไขปัญหา และพัฒนาบ้านเมืองได้ ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของวัตถุประสงค์การจ่ายเงินเป็นสำคัญ ไม่ใช่เพียงแค่ถูกระเบียบอย่างเดียว

และหากพิจารณาจาก ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น จะเห็นว่า กฎหมายได้ให้อำนาจ นายก กับสภา เอาไว้อย่างชัดเจน ไม่สามารถก้าวก่ายกันได้

กล่าวคือ นายก นั้นมีหน้าที่จัดทำร่างเทศบัญญัติงบประมาณเสนอต่อสภา ส่วนฝ่ายสภามีหน้าที่พิจารณา โดยแบ่งการพิจารณาออกเป็น 3 วาระ คือ รับหลักการ แปรญัตติ และลงมติ จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็ได้ เป็นเอกสิทธิ์ และดุลยพินิจส่วนบุคคล นี่คือหลักการประชาธิปไตย ที่ต้องมีการตรวจสอบและถ่วงดุล

ดังนั้น เมื่อสภามีความเห็นอย่างไร ฝ่ายบริหารจึงไม่ควรวิพากวิจารณ์ หากฝ่ายบริหารเห็นว่าไม่สมควรให้มีการพิจารณาในวาระที่ 1 คือ วาระรับหลักการ ฝ่ายบริหารควรที่จะเสนอขอแก้ไขกฎหมายต่อรัฐมนตรี ไม่ใช่ออกมาวิจารณ์การใช้ดุลยพินิจของฝ่ายสภาแบบนี้ ข้อนี้ถือว่าผิดมารยาท เป็นการก้าวก่ายการกระทำหน้าที่ของสภา

ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือ ความเหมาะสมของร่างเทศบัญญัติงบประมาณฉบับนี้ มีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร

อย่างที่เรียนไปแล้วว่า การร่างงบประมาณต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับปัญหาท้องถิ่น สามารถพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ งบประมาณฉบับนี้ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างแท้จริง สังเกตได้จากค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน มีจำนวนน้อยมาก ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะ 3 หมู่บ้านเข้าใหม่ได้งบประมาณน้อยมาก และหมู่บ้านสวนหอมไม่ได้งบประมาณพัฒนาเลยแม้แต่บาทเดียว

ที่มีการกล่าวหาว่า ควรรับหลักการไปก่อน แล้วไปแปรญัตติที่หลังก็ได้นั้น ในความเป็นจริงแล้ว กฎหมายได้ให้อำนาจสภาในการพิจารณาแปรญัตติได้ก็จริง แต่แปรได้เฉพาะ การตัด หรือลดเท่่านั้น เช่น ตัดบางโครงการ หรือลดจำนวนเงิน แต่ไม่สามารถแปรไปตั้งเป็นรายการใหม่ได้ คือไม่สามาถตั้งเพิ่มได้นั่นเอง

การกล่าวหาในลักษณะนี้จึงไม่เป็นธรรมต่อฝ่ายสภา เป็นการพูดเพียงครึ่งเดียว

ดังนั้นหากสภามีความเห็นว่า งบประมาณไม่เหมาะสม จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก ไม่รับหลักการใน วาระที่ 1 เท่านั้น

นอกจากที่งบประมาณนี้จะไม่เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นแล้ว ยังมีปัญหาของความไม่สอดคล้องกับที่ฝ่ายบริหารได้หาเสียงไว้ และไม่สอดคล้องกับคำแถลงนโยบายต่อสภาอีกด้วย แล้วจะรับหลักการได้อย่างไร เพราะนี่คือปัญหาของหลักการจัดทำเทศบัญญัติ งบประมาณ

คุณธนูยังต้องไปดูที่โครงสร้าง ของรายรับ และรายจ่าย ของเทศบาลฉบับนี้ ถ้าหากคุณธนูมีความรู้ในการวิเคราะห์งบประมาณ หรือการวิเคราะห์การเงิน จะเห็นได้ทันทีเลยว่า งบประมาณฉบับนี้ มีปัญหา !! เพราะรายจ่ายประจำมีจำนวนสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่งบพัฒนามีจำนวนลดลงเป็นอย่างมาก และยังเป็นการประมาณรายรับที่สูงเต็มเพดาน ซึ่งอาจทำให้มีรายรับต่ำกว่าเป้าหมายได้ อันจะนำไปสู่ปัญหาอย่างรุนแรงต่อเทศบาล และยังไม่สามารถจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมปลายปีได้อีกด้วย นี่ก็เป็นปัญหาที่โครงสร้างของงบประมาณ มีทางออกทางเดียวคือ ไม่รับหลักการเท่านั้น

กรณีมีการกล่าวหาว่า หากงบประมาณออกมาล่าช้า จะทำให้ประชาชนเสียผลประโยชน์นั้น อยากจะบอกว่านั่นคือคำลวง ไม่ใช่ความจริง เพราะ ในช่วง 2-3 เดือนแรกของปีงบประมาณนั้น เทศบาลยังไม่มีรายได้เข้า ทำให้ไม่สามารถใช้จ่ายเงินได้อยู่แล้ว และ ถึงแม้งบประมาณฉบับใหม่จะเสร็จไม่ทัน ฝ่ายบริหารก็สามารถนำงบประมาณของปีที่ผ่านมาใช้ไปพลางก่อนได้ จึงไม่มีปัญหาในการบริหารอะไร และหากไปดูในช่วงเวลาการเลือกตั้ง จะเห็นว่าในบางปี การเลือกตั้งจะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการทำงบปาะมาณ ซึ่งก็สามารถเลื่อนเวลาการจัดทำงบประมาณออกไปได้ ไม่มีความเสียหายแต่อย่างใด สำหรับเทศบาลเมืองน่าน การเลือกตั้งสมัยหน้าก็ต้องมีช่วงเวลาคร่อมกับการทำงบประมาณอย่างนี้ คือ จะเลือกตั้ง ในราวๆ 10 กค 2559 กว่าจะรับรองผลการเลือกตั้ง 30 วัน ก็ กลางเดือนสิงหาคม จะทำงบประมาณไม่ทันแน่นอน เห็นไหมครับว่าการทำงบประมาณไม่เสร็จตามเวลา เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ปัญหาคอะไร แต่ปัญหาหลักของเทศบัญญัติงบประมาณ ก็คือ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาประชาชนได้ต่างหาก

แต่....ทำไมต้องออกข่าวลวง เพราะต้องการหวังผลทางการเมืองใช่หรือไม่ หมายความว่ามีคนเอาความเดือดร้อนของประชาชนมาทำให้ตนเองได้ประโยชน์ทางการเมืองหรือย่างไร

วันนี้ ไม่ว่าสภาไม่รับหลักการในวาระที่1 หรือจะรับไปก่อนแล้วไปแปรญัตติที่หลัง ก็จะถูกฝ่ายบริหารออกสื่อมวลชนประโคมข่าววิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอยู่ดี ถือเป็นการเหยียบผู้อื่นให้ดูต่ำแล้วเพื่อให้ตัวเองดูสูงขึ้นหรือไม่ ผู้บริหารมีพฤติกรรมแบบนี้เหมาะสมหรือไม่ ผมถือว่าการกระทำแบบนี้เป็นการกระทำที่ก้าวก่ายอำนาจของสภา ไม่ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งขัดต่อประมวลจริยธรรม และการขัดต่อหลักการแห่งประชาธิปไตย ย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย

คุณสมชาย อยู่เป็นสุข ขอขอบพระคุณในความเห็นที่เสนอมา ผมสนใจประเด็นที่ให้ข้อคิดว่า "...เป็นเอกสิทธิ์ ฝ่ายบริหารไม่ควรวิพากวิจารณ์การทำหน้าของสภา..." และขอนำไปแบ่งปันสังคมเทศบาลเร็ว ๆ นี้ต่อไป คงไม่ขัดข้องนะครับ ห่วงใยบ้านเมืองครับ เห็นหน้า เห็นหลังกันอยู่ คะแนนเสียงนั้นไม่มีปัญหาชัดเจน ผมสนใจต่ออีกว่า เนื้อหาสาระในบันทึกการประชุมเป็นอย่างไร การทำหน้าที่ของสื่อสำคัญ หากประเด็นนำเสนอ ให้พูดกันคนละทีมีปัญหาแน่นอน ผู้ใหญ่ในจังหวัดหากต้องการให้บรรยากาศทางการเมืองท้องถิ่นดี ควรเป็นผู้พูด การนำเสนอของข่าว ควรมีทุกแง่มุม เสนอให้ข้อมูลความสารความรู้แก่ประชาชนทำนองเดียวกันกับที่คุณสมชาย อยู่เป็นสุข ได้ให้ข้อมูลและข้อคิดไว้ ขอได้ช่วยกันพิจารณา @ ธนู ๒๐ ส.ค.๒๕๕๕

คุณธนูครับ การออกสื่อนั้นผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก หากพูดกันในสภา ทั้งฝ่ายสภาและฝ่ายผู้บริหารต่างก็ใช้สิทธิของตัวเองในการทำงาน จึงมีความคุ้มครองอยู่ตราบเท่าที่พูดในสภา

แต่การให้ความเห็นต่อสื่อมวลชน ในทำนองวิพากษ์วิจารณ์ เช่น นายก ได้ไปให้ข่าวว่า สมาชิกสภามีธงปักอยู่แล้ว โดยบุคคลภายนอก ผมฟังมาหลายสถานีแล้ว นายก ก็จะพูดแบบนี้

จึงขอให้คุณธนูช่วยไปดู พรบ.เทศบาล พ.ศ.2496 ว่า เป็นอย่างไร ซึ่งมีมาตราที่สำคัญก็คือ สมาชิกสภาต้องไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของผู้ใด

ดังนั้นการที่ นายก ออกมาให้ข่าวต่อสื่อมวลชนว่า สมาชิกสภา มีธงมาก่อนแล้วโดยบุคคลภายนอกเป็นผู้กำหนดนั้น จึงอาจเป็นเหตุให้มีผู้ใดนำเรื่องนี้เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ถอดถอนสมาชิกสภาพ้นจากตำแหน่งได้ เพราะเหตุที่สมาชิกสภาตกอยู่ภายใต้อาณัติของผู้อื่นอันเป็นการกระทำที่ขัดต่อ พรบ.เทศบาล

ดังนั้น ถ้าเป็นผมนะ ผมจะฟ้องร้องนายก ในความผิดข้อหาหมิ่นประมาท เพื่อป้องกันตนเองไว้ก่อน คิดดูแล้วกัน 14 คดี นายกจะวุ่นวายขนาดไหน

ผมถึงอยากจะขอเตือนเรื่องการชี้แจง ให้ใช้ความระมัดมะวัง ด้วยความหวังดีครับ

ติดตามข่าวจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ๒๙ ส.ค.๕๕ เวลา ๑๐ น. กก.ฝ่ายละ ๗ และมีประธานที่ ผวจ.น่านแต่งตั้งคือ นายอดิศร พิทยายน รองผวจ.น่าน ผลการประชุมผลสรุป WIN-WIN ครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท