คณะวิทย์ ม.อ. เตรียมพร้อมเพื่อรับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสอง จาก สมศ." ตอนที่ 1 : ย้อนรอยอดีต ถึงการประเมินครั้งแรก (Back to the Future)


บรรยากาศประเมินในครั้งนั้น เป็นไปโดยรูปแบบของกัลยาณมิตรจริง ๆ กรรมการทุกท่าน ได้ให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในภาพรวมเพื่อให้การดำเนินงานของคณะฯ ที่ดีอยู่แล้ว ทำอย่างไรถึงจะทำให้ดีขึ้น ท่านได้ช่วยเป็นตัวกลางในการสะท้อนให้มหาวิทยาลัยเราได้รับทราบข้อมูลว่า โดยภาพรวมของภายนอกสังคม ม.อ. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ต้องการเห็น ม.อ.ของเราในบทบาทใด

              เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า  ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ            พ.ศ.2542 มาตรา 49 รายละเอียดของมาตราดังกล่าว สรุปได้ว่า ทุกสถาบันการศึกษา จะต้องรับการประเมินคุณภาพภายนอก โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน) หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม สมศ.อย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกห้าปี นับตั้งแต่การประเมินครั้งสุดท้าย และจะต้องเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนได้รับทราบ   

               จากประเด็นสำคัญของมาตราดังกล่าว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกครั้งที่ 1 โดย สมศ. เมื่อวันที่ 25 27 พฤศจิกายน 2545 ซึ่งเป็นการประเมินผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปีการศึกษา 2544 ซึ่งในการประเมินครั้งแรกนั้น มีรายนามคณะกรรมการประเมิน ดังนี้

1.       ศาสตราจารย์ นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์     ประธานคณะผู้ประเมินภายนอก2.       ศาสตราจารย์ธีระยุทธ         กลิ่นสุคนธ์           ประเมินภายนอก

3.       รองศาสตราจารย์วิเชียร      ชิวพิมาย               ผู้ประเมินภายนอก

4.       รองศาสตราจารย์ไพศาล    หวังพานิช           ผู้ประเมินภายนอก

5.       อาจารย์สายหยุด                   จำปาทอง            ผู้ประเมินภายนอก

                     ด้วยความที่เป็นการประเมินภายนอกครั้งแรก ถ้าทุกคนยังจำบรรยากาศในครั้งนั้นได้ จะพบว่า ทุกหน่วยงานเร่งทำความเข้าใจในนิยามของของมาตรฐานและตัวบ่งชี้ ตามที่ สมศ.กำหนด ทำความเข้าใจถึงวิธีการเขียนเพื่อแสดงให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ จากเดิมที่เน้นเขียนเพื่อให้เห็นกระบวนการ สำหรับคณะวิทยาศาสตร์ ไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เนื่องจากคณะฯ ได้เริ่มมีระบบประกันคุณภาพตั้งแต่ พ.ศ.2539 โดยได้มีการนำระบบประกันคุณภาพเข้ามาใช้ในทุกภารกิจของคณะฯ อยู่แล้ว การรายงานเพื่อรับการประเมินในครั้งนั้น จึงเป็นการรายงานตามสภาพจริง โดยเน้นให้เห็นถึงกระบวนการที่นำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ในแต่ละมาตรฐานและตัวบ่งชี้  สอดคล้องกับนโยบายและวัตถุประสงค์ของการประเมินในรอบแรก คือ

มาประเมิน (ตรวจเยี่ยม) เพื่อมุ่งเน้นให้เห็นถึงกระบวนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ไม่ได้มุ่งเน้นการจับผิดหรือให้คุณให้โทษ  ดำเนินการด้วยความโปร่งใส เที่ยงธรรม ตามสภาพที่เป็นจริง ด้วยลักษณะของกัลยาณมิตร มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายทั้งนี้เพื่อให้ทราบถึงระดับคุณภาพและกระตุ้นเตือนให้สถาบันอุดมศึกษาพัฒนาคุณภาพการศึกษาและประสิทธิภาพการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังช่วยสะท้อนจุดเด่น จุดด้อย ของสถาบันฯ และช่วยเสนอแนะการปรับปรุงการบริหารเพื่อคุณภาพในการจัดการศึกษาแก่สถาบันนั้น ๆ        

        ซึ่งในการประเมินภายนอกรอบแรกนั้น กรรมการประเมินฯ ได้สะท้อนถึงจุดเด่นของคณะวิทยาศาสตร์ 2 ข้อ ดังนี้

1.       มีอาจารย์ในสาขาวิชาชีวเคมี ที่พร้อมซึ่งมีวุฒิปริญญาเอกจำนวนมาก เปิดสอนปริญญาโทและปริญญาเอกเป็นสาขาแรก มีความพยายามจะผลักดันให้เป็น Excellence Center

2.       มีความร่วมมือกับคณะศึกษาศาสตร์ ที่จะผลิตครูวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านวิธีการสอนและเนื้อหาวิชาการเป็นความร่วมมือที่ดีมาก โดยคณะศึกษาศาสตร์สอนวิชาครู  คณะวิทยาศาสตร์สอนวิชาวิทยาศาสตร์ (โครงการ สควค.) และยังเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ตามโครงการ SIS (Science In School)

                   นอกจากนี้ ในส่วนของข้อเสนอแนะในภาพรวมของมหาวิทยาลัย ผลการดำเนินงานของคณะวิทยาศาสตร์ ยังถูกนำไปกล่าวอ้างถึง อาทิ เช่น  การมีหลักสูตรนานาชาติ ที่เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ, มีความโดดเด่นในการวิจัยและองค์ความรู้ด้าน เทคโนโลยียาง

                 บรรยากาศประเมินในครั้งนั้น เป็นไปโดยรูปแบบของกัลยาณมิตรจริง ๆ กรรมการทุกท่าน ได้ให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในภาพรวมเพื่อให้การดำเนินงานของคณะฯ ที่ดีอยู่แล้ว ทำอย่างไรถึงจะทำให้ดีขึ้น ท่านได้ช่วยเป็นตัวกลางในการสะท้อนให้มหาวิทยาลัยเราได้รับทราบข้อมูลว่า โดยภาพรวมของภายนอกสังคม ม.อ. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ต้องการเห็นม.อ.ของเราในบทบาทใด และสิ่งใดบ้างที่เขาเหล่านั้นอยากให้ ม.อ.เราเข้าไปมีส่วนร่วม

                หลังจากฟังสรุปผลการประเมินด้วยวาจา จากคณะกรรมการประเมินแล้ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต่าง   โล่งอกกันไปตาม ๆ กัน โดยเฉพาะสิ่งที่นำเสนอออกมาในรายงานผลการประเมินภายนอก ที่ระบุว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีผลการดำเนินงานในภาพรวมอยู่ในระดับ ดี ดีมาก

สำหรับการประเมินภายนอกรอบสองนี้ จะมีอะไรที่แตกต่างไปจากรอบแรก และเราควรจะเตรียมพร้อมเพื่อรับการประเมินในครั้งนี้อย่างไร ติดตามอ่านในตอนต่อไปนะคะ

อ้างอิงจาก รายงานการประเมินคุณภาพภายนอก มอ. 2545

หมายเลขบันทึก: 49920เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2006 16:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ตามมาขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณรัตติยาด้วยคนค่ะ
  • เป็นกำลังใจให้สำหรับการประเมินรอบสองนะคะ
  • Kisses

 

ดีจังเลยค่ะ  มีผู้รู้สรุปเรื่องให้อ่านแบบนี้ ชอบมากค่ะ แล้วจะคอยอ่านฉบับที่สองนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท