วิถีมนุษย์-มองแบบองค์รวม


"ที่แล้วมาคนที่มีวิธีคิดแบบแยกส่วนมักจะคิดแคบ ๆ ว่าทางโลกก็คือโลกิยะ ทางธรรมก็คือโลกุตระ ไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ท่านอาจารย์พุทธทาสได้พยายามที่จะทำลายวิธีคิดมักง่ายแบบนี้มาโดยตลอด หมอประเวศนับเป็นอีกคนหนึ่งที่เข้าใจจุดนี้ และสามารถเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ สังคมและธรรมะ เข้าด้วยกันได้…"

”หมอประเวศเป็นผู้ที่สนใจธรรมะตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ ได้เคยศึกษาทดลองปฏิบัติธรรม ภายหลังเมื่อได้รู้จักผลงานของท่านอาจารย์พุทธทาสแห่งสวนโมกขพลาราม หมอประเวศจึงได้ศึกษาธรรมะอย่างจริงจัง ทำให้หมอประเวศเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่สำคัญ ๆ ทั้งทางวิทยาศาสตร์ ทางสังคมและทางธรรมะ ซึ่งจำเป็นมากสำหรับยุคสมัยนี้ ที่แล้วมาคนที่มีวิธีคิดแบบแยกส่วนมักจะคิดแคบ ๆ ว่าทางโลกก็คือโลกียะ ทางธรรมก็คือโลกุตระ ไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ท่านอาจารย์พุทธทาสได้พยายามที่จะทำลายวิธีคิดมักง่ายแบบนี้มาโดยตลอด หมอประเวศนับเป็นอีกคนหนึ่งที่เข้าใจจุดนี้ และสามารถเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ สังคมและธรรมะ เข้าด้วยกันได้…

         

ในหนังสือเล่มนี้ หมอประเวศได้พูดถึงหลักอิทัปปัจจยตาค่อนข้างมากและอธิบายได้ดี หลักอิทิปจจยตาหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น อาศัยอยู่และเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย ทุกอย่างก็เนื่องกันด้วยเหตุด้วยปัจจัย หลักนี้มีอยู่ในวิทยาศาสตร์ทุกแขนง นักวิทยาศาสตร์บางคนจะพูดถึง “การมีระบบตามธรรมชาติ (Orderliness)” คำนี้ในภาษาบาลีเรียกว่าธรรมนิยามตาซึ่งก็คือปัจจยตานั่นเอง ถ้าพิจารณาดูดี ๆ จะพบว่า หลักความจริงนี้มีอยู่ในตัวเองและทุกกระเบียดนิ้วของชีวิต แล้วเราจะไม่สนใจมันได้อย่างไร?”

                                                                                                                             สันติกโรภิกขุ

พฤษภาคม ๒๕๔๕

 

                            ท่านอาจารย์สันติกโร

 

หนังสือเรื่อง "วิถึมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑" โดยศาสตราจารย์นายแพทย์ ประเวศ วะสี เป็นหนังสือที่ผูู้เขียนซื้อมาอ่านนานหลายปีและที่รู้สึกปิติเสมอเมื่อได้หยิบขึ้นมาอ่านคือคำนิยมหรือคำนำที่ท่านอาจารย์สันติกโร (ปัจจุบันท่านสึกแล้วและเป็นอาจารย์ผู้เผยแพร่ธรรมะและสอนศาสตร์นพลักษณ์ Enneagram) ในสหรัฐอเมริกา) ได้เขียนกล่าวสรรเสริญท่านอาจารย์ประเวศ วะสีไว้อย่างน่าประทับใจ 

 

หากจะกล่าวให้ชัดเจน ผู้เขียนมีครูสอนธรรมะท่านแรกคือท่านอาจารย์สันติกะโร สมัยที่ท่านยังบวชเป็นพระที่วัดสวนโมกขพลาราม คำสอนหลายคำของท่านปรากฎเป็นจริงเมื่อเราได้รู้และเห็นด้วยตัวเองในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ใช่เวลา ณ ขณะที่ท่านสอน

 

คำนำที่ท่านเขียนถึงหนังสือเล่มนี้ที่ผู้เขียนยกมา จะไม่ขอลงรายละเอียดการอธิบาย แต่จะดึงบางประเด็นมาเชื่อมโยงให้เข้าสู่เนื้อหาของบันทึกนี้ว่าด้วยเรื่อง "เทคโนโลยีการศึกษา"

 

ประเด็นที่ ๑ ท่านคงได้สังเกตเห็นจากประวัติของท่านอาจารย์ประเวศแล้วว่าท่านเป็นผู้มีความรอบรู้หลากหลายมิติ หาได้มีวิธีการคิดแบบแยกส่วนเป็นสาขาวิชาไม่

 

 ประเด็นที่ ๒  หลักอิทัปปัจจยตาที่ท่านกล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ โดยผู้เขียนขอยกถ้อยคำของท่านมาให้เห็นถึงวิธีคิดของท่านพอสังเขปดังนี้

 

 "ธรรมชาติความเป็นจริงของสรรพสิ่งคือความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง หรืออนิจจตา ไม่ใช่ภาวะสถิตหรือตายตัว เมื่อไม่ตายตัวก็เชื่อมกัน ไม่แยกส่วน สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนเชื่อมโยงอย่างเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง (dynamic inter-connectedness) คำทางพุทธเรียกว่า อิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตาคือสภาพที่สรรพสิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยต่อกันและกัน หรือเป็นกระแสของเหตุปัจจัยอันหนุนเนื่องกันเป็นนิรันดร"  หน้า ๕๔

 

ท่านกล่าวว่า "วิทยาศาสตร์ได้ทำให้มนุษย์เข้าถึงความจริงตามธรรมชาติบางส่วน แล้วเอาความรู้นั้นมาใช้ทำให้เกิดอำนาจมหัศจรรย์เหมือนปาฏิหาริย์ต่าง ๆ แล้วพากันเสพติดอำนาจมหัศจรรย์ต่าง ๆ เหล่านั้น แต่วิทยาศาสตร์อย่างที่ยึดถือกันมา ยังไม่ใช่ปัญญาที่เข้าถึงความจริงทั้งหมด เพราะวิทยาศาสตร์นั้นแยกส่วน"

     

 

จากคำกล่าวของท่าน ผู้เขียนเชิญชวนให้เรามาร่วมกันย้อนกลับไปนึกถึงนักปราชญ์สมัยโบราณไม่ว่าจะเป็น "โสเครติส" "อริสโตเติล" "เพลโต" หรืออีกหลาย ๆ ท่าน แม้กระทั่งในยุคสมัยศตวรรษ ๒๐ ไม่นานมานี้ ได้แก่ "ฟูโกต์"  นักปราชญ์ทั้งหลายเหล่านี้มีความรอบรู้หลายสาขาวิชา โดยเฉพาะฟูโกต์ กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าเขาไม่ได้เป็น "นัก" อะไรโดยเฉพาะ

 

แม้กระทั่งผู้เขียนเอง หากจะบอกว่าเป็นนักกฎหมาย ก็ยังไม่ค่อยจะยอมรับความจริงข้อนี้สักเท่าไหร่ในสถานการณ์ที่มิใช่ กล่าวคือในกรณีที่จะเป็นนักกฎหมาย ก็คงเป็นต่อเมื่อทำงานหรือเขียนงานเกี่ยวกับกฎหมาย แต่หากว่าทำงานลักษณะอื่นที่ใช้ความเป็นสหวิทยาการอยู่ ก็คงไม่ใช่ พอถึงจุดหนึ่งที่เรารอบรู้และเติบโต เราอาจจะไม่สามารถระบุอัตลักษณ์ว่าใครเป็นอะไรได้ชัดเจน ความเป็น "นัก" อะไรก็แล้วแต่ มาจากแนวคิดตะวันตก

 

 

ดร. ธงชัย วินิจจะกูลได้กล่าวถึงการจำแนกสาขาวิชา ปรากฎในหนังสือ “ความจริงในมนุษยศาสตร์” หน้า ๓๔ สรุปได้ว่าการจำแนกกลุ่มสาขาวิชาการออกเป็นวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์หรือจำแนกเป็นวิชาเชิงประยุกต์กับบริสุทธิ์มีรากเหง้ามาจากวิทยาการสมัยใหม่ประมาณปลายศตวรรษที่ ๑๙ ในอังกฤษและอเมริกา ซึ่งมีอิทธิพลต่อระบบการศึกษาของไทยเราอย่างมากโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาหรือการศึกษาระดับสูง จนในที่สุดกลายมาเป็นโครงสร้างการบริหารวิชาการของไทยเราด้วย

 

 

หากเราพยายามทำความเข้าใจรากที่มาของสรรพสิ่งที่เป็นเหตุและเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน เพราะสิ่งนั้นมี สิ่งนี้จึงเกิด เราจะค้นพบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาทีหลังเป็นเพียง "เครื่องมือ" หนึ่ง ๆ  ที่กื้อกูลเราให้เข้าใจและเข้าถึงความจริง "บางส่วน" เท่านั้น แต่หากจะเข้าใจเข้าถึงความจริงเป็นองค์รวมเชื่อมโยงซึ่งกันและกันจะต้องใช้ปัญญาให้เห็นความจริงนั้นเอง

           

กรณี "เทคโนโลยีการศึกษา" เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ที่จะช่วยส่งเสริมการศึกษาของไทยเราอย่างมาก ซึ่งประโยชน์นี้จะไม่พูดถึง เพราะเราได้รับฟังกันมามากแล้วว่าเปลี่ยนเปลงวิถีชีวิตของผู้คนในยุคนี้อย่างไร สิ่งที่จะกล่าวถึงคือการเน้นย้ำความจริงที่ว่า "เทคโนโลยี" ใด ๆ เมื่อนำมาใช้กับเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เป็นเพียง "เครื่องมือ" ส่วนเป้าหมายคือการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติตามมาตรา ๖ ที่ว่าการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

 

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างคนในที่ทำงานของผู้เขียนหรือแม้กระทั่งตัวผู้เขียนเองว่า "เว้าแหว่ง" ไม่สมบูรณ์อย่างไร หากเรามองจาก "ผู้ใหญ่" แล้วย้อนกลับไปมองที่ "ต้นกล้า" คือเยาวชนไทยจะเห็นว่าเราควรจะปลูกฝังอะไรให้แก่พวกเขา

 

ผู้เขียนเคยได้รับเชิญให้ไปเป็นกระบวนกรจัดสุนทรียสนทนาให้กับเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศขององค์กรเป็นครั้งแรกของพวกเขา คำหนึ่งที่รุ่นพี่ผู้อาวุโสท่านหนึ่งกล่าวมาคือ

 

"ชึวิตทุกวันนี้ของพี่เหมือนเครื่องจักร ตาดูจอเรดาร์ มือคีย์แป้นพิมพ์ หูฟัง  และปากไม่ได้พูดภาษามนุษย์" 

 

สิ่งที่พี่เขาทำเป็นประจำทุกวันเป็นไปตามคู่มือการปฏิบัติงานระดับสากลที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก ในเมื่อมันเป็นมาตรฐานสากลเช่นนี้ ทำไมไม่ใช้หุ่นยนต์ทำงาน  สาเหตุก็เพราะหุ่นยนต์ตัดสินใจไม่ได้ที่จะให้เครื่องบินลำไหนขึ้นลง ไต่ระดับช่วงไหน นอกจาก "การตัดสินใจ" ของมนุษย์แล้ว นอกนั้น พี่เขาก็คือหุ่นยนต์ดี ๆ นั่นเอง

 

งานควบคุมจราจรทางอากาศเงินเดือนสูงมาก อีกทั้งสวัสดิการก็ดีเยี่ยม  การรับพนักงานเข้ามาในแต่ละครั้งมีคนจบมาจากหลากหลายสาขาวิชา ได้แก่ ทันตแพทย์ วิศวกร บริหาร หรือแม้กระทั่งผู้ที่จบจากต่างประเทศสาขาใดก็ตาม  ขอเพียงให้สอบผ่านภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ที่กำหนด เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะจบสาขาอะไรมาก็จะนำท่านไปฝึกอบรมใหม่ ใช้ภาษาใหม่เป็นภาษาเทคนิคเฉพาะเพื่อการสื่อสารในวงการบิน  อบรมจนได้รับ "license" 

 

ที่ยกตัวอย่างมานี้ เพื่อที่จะให้ย้อนกลับมาในประเด็นที่ว่าเทคโนโลยีใดก็ตามจะนำมาใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมให้เข้าถึงความจริง ความรู้ในสาขาวิชาใดโดยเฉพาะ สุดท้ายแล้วก็หนีไม่พ้นเรื่องการพัฒนาปัญญาเพื่อกำกับดูแลวิถึชีวิตมนุษย์ในทศวรรษใหม่นี้

 

ทั้งนี้ ในประเด็นเรื่องการพัฒนานั้น เมื่อมองมนุษย์เป็นศูนย์กลางที่จะต้อง "ถูกพัฒนา" ควบคู่ไปกับการไป "พัฒนา" สิ่งต่าง ๆ จะเห็นว่ามีองค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวข้อ ๔ ประการ จากหนังสือการพัฒนาที่ยั่งยืน

                 

 

การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นเมื่อระบบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบ ๔ ประการดำเนินไปด้วยกันได้ด้วยดี โดยท่านพระพรหมคุณากรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) กล่าวไว้ว่าองค์ประกอบ ๔ ประการนั้น ได้แก่

๑. มนุษย์  

หากรู้จักใช้สติปัญญา “โยนิโสมนสิการ”

๒. สังคม

เปรียบได้ดั่ง “กัลยาณมิตร” ที่แวดล้อมซึ่งจะเกื้อกูลส่งเสริมกันมากกว่าจะแข่งขันเบียดเบียนกัน

๓. ธรรมชาติ

เข้าใจและใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติ มิใช่จัดการเพื่อที่จะเอาชนะธรรมชาติ หรือแสวงหาประโยชน์จากธรรมชาติแบบทำลายธรรมชาติ

๔. เทคโนโลยี

โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ท่านพระพรหมคุณากรณ์กล่าวว่ามนุษย์ในยุคปัจจุบันถูกท้าทายเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถใช้สิ่งที่ตนสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นครื่องมือเกื้อหนุนในการพัฒนาตนไปสู่จุดหมายแห่งชีวิตดีงามสมบูรณ์ที่มีอิสรภาพและสันติสุขได้หรือไม่ หรือจะถูกสิ่งที่ตนเองสร้างขึ้นมานั่นแหละชักจูงออกไปจากโลกและชีวิตแห่งความเป็นจริง และถูกมันชักนำไปสู่ความพินาศ ในที่สุด เรื่องนี้การพัฒนามนุษย์จะเป็นเครื่องตัดสิน

                มนุษย์จะใช้เทคโนโลยีหรือจะถูกเทคโนโลยีใช้ 

 

สำหรับทิศทางการพัฒนามนุษย์จะเป็นเช่นไร เริ่มจากการสร้างวิธีคิดแบบ "องค์รวม" แทนที่ "แยกส่วน" เพื่อให้เข้าถึงความจริงของสรรพสิ่ง แนวคิดแยกส่วนนำมาซึ่งความหายนะในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมุ่งเน้น "อัตตา" มองตนเอง ศาสตร์แห่งตนเป็นศูนย์กลาง มองพวกตัวเองดีกว่าพวกอื่น เกิดการยกพวกตีกันข้ามสถาบัน หรือแม้แต่การแบ่งพวกตามความเชื่อเรื่อง "สี" ซึ่งสิ่งบ่งชี้นี้สะท้อนให้เห็นว่าเราขาดการปลูกฝังปัญญาการมองเห็นตัวเองเชื่อมโยงกันทั้งสี่องค์ประกอบดังกล่าว  แต่มองตนเองแปลกแยกจากธรรมชาติ และกำลังนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต โดยมองไม่เห็นธรรมชาติรอบตัว ความจริงที่ปรากฎในจอคอมพิวเตอร์ ใน ipad iphone หรือ tablet ไม่เหมือนกับความจริงที่ปรากฎในธรรมชาติ ความจริงที่ปรากฎหรือความจริงที่ใช้สื่อสารกันผ่านเทคโนโลยีเป็นความจริงสำเร็จรูป เป็นความจริงที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว

 

การใช้เทคโนโลยีจึงต้องใช้ให้เป็น ใช้แบบเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความจริงด้วยปัญญา มิใช่เชื่อในความจริงที่ปรากฎตรงหน้าทั้งหมด อีกทั้งการใช้เทคโนโลยีเฉพาะเรียนรู้ในสาขาตนหรือเข้าถึงข้อมูลที่ไม่สร้างสรรค์ก่อให้เกิดการคิดได้ด้วยตนเอง แต่ทำลายวิธีคิดแบบริเริ่มสร้างสรรค์ ความรู้ที่ได้มาจากข้อมูลเหล่าน้้นไม่ใช่ความรู้ที่จริงแท้ 

                        

 ความรู้ที่ได้จากเทคโนโลยีต้องเป็นความรู้ที่สร้างความรู้คู่กับปัญญา

 

 

ตัวอย่างรุ่นพี่ที่ทำงานมองจอเรดาร์เป็นประจำ ไม่เคยมองเห็นความจริงของธรรมชาติด้วยปัญญา ไม่ได้สัมผัสความจริงของความเป็นมนุษย์ที่แท้เลย เขาเองก็รู้ตัวว่าห่างไกลชีวิตมนุษย์ปกติไปทุกที  แต่ยังปรับวิถีชีวิตตัวเองไม่ได้   เราคงไม่อยากเห็นกระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์ลง (dehumanization) ในยุคที่เทคโนโลยีกำลังเฟื่องฟูเช่นนี้เป็นแน่แท้

 

ความรู้ (knowledge) เปลี่ยนมาเป็นความรอบรู้ (prudence) แบบปรีชาญาณ

รู้อะไรไม่ใช่รู้แยกส่วน ไม่ใช่รู้บางส่วน แต่ รู้รอบและลึกซึ้งในสิ่งที่ศึกษา

         เวลาเป็นเงินเป็นทองเปลี่ยนมาเป็นเวลามีค่าเหมือนเงินทอง

                                     

 

หากผู้เขียนไม่ได้ผ่านกระบวนการอบรมบ่มเพาะนอกเหนือจากวิชาในสาขาอาชีพ จากท่านอาจารย์สันติกโรและบิดามารดา ผู้เขียนอาจจะเว้าแหว่ง ไม่สมบูรณ์ยิ่งกว่านี้ไม่แตกต่างกัน บุญกุศลใด ๆ ที่ผู้เขียนได้กระทำในชาตินี้ขอเป็นปฏิบัติบูชาแด่พระรัตนตรัย  บิดามารดา และครูบาอาจารย์ทุกท่านค่ะ

            

                                 ศรัทธา เมตตา  สันติ 

                        ขอบพระคุณทุกท่านที่กรุณาแวะมาเยี่ยมเยียน

 

หมายเลขบันทึก: 496317เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2012 19:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2012 10:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

อ่านแล้วมีความสุขมาก..ขอบคุณค่ะ..

  • หนังสือ ที่อาจารย์แนะนำ "วิถึมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑" โดยศาสตราจารย์นายแพทย์ ประเวศ วะสี น่าหามาอ่านบ้างค่ะ 
  • ขอเรียนถามอาจารย์ เนื่องจากเริ่มมีแพทย์ประจำบ้านสนใจในศาสตร์นพลักษณ์ ในด้านช่วยให้เข้าใจเพื่อนร่วมงาน แต่ยังนึกกันไม่ออกว่าจะเชื่อมโยงกับการดูแลผู้ป่วยได้อย่างไรบ้าง
  • ใจตรงกันโดยแท้ค่ะ ว่าว้นนี้กำลังจะเขียนมุมมอง Palliative care ที่ไม่ต้องแยกส่วน เป็น  "Bio-psycho-social-spiritual" (ได้ไหม)  เพราะแนวทางปฎิบัติ ทั้งมวลล้วนต้องการตอบสนองต่อแก่นกลาง "ความหมายในชีวิต - why I have life" ของผู้ป่วย..ณ วาระสุดท้าย เทคโนโลยีการแพทย์สูงสุดใดๆ ก็ไม่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยเผชิญความตายอย่างสงบ ถ้า "ขาดต้นทุนทางจิตวิญญาณ"
  • ขอบคุณที่เขียนบทความส่องทาง และให้พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ 

วิถีมนุษย์-มองแบบองค์รวม ... ดีจริงๆๆนะคะ  (กาย+ จิตใจ+จิตวิญาณ)

 

ขอบคุณมาก กับบทความดีดีนี้นะคะ

..ชีวิต..เป็นองค์รวม..ใน..ธรรมชาติ..ที่..ซับซ้อนและ..ละเอียดลึกล้ำยิ่งนัก..ความเป็นนิรันดร์จึงจีรังเท่ากับเวลาของความคิดของมนุษย์..ก่อนที่จะดับลงกายใจจิตที่แยกสลายออกจากกัน....(แอบคิดจ้ะ..ยายธี)..

๑. มนุษย์
๒. สังคม ๓. ธรรมชาต ๔. เทคโนโลยี องค์ ๔ ที่พัฒนาให้ยั่งยืน "เราจะใช้เทคโนโลยีหรือเทคโนโลยีจะใช้เรา"....สวัสดีครับ

เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่เราสร้างขึ้นมา  เพราะฉะนั้นเราต้องนำมาประยุกต์ใช้

ให้สมบูรณ์แบบสมกับความเป็นมนุษย์นะคะ

ลึกซึ้งจริงแท้ทีเดียวครับ ท่านอาจารย์

เทคโนโลยี เกิดขึ้นได้ เพราะมนุษย์ คิดค้น ค้นคว้า และสร้างมันขึ้นมา

เทคโนโลยี คงอยู่ได้ เพราะมนุษย์ นำมาใช้ให้เกิดความรู้ เกิดประโยชน์ เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

เทคโนโลยี เสื่อมและสูญได้ เพราะมนุษย์ เช่นกัน

มนุษย์กับเทคโนโลยี นั้น เป็น สิ่งที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกัน

เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เทคโนโลยีก็ไม่ต่างกัน มีเกิด มีดับ อยู่เสมอ

ขอบพระคุณมากครับ

ขอบคุณพี่ใหญ่Blank ใจดีของพวกเราทุกคนค่ะ

ตอบคุณหมอ ป.Blank ผ่านบันทึกนี้แล้วนะคะ

  • ๐ ๑ ๙ ตัวเลขแห่งการหลุดพ้น

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/496404

  • ขอบคุณคุณ Somsri Blank  มากค่ะ เป็นทั้งนักอ่าน นักจับประเด็น และกัลยาณมิตรที่แสนใจดีด้วยค่ะ  
  • การแอบคิดของคุณยายธี Blank แต่ละครั้งทำให้ได้ฉุกคิด ใคร่ครวญไปด้วยเสมอ รบกวนคุณยายธีแวะมาแอบคิดบ่อย ๆ นะคะ
  • ความคิดเดียว ไม่อาจอยู่เพียงลำพังได้ต้องเชื่อมโยงกับการต่อยอดความคิดของกัลยาณมิตรเสมอค่ะ
  • คุณแว่นธรรมทอง Blank แวะมาเก็บประเด็นได้ตรงใจอีกแล้วค่ะ ขอบคุณค่ะ องค์รวมที่ไม่แยกส่วนทำให้เรารู้สึกเป็นหนึ่งเดียว เป็นกลางและว่างด้วยค่ะ
  • คุณ Krukui Blank  เช่ื่อมประเด็นได้น่าสนใจมากค่ะ เทคโนโลยี มนุษย์สร้างขึ้นมา จึงต้องใช้ส่งเสริมความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ด้วย ขอบคุณค่ะ 

"พื้นที่แห่งความทุกข์" เพื่อค้นหา "พื้นที่แห่งความสุข" ;)...

คิดถึงเพลง "แดนศิวิไลซ์" ;)...

  • ชอบค่ะ คุณลมอโศก Blank 
  • มนุษย์กับเทคโนโลยี นั้น เป็น สิ่งที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกัน

    เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เทคโนโลยีก็ไม่ต่างกัน มีเกิด มีดับ อยู่เสมอ

  • มนุษย์มีแตกดับ เทคโนโลยีเก่าหมดรุ่นไป เทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทน หมุนเวียนไป หากเข้าใจในธรรมชาติของกันและกันจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่เบียดเบียนกันค่ะ

  • ขอบคุณมากค่ะ

เขียนอะไรก็น่าอ่านไปหมด...คนอะไรก็ไม่รู้ ...

มาเยี่ยมด้วยความระลึกถึงนะครับ

ขอบคุณอาจารย์นพลักษณ์ ๑๐ Blank ที่แวะมาเติมเต็มบันทึกนี้ค่ะ

ถ้าเราไม่ค้นพบทุกข์ เราจะไม่เข้าใจสุขแท้ค่ะ ปลาบปลื้มในความมีเมตตาให้คำคมแง่คิดอยู่เสมอ

  • คุณแสงความดี Blank แวะมาเยี่ยม ก็ดีใจแล้วค่ะ เขียนหนักไปหน่อยช่วงนี้ เก็บตกได้จากความสงสัยของผู้เข้าร่วมกระบวนการลปรรหลายคน ตั้งใจว่าจะพักกายใจเพื่อบ่มเพาะความนิ่งสงบในจิตใจในช่วงวันหยุดนี้ก่อนเริ่มงานใหม่อีกรอบค่ะ
  • อยากเขียนอะไรเบา ๆ เร็ว ๆ นี้ว่าจะออกในแนวนก ผีเสื้อ เลียนแบบพี่นุชบ้างค่ะ แต่รับรองไม่เหมือน เพราะหารือกับพี่นุชแล้ว ขอฉีกแนวนิดหนึ่งค่ะ

เรียนอาจารย์ ศิลา การคิดแบบองค์รวม ฟังมาว่า ทางการแพทย์ เองก็ค้นว่าแพทย์เฉพาะ ไม่ใช่สิ่งดีที่สุด

สุดท้ายแล้วการแพทย์ ในศตวรรตที่ 21 จะมีการผลิตแพทย์เพื่อชุมชน( นพ.ธันว์)

  • ข้อแนะนำท่านวอญ่าBlank เป็นการจุดประกายที่สำคัญมากค่ะ
  • ขอบคุณมากค่ะสำหรับแนวคิดดี ๆ ที่มาบอกต่อ เพราะเขียนบันทึกนี้เสร็จไปก้มานึกขึ้นได้ไม่กี่วันมานี่ว่าจะมีท่านใดเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือไม่ว่าไม่เห็นด้วยกับวิชาที่แบ่งเป็นสาขา
  • จริง ๆ แล้วคนละเรื่องคนละความหมายเลย  ... ความเห็นของท่านวอญ่าฉายภาพให้เห็นว่าการเรียนหรือการศึกษาที่แบ่งเป็นสาขาเฉพาะทางก็สามารถมองแบบองค์รวมโดยเชื่อมโยงกับความรู้หลักของตนเองได้
  • "การแพทย์ ในศตวรรตที่ 21 จะมีการผลิตแพทย์เพื่อชุมชน(นพ.ธันว์)" มีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติจริง ๆ ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท