"เปิดตาเปิดใจมีส่วนร่วมในการพัฒนาสิ่งแวดล้อม: กรณีขยะที่โคราช"


สรุปรายงานการสัมมนาเรื่อง
"เปิดตาเปิดใจมีส่วนร่วมในการพัฒนาสิ่งแวดล้อม: กรณีขยะที่โคราช"
วันที่ 22-23 กันยายน 2548
.นครราชสีมา


 ที่มาของโครงการ
หลังจากทีมวิจัย 3 ทีมที่ทำงานด้านการสื่อสารเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุดโครงการ "การสื่อสารเพื่อชุมชน" (สกว.) ได้ดำเนินงานวิจัยสำเร็จลุล่วงไปแล้ว เพื่อมิให้ผลงานวิจัยกลายเป็นเพียงเอกสารที่วางอยู่ในห้องสมุด ทีมวิจัยด้านการสื่อสารสิ่งแวดล้อมทั้ง 3 ทีมได้ร่วมกันจัดการพูดคุยว่า จะมีรูปแบบการทำงานร่วมกันต่อไปอย่างไรในอนาคต โดยมีทีมประสานทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง
ผลจากการร่วมปรึกษาหารือกัน ได้ข้อสรุปว่า ทั้ง 3 ทีมจะร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมเผยแพร่และใช้ผลการวิจัยในรูปแบบต่างๆ เวียนกันไปในแต่ละพื้นที่ โดยพื้นที่แรกที่จะดำเนินงานก็คือ การจัดงานสัมมนาแบบครบวงจร (ทั้งพูดคุยในห้องประชุมและออกไปเรียนรู้ในพื้นที่สนามของจริง) อันเป็นที่มาของการสัมมนาเรื่อง "เปิดตาเปิดใจ..." ครั้งนี้
เป้าหมายของงานสัมมนาครั้งนี้มีอยู่ 4 ประการคือ

(1)   เพื่อเปิดมุมมองใหม่ของผู้เข้าร่วมทุกฝ่ายในเรื่องการสื่อสารเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมให้กว้างขวางออกไป

(2)   เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างฝ่ายต่างๆที่เข้าร่วม
(3)   เพื่อจุดประกายแนวคิดใหม่เรื่อง "นวัตกรรมด้านสื่อสารเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม"
(4)   เพื่อวางรากฐานในการสร้างคน/สร้างเครือข่าย/และสร้างทีมงานการสื่อสารสิ่งแวดล้อม
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เจ้าภาพร่วมคือทีมวิจัย 3 ทีมและทีมประสานงานโครงการ   "การสื่อสารเพื่อชุมชน" (สกว.) จึงได้กำหนดทั้งกลุ่มคนผู้เข้าร่วมสัมมนา เนื้อหาของการสัมมนา และกระบวนการขั้นตอนการสัมมนา ดังนี้
กลุ่มผู้เข้าร่วมสัมมนา  มีจำนวนประมาณ 150 ท่าน ซึ่งประกอบด้วย
(1)   ทีมประสานโครงการวิจัยชุด "การสื่อสารเพื่อชุมชน"
(2)   ทีมวิจัยในชุดโครงการทั้ง 3 ทีม
(3)   ชาวบ้านโนนป่าติ้ว (พื้นที่ศึกษากรณีขยะโคราช)
(4)   เทศบาลเมือง อ.ปากช่อง
(5)   นักวิจัยจากสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น จากมหาวิทยาพายัพ
(6)   นักวิชาการจากสถาบันที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม
(7)   นักศึกษามหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล โดยเฉพาะนักศึกษานิเทศศาสตร์ และที่รวมตัวกันเป็นชมรม Green Media
จากกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมจะเห็นได้ว่า การสัมมนาครั้งนี้จะสามารถช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างหลากหลายคือ
·     ในระหว่างทีมวิจัย จะเป็นโอกาสที่ทีมวิจัยได้เข้าใจข้อมูลจากพื้นที่จริงเพิ่มเติมจากที่เคยเรียนรู้ผ่านการอ่านงานวิจัย
·     กับพื้นที่วิจัย จะเป็นโอกาสที่ทีมวิจัย จ.โคราชจะได้คืนข้อมูลทั้งหมดให้กับชุมชน
·     กับสถาบันการศึกษา เป็นโอกาสที่ทางทีมวิจัยจะได้นำเอาเรื่องการสื่อสารเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ความสนใจของมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น (ท่านอธิการบดีมาเปิดการประชุม และมีการจัดนิทรรศการของนักศึกษากลุ่ม Green Media)
·     กับหน่วยงานราชการ/ท้องถิ่น เป็นโอกาสอีกครั้งที่ทีมวิจัยจะได้เชื่อมประสานหน่วยงานเช่น เทศกาลที่จะมาร่วมแก้ไขปัญหาขยะกับชุมชน
 
สรุปเนื้อหาและกระบวนการ
การประชุมทั้ง 2 วันแบ่งเนื้อหาและกระบวนการได้เป็น 5 ส่วนคือ
·          วันที่ 22 กันยายน 2548  (ห้องประชุมมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล)
ส่วนที่ 1: การบรรยายเรื่อง "นวัตกรรมการสื่อสารเพื่อสิ่งแวดล้อม"
ส่วนที่ 2: การเรียนรู้จากงานวิจัยทั้ง 3 เรื่อง
ส่วนที่ 3: เวทีเสวนาเรื่อง "ความร่วมมือเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชน"

ส่วนที่ 4: การอภิปราย "รูปแบบความร่วมมือเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมในอนาคตของชุมชน"

·          วันที่ 23 กันยายน 2548 (บ้านโนนป่าติ้ว ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง)

ส่วนที่ 5: ลงดูงานในพื้นที่วิจัย บ้านโนนป่าติ้ว และร่วมเสวนากัน

ส่วนที่ 1: การบรรยายเรื่อง   "นวัตกรรมการสื่อสารเพื่อสิ่งแวดล้อม" โดยรศ.ดร.กาญจนา แก้วเทพ

เนื้อหาส่วนนี้เกิดมาจากการวิเคราะห์งานวิจัยทั้ง 4 เรื่องของการสื่อสารเพื่อสิ่งแวดล้อมในชุดโครงการ บวกผสมกับการจัดประชุมพูดคุยเนื้อหาร่วมกับทีมวิจัยทั้ง 3 ทีม

ประเด็นหลักๆของหัวข้อนี้ก็คือ แม้ว่างานวิจัยเรื่องการสื่อสารเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้ง 4 เรื่อง จะเลือกเล่นประเด็นสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน เช่น ประเด็นขยะ ป่าชุมชน หรือแม่น้ำลำคลอง ฯลฯ  แต่ทว่าจุดร่วมของงานวิจัยทั้ง 4 ก็คือ คณะวิจัยได้ใช้วิธีการสำรวจวิจัยสภาพการณ์ที่เป็นจริงก่อน แล้วจึงค่อยค้นคิดกิจกรรมเพื่อแก้ไขสถานการณ์แล้วจึงวัดผลอีกครั้งหนึ่ง (ที่ทีมประสานสรุปว่า "วัดตัวก่อน แล้วจึงตัดเสื้อ") ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของ "action based on research" และวิธีการดังกล่าวนี้ให้ข้อสรุปแล้วว่าได้ผลดีจริง

ส่วนหลักการเรื่อง "นวัตกรรมการสื่อสารเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม" นั้น จะประกอบด้วยมิติสำคัญๆ 5 มิติ คือ

 

 

 

หลักการสำคัญๆของนวัตกรรมการสื่อสารเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม เมื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมนั้นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากประชาชนแบบทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) การสื่อสารที่นำมาใช้ก็ต้องเป็นการสื่อสารแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเช่นกัน

และเนื่องจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมนั้นมีลักษณะเชื่อมโยงกันเป็นตาข่าย วิธีการแก้ไขปัญหา ก็ต้องอาศัยเครือข่ายเช่นกัน เครือข่ายการสื่อสารจึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ

ท้ายที่สุด เรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น จะอาศัยเพียง "ความเข้าใจ/ความรู้" (Knowledge) และทัศนคติ (Attitude) เท่านั้นไม่เพียงพอ แต่จะต้องก้าวไปให้ถึง "การลงมือกระทำ/ปฏิบัติ" (Performance) การสื่อสารเพื่อสร้างผลกระทบระดับพฤติกรรมหรือสื่อกิจกรรมจึงเป็นเรื่องท้าทายนักการสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม

ส่วนที่ 2: การเรียนรู้จากงานวิจัย 3 โครงการ

(2.1) งานวิจัยเรื่อง "การสื่อสารเพื่อการจัดการป่าชุมชน : กรณีศึกษาป่าชุมชน สะมะแก อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี" โดย รศ.วราพร ศรีสุพรรณ
อ.วราพรได้เริ่มการนำเสนอโดยนำเอาแผนที่เพื่อชี้พื้นที่ตั้งของป่าสะมะแก รวมทั้งหมู่บ้านที่อยู่โดยรอบ  จากนั้นก็ได้เล่าพัฒนาการการประกาศจัดตั้งป่าสะมะแกให้เป็นป่าชุมชนจากทางราชการ แต่เนื่องจากเป็นวิธีการแบบจากบนลงล่าง จึงไม่มีการมีส่วนร่วมจากชุมชน แม้ว่าในระยะที่สอง จะมีแกนนำของชุมชนมาจัดตั้งองค์กรเป็นคณะกรรมการป่าชุมชน แต่ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมทุกหมู่บ้าน (กลุ่มผู้เข้าร่วมมีแต่ชาวเผ่าปกาเกอะญอ แต่พี่น้องชาวอีสานไม่ได้เข้าร่วม) การบริหารจัดการป่าชุมชนซึ่งต้องอาศัยการตกลงร่วมกันจากทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียจึงไม่สำเร็จ การบุกรุกป่ายังมีอยู่ตลอดเวลา
จนกระทั่งทีมวิจัยของอ.วราพรได้เข้าทำหน้าที่เป็น "ตัวสื่อกลาง" (Mediating) จัดให้มีการประสานงานระหว่างทุกชุมชน  ในช่วงเวลานี้ อ.วราพรได้ตอกย้ำให้เห็นวิธีการทำงานแบบ action research ตามที่ได้กล่าวมา
ผลจากการลงมือปฏิบัติการของทีมวิจัยร่วมกับชุมชน ก่อให้เกิดผลลัพธ์หลายประการ ทั้งผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม
ผลลัพธ์ส่วนที่เป็นรูปธรรมก็เช่น การมีคณะกรรมการป่าชุมชนที่เป็นตัวแทนของทุกชุมชน การมีแกนนำป่าชุมชน (ที่ขยายต่อจากคณะกรรมการ) การมีมาตรการรักษาพื้นที่ ฯลฯ
และส่วนที่สำคัญก็คือ ผลลัพธ์ส่วนที่เป็นนามธรรม อันได้แก่ การเปลี่ยนแปลงความรู้/ความเข้าใจ/ความหมายของป่าชุมชนให้หลากหลายยิ่งขึ้น และส่งผลถึงการเพิ่มขยายบทบาทหน้าที่ของ "ป่าชุมชน" ให้มากขึ้น เช่น นอกจากป่าจะเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นห้องรับแขก เป็นห้องเรียนของเยาวชน เป็นแหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ  นอกจากนั้น ป่ายังทำหน้าที่เป็น "สื่อ" ที่สานใยสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้าน ระหว่างวัฒนธรรม
 
(2.2) งานวิจัยเรื่อง "การสื่อสารเพื่อการมีส่วนร่วมจัดการป่าชุมชนของชาวบ้านห้วยแก้ว จ.เชียงใหม่ โดย อ.ศรีธรณ์ โรจน์สุพจน์

อ.ศรีธรณ์ได้เล่าพัฒนาการของป่าชุมชนห้วยแก้วที่ชุมชนเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากปัจจัยภายนอก ในช่วงวิกฤติชุมชนได้ใช้การสื่อสารทุกรูปแบบเพื่อต่อสู้ช่วงชิงป่าชุมชนและประสบความสำเร็จ แต่ก็แลกมาด้วยความบอบช้ำของชุมชน หลังจากได้ป่าชุมชนมาแล้ว     ชุมชนก็เลือกที่จะไม่สื่อสารกันเรื่องป่าเพื่อไม่ให้สะกิดบาดแผล ทำให้เรื่องการรักษาป่าชุมชนเป็นไปไม่ได้เพราะมีการดำเนินงานอยู่ในกลุ่มคนเล็กๆ ประมาณ 30 ครอบครัว ซึ่งอ่อนแรงลงทุกที และขาดการสืบทอดเรื่องการรักษาป่าไปให้เยาวชนคนรุ่นใหม่

เมื่อทีมวิจัยเข้าไปสำรวจสถานการณ์ของชุมชนและป่าชุมชนแล้ว ก็ได้ปรึกษาหารือร่วมกับชุมชนที่จะเลือกสื่อมาใช้ ชุมชนได้เลือกสื่อสมัยใหม่เช่น สไลด์ วิดิโอ วิทยุชุมชน เนื่องจากสื่อชุมชนที่มีอยู่ไม่อาจใช้งานได้

ผลที่เกิดขึ้นจากงานชุมชนนี้ก็คือ ชุมชนได้สร้างทั้ง "สื่อบุคคลผู้รู้จักและรักษาป่ารุ่นใหม่" คือ เยาวชน และสื่อบุคคลเหล่านี้ยังมีฐานความรู้ที่จะใช้สื่อประเภทอื่นๆ ทั้งนี้เนื่องจากวิธีการที่ทีมวิจัยใช้นั้น คือ การมีส่วนร่วมของชุมชนในเรื่องการสื่อสาร ตั้งแต่ระดับการเป็นผู้ผลิต การแพร่กระจาย ไปจนถึงการบริโภคสื่อ
สำหรับในด้านสิ่งแวดล้อม ผลจากการวิจัยได้ปั้น "ดาราดวงใหม่" ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในงานอนุรักษ์ป่าชุมชน เช่น กลุ่มผู้หญิง กลุ่มเด็กและเยาวชน ฯลฯ ซึ่งมีบทบาทไม่เด่นชัดในช่วงเวลาวิกฤติที่ผ่านมา
 
(2.3) งานวิจัยเรื่อง "การสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาขยะท้องถิ่น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา" โดย อ.จตุรภัทร ชัยสุวรรณ
อ.จตุรภัทรได้เริ่มต้นเล่างานวิจัยโดยตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของการระบุกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในปัญหา เช่น กรณีปัญหาขยะที่บ้านโนนป่าติ้วนั้น มีผู้เกี่ยวข้องอยู่ 3 กลุ่มคือ
(1) เจ้าของปัญหา คือเทศกาลที่เอาขยะไปทิ้ง
(2) กลุ่มชาวบ้าน เป็นผู้รองรับปัญหาทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม
(3) กลุ่มผู้นำ/แกนนำ ที่เป็นกุญแจไขไปสู่ปัญหา

ทีมวิจัยได้ค้นพบว่า ในขณะที่มีปัญหาขยะเกิดขึ้นนั้น ก็ได้มีปัญหาการสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพเกิดขึ้นควบคู่ตามไปด้วย และเป็นตัวแปรในการธำรงรักษาปัญหา กล่าวคือไม่มีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพภายในกลุ่มชาวบ้าน และระหว่างผู้นำกับชาวบ้าน ซึ่งส่งผลมาถึงการขาดการสื่อสารแบบมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาระหว่างชุมชนกับเทศบาล

คณะวิจัยได้ทดลองใส่กลยุทธ์การสื่อสาร5 แบบเข้าไปในชุมชน เช่น ทัศนศึกษา เวทีเสวนา ฯลฯ และได้พบว่า ระบบ/รูปแบบการสื่อสารที่เคยมีอยู่ของชุมชน ได้มีการพลิกตัว จากการสื่อสารแบบทางเดียว ไม่มีส่วนร่วม ไม่มีพลังในการแก้ปัญหา ได้กลายมาเป็นการสื่อสารแบบสองทาง/การสื่อสารแบบมีส่วนร่วมและมีพลังในการแก้ปัญหา หลังจากที่การสื่อสารภายในเข้มแข็งแล้ว คณะวิจัยก็ได้เล่นบทเป็น "ตัวสื่อกลาง" เชื่อมต่อให้มีการสื่อสารแบบมีส่วนร่วมระหว่างเทศบาลและชุมชน ซึ่งส่งผลไปสู่การแก้ไขปัญหาขยะในระดับหนึ่ง
กล่าวโดยสรุป จากการนำเสนองานวิจัยทั้ง 3 ชิ้น ได้ยืนยันให้เห็นว่า การสื่อสารนั้นสามารถมีบทบาทในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมได้ หากแต่สำคัญว่า จะต้องเป็น "การสื่อสารแบบไหน/และอย่างไร"
ส่วนที่ 3:  การจัดเวทีเสวนาเรื่อง "ความร่วมมือเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชน" 
โดยเป็นทัศนะจากฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับปัญหาขยะ 4 ฝ่ายคือ ฝ่ายตัวแทนเทศบาล ฝ่ายตัวแทนชุมชน ฝ่ายตัวแทนนักวิชาการ และฝ่ายตัวแทนนักศึกษา
·         ฝ่ายตัวแทนชุมชน ได้เล่าถึงสภาพความรุนแรงของปัญหาขยะที่ชาวบ้านต้องประสบแต่ทว่าชาวบ้านยังแก้ไขไม่ได้ เพราะขาดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ จนกระทั่งทีมวิจัยไปติดตั้งรูปแบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพให้ การแก้ไขปัญหาจึงคลี่คลายไปได้
·         ฝ่ายตัวแทนเทศบาล เสนอว่า การแก้ไขปัญหาขยะต้องการความร่วมมือจากคนทุกกลุ่มที่มีส่วนสร้างขยะ แก้ปัญหาขยะ รับปัญหาจากขยะ รวมทั้งต้องมีการมองหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีและมีความยั่งยืนด้วย
·         ตัวแทนนักศึกษา  มองตนเองว่า มีฐานะเป็น "ผู้สร้างขยะ" เช่นเดียวกับคนอื่นๆ เช่น ผู้ลงทุน เจ้าของโรงงาน ฯลฯ ซึ่งต้องระดมผู้สร้างขยะทุกกลุ่มให้เข้ามาร่วมรับผิดชอบ สำหรับนักศึกษาอาจจะเริ่มต้นที่ตนเอง สถาบันตนเอง แล้วใช้สื่อขยายผลออกไปถึงคนอื่นๆ
·         ตัวแทนนักวิจัย/นักวิชาการ  มองว่า บทบาทของสถาบันวิชาการท้องถิ่นที่จะมีต่อชุมชนนั้นมีได้อย่างหลากหลายมาก เริ่มตั้งแต่การฝึกอบรม การทัศนศึกษา การเป็นตัวกลางประสานงาน ฯลฯ โดยเฉพาะงานด้านการสื่อสารซึ่งมีข้อพิสูจน์จากงานวิจัยแล้วว่า การสื่อสารเป็นตัวแปร/ปัจจัยที่สำคัญตัวหนึ่งในการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม
 
ส่วนที่ 4:   การอภิปราย "รูปแบบความร่วมมือเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมในอนาคตของชุมชน"
ซึ่งเป็นทัศนะจากนักวิชาการด้านการสื่อสารสิ่งแวดล้อม 2 ท่าน คือ อ.วรรณี พฤฒิถาวร จากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.รัชชานนท์ ศุภพงศ์พิเชฎ จากโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ทัศนะที่สำคัญจากนักวิชาการทั้ง 2 ท่านก็คือ

(1) การรวมตัวของชุมชน เช่น บ้านโนนป่าติ้วด้วยการอาศัยการสื่อสารแบบมีส่วนร่วมนั้น ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆอีกมากมาย เช่น การใช้สารเคมีในการเกษตร

ชุมชนจึงควร "ออกกำลังกาย" เพื่อให้กลุ่มเข้มแข็งด้วยการทำงานในประเด็นอื่นๆ ของสิ่งแวดล้อมต่อไป

(2) ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นปัญหาที่มีหลายมิติ เช่นด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านการเมือง ผลลัพธ์รูปธรรมจากบ้านโนนป่าติ้วได้แสดงให้เห็นถึง "เรื่องขี้ผงที่ทรงพลัง" กล่าวคือ ในระยะแรกนั้น ชุมชนไม่มีการแก้ไขปัญหาขยะ เนื่องจากมีผู้นำชุมชนที่อ่อนแอและหลังจากมีการรวมตัวแก้ไขปัญหาขยะแล้ว ชุมชนได้เริ่มสำแดงพลังขยะด้วยการปรับเปลี่ยนผู้นำท้องถิ่นของตน ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน หรืออบต. โดยเลือกคนที่เอาการเอางานในปัญหาของชุมชน

(3) การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ต้องขยายกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง/มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครบทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องป่าชุมชน ขยะ ฯลฯ  จะต้องไม่ลืมกลุ่มสตรี/แม่บ้าน กลุ่มเด็ก/เยาวชน และในการใช้การสื่อสารเพื่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมนั้นจะต้องให้ชาวบ้านร่วมกันคิดวิเคราะห์ปัญหาด้วยตนเอง เช่น บรรดาผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่ในบ้านนั้น มีอันตรายต่อสุขภาพมากน้อยเพียงใด แต่เดิมปู่ย่าตายายเราเคยใช้อะไร เป็นต้น

(4) สำหรับการวางแผนด้านสิ่งแวดล้อมนั้น จะต้องใช้การสื่อสารเพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน การวางแผนจัดการสิ่งแวดล้อมแบบ top-down เช่น การสร้างเตาเผาขยะ  การกลบฝัง ฯลฯ  หากไม่พูดคุยปรึกษากับชุมชน แผนงานนั้นเมื่อแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง ก็จะไปสร้างปัญหาอีกแบบหนึ่ง เป็นต้น
 
ส่วนที่ 5 : การเรียนรู้จากของจริง 
ในวันที่ 23 ก.ย. 2548 อันเป็นวันที่สองของการประชุม ผู้เข้าร่วมสัมมนาก็ได้โยกย้ายเวทีการเรียนรู้จากห้องประชุม มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุลไปสู่บ้านโนนป่าติ้ว ซึ่งเป็นพื้นที่ของทีมวิจัย หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ที่ อ.ปากช่อง ห่างจากตัวเมืองโคราชไปประมาณ 100 กิโลเมตร

เมื่อไปถึงหมู่บ้าน ชาวบ้านได้เตรียมตัวต้อนรับคณะผู้ร่วมสัมมนาด้วยการจัดหารถอีแต๋นเอาไว้ประมาณ 10 คัน สำหรับบรรทุกพาคณะวิจัยซึ่งมีประมาณ 60 คนไปยังพื้นที่ที่ทิ้งขยะซึ่งอยู่อีกปีกหนึ่งของหมู่บ้าน

สำหรับทีมประสานซึ่งเคยเข้าไปเยี่ยมหมู่บ้านโนนป่าติ้วในช่วงแรกของงานวิจัย พบว่า หมู่บ้านมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีอย่างมาก เริ่มตั้งแต่มีการทำถนนเข้าหมู่บ้าน บริเวณรอบๆหมู่บ้านมีลักษณะถูกสุขาภิบาลมากขึ้น ร่องน้ำรอบๆหมู่บ้านใส่สะอาดจนสัตว์เลี้ยงลงไปว่าย/กินได้ กลิ่นขยะน้อยลง ความชุกชุมของแมลงวันน้อยลง ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม เมื่อรถอีแต๋นพาผู้เข้าร่วมประชุมไปถึงบริเวณที่ทิ้งขยะ ก็พบว่าในบริเวณนั้นมีกลิ่นเหม็นมาก วิธีการกำจัดขยะยังคงใช้การฝังกลบและขยายพื้นที่มากขึ้น จนทำให้ชาวบ้านที่มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดและมันในรอบบริเวณใกล้ๆประสบปัญหา รวมทั้งบริเวณที่ทิ้งขยะอยู่สูงกว่าหมู่บ้าน เมื่อเวลาฝนตก น้ำจากกองขยะจึงไหลเข้าหมู่บ้านหลังจากดูพื้นที่และรับประทานอาหารแล้ว ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมพูดคุยกับชาวบ้านซึ่งมีทั้งตัวแทนชุมชน (ผู้ใหญ่บ้าน/อบต.) กลุ่มคนที่เดือดร้อน ซึ่งได้มาตอกย้ำถึงปัญหาของชุมชน
ในส่วนของผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มคน 6-7 กลุ่ม (กลุ่มเดียวกับวันแรก) ก็ได้ออกไปแสดงความคิดเห็นต่อปัญหาขยะที่ชุมชนประสบอยู่ รวมทั้งข้อเสนอแนะแก้ปัญหาที่อยู่ในบทสรุปของ อ.นิคม ชัยชุมพล จากมหาวิทยาลัยพายัพว่า 
ปัญหาขยะนี้จำเป็นต้องมี 5 ประสานคือ
(1) คนผลิตขยะ   ซึ่งต้องรับผิดชอบทั้งด้านการลดปริมาณขยะ และจำเป็นต้องจ่ายในการกำจัดขยะ
(2) ฝ่ายปกครอง ได้แก่ เทศบาล ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ได้ลงมาเห็นปัญหาชุมชนด้วยตนเอง และได้แสดงจุดยืนว่า จะร่วมมือแก้ไขไปพร้อมๆกับชุมชน
(3) ฝ่ายนักวิชาการ อันได้แก่ คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ซึ่งน่าจะเป็นตัวประสานความร่วมมือจากทุกๆฝ่าย
(4) ตัวชุมชนเอง ซึ่งผ่านประสบการณ์การต่อสู่มาอย่างเข้มแข็งและมีกำลังใจดี อย่างไรก็ตาม ชุมชนเองก็ต้องเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและเป็นตัวกระตุ้นการแก้ปัญหาเพราะเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรง

(5) ต้องมีการหนุนช่วยจากสื่อมวลชน    เพื่อให้ปัญหาของชุมชนกลายเป็นปัญหาของสาธารณะ เนื่องจาก "สาธารณะ" เป็นผู้สร้างขยะด้วย

และการประชุมสัมมนาครั้งนี้เป็นที่น่ายินดีว่ามีตัวแทนจากทั้ง 5 ฝ่ายมาพบปะพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันในระดับหนึ่ง

 
ทีมประสาน 

30 ก.ย. 2548

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 4960เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2005 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

1.นามสกุล อ.นิคม เป็น"ชัยขุนพล" คะ ข้าน้อยผู้ตรวจปรู๊ฟสมควรตาย

2.อยากเห็นรูปผู้เข้าร่วมนั่งรถอีแต๋นคะ

กาญจนา

  

       เรื่องจริงของลุงแป๊ะ
 


ของฝากจากเชียงใหม่ให้แด่ เทศบาลฯ. ทุกท่าน
เพื่อจะได้นำไปเป็นแนวทางในการสร้างท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้าและจะได้ไม่ต้องเสียเงินเปล่าเหมือนกับโครงการที่ผ่านๆมา  เป็นเรื่องจริงที่ไม่มีใครพูดถึง   วันนี้ลุงแป๊ะจะขอพูดในฐานะคนเคยทำงานเทศบาลมาถึง 15 ปี  เห็นบ้านเมืองในระบบการบริหารงานท้องถิ่นยังไม่ก้าวหน้าสมกับเวลาและงบประมาณที่สูญเสียไป  ยิ่งเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยแล้ว  เรียกว่าต้องเดินตามเมืองใหญ่ และรับความคิดจากสถาบัญฯต่างหรือจาก กระทรวงทรพย์ฯ ท่านผู้บริหารทั้งหลายท่านเคยประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมาบ้างหรือไม่ ว่าผลที่ได้คุ้มค่ากับเงินที่ต้องเสียไปหรือเปล่า   มาตามผมมาซิครับ..........

คนที่บอกว่าสามารถจะแก้ปัญหาขยะได้ด้วยวิธีการต่าง
ไม่ว่าองค์กรของรัฐ สถาบัญฯอันสูงส่ง หลายๆแห่งในประเทศและต่างประเทศหรือบริษัทเอกชน
มีใครที่กล้ารับประกันโครงการว่าถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาได้จะคืนเงินให้
และผู้เสนอโครงการยอมถูกลงโทษด้วยเหตุที่ไม่ศึกษาหาความรู้ให้ถ่องแท้และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องมากกว่าความเสียหายของประเทศชาติ
ดังโครงการต่างๆที่ผ่านๆมา (เจ้าหน้าที่ๆรับผิดชอบเคยได้ประเมินผลให้ประชาชนได้รู้หรือไม่)
แล้วท่านจะให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในสมัยท่านเป็นผู้บริหารท้องถิ่นอีกหรือ
ตื่นเถิดชาว เทศบาลฯ.
ท้องถิ่นและประเทศชาติต้องการคนมาช่วยสร้างความเจริญให้บ้านเมือง
คนที่หวังจะกอบโกยและต้องการหาผลประโยชน์ในบ้านเมืองเรานั้นมีมากจนกระทั่งทุกคนเห็นเรื่องที่ผิดพลาดมาแล้วเป็นเรื่องธรรมดาเพราะไม่ใช่เงินบรรพบุรุษของเขา
และลูกๆหลานๆที่จะเกิดมาในอนาคตก็ให้ไปแก้ปัญหากันตามยถากรรมเอาเองหรือไร
นี่คือประเทศไทย....เทศบาลไทย


เรื่องจริงของลุงแป๊ะ ( ฝากถึง ท่านนายกฯทุกท่าน)

มา ....มา หลานรักทุกคน
ใครสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมของประเทศหรือของโลก
มาหาความจริงในเรื่องเหล่านี้กันดีกว่า........ทุกวันนี้หลานรู้หรือไม่ว่าในประเทศไทยของเรานั้นเขาหากินกับสิ่งเน่าเหม็นกันอย่างสนุกสนานและทำเป็นธุระกิจที่สร้างผลประโยชน์อย่างมหาศาล

และก็โกงกินกันอย่างมีระบบแบบที่คนทั่วไปไม่มีใครสนใจ....ตามลุงมา

1.เรื่องของ ขยะ ทำไมถึงกำจัดไม่ได้ และไม่หมดเสียที
.....เพราะ
การฝังกลบ ( sanitary land fill ) หาผลประโยชน์โดย
การซื้อที่ดินถูกๆแล้วของบประมาณมากๆ
แบ่งกันตั้งแต่เจ้ากระทรวงจนถีงคนเก็บขยะ
ทำมาแล้วเป็นสิบๆปี
ไม่มีการเปิดเผยความจริงเพราะผู้รับผิดชอบได้ผลประโยชน์ร่วมกัน เคยรู้ไหมว่าน้ำใต้ดินซึมไปถึงไหน เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคเท่าไร ลุงอยากยกไปวางไว้ใกล้ๆบ้านคนที่เสนอโครงการ จะได้รู้สึกถึงปัญหาที่มีจริง

เตาเผาขยะ ( incinneration) เตาใหญ่ๆ อย่างภูเก็ต
สะมุย ทุ่งสง และเตาเล็กๆอีกมากมาย ใช้แล้วเกิดปัญหา
ไม่รู้ว่าคนที่ทำโครงการนี้เป็นใคร 30
เปอร์เซ็นไปเข้ากระเป๋าใครบ้าง
ใช้แล้วไม่ได้ผลแบบนี้ใครจะเป็นผู้ชดใช้ในความเสียหายที่เกิดขึ้น
น่าจับมายิงเป้าไหมหลานคนพวกนี้
ขยะนินจา {ninja system}
วิธีการนี้เป็นการกำจัดขยะแบบใหม่ที่ไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกัน
แต่มีที่ กรุงเทพฯ เอาขยะใส่ถุงแล้ววางหน้าบ้าน
จ้างบริษัทมาขนไปทิ้งกำแพงแสน นครปฐม ปีละ 3400 ล้านบาท
เชียงใหม่ ขนไปทิ้ง ลำปาง ลำพูน ตันละ 600บาท
และอีกหลายๆแห่งที่ทำตามแบบนี้
ซึ่งไม่คำนึงถึงปัญหาอะไรจะเกิดขึ้นกับใคร ไม่รู้ว่า30
เปอร์เซ้นใครเป็นผู้รับ ปากถึงพูดไม่ได้ อยากรู้จริง
ขยะบ้านลุง แล้วขนไปทิ้งบ้านหลานเอา หรือเปล่า
ช่วยบอกหน่อย
วิธีใหม่ล่าสุด ที่เชียงใหม่กำลังจะทำ 1400
ล้านบาท หลานๆคงจะได้เห็นคอยติดตาม
โดยการเอาขยะมาอัดด้วยความร้อนประมาณ200องศา จนหลอมละลาย
แล้วหลังจากนั้นก็นำไปแยกเอาของที่เป็นประโยชน์ไปใช้
และทำปุ๋ย
เรื่องนี้ลุงเรียนมาก็ยังไม่เคยเจอไม่กล้าให้ความเห็นมากกว่านี้
รู้แต่เพียงว่าทำไมต้อง ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก(สร้างมูลค่าทางการค้า)
ถ้าคิดว่าถ้าทำแล้วได้ผลค่อยจ่ายเงิน
ถ้าไม่ได้ผลก็ไม่ต้องจ่าย จะได้ไม่ต้องเสียค่าโง่บ่อยๆ
ส่วนเรื่องการจ่ายเปอร์เซ็นก็ให้ถือว่าเป็นค่าต๋งก็แล้วกัน
หลานว่าแบบนี้ดีไหม ช่วยกันออกความคิดหน่อย
2.น้ำเสีย { water pollution}
ทุกวันนี้น้ำเสียทุกคูคลอง หาวิธีแก้ยังไม่ได้ หมดเงิน
ไปมากมาย เช่นที่คลองด่าน กทม. และที่เล็กๆ ย่อยๆ
อีกมากมาย ทำกันอย่างประเทศไทย เป็นหนูตะเภา
เพราะเจ้าหน้าที่ของเราไม่รู้จริงและร่วมในขบวนการอภิมหาคอรัปชั่นด้วย
คนเหล่านี้หลานว่าน่า ตัดหัวเจ็ดชั่วคนดีไหม
ช่วยบอกลุงที
3.อากาศเสีย ( air pollution ) เป็นเรื่องยังไกลตัว
รออีกสักหน่อย ให้เป็น
มะเร็งในปอดหรือทางเดินหายใจมากๆก่อนค่อยมาหาวิธีแก้
หลานรักทั้งหลายโปรดจำไว้ด้วยว่าบรรพบุรุษของหลานเป็นคนไร้ซึ่งปัญญา
จีงไม่สามารถแก้ปัญหาอากาศเป็นพิษให้คนรุ่นหลังได้
และผู้ที่บริหารบ้านเมืองในสมัยนี้(เป็นใคร ชื่อ
นามสกุลอะไร
จดใส่หนัง-มาไว้)ก็ห่วงแต่ผลประโยชน์จนไม่คิดจะแก้ปัญหาไว้ให้คนรุ่นต่อไป.


เรื่องที่ลุงบอกมานี้ก็ไม่รู้ว่าหลานๆคนไหนจะสนใจเพียงใด

ถ้ายังรักสนุกและเพลิดเพลินในความเจริญรอบๆตัวอยู่ก็ฝากเรื่องเหล่านี้ไว้ให้ลูกๆของหลานได้รับต่อๆกันไป
หรือถ้าใครสนใจเปิดไปดู www.thailegs.com หรีออ่าน
ปัญหาสิ่งแวดล้อมแก้ได้ด้วยสมองของคนไทย ไม่ใช่โม้
ไม่ได้อ่านตำรามาตอบ หรือเอาแบบมาจากต่างประเทศ
นำความรู้ที่เรียนมาจากสาธารณสุขฯ มหิดลเมื่อ 2512
ลูกศิษย์ท่านศาสตราจารย์พิชิต สกุลพราหมณ์
ปรมาจารย์สิ่งแวดของเมืองไทย
ที่ได้ทำและทดลองด้วยมือและสมองมากกว่าการใช้ปากหรือยกเอาตำราฝรั่งมากางหรือใช้ตำรามาพูดโดยไม่ได้รุ้จริง....การแก้ปัญหาฯนั้นไม่ใช่จะทำไม่ได้ถ้ารู้จักรขวนขวายหาความรู้และประสบการณ์หลายๆสาขามาผสมผสาน

ที่ท่านเรียนมานะ เพียงสะเก็ดของความรู้เท่านั้น
ท่านด็อกเตอร์ทั้งหลาย อยากรู้ว่าที่พูดมา
โม้หรือไม่ โปรด ดูได้ใน www.thailegs.com
ดูให้ละเอียด อ่านแล้วไม่ get ยินดีให้วิจารย์
หรือจะมาดูของจริงก็ย่อมได้
เพราะเห็นผู้รู้ทั้งหลายแสดงถูมิปัญญาแล้วคันมือ
จึงต้องเขียนมาเพื่อให้ช่วยเปิดสนามการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมของไทย

จะได้เป็นขุมพลังในการแก้ปัญหา
โดยไม่ต้องคอยแต่ตามก้นฝรั่ง
ที่เขียนมานี่ไม่ใช่จะอวดเก่งแต่อยากเจอคนที่เก่งจริงๆไม่ใช่ประเภทเก่งตามตำรา

ก็ลองคิดดู ทำเสร็จมาตั้งแต่ 2545
ผู้รู้หลายท่านได้มาชม ทุกคนบอกว่าดี
แต่หาคนนำไปต่อยอดไม่มี
เพราะวิธีแบบนี้ไม่มีในตำราเล่มไหนในโลกนี้
เรื่องแบบนี้คนที่มีหน้าที่โดยตรงก็ตาบอด
จึงเป็นเหตุให้ต้องดับเครื่องชน..อย่าว่าลุงนะหลาน...เพราะอยากทำเพื่อชาติไม่ใช่ทำเพื่อกระเป๋า...เงินทุกบาท....เวลาทุกนาที...สมองและประสบการณ์ที่มีอยู่ทุ่มให้อย่างไม่เหน็ดเหนื่อ

เพื่อหวังแก้ปัญหาของประเทศ..อนิจจาสังคมไทย............จะเห็นผู้กล้าตอนร่างไร้วิญญาน.................
 
      ปล.    ท่านเลขาฯ เปิดอ่านแล้วช่วยสำเนาไปให้นายกฯได้อ่านด้วย หรือบริษัทกำลังแผ่นดินจำกัด(ชื่อไพเราะดีอย่าให้ใครไปเติมตรงกลางนะ)ช่วยหาวิธีส่งข้อความไปถึงผู้บริหารทุกท่านด้วยจะได้ตาสว่างทั้งกลางวันและกลางคืนเสียที........

 


 

5ปีผ่านไป ประเทศไทยมีแนวทางแก้ปัญหาขยะได้หรือยัง โครงการที่เขียนแผนงานที่ได้ประชุม นักวิชาการที่ได้ร่วมแสดงความเห็น วันนี้ท่านได้ทำอะไรสำเร็จไปบ้าง 5ปีที่ได้ผ่านไปคำพูดของท่าน ข้อคิด ข้อเสนอแผนงานของท่าน มีตรงไหนที่วันนี้ได้นำไปใช้ได้บ้าง นักวิชาการที่มีชื่อเสียงเรียงนามในข้างต้น วันนี้ท่านยังติดตามเรื่องการกำจัดขยะอยู่อีกหรือเปล่า ปัญหาที่ท่านเคยเสนอ เคยพูดยังไม่สำเร็จท่านอยู่ไหนออกมาติดตามงานต่อ ถ้าท่านยังมีไฟ ลุงอยากเชิญให้มาดูของจริง ทำจริง แนวทางที่ทำได้จริง ไม่ต้องทำวิจัยให้เปลืองงบฯ แนวความคิดที่เป็นธรรมชาติเป็นหลักความจริงที่ทุกคนทำได้ เพียงแต่เรามาเริ่มแก้ไขในสิ่งผิดๆที่แล้วๆมากว่า50ปีที่ผ่านมา เรามาเริ่มเรียนรู้ความจริงเรื่องขยะกันใหม่ มาดูวิธีที่จะทำขยะทุกชนิดให้มีประโยชน์ แล้วมีคุณค่า ขอเรียนเชิญทุกท่านมาที่ ไร่ส้ม อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี กรุณามาพร้อมๆกันเพราะจะได้ไม่เสียเวลาอธิบาย (แจ้งณ.วันที่ 12/9/2553)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท