ประโยชน์ที่ได้รับจากเทคโนโลยี


ประโยชน์ที่ได้รับจากเทคโนโลยีมีอะไรบ้าง

          ในโลกของยุคข้อมูลข่าวสาร ทุกคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจ การเรียนรู้ ตลอดจนการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ยังดำเนินต่อไป อย่างไม่หยุดยั้งนี้เอง จึงเป็นความจำเป็นที่เราจะต้องหันมาให้ความสนใจ สร้างความเข้าใจ และหาทางใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ ให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ และสังคมของเราให้มากที่สุด เพื่อที่เราจะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ในเชิงเศรษฐกิจและในขณะเดียวกันก็สามารถดำรงไว้ และยังสามารถให้ชุมชนโลกได้รู้ถึง ซึ่งความมีเอกลักษณ์ และวัฒนธรรมประเพณีของสังคมไทยที่มีมาช้านานได้

สำหรับศักยภาพหรือประโยชน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศ ต่อระบบเศรษฐกิจนั้นคงเป็นที่เห็นเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของกระบวนการผลิต และการประกอบธุรกรรมอื่นๆ จะเห็นได้จากการที่ภาคธุรกิจ มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงิน การธนาคาร ภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น ส่วนผลในทางสังคม เป็นสิ่งที่รัฐต้องเข้ามาดูแล เพื่อที่จะให้ผลจากเทคโนโลยีสารสนเทศ เกิดในทิศทางที่จะช่วย "ลดช่องว่าง" ระหว่างชุมชนเมืองและชนบท และ "ขยายโอกาส" ให้แก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ทั้งนี้รวมถึงโอกาสด้านการศึกษา การสาธารณสุข การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และบริการอื่นๆ ของรัฐ

ในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่วัฒนธรรม เทคโนโลยีสารสนเทศมีคุณลักษณะหลายประการ ที่เอื้อประโยชน์ต่อการนำมาใช้เป็นสื่อ หรือเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่วัฒนธรรม โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับสื่อในรูปแบบอื่น ที่มีการใช้กันมาแต่ดั้งเดิม เช่น การบอกเล่า การเขียน หรือการพิมพ์ โดยคุณลักษณะดังกล่าวได้แก่ ความสามารถในการเผยแพร่ และกระจายข้อมูลไปสู่ผู้รับได้ทั่วโลก (borderless) โดยปราศจากซึ่งขีดจำกัดทางภูมิศาสตร์และเวลา, ความสามารถในการสร้างระบบปฏิสัมพันธ์ (interactive) หรือการโต้ตอบระหว่างผู้ให้และผู้รับข้อมูล หรืออีกนัยหนึ่งคือ การสื่อสารสองทาง, ความสามารถที่จะได้เฉพาะข้อมูลที่ต้องการ ในเวลาที่ต้องการ (on-demand), และประการสุดท้ายที่สำคัญคือความคงทนถาวร สะดวกในการค้นคว้า เหมาะกับข้อมูลทางวัฒนธรรม ที่เสี่ยงต่อการสูญหาย

ด้วยปัจจัยดังกล่าว ทำให้เทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถที่จะเข้ามามีบทบาท ในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี ก่อนที่จะได้นำเสนอตัวอย่างของโครงการ ที่ได้ใช้ศักยภาพจากเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในการเผยแพร่วัฒนธรมของไทยนั้น จะขอให้เราได้มาทำความรู้จักกับ เทคโนโลยีสารสนเทศกันก่อน

ความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศ

เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology หรือ IT) หมายถึงเทคโนโลยีที่ช่วยในการรวบรวม จัดเก็บ ประมวลผล เรียกใช้ รวมทั้งถ่ายทอด และนำเสนอ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศ ซึ่งรวมทั้งเสียง ข้อมูล หรือภาพ ประกอบด้วยเทคโนโลยีหลักได้แก่ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีเกี่ยวกับฐานข้อมูล

เทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับงานเผยแพร่วัฒนธรรม

มี 2 ส่วนหลักได้แก่ เทคโนโลยีสื่อประสม (multimedia) และเทคโนโลยี "อินเทอร์เน็ต"

เทคโนโลยีสื่อประสม (Multimedia) เป็นเทคโนโลยีในการนำเสนอข้อมูล ที่สามารถนำเสนอข้อมูลได้ทั้งในรูปข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และเสียง และยังมีลักษณะพิเศษ คือสามารถออกแบบให้ผู้ชมโต้ตอบ หรือมีปฏิสัมพันธ์ได้ (interactive) และสามารถเชื่อมโยงข้อมูล (hyperlink) ทำให้สามารถเลือกดูเนื้อหาเฉพาะส่วนที่สนใจได้ โดยไม่ต้องเปิดดูทีละหน้าจนกว่าจะพบหัวข้อที่สนใจ ในปัจจุบัน เทคโนโลยีสื่อประสมมีการเติบโตสูงมาก โดยได้มีการนำมาใช้ในงานต่างๆ เช่น การเรียนการสอน การฝึกอบรม ในรูปแบบที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Computer-Based-Training หรือ CBT และการบันเทิง เช่น โปรแกรมการศึกษาเชิงสันทนาการ (edutainment) ต่าง ๆ โดยมากจะนำเสนอในรูปของสื่อ CD-ROM หรือ "ตู้ข่าวสาร" (multimedia kiosk) อย่างเช่นของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยสำหรับนักท่องเที่ยว โดยทำเป็นตู้ kiosk ไปตั้งไว้ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เป็นต้น

ข้อดีของการนำเสนอข้อมูลด้วยเทคโนโลยีสื่อประสมคือ สามารถทำรูปแบบให้น่าสนใจได้หลากหลาย กว่าการนำเสนอด้วยหนังสือ โดยการผสมสื่อต่างๆ ทั้งภาพ เสียง และภาพยนตร์ ทำให้ผู้ชมมีความสนใจที่จะติดตาม ศึกษามากกว่า และด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิตัล ทำให้การบันทึกภาพทำได้โดยมีคุณภาพสูงเสมือนจริง ภาพที่เก็บได้จะมีความคงทน ไม่เสื่อมง่ายเหมือนกับการเก็บในรูปของกระดาษ เหมาะกับข้อมูลทางวัฒนธรรมที่เสี่ยงต่อการสูญหาย

เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต (Internet) เป็น "เครือข่ายของเครือข่าย" (network of networks) คอมพิวเตอร์ ที่ครอบคลุมไปทั่วโลก ปัจจุบันมีการเติบโตสูงมาก และมีบทบาทสำคัญยิ่ง ต่อการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสาร ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษา วิจัย ธุรกิจ และการบันเทิงต่างๆ ที่มีผู้ใช้ทั่วโลกกว่า ๖๐ ล้านคน ส่วนสำคัญที่ทำให้อินเทอร์เน็ต สร้างผลกระทบในเชิงข้อมูลข่าวสารได้มากเช่นนี้คือ เทคนิคในการนำเสนอข้อมูลด้วยระบบที่เรียกว่า เวิร์ลไวด์เว็บ (World Wide Web) หรือ "เครือข่ายใยแมงมุม" ที่เชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งข้อมูล ที่มีอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วโลก โดยที่ข้อมูลเหล่านั้นโยงใยกันเสมือนหนึ่งใยแมงมุม การค้นหาข้อมูลสามารถทำได้โดยสะดวก ด้วยการเชื่อมโยงแบบ hyperlink ที่ผู้ชมสามารถค้นหาข้อมูลในระดับลึกลงไปได้เรื่อยๆ ตามต้องการ อีกทั้งข้อมูลที่นำเสนอก็เป็นลักษณะสื่อประสม คือมีทั้งข้อความ รูปภาพ เสียง และภาพยนตร์ ทำให้น่าสนใจกว่าการนำเสนอในรูปแบบของหนังสือหรือสิ่งพิมพ์

จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้เหมาะแก่การเผยแพร่ข้อมูลวัฒนธรรมคือ การที่สามารถเข้าถึงผู้คนกว่า ๖๐ ล้านคนทั่วโลก ซึ่งหากนับค่าใช้จ่ายต่อผู้รับ ๑ คน แล้วถือว่าน้อยกว่าการพิมพ์หนังสือมาก ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปศึกษา และเรียนรู้วัฒนธรรมของชนชาติอื่นทั่วโลก โดยผ่านเพียงหน้าจอคอมพิวเตอร์เท่านั้น สิ่งที่สำคัญคือ ความสามารถในการใช้โอกาสจากศักยภาพของเทคโนโลยี เพื่อให้ผู้อื่นได้รู้จักเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของตน ซึ่งยังมีอยู่ในระดับต่างกัน ชนชาติที่มีความตื่นตัวและเห็นประโยชน์ ก็จะนำข้อมูลของตนมาลงเพื่อเผยแพร่ ทำให้ผู้คนอีกหลายสิบล้านคนทั่วโลก ได้เรียนรู้ถึงความเป็นเอกลักษณ์ และวัฒนธรรมของชนชาตินั้น และในทางตรงกันข้าม ชนชาติที่ยังขาดความตื่นตัวในเรื่องดังกล่าว ก็จะต้องอยู่ในสภาพที่เป็นแต่ "ผู้รับ" วัฒนธรรมของชาติอื่นไป

โครงการสื่อปฏิสัมพันธ์วัฒนธรรมของชาติ

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเล็งเห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศ ต่อการเผยแพร่วัฒนธรรมของชาติ จึงได้ทรงมีพระราชดำริให้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ดำเนินโครงการสื่อปฏิสัมพันธ์วัฒนธรรมของชาติขึ้น ในปีแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศไทย พ.ศ. ๒๕๓๘

โดยโครงการฯ มีวัตถุประสงค์คือ เพื่อจัดระบบข้อมูลวัฒนธรรมของชาติ ให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างเป็นระบบทั่วประเทศ เพื่อให้บริการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รวมทั้งจัดบันทึกข้อมูลลงซีดีรอม เพื่อให้สะดวกในการศึกษาค้นคว้า และมีความคงทนถาวรสามารถเก็บไว้ได้นาน โดยความรู้ที่จะนำมาเผยแพร่มีหลากหลายสาขา นับตั้งแต่ สาขาชาติพันธุ์วิทยา มานุษยวิทยา และธรรมชาติวิทยา โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัด ๗๕ จังหวัด และศูนย์วัฒนธรรมในกรุงเทพฯ จำนวน ๑๘ ศูนย์

โดยกรอบเนื้อหาในการจัดระบบมี ๗ หัวข้อ ได้แก่

  • สถานที่สำคัญ (Site) ประกอบด้วยแหล่งโบราณคดี สถานที่สำคัญทางศาสนา สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยว แหล่งที่มาแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แหล่งธรรมชาติ และสภาพภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ
  • บุคคลสำคัญและปราชญ์ชาวบ้าน (Important Figures and Philosophers) ประกอบด้วยพระมหากษัตริย์ เจ้าผู้ครองนคร วีรบุรุษ บุคคลสำคัญด้านศิลปกรรมและวรรณกรรม ผู้นำทางศาสนา ผู้นำท้องถิ่น
  • วิถีชีวิต (Way of Life) ประกอบด้วย ประเพณีท้องถิ่น พิธีกรรม ความเชื่อ การละเล่นพื้นบ้าน ตำนานและนิทาน และกลุ่มชาติพันธุ์
  • ภูมิปัญญา (Wisdom) ประกอบด้วย ภูมิปัญญาด้านการเกษตร ด้านสุขภาพอนามัย และด้านเทคโนโลยีพื้นบ้าน
  • ของดีท้องถิ่น (Local Products) ประกอบด้วย อาหาร ของคาว ของหวาน ผักและผลไม้ การถนอมอาหาร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ และหัตถกรรม
  • เอกสารสำคัญ (Manuscripts) ประกอบด้วย เอกสารสำคัญ สมุดไทย สมุดข่อย หนังสือบุด พับสา จารึก ใบลาน และภาพเขียนสี
  • ธรรมชาติวิทยา (Natural History) ประกอบด้วย ซากใบไม้และซากพืชที่ทับถมกัน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก แมลง สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน ปลา สัตว์ทะเล แร่ธาตุ หิน ป่าไม้ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ สมุนไพร พืชพื้นบ้านและการประยุกต์ใช้ และพืชเศรษฐกิจ

ในการดำเนินโครงการดังกล่าว มีศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ เป็นตัวแทนของจังหวัด รับผิดชอบการจัดเตรียมข้อมูลทางวิชาการของแต่ละจังหวัด ตามกรอบเนื้อหาดังกล่าวข้างต้น และได้รับความอนุเคราะห์จาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ รับผิดชอบในการบันทึกข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ และจัดระบบการให้บริการผ่านเครือข่ายกาญจนาภิเษก ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ จัดทำขึ้นเพื่อร่วมเทอดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ปัจจุบันได้มีการเผยแพร่ข้อมูลแล้ว ๓๒ จังหวัด ส่วนที่เหลือกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ

การเผยแพร่ผ่านเครือข่ายกาญจนาภิเษก มีข้อดีคือประชาชนจากทั่วประเทศ สามารถเข้าไปชมข้อมูลได้โดยไม่ต้องเป็นสมาชิก ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใด ไม่ว่าจะอยู่ที่จังหวัดใดในประเทศไทย เพียงแต่หมุนหมายเลขโทรศัพท์ ๑๕๐๙ ผ่านโมเด็ม ก็จะสามารถเข้าไปชมข้อมูลในเครือข่ายกาญจนาภิเษกได้ ซึ่งรวมถึงข้อมูลวัฒนธรรมของชาติด้วย โดยผู้ชมเสียเพียงค่าโทรศัพท์ในอัตรา ๓ บาทต่อการโทร ๑ ครั้ง หรือในบางกรณี ก็อาจเสียเพียงอัตราโทรศัพท์ทางไกล ข้ามจังหวัดไปยังชุมสายที่ใกล้ที่สุด

จะเห็นได้ว่า ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชดำริ ให้ดำเนินโครงการสื่อปฏิสัมพันธ์วัฒนธรรมของชาติ บัดนี้ได้ส่งผลให้ประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะเยาวชนของชาติ มีอีกทางเลือกหนึ่งที่จะได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของประเทศอันเป็นถิ่นกำเนิดได้ โดยอาศัยศักยภาพของเทคโนโลยีสารสนเทศ

โดย

ศาตราจารย์ ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์
ดร. ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

คำสำคัญ (Tags): #..........
หมายเลขบันทึก: 49685เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2006 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท