บัญญัติ ๑๐ ประการ นำการจัดการความรู้สู่หลักชัย


คณะครูผู้บริหารโรงเรียนในฝันร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

การจัดการสมัยใหม่          

      ในปัจจุบันกระแสการจัดการความรู้นับเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการสมัยใหม่ ได้ขับเคลื่อนสู่ทุกวงการ โดยเฉพาะหน่วยงาน สถานศึกษาต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างดั้นด้น ค้นหา แนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ต่อยอดองค์ความรู้  นับเป็นมิติใหม่ในวงการจัดการความรู้สู่ความสำเร็จอีกมิติหนึ่ง          

       ในวันนี้ (อังคารที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๙) พวกเราชาวจิระศาสตร์วิทยา ได้ต้อนรับคณะผู้บริหารและครูอาจารย์จากโรงเรียนบ่อไร่วิทยา ซึ่งเป็น โรงเรียนในฝัน ประจำอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด โดยการอุปถัมภ์ ของ บริษัท ปตท. ภายใต้การนำของท่านผู้อำนวยการวีระศักดิ์  วรรณรัตน์ และคณะครูผู้ร่วมทีมระดับแกนนำ เช่น รองผู้อำนวยการโรงเรียน หัวหน้าฝ่ายแผนงาน  ฝ่ายวิจัยและพัฒนา  ฝ่ายวิชาการ หัวหน้ากลุ่มงานอนามัย  ประชาสัมพันธ์  กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และ Project Manager ด้าน KM.  ได้มาศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการจัดการความรู้ที่โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา 

จัดการความรู้แบบไม่รู้ตัว

          อาจารย์จิระพันธุ์  พิมพ์พันธุ์  ผู้อำนวยการโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาได้กล่าวถึงแนวทางการจัดการความรู้แบบไม่รู้ตัวมาก่อน นับตั้งแต่อดีตเคยเป็นข้าราชการครูที่โรงเรียนประจำจังหวัดชาย ได้นำเทคนิคแนวทางที่เคยประสบพบเห็นสมัยไปเรียนเมืองนอก กลับมาได้มาเผยแพร่และสนับสนุนให้นักเรียนสมัยนั้น (ปี ๒๔๙๙-๒๕๑๒) ได้ลองจัดกิจกรรมเสียงตามสาย  จัดแสดงดนตรีสากล  และทำหนังสือพิมพ์กำแพง ฯลฯ แต่ปรากฏว่าไม่เป็นที่ถูกใจของผู้บริหาร หาว่าเป็นการยุยงส่งเสริมเด็กแสดงออกล้ำเส้น เด็กนักเรียนเหล่านั้นต่อมาภายหลังกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป เช่น ปราจิณ ทรงเผ่า (นักดนตรีวงดิอิมพอสสิเบิ้ล) และปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ นักเขียนและบรรณาธิการวารสาร อสท.ซึ่งคนในวงการการท่องเที่ยวหรือเคยอ่านวารสาร อสท.ต้องรู้จักดี 

ชีวิตหักเห

          ในปี ๒๕๐๒ ...ดิฉันได้ก่อตั้งโรงเรียนเอกชน  ชื่อว่า โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา เปิดสอนครั้งแรกในระดับมัธยมต้น     มีนักเรียน ๑๘๐ คน ครู ๘ คน และจ้างครูใหญ่ทำหน้าที่บริหาร ๑ คน ส่วนตนเองเป็นผู้ช่วยผู้บริหารอยู่โรงเรียนรัฐบาล  อาจารย์จิระพันธุ์ กล่าวเปิดประเด็น         

         ต่อมาปี ๒๕๑๒ ตัดสินใจลาออกจากราชการ เพราะเห็นว่าระบบการทำงานไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา ดังจะเห็นได้ว่าผู้บริหารไม่ให้การสนับสนุนในการทำงานแบบ คิดนอกกรอบ ประจวบกับจังหวะที่โรงเรียนกำลังเจริญเติบโตก้าวหน้า จากเด็กจำนวนร้อย เพิ่มขึ้นเป็นหกร้อย เจ็ดร้อยคน จึงได้ออกจากราชการมาเป็นครูใหญ่เสียเอง  
        
ครั้งหนึ่ง ประมาณ ปี ๒๕๑๘ เด็กนักเรียนที่เคยมีอยู่กว่าเจ็ดร้อยคน ลดลงมาเหลือห้าร้อยคนเศษตัวเองรู้สึกกลุ้มใจมาก คิดอะไรไม่ออก ไม่รู้ว่าสาเหตุที่ทำให้เด็กลดลงเพราะเหตุใด ดิฉันจึงรับประทานยานอนหลับทุกขนานบรรดามี แต่ก็ไม่ได้ทำให้การแก้ปัญหาคลี่คลายดีขึ้น  (อาจารย์หยุด ถอนหายใจยาว) ตั้งใจว่าจะเลิกทำโรงเรียน.....แต่คิดได้ว่าถ้าเลิกทำโรงเรียนตัวเองคงไม่เดือดร้อนอะไร แต่คนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ครู กับนักเรียน....
         

         บังเอิญในปีนั้นดิฉันหลบไปพักผ่อนให้สบายใจที่พัทยา  ระหว่างพักอยู่ที่นั่นช่วงวันหยุดมีเพื่อนที่ทำงานธนาคารได้โทรชวนไปนั่งฟังการอบรมคิวซีซี  QCC: Quality Control Circle ฟังไปรู้สึกเข้าที      วันรุ่งขึ้นกลับมาถึงโรงเรียนก็ได้พบปะพูดคุยกับคณะครู เล่าประสบการณ์ ความรู้และแนวทางในการระดมสมองทำงานร่วมกัน  จากนั้นจึงได้ริเริ่มกระจายอำนาจและเปิดโอกาสให้ครูและบุคลากร เลือกตัวแทนเข้ามาบริหารงานร่วมกับคณะผู้บริหารในลักษณะ คณะกรรมการสภาครู และมี คณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ๗ ฝ่าย เช่นฝ่ายแผนงาน  ฝ่ายวิชาการ  ฝ่ายกิจการนักเรียน ฝ่ายบุคลากร ฝ่ายอาคาร-สถานที่ ฝ่ายธุรการ-การเงิน ฝ่ายชุมชน และฝ่ายประสิทธิผล ทำให้ครูมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในโรงเรียน ซึ่งเขาได้มีส่วน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา ร่วมพัฒนา และร่วมรักษาเกียรติคุณความดี  
        จากนั้นไม่กี่ปี ปรากฏว่ากิจการโรงเรียนเจริญก้าวหน้า พัฒนามาโดยลำดับ จำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้นทุกๆปี  อาจารย์จิระพันธุ์ กล่าวเสริม
 

บัญญัติ ๑๐ ประการ          

         มีผู้สนใจมาศึกษาดูงานโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาหลายคนถามว่า มีเทคนิคอย่างไรจึงทำให้โรงเรียนมีชื่อเสียง อาจารย์กล่าวว่า
...การสร้างคนก่อนสร้างงาน คือกุญแจสำคัญที่ไขไปสู่ความ
สำเร็จ  และภารกิจของการสร้างคนก็อาศัยการจัดการความรู้ โดยมี
บัญญัติ ๑๐ ประการ เป็นแนวทาง ดังต่อไปนี้
          

         ๑. การสร้างวัฒนธรรมใหม่ โดยใช้ยุทธวิธี
สร้างความเข้าใจ ให้ความสำคัญและผลักดันคุณภาพ ของครูและบุคลากรทุกคนในโรงเรียน

         ๒ สร้างวิสัยทัศน์ร่วม  โดยเปิดโอกาสให้ทุกคน
ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา ร่วมพัฒนาและร่วมรักษาเกียรติคุณความดี  
        
๓. สร้างบรรยากาศ ปรับสภาพแวดล้อม ภูมิทัศน์ให้มีบรรยากาศแห่งการเรียนรู้
 
        
๔. ฝึกการเรียนรู้ทางลัด  โดยจัดให้มีการศึกษาดูงาน หน่วยงาน สถานศึกษาดีเด่นและนำแบบอย่างมาพัฒนาต่อยอด
   
        
๕. สร้างการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์เชิงบวก โดยมีสโลแกนว่า
การเป็นครูโรงเรียนจิระศาสตร์นั้น  ต้องมุ่งมั่นในเรื่องศักดิ์ศรี  จะทำการสิ่งใดต้องให้ดี แม้จะสิ้นชีวียอมพลีเอย  หรือ ร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันพัฒนา ใฝ่หาความดี พวกเราน้องพี่จิระศาสตร์วิทยา เป็นต้น         
        
๖. จัดพื้นที่และเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยจัดให้ครูได้มีโอกาสพบปะพูดคุย ประชุมปรึกษาหารือกันอยู่เนืองนิตย์ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน และทุกภาคเรียน กล่าวคือ
- ทุกวันจันทร์ มีการประชุมสภาครู และครู ม.๑-๓- ทุกวันอังคาร มีการประชุมคณะครูระดับอนุบาล ๑-๓- ทุกวันพุธ มีการประชุมคณะครูระดับ ป. ๑-๓- ทุกวันพฤหัสบดี มีการประชุมคณะครูระดับ ป.๔-๖- ทุกวันศุกร์ มีการประชุมคณะหัวหน้าสายชั้นในการประชุมสภาครูและหัวหน้าสายชั้น เวลา ๙.๐๐-๑๐.๐๐ น. ส่วนการประชุมระดับ/ช่วงชั้น ประชุมเวลา ๑๖.๓๐-๑๗.๓๐กิจกรรมการประชุม แต่ละคณะ เป็นลักษณะการนำเสนอผลงาน ปัญหาอุปสรรค และแนวทางในการแก้ปัญหาหรือพัฒนางานที่ฝ่ายต่างๆรับผิดชอบจัดทำเป็นโครงการ/ งาน /กิจกรรม และจะมีการจัดกิจกรรมนันทนาการร่วมกัน เช่น ร้องเพลง เต้นรำ/ เต้นแอโรบิค  เล่นดนตรี หรือเล่นกีฬา เป็นต้น
        
๗. พัฒนาคนให้เข้าใจงาน โดยจัดให้มีการนิเทศภายใน และฝึกอบรม สัมมนา ตลอดจนนำไปศึกษาดูงานอยู่เนืองนิตย์
        
๘. มีระบบการให้คุณให้โทษ กล่าวคือมีการชมเชย ให้รางวัลและจัดเงินปันผลพร้อมทั้งจัดสวัสดิการต่างๆให้ครูและบุคลากรทุกคนตามสมควร
       
๙. หาเพื่อนร่วมทางเพื่อทำงานร่วมกัน โดยจัดให้ครูได้ดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกันในลักษณะ กิจกรรมครูคู่มิตร  เพื่อนช่วยเพื่อน  พี่ช่วยน้อง  และกิจกรรมครอบครัวสัมพันธ์ ฯลฯ 
        
๑๐. จัดขุมความรู้ให้มีประสิทธิภาพ  โดยมีระบบข้อมูลสารสนเทศ  มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูและบุคลากรทั้งในโรงเรียนและแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานสถานศึกษาอื่นๆทั้งภาครัฐและเอกชนที่มาเยี่ยมชมศึกษา ดูงาน หรือ การที่ครูและผู้บริหารได้รับเชิญไปจัดนิทรรศการ/แสดงผลงาน  ตลอดจนการไปเป็นวิทยากรบรรยายในโอกาสต่างๆ เป็นต้น
  

        เงื่อนไขความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการจัดการความรู้ "ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ" คือ คำตอบสุดท้าย

   ปฐมพงศ์ ศุภเลิศ
     ๑๓ ก.ย.๔๙

หมายเลขบันทึก: 49739เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2006 15:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท