ภาพถังกากับการอธิบายปฏิจจสมุปบาท


การพยายามอธิบายให้ความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาทนี้ ได้มีการพยายามทำกันมาช้านาน จนถึงพยายามอธิบายให้เข้าใจในอาการ ๑๒ โดยเขียนเป็นภาพก็มี ดังที่ปรากฏอยุ่ในภาพปฏิจจสมุปบาทที่เกิดมาทางสายมหายานช้านาน แสดงอาการทั้ง ๑๒ นั้นเป็นภาพ โดนที่แสดงเขียนเป็นภาพไว้ดังนี้

ผู้หญิงแก่ตาบอดเดินหลังค่อมยันไปด้วยไม้เท้าได้แก่ อวิชชา ก็เพราะว่าไม่รู้ไม่เห็นจึงเทียบได้กับคนตาบอด

คนปั้นหม้อกำลังปั้นหม้อเทียบด้วย สังขาร เพราะว่าสังขารก็คือการปรุงแต่ง จึงเทียบกับการปั้นหม้อ

วานรผู้กระโดดจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่งเทียบด้วย วิญญาณ เพราะวิญญาณตามที่ได้อธิบาย เมื่อเป็นจุติวิญญาณก็เคลื่อนจากอารมณ์หรือจากภพชาติอันหนึ่งไปอุปบัติคือเข้าถึงอารมณ์หรือภพชาติอีกอันหนึ่ง ดังที่เรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณ จึงเทียบได้กับวานรที่กระโดดจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปถึงต้นไม้อีกต้นหนึ่ง

คนพายเรือจ้างซึ่งรับคนโดยสารไปในเรือจ้างเทียบกับ นามรูป ก็เพราะว่านามรูปนั้นต้องอาศัยกัน นามก็ต้องอาศัยรูป รูปก็ต้องอาศัยนาม เหมือนอย่างเรือกับคนพายเรือและคนโดยสารที่ต้องอาศัยกัน

บ้านที่มี ๖ หน้าต่าง หน้าต่างทั้ง ๖ เทียบด้วย สฬายตนะ ก็เพราะต้องมีอายตนะ ๖ จึงจะรับอารมณ์สัมผัสต่อไปได้

บุรุษและสตรีที่รักใคร่กันเทียบด้วย ผัสสะ เพราะผัสสะก็คือความกระทบจึงเทียบด้วยบุรุษและสตรี ซึ่งต้องการสัมผัสของกันและกัน

คนที่ถูกลูกศรติดลูกตาอยู่ เทียบด้วย เวทนา เพราะเวทนาก็คือการเสวยอารมณ์ จึงต้องการแสดงถึงลักษณะที่เสวยอารมณ์ให้เห็นชัด

คนติดสุราผู้กระหายหิวเทียบกับ ตัณหา เพราะแสดงถึงความกระหายต้องการอย่างแรง

คนกำลังปลิดผลไม้จากต้นไม้เทียบได้กับ อุปาทาน เพราะแสดงถึงความยึดถือ

หญิงมีครรภ์เทียบด้วย ภพ เพราะต้องการแสดงถึงภพคือกามภพเป็นต้น อันเป็นปัจจัยสืบต่อไปถึงชาติ คือความเกิด จะมีชาติคือมีความเกิดก็ต้องตั้งครรภ์ขึ้นมาก่อน คือจะมีภพขึ้นก่อน

หญิงที่กำลังคลอดบุตรเทียบกับ ชาติ คือความเกิด

ภาพคนแก่และศพคนตายเทียบกับ ชรา มรณะ

ภาพที่แสดงอาการทั้ง ๑๒ ในปฏิจจสมุปบาทนี้ได้มีมานานก็เพื่อต้องการที่จะให้ความเข้าใจให้ชัดขึ้นโดยภาพ"

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) หลักธรรมสำคัญของพระพุทธศาสนา หน้า ๒๑๐ ๒๑๑

..

ปฏิจจสมุปบาท

กาลจักร (The Wheel of Life)

" ภาพกาลจักร หรือ ภวจักร เป็นภาพที่มุ่งหมายแสดงให้รู้ว่าทุกข์เกิดและดับอย่างไร อันเป็นอาการของจิตที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของคนเรา มีความรวดเร็ว รุนแรงเหมือนสายฟ้าแลบ ทั้งนี้เป็นไปตามกฎธรรมชาติที่ว่าด้วย อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท อันเป็นพระธรรมสำคัญที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ว่า ทุกสิ่งล้วนเกิดจากเหตุและปัจจัย ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นอย่างลอยๆ ต่างล้วนอาศัยพร้อมกันแล้วเกิดขึ้นในลักษณะ ๑๒ ห่วงโซ่อาการแห่งจิต

Tiny_img_6286

ภาพมุมด้านขวามือ เป็นภาพพระบรมศาสดาทรงชี้ให้เราเห็นภัยแห่งสังสารวัฏฏ์ ซึ่งกักขังปวงสัตว์ ซึ่งรวมทั้งคนเราให้ตกอยุ่ในห้วงแห่งความทุกข์ทรมาน

ภาพยักษ์ที่กัดกินวงกลม หมายแทนกาลเวลา กะโหลกผี ๕ กะโหลก หมายแทนขันธ์ห้าที่ประกอบด้วยอุปาทานว่าเป็น ตัวเรา และ ของเรา หมายความว่าเมื่อใดที่จิตสำคัญมั่นหมายว่าเป็น ตัวเรา และ ของเรา ขณะนั้นจะถูกกาลเวลากัดกินให้เป็นทุกข์ทรมานอยู่ตลอดเวลาที่ยึดถือว่ามี ตัวเรา อยู่ ซึ่งพื้นฐานเดิมของจิตนั้นมีลักษณะว่างจาก ตัวเรา หรือเรียกจิตเดิมนี้ว่า จิตประภัสสร

ภาพวงกลมใหญ่ทั้งหมด หมายแทนอาการของจิตในขณะที่ยักษ์กัดกินโดยแสดงเป็นวงกลมซ้อนกันอยู่ ๔ ชั้น

วงกลมเล็กในสุด ภาพงูกำลังกัดหางไก่ ไก่กำลังกัดหางหมู หมูกำลังกัดหางงู หมุนเวียนกันเรื่อยไปต่อเนื่องกันไม่สิ้นสุด แสดงให้เห็นถึงอำนาจของกิเลสอันมีอกุศล คือ โลภ โกรธ หลง เป็นมูลเหตุ มาทำให้จิตเดิมที่ประภัสสรนั้นหมองไปตามอำนาจ กระทำหมุนวนเวียนเป็นวงกลมซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นวงจรแห่ง กิเลส กรรม วิบาก อันเป็นวัฏฏสงสารที่กักขังสัตว์ให้เวียนตายเวียนเกิดอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ทรมาน

วงกลมเล็กถัดออกมา แสดงถึงสิ่งที่เป็นไปตามกิเลส กรรม วิบาก หล่อเลี้ยงวัฏฏสงสารให้หมุนเวียนไปไม่มีที่สิ้นสุด แบ่งวงกลมเป็น ๒ ซีก ซีกดำหมายแทน บาป นรก ความชั่ว ความทุกข์ ฯ อันเป็นสภาพแห่งกรรมข้างฝ่ายดำ ส่วนซีกขาว หมายแทนบุญ สวรรค์ ความดี ความสุข ฯ หมายถึงกรรมข้างฝ่ายขาวที่มีความละอาย เกรงกลัวบาป แต่ยังยึดถือบุญ สวรรค์ ความดี ความสุข ว่าเป็น ตัวเรา และ ของเรา จึงไม่สามารถหลุดพ้นไปสู่ความเป็นอิสระที่เหนือกรรมทั้งดำทั้งขาวได้

วงกลมถัดออกมา แบ่งเป็น ๕ ส่วน แสดงให้เห็นว่าในวันหนึ่งๆเมื่อใดที่จิตของเรามีการกระทบอารมณ์ แล้วตอนนั้นจิตขาดสติปัญญา จิตจะสำคัญขึ้นว่าเป็น ตัวเรา จิตก็พร้อมจะมีสภาพผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนว่ายวนเกิดในสภาวะแห่งภูมธรรมต่างๆ ๕ ภูมิ ได้แก่ ภูมิมนุษย์ เมื่อคิดเห็นเป็นอยู่สมมนุษย์ ภูมิเปรตเมื่อมีแต่ความทะยานอยากไม่รู้จักพอ ภูมินรกเมื่อมีแต่ความวิตกทุกข์ร้อนหรือหนาวยะเยือกในใจไม่รู้จักสงบเย็น ภูมิเดรัจฉานเมื่อทุกเมื่อเชื่อวันนั้นหมกมุ่นอยุ่แต่กับดิรัจฉานวิสัย คือ กิน ขี้ขลาด สืบพันธุ์ นอน และภูมิเทวดา ที่แม้จะละอายและเกรงกลัวบาปแต่ก็ยังติดดีและสุข เที่ยวเสาะแสวงหารบพุ่งแย่งชิงระหว่างกันอยู่เสมอ

วงกลมนอกสุด แสดงถึงมูลเหตุที่ทำให้สัตว์ยอมจมอยู่ในห้วงแห่งวัฏฏสงสาร ด้วยห่วงโซ่อาการของจิตที่ต่อเนื่องกัน ๑๒ ห่วง คือ อวิชชา แสดงด้วยภาพเด็กที่ไม่รู้นำทางคนแก่ตาบอดที่ไม่เห็นแล้วคิดปรุงแต่งตามวิสัยคนปั้นหม้อ (สังขาร) ต่อๆกันไป ตามกระแสแห่ง วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ ฯลฯ ซึ่งกล่าวโดยสรุปแล้ว เพราะอวิชชาตัวเดียวเท่านั้น หนุนเนื่องให้ปรากฏขั้นตอนต่างๆอย่างฉับพลันพร้อมกันจนเป็นทุกข์

ภาพล้อธรรมจักร ๑๒ ซี่มุมบนซ้ายมือ ที่พระบรมศาสดาทรงชี้ทางแก่สานุศิษย์ หมายถึงวิธีการที่จะปฏิบัติเพื่อให้หลุดออกมาเสียได้จากสังสารวัฏฏ์ ซึ่งกักขังสัตว์เอาไว้ให้จมอยุ่ในห้วงแห่งความทุกข์ หมายแทนอริยสัจจ์ ๔ หรือความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ พร้อมด้วยกิจที่จะต้องปฏิบัติอย่างละ ๓ รวมเป็น ๑๒ ซึ่งหมายถึงการรู้และเข้าใจในทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การหมดสิ้นทุกข์เสียได้ และการปฏิบัติตามหนทางอันประเสริฐ ๘ ประการเพื่อการดับทุกข์ ด้วยปัญญารุ้เท่าทันสภาพและกระบวนแห่งจิตในทุกขณะ มีอินทรียสังวรและกำลังพร้อมต่อทุกขณะแห่งผัสสะมิให้ไหลวนไปตามอำนาจแห่งอวิชชาจนเป็นทุกข์"

คำอธิบายภาพปฏิจจสมุปบาท แบบทิเบต โดยท่านพุทธทาส
ที่มาของภาพ : โรงมหรสพทางวิญญาณ สวนโมกขพลาราม ไชยา สุราษฎร์ธานี และต้นฉบับภาพถังกาจากทิเบต
หมายเลขบันทึก: 498568เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2012 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 20:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ขอบคุณครับ มีหนังสือปฏิจจสมุปบาท ของท่านพุทธทาส อยู่ที่บ้าน หน้าปกอย่างนี้เลย เพิ่งจะเข้าใจวันนี้เอง

ขอบคุณ คุณ ณัฐรดา มากครับสำหรับบทความที่มีคุณค่าและเปี่ยมประโยชน์

      สำหรับผมชื่นชอบการตีความปฏิจจสมุปบาทตามนัยของท่านพุทธทาส แบบการเกิดภพชาติในขณะจิตหนึ่ง เช่น 

       ตัวอย่างของการเกิดปฏิจจสมุปบาทในการดำเนินชีวิตทั่วไป 

      โกรธ โมโห ที่มีคนพูดจาดูถูก เหยียดหยาม

          ๑. กรณี : หากพิจารณาตามหลักปฏิจจสมุปบาท (ไล่เรียงจากผลไปหาเหตุ) จะได้ว่า

                  การที่เราโกรธ โมโห (เกิดความทุกข์ใจ) นั่นก็เพราะว่ามีปัจจัยเหตุมาจาก เรารู้สึกว่าศักดิ์ศรี และเกียรติยศเป็นของเราต้องติดตัวเราไปตลอด (ชาติ) ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะมีปัจจัยเหตุมาจากการมีและตั้งอยู่ของเกียรติและศักดิ์ศรีนั้น (ภพ) ซึ่งการมีและตั้งอยู่ของเกียรติและศักดิ์ศรีดังกล่าวก็เพราะมีปัจจัยเหตุมาจากการยึดติดถือมั่นในความเชื่อและการปฏิบัติต่อ ๆ กันมาในอดีต (อุปาทาน) ที่ว่าต้องรักษาเกียรติและศักดิ์ศรียิ่งชีพ ซึ่งความยึดมั่นและถือมั่นดังกล่าวนั้นมีปัจจัยเหตุมาจากความอยาก (ตัณหา) ที่จะไม่ให้ใครมาดูถูกเหยียดหยามอย่างนั้นอย่างนี้ โดยความอยากที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้นมีปัจจัยเหตุมาจากความรู้สึก (เวทนา) ภูมิใจและสุขใจที่มีต่อเกียรติและศักดิ์ศรี ซึ่งการที่เรามีความรู้สึกอย่างนั้นก็เพราะมีปัจจัยมาจาก การที่เราสามารถสัมผัส (ผัสสะ) ได้จริงถึงความมีเกียรติและศักดิ์ศรีที่มีอยู่ในตัวเรา ทั้งจากที่มีคนนับหน้าถือตา เคารพยำเกรง ซึ่งการที่เรามีความสัมผัสได้โดยตรงนั้นมีปัจจัยเหตุมาจากการได้เห็น ได้ยินคนอื่นพูดถึงเราในทางที่ดีให้เกียรติเราอยู่เสมอเป็นประจำทุกวัน (สฬายตนะ) ซึ่งการที่เราได้ยินได้เห็นการกระทำดังกล่าวทุกวันนั้นมีปัจจัยเหตุมาจาก เรามีความชอบในการมีซึ่งชื่อเสียงและเกียรติยศนั้น (นามรูป) การที่เราชอบดังกล่าวนั้นก็เพราะมีปัจจัยเหตุมาจาก การรับรู้ของจิต (วิญญาณ) ถึงความมีหน้ามีตาในเกียรติและศักดิ์ศรีนั้น ที่เรามีการรับรู้ดังกล่าวนั้นก็เพราะมีปัจจัยเหตุมาจาก ความคิดที่เกิดจากการปรุงแต่งขึ้น (สังขาร) ในเรื่องของเกียรติและศักดิ์ศรี และที่เรามีความคิดอันเกิดจากการปรุงแต่งดังกล่าวนั้นมีปัจจัยเหตุมาจาก ความไม่รู้จริงแห่งทุกข์ (อวิชชา) ในเกียรติและศักดิ์ศรีที่เราต้องแบกภาระและเก็บรักษาเอาไว้

 

             ๒. กรณี : หากพิจารณาตามหลักปฏิจจสมุปบาท (ไล่เรียงจากเหตุไปหาผล) จะได้ว่า

               ความไม่รู้จริง (อวิชชา) แห่งทุกข์ในเกียรติและศักดิ์ศรีที่ต้องแบกภาระและเก็บรักษาเอาไว้ ทำให้เกิดความคิดปรุงแต่ง (สังขาร) ในเรื่องเกียรติและศักดิ์ศรีขึ้นมาภายในจิต (วิญญาณ) ว่าใครหน้าไหนจะมาดูถูกเหยียดหยามไม่ได้ ซึ่งจากการที่มีคนรอบข้างกล่าวถึงและพูดถึง ยกยอปอปั้น (นามรูป) ต่าง ๆ นานา และไปไหนก็มีแต่คนยกย่อง เยินยอ เอาอกเอาใจ (สฬายตนะ) ซึ่งสัมผัสได้จริงจากการกระทำและคำพูดในการยกย่อง เยินยอที่มีต่อตัวเรา (ผัสสะ) ดังกล่าว การกระทำและคำพูดที่สั่งสมในทุกวันดังกล่าวทำให้เราเกิดความรู้สึก (เวทนา) นำไปสู่ความหลงใหล หวงแหนและความอยาก (ตัณหา) มีเกียรติและศักดิ์ศรีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถลำลึก หลงไปยึดติดถือมั่นในการแสวงหาให้ได้มาซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีในรูปแบบต่าง ๆ และรวมไปถึงการเก็บรักษามูลค่าแห่งเกียรติและศักดิ์ศรีนั้นเอาไว้ยิ่งชีพ (อุปาทาน) ทำให้เกิดการมองเห็นและรู้สึกถึงความมีและการตั้งอยู่ในเกียรติและศักดิ์ศรีนั้น (ภพ) จนท้ายที่สุดนำไปสู่การยึดติดถือมั่นว่าเกียรติยศและศักดิ์ศรีจะต้องคงอยู่คู่กับเราติดตัวเราไปตลอดใครจะมาดูถูก เหยียดหยามไม่ได้ ในทำนองเกียรติและศักดิ์ศรีของกู – ต้องมีอยู่ในตัวกูตลอดไป (ชาติ)

              เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีคนมาดูถูก เหยียดหยาม ดังกล่าว จึงทำให้เราโกรธ โมโห นำมาซึ่ง ความทุกข์ ซึ่งจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของวงจรแห่งปฏิจจสมุปบาทว่ามีความเข้มข้นมากหรือน้อยเพียงใดในแต่ละอาการ (๑๒ อาการ) โดยเฉพาะสังคมวัยรุ่นในปัจจุบันที่ยกพวกตีกันจนนำไปสู่การบาดเจ็บหรือสูญเสียชีวิต เกี่ยวเนื่องมาจากการยึดติดถือมั่นในเกียรติยศและศักดิ์ศรีของสถาบัน ใครหน้าไหนจะมาดูถูก เหยียดหยาม ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ๆ ไม่ได้ รวมถึงการหลงใหลเข้าไปยึดติดถือมั่นอย่างมากมายจนติดกับดักแห่งเกียรติและศักดิ์ศรี นำไปสู่การแสวงหาสั่งสมเกียรติและศักดิ์ศรีดังกล่าว โดยการ ยกพวกไปถล่มสถาบันคู่อริเพื่อเป็นการประกาศศักดาในเกียรติและศักดิ์ศรีของสถาบันของตน นำไปสู่การสั่งสมเป็นค่านิยมอันผิด ๆ ตามมาอย่างต่อเนื่องนั่นเอง 

 

   *** ไม่ว่าจะตีความปฏิจจสมุปบาทแบบไหน (แบบข้ามภพข้ามชาติหรือแบบการเกิดภพชาติในขณะจิตหนึ่ง ซึ่งพระพรมคุณาภรณ์ได้บันทึกไว้ทั้ง ๒ นัยในหนังสือที่ทรงคุณค่า "พุทธธรรม") หัวใจหลักก็คือให้รู้เท่าทันกระบวนการเกิด (ดับ) ทุกข์นั่นเอง

 

                               ขอบคุณมากครับ



 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท