การใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม


“เดี่ยวนี้จะปลูกอะไรก็ต้องใช้ยารองหลุม เวลาจะเก็บขายก็ต้องฉีดพ่นยาก่อน ไม่งั้นไม่สวยขายไม่ได้ พอที่จะเว้นไว้กินเองไม่ใช้ แต่ก็ไม่ได้กิน เพราะแมง (แมลง) กินหมด”

     การที่ผมออกเดินทางไปยังชุมชน พูดคุยแลกเปลี่ยนในหลาย ๆ เวที ต่างกรรมต่างวาระกัน หรือไปเป็นผู้ฟังอย่างเดียว อย่างเช่นที่ชุมชนลำกะ ก็จะได้ยินสิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านมักจะพูดถึงบ่อย ๆ คือพิษของอาหารที่กินเข้าไป ทำให้สุขภาพในปัจจุบันต่างจากในอดีต
          “มะเร็งอะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด หรือโรคแปลก ๆ ที่ไม่เคยพบไม่เคยเห็นมาก่อน ทำไมถึงได้มากมายอย่างนี้ คิดว่าเพราะอาหารนี้แหละทีเป็นสาเหตุ”
     หรืออย่างเช่น
          “เดี่ยวนี้จะปลูกอะไรก็ต้องใช้ยารองหลุม เวลาจะเก็บขายก็ต้องฉีดพ่นยาก่อน ไม่งั้นไม่สวยขายไม่ได้ พอที่จะเว้นไว้กินเองไม่ใช้ แต่ก็ไม่ได้กิน เพราะแมง (แมลง) กินหมด”
     ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง ได้มีการจัดลำดับความสำคัญของปัญหากัน โดยใช้ข้อมูลจากปีที่ผ่านมา ก็พบว่าปัญหาการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรมไม่ถูกระบุเป็นปัญหา ดีที่ผู้บริหาร (นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด) ให้ถือว่าเป็นปัญหาโดยนำยุทธศาสตร์จังหวัดที่บอกว่าเป็นเมืองเกษตรมาจับ นี่แหละความสำคัญที่ต้องมีผู้บริหารประเด็นหนึ่ง โดยเฉพาะผู้บริหารที่มีความเป็นวิชาการสูง
     แต่โดยส่วนตัวแล้ววันนั้น (วันที่ประชุมเพื่อจัดลำดับความสำคัญของปัญหา) ไม่ค่อยเห็นด้วยกับกระบวนการเลย ด้วยมีการให้ผู้เข้าร่วมประชุมใส่คะแนนของปัญหา แล้วนำมาหาผลรวม แต่ผู้ที่เข้าร่วมประชุมคือ คนส่วนน้อย เฉพาะกลุ่มข้าราชการสาธารณสุข มีผู้ที่เกี่ยวข้องบ้าง 2-3 คน ที่ไม่สามารถเป็นตัวแทนคนจังหวัดพัทลุงได้ ซึ่งก็ได้พยายามท้วงติงบ้างแล้ว แต่ทำได้ไม่เต็มที่นัก เรื่องนี้ผมก็เลยได้ข้อสรุปว่าการตัดสินอะไรสักอย่าง จะใช้ความเป็นประชาธิปไตยตัดสินไม่ได้ทุกเรื่องเสมอไป (ความเห็นส่วนตัวจริง ๆ) บางครั้งต้องใช้เหตุผลทางวิชาการ (ปัญญา) ให้มาก ๆ ด้วย
     มาลองดูผลงานทางวิชาการ “ผลกระทบสุขภาพของการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม” ที่นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้นำเสนอไว้ คือ การใช้สารเคมีภาคเกษตรกรรม ไม่ว่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งผลผลิต ป้องกัน หรือกำจัดศัตรูพืชก็ตาม หากใช้ปริมาณที่มากเกินไป หรือวิธีการใช้ที่ไม่เหมาะสมก็อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อสุขภาพของเกษตรกร อีกทั้งเกิดปัญหาสรเคมีตกค้างในดิน แหล่งน้ำ อากาศ ตลอดจนพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งกระทบต่อสภาพแวดล้อมในชุมชน
     ปัจจุบันปัญหาจากการใช้สารเคมีภาคเกษตรกรรมที่กระทบต่อสุขภาพแลสภาพแวดล้อมมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากสำรวจสารเคมี 49 ชนิดพบว่าสารเคมีที่มีระดับความเป็นพิษรุนแรงถึงรุนแรงมาก 11% พิษปานกลาง 27% พิษน้อย 21% ซึ่งผู้รับสารเคมีเหล่านี้อาจจะมีอาการตั้งแต่ คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชา สายตาพร่ามัว แน่นหน้าอก หายใจติดขัด และอาจถึงขั้นเสียชีวิต จึงควรทำการศึกษาวิจัยเพื่อหามาตรการในการแก้ไข  และได้สนับสนุนงานวิจัยของ ดร.ปาริชาติ วิสุทธิสมาจาร คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะ ทำการศึกษาวิจัยถึงปัญหา สถานการณ์และผลกระทบต่อสุขภาพของการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรมและหาแนวทางในการป้องกัน โดยเลือกศึกษาบริเวณพื้นที่จังหวัดหนึ่งในภาคใต้ตอนล่าง มีเนื้อที่ปลูกผักมากกว่า 2,000 ไร่ มีผลผลิต 5,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 40 ล้านบาท
     พบว่าพฤติกรรมซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการใช้สารเคมีของเกษตรกรมีสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ การขาดความรู้ความเข้าใจถึงวิธีการใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง และมีการฉีดพ่นยาบ่อยครั้งกว่าที่กำหนดและเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนถึงกำหนดที่เหมาะสมที่แนะนำในคู่มือ ก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพ ทั้งในมิติทางกาย จิต สังคมและสิ่งแวดล้อม

     จังหวัดพัทลุง จึงน่าจะได้ทดสอบผลการวิจัยนี้แบบเชิงปฏิบัติการ (Action) เพื่อแก้ปัญหาไปด้วย และทบทวนไปด้วยว่าสภาพการณ์เป็นเช่นนั้นด้วยหรือไม่ และหากแก้ไขปัญหาพฤติกรรมนี้ได้ จะลดความเสี่ยงลงได้จริงหรือไม่ด้วย
     ในขณะเดียวกันด้านประชาชนโดยทั่วไปที่ต้องซื้อหาผลผลิตทางการเกษตรมาบริโภคนั้น จะต่อสู้กับภาวะคุกคามสุขภาพนี้จากตลาดที่ทำการซื้อขายได้อย่างไรบ้าง นี่เป็นประเด็นเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน (แต่เห็นผลช้า ข้าราชการผู้ปฏิบัติอาจจะไม่ชอบนัก ด้วยระบบการประเมินผลยังต้องรอการปรับปรุงให้สอดคล้องกับกระบวนคิดแบบนี้ด้วย) ซึ่งผมคนหนึ่งก็รออยู่…ด้วย ฮา…

หมายเลขบันทึก: 4990เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2005 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรื่องนี้มีกรณีที่ถือว่าสำเร็จ  น่าศึกษามาก  คือที่ พิจิตร  เคยเป็นรองแชมป์สารเคมีตกค้างในเลือดสูงระดับประเทศ   แต่ตอนนี้มีกิจกรรมจัดการความรู้เรื่องนี้  และทำออกมาได้ดีมาก

หากสนใจติดต่อ หมอชัยณรงค์  ดูนะครับ  เพราะหมอชัยฯ เป็นหนึ่งในทีมคุณอำนวย  ของ สสจ.พิจิตร

     คุณThawat KMI อ่านแล้วคงเห็นบางอย่างใช่ไหมครับ คือผมว่าชาวบ้านเริ่มให้ความสำคัญแล้วนะ แต่ราชการเราซิ ขนาดผู้บริหารให้แล้ว ก็ยังไม่เอาอีกนะครับ (ไม่เป็นวิชาการ งั้นก็ไม่ต้องจัดประชุมเพื่อลงคะแนนให้ความสำคัญกัน ให้ผู้บริหารชี้เอาเลย) ผมเห็นด้วยแต่ไม่ทั้งหมดบางเรื่องต้องใช้ปัญญาด้วย เหตุการณ์อย่างนี้ผมว่าต้องใช้วิธีที่ จว.พิจิตร ใช้ (อ่านจาก “คุณอำนวย” ชาวบ้านที่ จ.พิจิตร) ตามที่ได้แนะนำแล้วลองค้นดูเจอนะครับ กลับมาที่แล้วจะเริ่มอย่างไรดี เพราะไม่เคยมีเรื่องนี้ที่นี่พอจะให้เห็นชัดได้เลย ต้องอาศัยพูดไปเรื่อย ๆ จับจากที่ชาวบ้านเขาพูดขึ้นมา แล้วเราก็ต่อเอา แต่เหมือนขาดพลังครับ เห็นจะมีอีกที่ที่มีพลังแน่ ๆ คือ เวทีชุมชนเกษตรอินทรีย์ ยุทธศาสตร์ประเทศไทย แต่จะเชื่อมโยงอย่างไร ใคร (ในจังหวัด) ควรจะเป็นเจ้าภาพ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท