"เรียนสวนร่วม" เขียนอย่างนี้แหละ


ตอนที่เวทีพูดคุยประเด็นนี้ จะสังเกตเห็นได้ทั้งสีหน้า แววตา ของกลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มอสม. และผู้นำ ที่เป็นคนวัยกลางคน มีความตื่นเต้น แย่งกันนำเสนอด้วยความภูมิใจ ต่างคนต่างอยากจะเล่าให้ผมฟังถึงสิ่งที่เขารู้

          “ที่บ้านเรามีเรียนสวนร่วม นี่เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ” เป็นเสียงที่ดังแทรกขึ้นมาจากเยาวชนคนหนึ่ง
     ผมได้ยินประโยคนี้ หูผึ่งเลยครับในขณะที่ทำเวทีอยู่ที่ชุมชนเกาะเรียนเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2548 ณ ใต้ถุนสถานีอนามัยบ้านเกาะเรียน ก็ได้ย้อนถามกลับไปว่า
          “ช่วยอธิบายคำว่า เรียนสวนร่วม ให้ชัดสักนิด พอดีฟังไม่ชัด ไม่แน่ใจ”
     ท่านจะเข้าใจว่าอะไร สำหรับผมบอกตรง ๆ ว่า “งง” ก็ได้รับคำอธิบายย่อ ๆ พอสรุปได้ว่าเป็นการจัดให้ต้นทุเรียนพันธ์พื้นบ้านบางต้น (ที่มีคุณสมบัติที่ดี) เป็นสมบัติที่ใช้กินร่วมกันของตระกูล (ตามหยูน) มีการผลัดเวรกัน (เปลี่ยนเวรตอนเที่ยงวัน) ไปเฝ้าเพื่อเก็บผลทุเรียนที่ตกลงมาเองไปกิน (โดยห้ามขอย คือห้ามเอาผลลงมาโดยใช้ตะขอเกี่ยว) ห้ามกินแก่ (ดิบ) แม้ว่าต้นทุเรียนต้นนั้นจะอยู่ในที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของใครก็ไม่สำคัญ แต่ลูกหลานมีสิทธิ์ที่จะกิน “เรียนสวนร่วม” ต้นนั้นทุกคน จะเห็นได้ว่ามีภูมิปัญญาแอบอยู่เพื่อให้มีการนับญาติ เกิดความสามัคคี มีการเคารพกติกา ต้นทุเรียนที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน เช่น “ไอ้ขี้โดก” “ไอ้สิบพู” “ไอ้นกควบ” “ไอ้จำดะ” เป็นต้น แต่ทุกวันนี้ความเห็นแก่ตัวมีมากขึ้น คนที่เป็นเจ้าของที่ดินก็พยายามที่จะให้ “เรียนสวนร่วม” ตาย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องใครมายุ่งในที่ดินของตนเอง

 

     ตอนที่เวทีพูดคุยประเด็นนี้ จะสังเกตเห็นได้ทั้งสีหน้า แววตา ของกลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มอสม. และผู้นำ ที่เป็นคนวัยกลางคน มีความตื่นเต้น แย่งกันนำเสนอด้วยความภูมิใจ ต่างคนต่างอยากจะเล่าให้ผมฟังถึงสิ่งที่เขารู้ (เพราะผมก็ถามด้วยความอยากรู้ ด้วยไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนว่ามีอยู่)
     ในตอนท้ายจึงได้ฝากเป็นการบ้านไว้ว่า “กลุ่มวัยรุ่น เยาวชน ลองแบ่งกันเป็นกลุ่ม รับไปกลุ่มคนละต้นสองต้น แล้วให้ถ่ายรูป พร้อมทั้งเล่าเรื่องของแต่ละต้น ที่อยากจะเล่าอะไรก็ได้ จากนั้นค่อยนัดคุยเฉพาะเรื่องนี้พร้อมกันอีกที พี่ (ผม) จะมาช่วยถอดให้ว่าได้อะไรบ้างจากกิจกรรมนี้” ซึ่งกลุ่มเยาวชนก็แบ่งกลุ่มไปดำเนินการกันในตอนนั้นเลย แต่ยังไม่ได้กำหนดกันว่าควรจะเสร็จเมื่อไหร่ (อยากปล่อยให้เป็นธรรมชาติ แล้วค่อยกระตุ้นเอาที่หลัง)
     ผมกลับมาคิดทบทวนแล้วว่าจะหาทางทำให้ประเด็นนี้เป็นประเด็นของความร่วมมือ พูดคุย และร่วมกันปฏิบัติ ร่วมกันเรียนรู้ ระหว่างคนต่างวัยกันในชุมชน และให้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาชุมชนต่อไป ตอนนี้ก็เลยคิดว่าจะเชื่อมต่อไปที่ใดดี ที่จะเดินเรื่องนี้ให้สำเร็จลงได้ เพราะบางครั้งคิดได้ แต่รู้ตัวว่าอาจจะเกินความสามารถที่จะทำได้ และไม่มั่นใจ กลัวว่าสิ่งดี ๆ จะล้มลงเสียเพียงเพราะผมขาดประสบการณ์

หมายเลขบันทึก: 4992เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2005 21:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

     เมื่อวานผมไปเป็นวิทยากร "คนพิการเข้าถึงสิทธิฯ" ที่กงหรา ก็พบ "เรียนสวนร่วม" เช่นกันครับ ที่นั่นก็มีเหมือนกัน และเรื่องนี้ถูกลืมเลือนไปหมดแล้ว ผมได้พูดใส่ empower ให้ "บังรี" และ "กะดา" ได้นึกเห็นความสำคัญขึ้น คาดว่าอีกไม่นานจะได้พบกับ "เรียนสวนร่วม" version คนกงหรา ครับ

     และเมื่อวาน "คนกงหรา" ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในระบบ blog แล้วคงจะได้รับอรรถรส แบบคนกงหราเพิ่มขึ้น หลังจากที่ถูกมองว่าเป็นเมืองลับแล มานาน ผมจะเล่าให้ฟังที่ไปพบเมื่อวานไว้ที่ ถึง คนกงหรา นะครับ

     ปล.เยาวชนคนเกาะเรียนอย่าให้น้อยหน้า เปิด blog ได้แล้วนะ

ยังไม่ค่อยเข้าใจ เรียนสวนร่วมอยู่ดีค่ะ ...

เรียน คุณน้ำฯ และ...

     ผมได้ติดต่อให้ทีมเยาวชนคนเกาะเรียน ช่วยอธิบายเพิ่มเติมแล้วครับ ยังไงรอนิดนะครับ

เรียนสวนร่วม   เป็นภูมิปัญญาที่คนสมัยก่อนสร้างเป็นกุสโลบายการนับญาติสืบวงศ์ตระกูลกัน สร้างเครือข่ายญาติพี่น้องให้แน่นแฟ้นเป็นเอกภาพรู้สายธารของวงศ์ตระกูล โดยเอาต้นทุเรียนพื้นบ้านเป็นสัญลักษ์ พอที่เข้าใจได้ดังนี้    หนึ่ง คำว่า   เรียน  คือทุเรียนพื้นบ้านที่มีลักษณะดี รสชาติดี ต้นโต อายุยืนที่บรรพชนของตระกูลปลูกไว้บอกเล่าต่อๆกันมาว่าใครปลูก เชื้อสายตระกูลไหนเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในผลผลิตของทุเรียนต้นนั้นๆ(อาจจะไม่มีกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดินก็ได้) และมีการตั้งชื่อเรียกสืบต่อกันมา อาทิ ที่บ้านปากพลี - เกาะเรียน ตำบลคลองใหญ่   อำเภอตะโหมด  จังหัวดพัทลุง มีต้นทุเรียนพื้นบ้านชื่อ ไอ้นกควม เป็นต้นทุเรียนมีสายสัมพันธ์ของหลายสายนามสกุลเกี่ยวข้องเป็นเครือญาติกันมากที่สุด  สองคำว่า  สวน  คือ เรือกสวนหรือสวนที่ปลูกไม้ผลพื้นเมืองต่างๆเช่น ทุเรียน ลางสาด(ลองกองไม่มีเพราะเพิ่งนำมาปลูกในสมัยหลัง) มะพร้าว เงาะบ้าน กระท้อนบ้าน มังคุด มะปริง มะปราง ขนุน จำปาดะ สะตอ ฯลฯ และทุกคนในสายตระกูลเดียวกันสามารถนำผลผลิตมาหล่อเลี้ยงครอบครัวได้(มีกติกากำหนดด้วยขออภัยทียังไม่ได้รวบรวมให้เป็นระบบ)   สาม คำว่า  ร่วม  คือร่วมกัน ใช้ร่วมกัน แบ่งปันกัน มีกรรมสิทธ์ในผลผลิตร่วมกัน ใน   เรียนสวนร่วม   กันตามกติกาที่สืบทอดกันมาแต่เก่าก่อน ที่ทราบมาไม่เคยมีใครหรือผู้ใดในรุ่นหลังบัญญัติเพิ่ม ด้วยเหตุที่รู้น้อยอาจจะเติมเต็มได้ไม่มากนัก เดี๋ยวจะเป็นสื่อให้น้องๆ เยาวชนบ้านปากพลีที่กำลังรวบรวมและเรียนรู้เรื่อง เรียนสวนร่วมอยู่   น่าจะตอบได้ชัดกว่า ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ ที่คุณน้ำให้ความสนใจ หากมีสาระอะไรเพิ่มเติมจะรวบรวมให้อีกครั้งหนึ่ง

 

เข้าใจแล้วค่ะ เรียน คำนี้ไม่ได้หมายความร่วม การเรียนรู้ นั่นเอง

ทำความเข้าใจต่อน่ะ เท่าที่ฟังหมายความว่าต้นทุเรียนนี้ปลูกอยู่ในสวนสมรม หรือพื้นที่ส่วนร่วมของชุมชนนั้นๆ คล้ายๆ ป่าชุมชน(ใช่หรือเปล่าค่ะ)

หรือว่าในอดีตคนปลูกไม่ได้เป็นเจ้าของที่ พอมาปัจจุบันเจ้าของที่เขาได้จับจอง แต่ก็ให้ถือเอาว่าต้นทุเรียนนั้นเป็นของส่วนรวม เป็นของต้นตระกูลนั้นๆ ที่ปลูกไว้

แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าต้นทุเรียนนั้นเป็นของใคร มีการสลักชื่อไว้ หรือติดป้ายไว้ หรือเพียงแค่คำบอกเล่าเท่านั้น แต่ถ้าเป็นคำบอกเล่า น้ำคิดอย่างคนเมืองว่า เมื่อไม่มีหลักฐานการแอบอ้างก็ง่าย แล้วเขาจัดการกับความขัดแย้งนี้อย่างไร

แล้วในปัจจุบัน ยังมีวัฒนธรรมแบบนี้ให้เห็นอยู่หรือเปล่าที่ไหนเพราะเรื่องนี้น่าสนใจมากค่ะ อาจจะลงไปดู

     ผมมีประเด็นที่จะขอตั้งข้อสังเกตดังนี้ครับ "สวน" คือเรือกสวนหรือสวนที่ปลูกไม้ผลฯ แต่คนบ้านเราจะให้ความหมายอีกแบบหนึ่งได้นะครับ "สวน" คือส่วน เช่นสวนปัน ก็จะหมายถึงส่วนที่แบ่งเพื่อให้หรือปันให้คนอื่น ฉะนั้น สวนร่วม ก็คือ ส่วนรวม หรือสาธารณะ (ดูการออกเสียงของคนใต้อีกที)

     "เรียนสวนร่วม" จึงหมายถึงต้นทุเรียนที่เจ้าของคนแรกคัดเลือกแล้วว่ามีความเหมาะสมตามภูมิปัญญา และตั้งกติกาให้เป็นสมบัติของตระกูลที่ทุกคนมีสิทธิร่วมกัน และพิเศษไปกว่าก็คือเงื่อนไขและเวลาที่จะเข้าใช้หรือเอาประโยชน์จากต้นทุเรียนก็ยังมีกติกาด้วย

     ผมแนะนำให้ทีมเยาวชนคนเกาะเรียนไปหาข้อมูลให้ได้มาจนเต็มอิ่ม (มากพอจนถามแย้งต่อไปอีกไม่ได้แล้ว) จากผู้ให้ข้อมูลหลาย ๆ คน จากนั้นมาตีความ วิเคราะห์กัน สุดท้ายอย่าลืมเอาไปตรวจสอบกับชุมชนอีกครั้งหนึ่งว่าใช่ตามที่สรุปหรือไม่ ก่อนสรุปขั้นสุดท้าย (เรียกว่าการตรวจสอบสามเส้า) แล้วเจอกันนะ เตรียมข้อมูลไว้เลยจะได้ทดลองปฏิบัติกัน เร็ว ๆ นี้ (comming soon)

สมลักษณ์ วงศ์สมาโนดน์

เขียนตอบไปตอบมาสนุกดีครับ ได้อ่านภาษาใต้ และภูมิปัญญาของคนไทยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท