ประวัติ ผอ.เสาวนีย์ คันธาแก้ว อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนประชานิเวศน์


        ผอ.เสาวนีย์  คันธาแก้ว(นามสกุลเดิม วิมลสุข)  เกิดเมื่อวันที่  5  มกราคม  พ.ศ. 2482  ที่อำเภอกันทรารมย์  จังหวัดศรีสะเกษ  เป็นบุตรคนโตของนายชาลี และนางทองดี  วิมลสุข  มีน้อง  4 คน คือ  นายศรศรี(ถึงแก่กรรม)  นายวรกิจ  นางสาวลักษมี  วิมลสุข(ถึงแก่กรรม)  และนางบุญเอื้อ  มีฟัก
          ผอ.เสาวนีย์เข้าเรียนระดับประถมที่โรงเรียนบ้านละทาย  อำเภอกันทรารมย์  จังหวัดศรีสะเกษ   เรียนต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนสตรีศรีสะเกษ (ปัจจุบันคือโรงเรียนสตรีสิริเกศ) อำเภอ เมือง จังหวัดศรีสะเกษ  แล้วศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูนครราชสีมา(ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา)  สำเร็จได้รับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา(ป.กศ.)  จากนั้นได้กลับไปรับราชการครูที่บ้านเกิด พร้อมทั้งสอบได้ประกาศนียบัตรประโยคครูพิเศษมัธยม(พ.ม.)  ต่อมาได้ย้ายมารับราชการครูที่กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางเขน  จนได้รับพระราชทานปริญญาการศึกษาบัณฑิต(กศ.บ.) วิชาเอกภาษาไทย  และ ภายหลังได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ได้รับพระราชทานปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต(รป.ม.)
       ประวัติการทำงานของผอ.เสาวนีย์ มีดังนี้   พ.ศ.2503 รับราชการตำแหน่งครูจัตวา อันดับ 2 โรงเรียนบ้านหนองปลาเข็ง อำเภอกันทรารมย์   จังหวัดศรีสะเกษ   พ.ศ.2506  ย้ายมาดำรงตำแหน่ง ครู 4 โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์  บางเขน กรุงเทพมหานคร  พ.ศ.2520       ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นครูใหญ่โรงเรียนประชานิเวศน์  บางเขน  กรุงเทพมหานคร และ เป็นผู้บริหารโรงเรียนนี้จนตลอดอายุราชการ  โดยได้เลื่อนระดับ และตำแหน่งให้สูงขึ้นตามลำดับ คือ  พ.ศ.2523 เป็นครูใหญ่ ระดับ 5   พ.ศ.2529  ครูใหญ่ ระดับ 6   พ.ศ.2542  ผู้อำนวยการระดับ 8  และเข้าร่วมโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดในปีเดียวกัน
        ผอ.เสาวนีย์  เป็นครูที่มีอุดมการณ์ และมีจิตวิญญาณความเป็นครูสูง นับตั้งแต่เริ่มรับราชการครูไม่ว่าจะสอนอยู่ที่โรงเรียนใดก็จะมุ่งมั่นพัฒนาศิษย์ให้มีความรู้ มีความประพฤติที่ดีเป็นที่ยอมรับของศิษย์ ผู้ปกครอง เพื่อนครูและผู้บริหารมาโดยตลอด  จนในที่สุดได้รับแต่งตั้งให้เป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนประชานิเวศน์  เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ซึ่งเริ่มเปิดการเรียนการสอนครั้งแรกในวันที่ 18  ตุลาคม  พ.ศ.2520  
            ผอ.เสาวนีย์ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ช่วงก่อตั้งโรงเรียนครั้งแรกไว้ในหนังสือ ประวัติและผลงานนางเสาวนีย์ คันธาแก้ว  ซึ่งจัดทำโดยโรงเรียนประชานิเวศน์ ความตอนหนึ่งว่า
       “... ยืนดูโรงเรียนซึ่งเป็นอาคารหลังเดียว  ตั้งอยู่บนพื้นที่รกร้างด้วยสนามแห้ง ๆ มีหลุมบ่ออยู่ทั่วไป  มีเสาธง  แต่ไม่มีต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาเลย   ไม่มีครู  ไม่มีนักเรียน ต่อมาจึงได้ครูมา  5 คน  ก็ปรึกษากันว่าจะหานักเรียนจากที่ใด แล้วแนวทางการหานักเรียนมาเรียน ก็เริ่มจากการไปเคาะประตูบ้านที่อยู่ในหมู่บ้าน  เชิญชวนผู้ปกครองที่บุตรหลานยังไม่มีที่เรียนให้มาเข้าเรียน  แล้วโรงเรียนประชานิเวศน์ก็เริ่มเป็นโรงเรียนที่แท้จริงด้วย นักเรียนทั้งหมด 50 คน  ครู 5 คน  เปิดเรียนชั้น ป.1 – ป.6....”
              ผอ.เสาวนีย์เป็นผู้บริหารที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาสถานศึกษาให้น่าอยู่น่าเรียน ทุ่มเทเอาใจใส่ต่อการจัดการเรียนการสอนของครูและดูแลด้านความประพฤติของนักเรียนอย่างใกล้ชิด   โดยครู  ผู้ปกครอง นักเรียน และชุมชนจะเรียกขานกันว่า  “คุณแม่ใหญ่” และผอ.เสาวนีย์จะเรียกตนเองว่า “แม่ใหญ่”กับทุกคน  ด้วยการดูแลเอาใจใส่นักเรียนอย่างใกล้ชิดของผอ.เสาวนีย์ทำให้เกิดความรักความผูกพันกับนักเรียนเป็นอย่างดี  ดังที่คณะครูโรงเรียนประชานิเวศน์ได้เขียนเรื่องนี้ไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันความตอนหนึ่งว่า
           “...แม่ใหญ่รักเด็กๆมาก  ท่านจะยิ้มให้นักเรียนเสมอเวลาเช้าท่านจะเลี้ยวรถเข้ามาจอด เด็กๆพอเห็นรถท่านมักจะวิ่งมาหาส่งเสียงสวัสดีแจ๋วๆ  ถ้ามีของเด็กๆจะช่วยกันขนของไปไว้ให้ที่ห้องพักแล้วจึงแยกย้ายไปเล่น...”
       
 เนื่องจากโรงเรียนเพิ่งก่อตั้งขึ้นมาใหม่ผอ.เสาวนีย์ จึงพยายามหาวิธีที่จะสร้างความร่วมมือร่วมใจกันของบุคลากรและชุมชน เพื่อพัฒนาโรงเรียนให้ก้าวหน้าขึ้นมาอย่างรวดเร็ว  โดยได้เริ่มทำโรงเรียนให้เป็นเสมือนบ้าน ถือว่าทุกคนเหมือนกับญาติสนิท ตนเองเป็นหัวหน้าครอบครัว  เป็นแม่ใหญ่ที่คอยกำกับดูแลพัฒนาโรงเรียนให้เจริญก้าวหน้า เพื่อให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวอยู่ร่วมกัน ปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่และมีความสุข  โดยได้นำรูปแบบการบริหารแบบบ้านไทย มาใช้ ซึ่งได้กำหนดกระบวนการบริหาร โครงสร้างงาน  เกณฑ์ตรวจสอบคุณภาพ  เครื่องมือติดตามประเมินผล วิธีการประเมินผล  รายงานผลการปฏิบัติงาน และการนำผลการประเมินไปใช้ในการแก้ปัญหา และพัฒนางานไว้อย่างเป็นระบบ  ภายใต้ ปรัชญาโรงเรียนที่ว่า “ชุมชน  นักเรียน  ครู  ผู้ปกครอง คือ ญาติพี่น้องร่วมบ้านเดียวกัน”
             ในด้านการเรียนการสอน ผอ.เสาวนีย์ได้นำคณะครูกำหนด “หลักสูตรบ้านไทย”  เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยแบ่งเป็น 4  รูปแบบ คือ
             1. ไร้พรมแดน   เป็นกิจกรรมการสอนทั้งระบบผ่านศูนย์วีดิทัศน์เพื่อการศึกษาของโรงเรียนไปยังระบบวงจรปิดในโรงเรียนทุกห้อง 
             2. แกนมาตรฐาน   เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนเต็มรูปแบบตามหลักสูตรการศึกษา  ทุกกลุ่มประสบการณ์
             3.  สานเอกัตภาพ    จัดให้มีกิจกรรมชุมนุมตามความถนัด ความสนใจเพื่อพัฒนาศักยภาพนักเรียนอย่างเต็มที่
             4.  ซึมซาบสู่โลกกว้าง  จัดให้มีกิจกรรมนอกห้องเรียนทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน  ที่สามารถพัฒนาศักยภาพของนักเรียนได้อย่างเต็มที่
        โดยได้ร่วมกันประยุกต์ กำหนด “กระบวนการสอนแบบ 7 ขั้น ประชานิเวศน์”ขึ้น คือสร้างความสนใจ  ชี้แจงทำความเข้าใจ  นำเข้าสู่บทเรียน   จัดประสบการณ์    ลงมือปฏิบัติ   แจ้งผลงาน   และประเมินผลหลังเรียน
           ผอ.เสาวนีย์เป็นผู้ที่อนุรักษ์และชื่นชมในศิลปวัฒนธรรมแบบไทยเป็นอย่างมาก  ได้กำหนดสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนประชานิเวศน์ เป็นรูปบ้านไทย  เพื่อต้องการให้ครูและนักเรียนเกิดความรู้สึกว่าโรงเรียนคือบ้านอีกหลังหนึ่งของเขา  นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมแบบไทยอีกหลายอย่าง  เช่น  การนำเสื่อลำแพนมาทำเป็นป้ายนิเทศหรือตกแต่งตามมุมต่างๆ   การใช้ผ้าไทย  การจัดกิจกรรมในวันสำคัญตามประเพณีไทย   ฝึกให้นักเรียนได้คัดลายมือให้เป็นลายมือแบบประชานิเวศน์  คือลายมือที่เป็นแบบผสมผสานระหว่างอักษรแบบสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอักษรแบบกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น
          ผอ.เสาวนีย์ มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้นักเรียนเป็นพลเมืองที่เก่งและดีที่สุด  โดยได้จัดหาสื่อโทรทัศน์ติดไว้ในทุกห้องเรียน  เพื่อให้ครูใช้ประกอบการเรียนการสอน รวมทั้งจัดให้มีห้องผลิตรายการวีดิทัศน์เพื่อออกรายการโทรทัศน์ด้วย ซึ่งคณะครูได้เขียนบันทึกเรื่องนี้ไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันความตอนหนึ่งว่า
         “... ที่โรงเรียนจะมีห้องผลิตรายการวีดิทัศน์เล็ก ๆ พื้นที่ประมาณครึ่งห้องเรียน  เป็นห้องส่งเล็กๆในโรงเรียนเรา  โดยปกติชั่วโมงแรกของทุกวันคุณแม่ใหญ่จะมีข่าวมาเล่าให้เราทุกคนฟัง  เราจะเปิดโทรทัศน์ทุกห้องเรียน  ทั้งครูและนักเรียนจะได้ฟังไปพร้อมกัน  ซึ่งถือเป็นการประชุมทั้งโรงเรียน ทั้งครูและนักเรียนจะมีการบันทึกการฟัง  สรุปใจความสำคัญ  ประโยชน์ที่ได้จากการฟัง  ฟังแล้วนำไปใช้อะไรได้บ้าง     รายการวีดิทัศน์เป็นจุดที่ทำให้นักเรียนกล้าแสดงออก  ท่านจะมอบรางวัลเล็กๆน้อยๆให้นักเรียนที่ทำความดี  ชนะการประกวดแข่งขัน  ให้นักเรียนเตรียมเรื่องสั้นๆน่าสนใจมาออกรายการ  เด็กๆจะกระตือรือร้นที่ได้ออกโทรทัศน์  และสามารถ แนะนำแขกที่มาเยี่ยมชโรงเรียน  โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทั่วโรงเรียน...  ครั้งแรกๆเรารู้สึกว่าการบันทึกการฟังเป็นภาระมาก  แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง เราก็ยอมรับว่า การปฏิบัติแบบนี้ติดต่อกันเป็นเดือนเป็นปี ทำให้เรามีทักษะการฟังที่ดีมาก  เราสามารถจับใจความเรื่องที่ฟังแล้วสรุปเรื่องได้โดยอัตโนมัติ  และยิ่งมีประโยชน์กับนักเรียนมาก  นักเรียนที่จบป.6 จากเราไป  มักจะกลับมาเล่าให้ฟังว่า  วีดิทัศน์คุณแม่ใหญ่ที่พวกเขาต้องฟังและสรุปทุกวันนั้น  ทำให้เขาเรียนระดับมัธยมได้ดี เขาบอกพวกเราว่า มันเป็นความเคยชินที่เวลาฟังครูสอนเขาจะจดจุดสำคัญในสมุดไปตลอดเวลา เพราะพวกเขาถูกฝึกมาตลอด 6 ปี ที่เรียนระดับประถมกับคุณแม่ใหญ่  ...
     
 ผอ.เสาวนีย์จะให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยี มาใช้พัฒนาการเรียนการสอน ให้ก้าวหน้าทันยุคโลกาภิวัตน์  ซึ่งในช่วงเวลานั้นคอมพิวเตอร์เริ่มเข้ามามีความสำคัญต่อการปฏิบัติงานและการจัดการเรียนการสอนแล้ว  ผอ.เสาวนีย์ได้ส่งเสริมให้ครูทุกคนในโรงเรียนรู้จักคอมพิวเตอร์และใช้งานให้เป็น โดยได้จัดซื้อจัดหาคอมพิวเตอร์ให้เพียงพอ แสวงหาวิทยากรซึ่งก็คือ ผู้ปกครองนักเรียนในโรงเรียนมาเป็นผู้สอน  เพื่อให้ครูได้รู้ก่อนแล้วนำความรู้มาสอนนักเรียน  ด้วยความตั้งใจจริงดังกล่าวจึงทำให้โรงเรียนประชานิเวศน์มีห้องคอมพิวเตอร์สำหรับใช้สอนนักเรียนในทุกระดับชั้น  นักเรียนทุกคนได้เรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์ตั้งแต่ชั้นป.1-ป.6   รวมทั้งได้ส่งเสริมให้ครูผลิตสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน(CAI)ขึ้นใช้เองในทุกกลุ่มวิชา   นอกจากนั้นยังจัดทำห้องปฏิบัติการทางภาษา เพื่อใช้ในการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ  โดยมองการณ์ไกลว่า การติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศเป็นสิ่งจำเป็นในอนาคต  ซึ่งไม่เพียงแต่วิชาภาษาอังกฤษเท่านั้น ภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่นก็มีความสำคัญเช่นกัน  ผอ.เสาวนีย์ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันในการติดต่อกับชาวต่างชาติคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันความตอนหนึ่งว่า
           “...มีอยู่วันหนึ่งขณะที่ทำงานอยู่ในห้องมีชาวญี่ปุ่นสองคน เดินเข้ามาขอพบ  แล้วบอกว่าเป็นผู้ปกครองในสมาคมผู้ปกครองของโรงเรียนประถมในญี่ปุ่น  ได้ทราบข่าวเกี่ยวกับโรงเรียนประชานิเวศน์เลยมาดู  แล้วรู้สึกพอใจ  อยากให้มีโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างนักเรียนไทย-ญี่ปุ่น   ใครจะนึกบ้างว่าจากการพูดคุยง่ายๆอย่างถูกอัธยาศัยกันครั้งนั้นจะเป็นจุดเริ่มของโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่นระหว่างโรงเรียนมินามิคอนนง เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น กับโรงเรียนประชานิเวศน์ มาตั้งแต่ พ.ศ.  2535  จนถึงปัจจุบัน...”  
         
จากการบริหารงานของผอ.เสาวนีย์อย่างทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจ  ส่งผลให้โรงเรียนประชานิเวศน์พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง จนได้รับรางวัลต่างๆมากมาย อาทิ  พ.ศ.2522 ได้รับรางวัลชนะเลิศการใช้วิทยุโทรทัศน์การเรียนการสอน  และรางวัลชนะเลิศการจัดโครงการอาหารกลางวัน  จากกรุงเทพมหานคร   พ.ศ.2523 โล่รางวัลชนะเลิศการปรับปรุงพัฒนาอาคารสถานที่และอุปกรณ์  และโล่รางวัลชนะเลิศด้านการสร้างมนุษย์สัมพันธ์กับชุมชน จากกรุงเทพมหานคร  พ.ศ.2524  ได้รับโล่รางวัลชนะเลิศในฐานะโรงเรียนที่มีผลงานดีเด่นเป็นพิเศษจากมูลนิธิช่วยการศึกษาท้องถิ่น  กระทรวงมหาดไทย  พ.ศ.2525  ได้รับโล่รางวัลชนะเลิศในฐานะโรงเรียนที่มีผลงานดีเด่นขนาดใหญ่ และได้รับรางวัลชนะเลิศด้านอาคารสถานที่และอุปกรณ์ประเภทโรงเรียนขนาดใหญ่จากกรุงเทพมหานคร  พ.ศ.2526  ได้รับรางวัลชนะเลิศโรงเรียนประถมศึกษาดีเด่นบริการชุมชน จากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์    พ.ศ.2527 ได้รับรางวัลชนะเลิศโรงเรียนประถมศึกษาดีเด่นจากสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ  กระทรวงศึกษาธิการ  รวมทั้งได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการประกวดการจัดห้องสมุดดีเด่นของกรุงเทพมหานคร และได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนรางวัลพระราชทาน  ระดับประถมศึกษา ในปีนี้ด้วย  พ.ศ. 2534 ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบการประเมินคุณภาพห้องเรียนโครงการห้องเรียนสวยสะอาดบรรยากาศวิชาการ  พ.ศ. 2534  พ.ศ.2537  ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณโครงการส่งเสริมความสามารถทางวิชาการ(TOP  TEN)จำนวนมากที่สุดของกรุงเทพมหานคร  เป็นต้น  จนทำให้โรงเรียนประชานิเวศน์เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงที่ผู้ปกครองนิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนเป็นลำดับต้นๆของกรุงเทพมหานคร
          เมื่อนักเรียนมีจำนวนมากขึ้นในขณะที่พื้นที่โรงเรียนไม่สามารถขยายได้อีก  ผอ.เสาวนีย์จึงพยายามเจรจาหาพื้นที่ขยายโรงเรียนเพิ่มขึ้น จนได้พื้นที่ของกรุงเทพมหานครอีก 7 ไร่เศษ ไม่ห่างจากโรงเรียนประชานิเวศน์เดิมนัก  จึงได้สร้างอาคารเรียนขึ้นใหม่และได้รับอนุญาตให้ขยายเปิดทำการสอนในระดับมัธยมศึกษาภายใต้ชื่อ โรงเรียนประชานิเวศน์ฝ่ายมัธยม ใน พ.ศ.2538   ผอ.เสาวนีย์ได้สร้างโรงเรียนแห่งใหม่นี้ให้เป็น“โรงเรียนมัธยมในฝัน” ที่มีความสมบูรณ์แบบตามที่เคยได้ไปศึกษาดูงานจากต่างประเทศ  อาทิ มีห้องปฏิบัติการทางภาษา  ห้องคอมพิวเตอร์   ห้องดนตรีสากล   ห้องโภชนาการ   ห้องอบไอน้ำ ห้องนวดแผนโบราณ ซึ่งห้องต่างๆเหล่านี้ได้จัดหาครูผู้เชี่ยวชาญมาสอนนักเรียนเพื่อสามารถนำไปเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพได้ด้วย
          คณะครูโรงเรียนประชานิเวศน์ได้เขียนถึงเหตุการณ์ตอนก่อตั้งโรงเรียนมัธยมในฝันของผอ.เสาวนีย์ไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน ความตอนหนึ่งว่า
         “...คุณแม่ใหญ่มีความคาดฝันว่าจะเป็นผู้สร้างโรงเรียนมัธยมในฝัน หลังจากที่ท่านได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานจากต่างประเทศหลายแห่ง  เมื่อผู้ปกครองเรียกร้องให้โรงเรียนขยายโอกาสการเรียนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น  แม่ใหญ่ก็ฝ่าฟันจนได้รับอนุมัติให้เปิดการเรียนการสอนในระดับมัธยมต้น  เราเปิดการสอนระดับม.1 ขึ้นในปี 2538  อาคารเรียน 5 ชั้น เริ่มใช้งานได้แต่ก่อนที่จะได้โรงเรียนมัธยมนี้มา  แม่ใหญ่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเจรจาขอใช้พื้นที่จากผู้ที่อาศัยอยู่เดิม  จนสามารถ ก่อสร้างโรงเรียนได้แล้วเสร็จอย่างรวดเร็ว   เราย้ายนักเรียนมัธยมปีที่ 1  จากโรงเรียนประถมไปโรงเรียนมัธยมเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2538  ซึ่งตรงกับวันครูพอดี   แม่ใหญ่บอกว่าวันนี้ฤกษ์ดี  เรียกได้ว่าตึกเพิ่งเสร็จหมาดๆจริง ๆ ก็สีแดงที่ผสมในปูนที่เทพื้นห้องยังแห้งไม่สนิทเลย  เดินเข้าไปในห้องเรียนสีแดงในเนื้อปูนติดถุงเท้านักเรียนเปรอะไปหมด ...”
          นอกจากนั้นยังสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ที่หน้าโรงเรียนมัธยม   และหางบประมาณกว่า 10 ล้านบาทจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างสระว่ายน้ำเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  แล้วกราบทูลเชิญพระองค์ท่านเสด็จมาเป็นประธานในพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์และสระว่ายน้ำเพื่อเป็นสิริมงคลแก่โรงเรียนด้วย 
       ต่อมาใน พ.ศ. 2539 ผอ.เสาวนีย์  ได้ขอเปิดขยายโอกาสโรงเรียนให้ทำการสอนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) ได้เป็นผลสำเร็จ เรียกได้ว่าเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายแห่งแรกๆของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร
       ผอ.เสาวนีย์   ได้บริหารงานที่โรงเรียนประชานิเวศน์มาเป็นเวลานานถึง 22  ปี ได้สร้างคุณงามความดีและชื่อเสียงทางด้านการศึกษาด้วยความเสียสละ จริงใจ มีวินัย   รอบรู้  สู้งาน มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์  เสียสละ  อดทนมาโดยตลอด  นับเป็นผู้บริหารมืออาชีพ   เป็นผู้บริหารหญิงชั้นแนวหน้าของกรุงเทพมหานคร  เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถสูง  ทำคุณประโยชน์ในด้านการศึกษาอย่างมากมาย    โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก  จึงเป็นที่รักใคร่และเคารพนับถือของเพื่อนร่วมงาน นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน  เป็นที่ยอมรับและไว้วางใจของผู้บังคับบัญชา  ดังที่คุณหญิงณฐนนท  ทวีสิน ผู้เคยเป็นปลัดกรุงเทพมหานคร  ได้เขียนไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ แม่ใหญ่เสาวนีย์  คันธาแก้ว ฌาปนสถานกองทัพอากาศวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร  วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน  2550  ความตอนหนึ่งว่า
         “...ผู้อำนวยการเสาวนีย์ เป็นหญิงเก่ง ที่ยอมทุ่มเท เสียสละทรัพย์ เสียสละเวลา  ให้กับการศึกษาอย่างมากมาย โดยไม่มีความย่อท้อแต่อย่างใด ท่านสามารถฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ  จนประสานความสำเร็จในทุกๆด้านจนเป็นที่ยอมรับของบุคคลในวงการศึกษาเป็นอย่างดี  ท่านได้สร้างคุณงามความดีต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนช่วยเหลือทางด้านการศึกษาแก่โรงเรียนทั้งในสังกัดและต่างสังกัดอยู่เสมอ...”
          นายจำเริญ  ศิริพงศ์ติกานนท์  ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร  ได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันความตอนหนึ่งว่า
        “ผู้อำนวยการเสาวนีย์  เป็นคนขยันขันแข็งและฉับไว  ทุ่มเทชีวิตเต็มที่ให้กับงานอย่างเอาจริงเอาจัง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้มีน้ำใจให้ความอบอุ่นแก่ผู้น้อยและให้เกียรติแก่ผู้ใหญ่ เป็นตัวอย่างอันดีแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา...เป็นผู้สร้างคน สร้างผู้บริหารให้กับกรุงเทพมหานคร ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้บริหารที่มีคุณภาพทั้งสิ้น...” 
     รางวัลที่ได้รับ เช่น
-  รางวัลผู้บริหารดีเด่นระดับก่อนประถมศึกษาและประถมศึกษาจากคุรุสภา  พ.ศ.2530  
 -  เกียรติบัตรจากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ  สำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะส่งเสริมวิถีชีวิตประชาธิปไตยแก่เด็กและเยาวชนเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ  พ.ศ.2538
-   รางวัลเพชรสยาม เกียรติคุณสมควรเชิดชูผู้ที่มีผลงานดีเด่นในการบริหารและจัดการศึกษา พ.ศ. 2540
          นอกจากนี้ยังได้รับการยกย่องจากการไปออกรายการ ให้สัมภาษณ์และนำผลงานดีเด่นไปนำเสนอในรายการและสื่อต่างๆ เช่น  รายการคุณบอกมา และรายการผู้หญิงวันนี้ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 3  รายการคนไทยอยากได้ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง7  รายการบ้านแห่งการเรียนรู้ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท.  ให้สัมภาษณ์เรื่อง ภาพพจน์ครูไทยในปัจจุบัน ทางสถานีวิทยุกระจายเสียง                                                                                                                                                                                                                  แห่ประเทศไทย    นำผลงานโครงการสวนหมอก รวมใจภักดิ์รักสิ่งแวดล้อมไปเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท.  เป็นต้น
        เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับคือ ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก  ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย และเหรียญจักรพรรดิมาลา
        ผอ.เสาวนีย์  คันธาแก้ว สมรสกับร้อยตรีอุดม   คันธาแก้ว  มีบุตรชาย ๑ คน  คือนายศัลวิทย์   คันธาแก้ว
        หลังจาก ผอ.เสาวนีย์เข้าร่วมโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด  ก็ยังเป็นกรรมการ เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำในการจัดการศึกษาแก่สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆอย่างต่อเนื่อง   แต่ในช่วงหลังสุขภาพเริ่มทรุดโทรมลง  จึงกลับไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวที่บ้านพักในจังหวัดจังหวัดนครราชสีมาอย่างสงบ  และถึงแก่กรรมด้วยโรคเลือดออกในสมอง เมื่อวันที่ 7  เมษายน  พ.ศ. 2550  สิริอายุ  ๖๘  ปี  2 เดือน 2 วัน
                                                             นายธเนศ  ขำเกิด       ผู้เรียบเรียง
                                              -------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 497740เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2012 21:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 สิงหาคม 2012 16:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมรำลึกนึกถึง ท่านผอ.เสาวนีย์ อยู่เสมอ สมัยที่ผมเรียน ป.โท ที่ประสานมิตร ท่านผอ.เสาวนีย์ ศรัทธาอาจารย์ของผม เกี่ยวกับวิธีการสอนด้วยหนังสือเล่มเล็กเชิงวรรณกรรม อาจารย์พาผมและทีมงานมาจัดอบรมให้ประชานิเวศน์ ท่านผอ.เสาวนีย์ ดูแลต้อนรับดีมาก และอนุญาตให้ผมใช้นักเรียนประชานิเวศน์เป็นกลุ่มตัวอย่างทดลองวิจัยของผม...ทำให้ผมจบ ป.โท ครับ

ผมเขียนประวัตินี้ลงในหนังสือประวัติครูของคุรุสภา ฉบับปี 2556 ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท