ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับอำนาจสอบสวนของตำรวจรถไฟ


ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552, กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552

ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับอำนาจสอบสวนของตำรวจรถไฟ [1]

เกรียงศักดิ์  ดีสูงเนิน [2]

 

ความสำคัญของปัญหา

กิจการรถไฟของประเทศไทยได้เริ่มกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2429 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในระหว่างที่มีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพ - นครราชสีมา ได้มีกลุ่มผู้ก่อการร้าย ทำร้ายชีวิตและทำลายทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ประมาณ พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงได้มีพระราชดำริ ให้ก่อตั้งกองตำรวจพิเศษขึ้น เรียกชื่อกองตำรวจพิเศษในครั้งนั้นว่า "กองตระเวน รักษาทางรถไฟสายนครราชสีมา" ซึ่งถือได้ว่าเป็นการก่อตั้งกองตำรวจรถไฟขึ้นเป็นครั้งแรก

 ในปี 2442 - 2443 กิจการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ขยายเส้นทางออกไปทั้งสายเหนือและสายใต้ จึงได้มีพระราชดำริให้จัดตั้งกองตระเวนรักษาทางรถไฟสายเหนือและกองตระเวน รักษาทางรถไฟสายเพชรบุรีขึ้นตามลำดับ ในที่สุดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2495 กรมตำรวจจึงได้รวมกองตระเวนรักษาทางรถไฟ และได้จัดตั้งขึ้นเป็นกองตำรวจรถไฟขึ้น เรียกว่า "กองตำรวจรถไฟ" และในขณะเดียวกันมีฐานะเป็นหน่วยงานหนึ่งของการรถไฟแห่งประเทศไทย เรียกว่า "สำนักงานตำรวจรถไฟ" ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่สนองพระราชปณิธาน จวบจนถึงปัจจุบัน[3]

กิจการในการเดินทางโดยรถไฟ ขอการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นที่นิยมของประชาชนเป็นลำดับรองลงมาจากการเดินทางด้วยรถยนต์ มีผู้โดยสารมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ประมาณ 30-40 ล้านคนต่อปี กล่าวคือ กิจการการเดินรถไฟเป็นการขนส่งผู้โดยสารทางรถไฟ เป็นการเคลื่อนย้ายคนคราวละจำนวนมากๆ มีความคล่องตัวน้อย เพราะต้องวิ่งบนรางรถไฟเท่านั้น แต่จะได้เปรียบในกรณีที่สามารถบรรจุผู้โดยสารได้จำนวนมากกว่า และสามารถเพิ่มการบริการโดยการเพิ่มตู้รถได้  ในกิจการการรถไฟดังกล่าวสามารถประเภทขบวนรถไฟที่นักท่องเที่ยวนิยมใช้บริการในปัจจุบันมีหลายประเภท คือ 1. ขบวนรถด่วน  หรือขบวนรถด่วนพิเศษ 2. ขบวนรถเร็ว 3. ขบวนรถธรรมดาหรือรถท้องถิ่น

สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด " กองบังคับการตำรวจรถไฟ " แบ่งออกเป็น 5 กองกำกับการ มีกลุ่มงานหลัก ดังนี้  1. ฝ่ายอำนวยการ 2. กลุ่มงานเทคโนโลยีสารสนเทศ  3. กลุ่มงานสอบสวน ได้แก่กองบังคับการตำรวจรถไฟ กองกำกับการ 1 4. กลุ่มงานปฏิบัติการ ได้แก่ กองบังคับการตำรวจรถไฟ กองกำกับการ 2 -5

สถานีตำรวจรถไฟ มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการถวายความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์  ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ รวมทั้งรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ รักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่นๆ รักษาความปลอดภัยแก่ประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทยและพื้นที่สถานีรถไฟ รวมทั้งติดต่อประสานงานกับองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย[4]

ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 ข้อ 13.(ง.)(2-6) กำหนดอำนาจหน้าที่ของตำรวจรถไฟ กองกำกับการ 1 – 5 มีอำนาจหน้าที่เหมือนกัน แต่การแบ่งงานราชการตามลักษณะของงานกลับแบ่งงานให้กองกำกับการ 1 มีอำนาจสอบสวนเพียงหน่วยงานเดียว แต่กองกำกับการ 2 – 5 มีเพียงอำนาจสืบสวนเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจสอบสวน  และตามระเบียบดังกล่าวไม่ได้ระบุชัดเจนว่ากองกำกับการ 1 – 5 ดังกล่าว ให้อำนาจกองกำกับการใดบ้างที่มีอำนาจสอบสวนตามกฎหมายได้บ้าง  หรือระบุว่ากองกำกับการใดบ้างที่มีอำนาจสืบสวนเพียงอย่างเดียวและไม่มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา ดังเช่นพนักงานสอบสวนทั่วไป

สมมุติฐานการศึกษา

          การที่ตำรวจรถไฟ สังกัดกองบังคับการตำรวจรถไฟ กองกำกับการ 2 – 5 มีอำนาจหน้าที่สืบสวนปราบปรามผู้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีเพียงอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิดอาญาแต่ไม่มีอำนาจสอบสวน เช่นเดียวกันกับพนักงานสอบสวนทั่วไป สาเหตุอันเนื่องมาจากความคลุมเครือของกฎกระทรวง และระเบียบข้อบังคับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  จึงสมควรแก้ไขกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 ข้อ 3(ง.) และ ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 ข้อ 13(ง.) 2-6) เสียใหม่โดยกำหนดให้กองบังคับการตำรวจรถไฟ กองกำกับการ 2-5 มีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญาเช่นเดียวกันกับพนักงานสอบสวนทั่วไป

 

ปัญหา

ปัญหาความคลุมเครือของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552   ข้อ 3.(ง.) และระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 ข้อ 13.(ง.)(2-6) ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า กองบังคับการตำรวจรถไฟ กองกำกับการใดบ้างที่มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาได้เช่นเดียวกันกับพนักงานสอบสวนทั่วไป ซึ่งการมีอำนาจสอบสวน และการสอบสวนของพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจหน้าที่รับชอบตามกฎหมายย่อมมีผลต่อการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ  หากการสอบสวนไม่ได้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย การสอบสวนก็จะเสียไป และมีผลทำให้อัยการไม่มีอำนาจฟ้อง อันเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และสุดท้ายอาจทำให้ศาลพิจารณาพิพากษายกฟ้องได้

   ปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับความรับผิดชอบเกี่ยวกับการสอบสวนของตำรวจรถไฟในเขตความรับผิดชอบของกองบังคับการตำรวจรถไฟ กองกำกับการ 2 – 5  กรณีเมื่อความผิดอาญาเกิดขึ้น ผู้เสียหายจะต้องต้องร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน หากตำรวจรถไฟรับคำร้องทุกข์ดังกล่าว ตำรวจรถไฟจะต้องนำตัวผู้เสียหายไปพบพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรในท้องที่ที่เกิดเหตุ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เนื่องจากกองบังคับการตำรวจรถไฟ ได้แบ่งงานราชการออกตามลักษณะของงาน โดยกำหนดให้กองบังคับการตำรวจรถไฟ กองกำกับการ 2 – 5  มีเพียงอำนาจหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน สืบสวน ปราบปรามผู้กระทำความผิดอาญาเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจสอบสวน เช่นเดียวกันกับพนักงานสอบสวนของกองกำกับการ 1   หรือพนักงานสอบสวนโดยทั่วไป ดังนั้น การดำเนินการดังกล่าวของตำรวจรถไฟ กองกำกับการ 2 – 5 จึงไม่มีอำนาจสอบสวน ทำให้เกิดปัญหาความยุ่งยากแก่ผู้เสียหายที่จะต้องเดินทางไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจภูธร  ซึ่งหากตำรวจรถไฟ มีพนักงานสอบสวนรับราชการประจำอยู่ที่สถานีตำรวจรถไฟ ทีสังกัดกองกำกับการ 2 – 5 ก็จะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็ว เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง

การสอบสวนของพนักงานสอบสวนทั่วไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่น พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจภูธร กรณีเมื่อความผิดอาญาเกิดขึ้น ผู้เสียหายจะต้องต้องร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ของสถานีตำรวจภูธรในท้องที่ที่เกิดเหตุ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  หรือกรณีเจ้าพนักงานตำรวจของสถานีตำรวจภูธรดังกล่าวจับตัวผู้ต้องหาได้แล้ว เจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำการจับกุมจะต้องนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน และพนักงานสอบสวนดังกล่าวก็จะรับคำร้องทุกข์แล้วเริ่มทำการสอบสวนโดยรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อให้ทราบความผิดที่เกิดขึ้นและทราบตัวผู้กระทำความผิด โดยพนักงานสอบสวนดังกล่าวจะมีอำนาจหน้าที่สอบสวนในเขตท้องที่ที่ตนเองรับราชการอยู่เท่านั้น 

ลักษณะของคดีอาญาที่เกิดขึ้นในเขตความรับผิดชอบของตำรวจรถไฟ ตำรวจรถไฟมีอำนาจหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่นๆ รักษาความปลอดภัยแก่ประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทยและพื้นที่สถานีรถไฟ เดิมที่ตำรวจรถไฟ ตั้งมาคล้ายๆเป็นการเฉพาะกิจเนื่องจากในระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟสายต่างๆ ได้มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้ทำร้ายชีวิตพนักงานของการรถไฟและทำลายทรัพย์สินของการรถไฟ แต่เนื่องจากในขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีความเจริญรุ่งเรือง การเข้าไปดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชนโดยตำรวจทั่วไปไม่สามารถกระทำได้ จึงได้มีการตั้งตำรวจรถไฟขึ้น ต่อมาภายหลังประเทศมีความเจริญรุ่งเรืองอาชญากรรมเกี่ยวการก่อการร้ายลดน้อยถอยลดไป  แต่อาชญากรรมประเภทอื่นๆที่ใช้เส้นทางรถไฟ และเขตการรถไฟเป็นสถานที่ก่ออาชญากรรมมีจำนวนมากขึ้น เช่น คดีลักทรัพย์ผู้โดยสารบนขบวนรถไฟ คดีขนสินค้าหนีภาษีโดยทางรถไฟ  คดีขนยาเสพติดโดยทางรถไฟ และการหลบหนีเข้าเมืองของคนต่างด้าว เป็นต้น ลักษณะของอาชญากรรมดังกล่าวได้กระทำการเป็นกระบวนการมีขั้นตอนสลับซับซ้อน ดังนั้น ภาระหน้าที่ของตำรวจรถไฟจึงต้องมีลักษณะเฉพาะเช่นเดียวกันกับตำรวจกองปราบปราม ความจำเป็นในการสืบสวนสอบคดีอาญาที่เกิดขึ้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะลักษณะพฤติการณ์ในการกระทำความผิดต่างๆแตกต่างจากการกระทำความผิดโดยทั่วไป สถานีตำรวจรถไฟทุกแห่งในประเทศไทยควรมีพนักงานสอบสวนรับราชการประจำอยู่เพื่อดำเนินคดีกับอาชญากรรมดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพดียิ่งๆขึ้นไป

ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจเปรียบเทียบปรับคดีอาญาที่มีโทษต่ำของตำรวจรถไฟ นับว่าเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง เนื่องจากสภาพของสังคมที่อยู่ในเขตอำนาจความรับผิดชอบของตำรวจรถไฟ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้โดยสาร หรือผู้เดินทางในเขตการรถไฟ เช่นคดี ทะเลาะวิวาท การพนัน การดูหมิ่นซึ่งหน้า เป็นต้น กรณีหากคดีอาญาที่มีอัตราโทษเล็กน้อยเกิดขึ้นภายในเขตอำนาจความรับผิดชอบภายในเขตอำนาจของสถานีตำรวจรถไฟกองบังคับการตำรวจรถไฟ กองกำกับการ 2 – 5 ปกติตำรวจรถไฟจะไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับเพื่อให้คดีอาญาเลิกกัน เนื่องจากสถานีตำรวจรถไฟดังกล่าวไม่มีพนักงานสอบสวนรับราชการประจำอยู่ แต่ตำรวจรถไฟ กองกำกับการ 2 – 5 มีข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไปรับราชการประจำอยู่ที่สถานีตำรวจรถไฟและอาจเป็นพนักงานสอบสวนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(6), 18 แต่กองบังคับการตำรวจรถไฟได้แบ่งงานให้กองกำกับการ 2 -5 เป็นกลุ่มงานปฏิบัติการซึ่งมีเพียงอำนาจหน้าที่สืบสวน รักษาความสงและปราบปรามอาชญากรรม ตำรวจรถไฟตามสถานีรถไฟทุกแห่งที่สังกัดกองกำกับการ 2 – 5 จึงไม่สามารถสอบสวนคดีอาญาดังกล่าว และไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับเพื่อให้คดีอาญาเลิกกันได้ ตำรวจรถไฟจึงมีหน้าที่นำผู้ต้องหาไปส่งมอบให้แก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรในท้องที่ที่เกิดเหตุทำการเปรียบเทียบปรับ ดังนั้น หากตำรวจรถไฟ ตามสถานีตำรวจรถไฟทุกแห่งมีพนักงานงานสอบสวนรับราชการประจำอยู่ อาจทำให้ปัญหานี้ลดลงโดยการเปรียบเทียบปรับได้ หากผู้ต้องหายินยอมชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับแล้ว กฎหมายให้คดีอาญาเลิกกันได้เพื่อไม่ต้องการให้คดีเล็กน้อยขึ้นสู่ศาลให้เสียเวลาการดำเนินคดี ลดขั้นตอนการดำเนินคดีและการทำงานลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่สังคมและราชการ

ปัญหาเกี่ยวกับตำรวจรถไฟ ที่ประจำอยู่สถานีตำรวจรถไฟมีอำนาจทำการแทนพนักงานสอบสวนอื่น เพียงบางแห่งเท่านั้น แต่กรณีพนักงานสอบสวนอื่นจะมอบให้ตำรวจรถไฟที่รับราชการประจำที่สถานีตำรวจรถไฟกองบังคับการตำรวจรถไฟ กองกำกับการ 2 – 5 ทำการแทนไม่ได้  เนื่องจากสถานีตำรวจรถไฟดังกล่าวไม่มีพนักงานสอบสวนรับราชการประจำอยู่ แต่ตำรวจรถไฟ กองกำกับการ 2 – 5 มีข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไปรับราชการประจำอยู่ที่สถานีตำรวจรถไฟและอาจเป็นพนักงานสอบสวนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(6), 18 แต่กองบังคับการตำรวจรถไฟได้แบ่งงานให้กองกำกับการ 2 -5 เป็นกลุ่มงานปฏิบัติการซึ่งมีเพียงอำนาจหน้าที่สืบสวน รักษาความสงและปราบปรามอาชญากรรม ตำรวจรถไฟตามสถานีรถไฟทุกแห่งที่สังกัดกองกำกับการ 2 – 5 จึงไม่สามารถสอบสวนคดีอาญาดังกล่าว และไม่มีอำนาจทำการแทนพนักงานสอบสวนอื่นได้ แม้การจัดการแทนดังกล่าวจะเป็นการให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนสามารถมอบหมายให้พนักงานสอบสวนอื่นทำการแทน  หรือสอบสวนแทนในสิ่งที่เป็นปัญหาเล็กๆน้อย โดยพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนไม่ต้องกระทำด้วยตนเอง และสิ่งที่พนักงานสอบสวนที่ได้รับมอบอำนาจให้ทำแทนนั้นถือว่าชอบด้วยกฎหมาย  ข้อสำคัญพนักงานสอบสวนที่ทำการแทนจะต้องเป็นพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจในการสอบสวนนั้นด้วย แต่ตำรวจรถไฟ กองกำกับการ 2 – 5 มีข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไปรับราชการประจำอยู่ที่สถานีตำรวจรถไฟและอาจเป็นพนักงานสอบสวนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(6), 18 แต่กองบังคับการตำรวจรถไฟได้แบ่งงานให้กองกำกับการ 2 -5 เป็นกลุ่มงานปฏิบัติการซึ่งมีเพียงอำนาจหน้าที่สืบสวน รักษาความสงบเรียบร้อยและปราบปรามอาชญากรรม ตำรวจรถไฟตามสถานีรถไฟทุกแห่งที่สังกัดกองกำกับการ 2 – 5 จึงไม่ใช่พนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสามารถสอบสวนคดีอาญาได้ดังเช่นพนักงานสอบสวนทั่วไปที่รับราชการประจำตมสถานีตำรวจภูธรต่างๆ หากเกิดกรณีดังกล่าวเช่น พนักงานสอบสวนที่รับราชการประจำอยู่ที่กองบังคับการตำรวจรถไฟ กองกำกับการ 1 ต้องการสอบปากคำพยานในคดีอาญาที่มีภูมิลำเนาอยู่นอกเขตอำนาจของตนเอง แต่หากเป็นกรณีที่พยานบุคคลดังกล่าวนั้นมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจความรับผิดชอบพื้นที่ของสถานีตำรวจรถไฟทุกแห่งที่สังกัดกองกำกับการ 2 – 5  ดังกล่าว การมอบให้พนักงานสอบสวนจัดการแทนตามมาตรา 128(1) ก็ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากตำรวจรถไฟดังกล่าวไม่ใช่พนักงานสอบสวน

บทสรุป

                สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552  ข้อ 13(ง.)(2-6)  ได้กำหนดไว้ว่า  “กองบังคับการตำรวจรถไฟ ประกอบด้วย กองกำกับการ 1 – 5 มีอำนาจหน้าที่ รักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดอาญา และความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องบนขบวนรถไฟ ขบวนรถไฟฟ้า  แนวเขตเส้นทางรถไฟและพื้นที่สถานีรถไฟ รถไฟฟ้า ในเขตพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมทั้งปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมาย  แต่ละกองกำกับการแบ่งออกเป็นสถานีตำรวจรถไฟตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด”

                 จากการศึกษายังพบว่าระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552  ยังมีข้อบกพร่องอยู่ไม่ว่าจะเป็นข้อความในระเบียบดังกล่าวยังมีข้อคลุมเครือไม่ชัดเจนเกี่ยวกับอำนาจสอบสวนของกองบังคับการตำรวจรถไฟ กองกำกับการ 2 – 5 แท้จริงแล้วเมื่อตำรวจรถไฟ สังกัดกองกำกับการ 2 – 5 ได้จับกุมผู้กระทำความผิดมาแล้วแต่ไม่มีอำนาจสอบสวนเช่นเดียวกันกับพนักงานสอบสวนกองกำกับการ 1 หรือพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร  หรือพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาล  ปัญหาอันเนื่องมาจากการแบ่งงานตามลักษณะงานของกองบังคับการตำรวจรถไฟ ไม่ได้ให้ตำรวจรถไฟที่รับราชการประจำอยู่ที่กองกับการ 2 – 5 มีอำนาจสอบสวน  โดยให้ตำรวจรถไฟดังกล่าวมีเพียงอำนาจสืบสวน รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และปราบปรามอาชญากรรมเท่านั้น นอกจากนี้หากเกิดคดีอาญาที่เป็นคดีเล็กๆน้อยๆที่พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับแล้วทำให้คดีเสร็จไป  หรือการจัดการแทนพนักงานสอบสวนที่ได้รับมอบหมาย  รวมทั้งการร้องทุกข์ของประชาชน  หรือผู้โดยสารที่เป็นผู้เสียหาย ก็ไม่สามารถดำเนินการในทางอาญาได้โดยตำรวจรถไฟที่สังกัดกองกำกับการ 2 – 5 ได้ แต่ประชาชนจะจะต้องไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรในท้องที่ๆเกิดเหตุเอง อันเป็นการไม่อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน

               จากการศึกษา ผู้ศึกษายังพบว่าหากได้มีการแก้ไขกฎกระทรวง และระเบียบ เพื่อให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องอำนาจสอบสวนของกองบังคับการตำรวจรถไฟ กองกำกับการ 2 – 5 แล้ว และสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการ หรือมีคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่มียศร้อนตำรวจตรีขึ้นไป หรือเทียบเท่าให้เป็นพนักงานสอบสวนและให้รับราชการประจำอยู่ทีสถานีตำรวจรถไฟทุกแห่งทั่วไป ก็จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชานโดยรวม รวมทั้งกิจการเกี่ยวกับการสอบสวนด้วย เช่น ประชาชนสามารถร้องทุกข์ที่ตำรวจรถไฟได้ พนักงานสอบสวนดังกล่าวก็จะมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับพนักงานสอบสวนทั่วไป ตลอดจนมีอำนาจจัดการแทนพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ด้วย

 

ข้อเสนอแนะ

ปัญหาที่ตำรวจรถไฟสังกัดกองกำกับการ 2 – 5 ไม่มีอำนาจสอบสวน เกิดจากความไม่ชัดเจนของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552   “ข้อ 3(ง.)และระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552  ข้อ 13(ง.)(2-6) ที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่การมีอำนาจสอบสวนของตำรวจรถไฟ  และการแบ่งส่วนราชการของกองบังคับการตำรวจรถไฟที่กำหนดให้กองบังคับการตำรวจรถไฟ กองกำกับการ 2 – 5 ไม่มีอำนาจสอบสวน ทำให้การอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร ตำรวจรถไฟไม่มีอำนาจสอบสวนเช่นเดียวกันกับพนักงานสอบสวนทั่วไปแสดงให้เห็นว่าตำรวจรถไฟมีศักดิ์ศรีไม่เท่าเทียมกับตำรวจทั่วไป เพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการสอบสวน และเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน  ผู้ศึกษาเห็นควรแก้ไขแต่ละประเด็นดังนี้

1. จากการศึกษา ผู้ศึกษาเห็นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติสมควรที่จะแก้ไขกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552   “ข้อ 3(ง.) และระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552  ข้อ 13(ง.)(2-6) ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าให้กองบังคับการตำรวจรถไฟ กองกำกับการ 2 -5 มีอำนาจสอบสวนเพื่อให้เกิดความสะดวกในการปฏิบัติงานและไม่เกิดเป็นปัญหาข้อกฎหมาย

2. จากการศึกษา ผู้ศึกษาเห็นว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ควรแก้ไขระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552  ให้สถานีตำรวจรถไฟในทุกๆแห่งที่สังกัดกองกำกับการ 2-5 มีอำนาจสืบสวนสอบสวนได้ เช่นเดียวกันกับกองกำกับการ 1 และสถานีตำรวจภูธร  หรือสถานีตำรวจนครบาล

3. จากการศึกษา ผู้ศึกษาเห็นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งพนักงานสอบสวนให้รับราชการประจำอยู่ที่สถานีตำรวจรถไฟในทุกๆแห่งที่สังกัดกองกำกับการ 2-5 เพื่อให้พนักงานสอบสวนนั้นมีอำนาจรับคำร้องทุกข์และมีอำนาจเปรียบเทียบปรับผู้ต้องหาในคดีที่มีโทษต่ำ หรือคดีเล็กๆน้อยๆ ตลอดจนจัดการแทนพนักงานสอบสวนอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

 

 

 



[1] บทความนี้เรียบเรียงจากการศึกษาอิสระเรื่อง ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับอำนาจสอบสวนของตำรวจรถไฟ

[2] นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

[3] http://www.railway.police.go.th/about_us.html

[4] ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552  กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126  ตอนที่ 66 ก วันที่ 7 กันยายน 2552

 

หมายเลขบันทึก: 497083เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2012 18:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2012 15:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เหนื่อยใจ....ในการบริหารจัดการภารรัฐนะคะ.....เชื่องช้า..อืดอาจ...ยืดยาด...พูดไม่ออกนะคะ

 

ขอบคุณมากที่แบ่งปันความรู้ให้ นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท