หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : การบูรณาการข้ามสาขา (ข้ามคณะ) และการกระตุ้นให้ชาวบ้าน "คิด ตัดสินใจ ลงมือทำด้วยตนเอง"


กระบวนการเช่นนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะสะท้อนให้เห็นว่าชาวบ้านยังคง “รู้ตัวตนของตนเอง” เป็นอย่างดี สามารถบอกเล่าและอธิบายถึง “ศักยภาพ” เหล่านั้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่หลงลืม หรือละเลยที่จะบอกเล่า-

การจัดเวทีประชุมในวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว มีความน่าสนใจอยู่หลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นความร่วมมือของสาขา หรือหลักสูตรจากต่างคณะ และการเปิดเวทีให้ชุมชนได้ “ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมลงมือทำ และรับผิดชอบ” (เป็นเจ้าของ)

 

 

เกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือของสาขาจากต่างคณะนั้น  ประกอบด้วยการทำงานร่วมของสาขาสารสนเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ และสาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  โดยสาขาสารสนเทศศาสตร์  เป็นการดำเนินงานในกิจกรรม “1 หลักสูตร 1 ชุมชน”  ในโครงการ “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน อบต.หนองบัว” ซึ่งมี ดร. ฉันทนา เวชโอสถศักดา เป็นผู้รับผิดชอบหลัก

ส่วนสาขาพัฒนาชุมชน เป็นโครงการ “วิจัยแนวทางการพัฒนาความเข้มแข็งกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง” มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูพักตร์ สุทธิสาร เป็นผู้รับผิดชอบหลัก และเป็นการขับเคลื่อนต่อเนื่อง (ต่อยอด) จากปี 2554  ตามนโยบาย “1 คณะ 1 ชุมชน” 

 



การจัดเวทีร่วมกันเช่นนี้ถือเป็นการบูรณาการในอีกมิติหนึ่งของการบริการวิชาการแก่สังคม  แทนที่จะจัดคนละเวที  แทนที่จะจัดคนละครั้ง ก็ผนึกเข้าเป็นเวทีเดียวกัน เชื่อมร้อยประเด็นเข้าสู่ทิศทางเดียวกัน  เพื่อร่วมสร้างกลไกให้ชุมชนเกิดการตื่นตัวที่จะวิเคราะห์ตัวเองไปสู่การสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนได้ด้วยตนเอง

 

การจัดเวทีร่วมกันของสองสาขาจากต่างคณะเช่นนี้  อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการลดทอนความซ้ำซ้อนในเรื่องเวลาและจำนวนครั้งของการประชุม  เรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกกลับมาถึงสองตัว  ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกกลไกหนึ่งในการทำงานร่วมกันในชุมชนเดียวกัน แทนที่จะต่างคนต่างทำ ก็หันกลับมาผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้ชุมชนได้ร่วมเรียนรู้ไปอย่างมีระบบ ไม่สับสนวุ่นวายกับการแยกแยะและรับมือกับผู้มาเยือนอย่างมหาวิทยาลัย

 

 

 


ทบทวนการเรียนรู้...สู่การประยุกต์ใช้


ก่อนการเวทีการเรียนรู้ร่วมกันจะเปิดตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย  ดร.ฉันทนา  เวชโอสถศักดา ถือโอกาสประชุมชี้แจงกับนิสิตในภารกิจที่กำลังจะมีขึ้น  เรียกได้ว่าเป็นการปฐมนิเทศก็ว่าได้  ซึ่งประกอบด้วยประเด็นสำคัญๆ เช่น  ชี้แจงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น  จากนั้นจึงมอบหมายภารกิจแก่นิสิต อาทิ การบันทึกภาพ จดบันทึก  ลงทะเบียน ต้อนรับขับสู้ เสมือนเป็นเจ้าภาพไปในตัว ฯลฯ 

 

 

กระบวนการเช่นนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง  เพราะจะช่วยให้นิสิตเข้าใจบทบาทและสถานะของตนเอง  เข้าใจในหน้าที่ของแต่ละคนที่ต้องถือปฏิบัติ  เป็นการจัดวางระบบความเป็นทีมในการทำงาน  เสมือนการสะท้อนให้รู้ว่าการลงมือทำสิ่งใดในแต่ละครั้ง ต้องมีความชัดเจนในเรื่องของ “วัตถุประสงค์และเป้าหมาย” เหมือนเรือที่แล่นออกจากฝั่งอย่างมีหางเสือ  และมองเห็นอีกฟากฝั่งหนึ่งที่เป็นจุดหมายอย่างชัดเจน

 

 

จนในที่สุดเมื่อชาวบ้านหรือแม้แต่แกนนำชาวบ้านเดินทางมาถึง  นายก อบต.หนองบัวจึงทำหน้าที่เป็นผู้แทนกล่าวทักทายและนำเข้าสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  โดยเริ่มจากการทบทวนถึงสิ่งที่ได้รับจากการศึกษาดูงานเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2555 ณ สำนักวิทยาบริการมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งหลักๆ ก็ถามทักอย่างเป็นกันเองในทำนองว่า “เห็นอะไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร รวมถึงการจะนำอะไรมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับศูนย์การเรียนรู้ที่กำลังจะสร้างขึ้นบ้าง...”

 

 

และโดยส่วนใหญ่มักสะท้อนแนวคิดที่สอดคล้องกันแทบทั้งสิ้น  นั่นก็คือความประทับใจกับระบบข้อมูลของศูนย์สิรินทรที่สามารถสืบค้นได้อย่างสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 

รวมถึงความตื่นตาตื่นใจเกี่ยวกับ “มรดกวัฒนธรรมอีสาน”  ที่จัดแสดงไว้อย่างหลากหลาย ทั้งๆ ที่หลายสิ่งหลายอย่างก็มีในชุมชนของตนเอง แต่ชาวบ้านยังนึกไม่ออกว่าจะหยิบยกให้เกิดมูลค่าได้อย่างไร 

และที่สำคัญอีกประการก็คือการสะท้อนมุมมองแห่งการชื่นชอบถึงเรื่อง "นิทรรศการ” ข้าวของเครื่องใช้ในแบบ “อีสานๆ”  ที่จัดแสดงไว้อย่างเป็นรูปธรรม มีตัวอย่างที่หลากหลายทั้งของจริงและของจำลอง  ซึ่งแต่ละชนิดล้วนมีคำอธิบายเกี่ยวกับ “ขั้นตอนการผลิต" ในแต่ละกระบวนการอย่างเด่นชัด บางอย่างชัดเจนกว่าการบอกเล่าของชาวบ้านด้วยซ้ำไป

 

 

นอกจากนั้นจึงระดมความคิดร่วมกันว่าศูนย์การเรียนรู้ที่จะจัดทำขึ้นนั้น  ชาวบ้าน หรือชุมชนต้องการสิ่งใดบ้าง  โดยประมวลจากสิ่งที่พบเห็นมาจากที่ต่างๆ เป็นต้นว่า สิ่งที่พบเจอจากการทัศนศึกษาดูงาน  สิ่งที่เป็นประสบการณ์ตรง หรือปัญญาปฏิบัติของตนเอง รวมถึงการจินตนาการด้วยก็ไม่ผิด  ซึ่งหลักๆ ชาวบ้านก็มีมุมมองคล้ายกัน คือ

  • อยากให้จัดแสดงข้อมูลประวัติศาสตร์ท้องถิ่น/ชุมชน 
  • อยากให้มีข้อมูลและนิทรรศการของจริงเกี่ยวกับข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน หรือแม้แต่วิถีอาชีพ เช่น การทำนา จับปลา เลี้ยงสัตว์
  • อยากให้มีข้อมูลและภาพถ่ายเกี่ยวกับปราชญ์ชาวบ้าน
  • อยากให้มีข้อมูลและภาพถ่าย หรือภาพวาดเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรม สถานที่สำคัญของชุมชน
  • อยากมีระบบข้อมูลสารสนเทศที่เป็นรูปธรรม สืบค้นได้ง่าย และเผยแพร่ไปยังสังคมภายนอกได้อย่างกว้างไกล
  • อยากให้ศูนย์การเรียนรู้เป็นแหล่งรวบรวมและถ่ายทอดความรู้อันเป็นภูมิปัญญา หรืออัตลักษณ์ของชุมชนตำบลหนองบัว
  • ฯลฯ

 

 

 

วิเคราะห์ตัวตน ...ตั้งชื่อศูนย์
และจัดวางแบบแผนการดำเนินงานร่วมกัน



เมื่อกระบวนการระดมความคิดเรื่องศูนย์การเรียนรู้ในฝันได้ยุติลง ก็ได้เวลาของการ ”วิเคราะห์ตัวตน” ของชุมชนว่า “แต่ละหมู่บ้านมีจุดเด่น/ศักยภาพ” อย่างไร  เพื่อให้รู้ว่าแต่ละหมู่บ้านมีทุนทางสังคมอย่างไร จะได้จัดวางระบบการเก็บข้อมูล เพื่อนำกลับเข้าสู่ศูนย์การเรียนรู้ร่วมกันให้ได้มากที่สุด  

ซึ่งผู้เข้าร่วมการประชุมต่างสามารถสะท้อนข้อมูลชุมชนของตนเองได้อย่างลื่นไหลและแจ่มชัดอย่างน่ายกย่อง  เป็นต้นว่า

  • ชุมชนบางชุมชนมีความโดดเด่นเรื่องเครื่องจักสาน (หญ้าลังกา)
  • บางชุมชนโดดเด่นเรื่องพานบายศรี
  • บางชุมชนโดดเด่นเรื่องสมุนไพรและหมอยา  
  • บางชุมชนโดดเด่นเรื่องดนตรีและนาฏศิลป์ 
  • หรือแม้แต่บางชุมชนโดดเด่นด้วยเรื่องการประมง เป็นต้น

 

 

กระบวนการเช่นนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะสะท้อนให้เห็นว่าชาวบ้านยังคง “รู้ตัวตนของตนเอง”  เป็นอย่างดี สามารถบอกเล่าและอธิบายถึง “ศักยภาพ” เหล่านั้นได้อย่างเป็นรูปธรรม  ไม่ใช่หลงลืม หรือละเลยที่จะบอกเล่า-

นอกจากนั้นกระบวนการที่ว่านี้ยังช่วยกระตุ้นให้ชาวบ้านได้มองเห็น “คุณค่าตัวเอง” ไปในตัว  บางเรื่องสูญหายไปแล้ว แต่ยังอยู่ในความทรงจำ ก็พร้อมที่จะนำพากลับไปสู่การสืบค้นอย่างไม่อิดออด  เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และภาคภูมิใจในสายธารประวัติศาสตร์ของตนเอง  ขณะบางเรื่องที่ยังคงหลงเหลืออยู่  ก็พร้อมเสมอกับการเป็นฟันเฟือง  เพื่อหนุนนำให้มีการต่อยอดและยืนหยัดสู่การเป็นมรดกวัฒนธรรมของชุมชนสืบไปอย่างไม่สิ้นหวัง

 

 

 

และที่สำคัญเลยก็คือ กระบวนการสำรวจผ่านเวทีเช่นนี้  ไม่เพียงทำให้รู้ “สถานะทางข้อมูล” อันเป็น “ทุนเดิม” ของแต่ละหมู่บ้านเท่านั้น  แต่ยังเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้ชาวบ้านตื่นตัวและมีพลังในการที่จะขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ร่วมกัน มีความกระหายที่จะเรียนรู้และเปิดใจที่จะให้ข้อมูลโดยไม่อำพรางซ่อนงำ   เพราะหลายฝ่ายต่างเชื่อมั่นว่ากิจกรรมที่มีขึ้นนั้น  จะก่อเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนของตนเองอย่างไม่ต้องสงสัย  รวมถึงต่างฝ่ายต่างยึดประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง  ยิ่งในช่วงของการ “โสเหล่”  เพื่อให้ได้มาซึ่งชื่อ “ศูนย์การเรียนรู้”  นั้น จะเห็นได้ชัดเจนว่าบรรยากาศเป็นด้วยความชื่นมื่น  สนุกสนาน และเป็นกันเอง  ต่างคนต่างช่วยกันเสนอชื่อและลงคะแนนเสียงร่วมกัน จนในที่สุดก็ได้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดภูมิปัญญาตำบลหนองบัว”

 

 

ถัดจากนั้นก็ระดมกำลังแต่งตั้งคณะทำงานในระดับชุมชน  ผูกโยงถึงการจัดทำแผนร่วมกัน  เป็นต้นว่า  การกำหนดปฏิทินในการเก็บข้อมูลในแต่ละหมู่บ้าน  รวมถึงการมอบหมายภารกิจให้กับแกนนำชาวบ้านของแต่ละหมู่บ้าน  เพื่อรับผิดชอบเป็นผู้ประสาน และทำการขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ร่วมกับนิสิตและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยฯ

 

  

 

 

บทสรุป

ด้วยเหตุนี้ จึงอาจนับได้ว่าเวทีการประชุมดังกล่าว เป็นปรากฏการณ์แห่งการบูรณาการที่น่าสนใจไม่แพ้โครงการอื่นๆ  เพราะเป็นการผนึกกำลังทะลุมิติของวิชาชีพจากต่างคณะ ลดทอนเวทีที่ซับซ้อนให้กับชาวบ้าน  นิสิตจากต่างสาขาและต่างคณะได้เรียนรู้ร่วมกันโดยมีชุมชนเป็นฐานหลักของการเรียนรู้ 

นอกจากนี้ยังเปิดเวทีให้ชาวบ้านและนิสิตได้เรียนรู้ร่วมกัน  ขณะที่ชาวบ้านก็ชัดเจนกับการถอดบทเรียน หรือทบทวนความรู้จากมิติต่างๆ มาประยุกต์ใช้จริงกับตนเองและชุมชน รวมถึงได้กำหนดวิถีปฏิบัติในนามศูนย์การเรียนรู้ฯ ด้วยตนเองอย่างเสร็จสรรพ ทั้ง “ริเริ่มคิด ตัดสินใจ...ลงมือทำ” หรือแม้แต่ “รับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตนเอง” ไปพร้อมๆ กัน

 

หมายเลขบันทึก: 495849เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2012 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2012 23:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณค่ะเป็นบันทึกที่มีคุณค่ามาก  ชลัญเข่้ามา blog ของอาจารย์ แล้วไม่เคยผิดหวัง  ชอบ ประโยคนี้ "

 "เหมือนเรือที่แล่นออกจากฝั่งอย่างมีหางเสือ  และมองเห็นอีกฟากฝั่งหนึ่งที่เป็นจุดหมายอย่างชัดเจน"

สวัสดีครับ คุณ ชลัญธร

นี่แทบจะเป็นวันแรกๆ ในรอบหลายวันที่ชีวิตมีโอกาสได้นั่งสูดลมหายใจกับแดดเช้าอ่อนๆ และสายลมรวยระริน เนื่องจากว่างเว้นจาการลงพื้นที่ รวมถึงการรู้แก่ใจว่าทั้งสัปดาห์ผมงดการสอน เพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้ด้วยตนเอง...

เหมือนเรือที่แล่นออกจากฝั่งอย่างมีหางเสือ และมองเห็นอีกฟากฝั่งหนึ่งที่เป็นจุดหมายอย่างชัดเจน

ประโยคข้างต้น

ผมบอกเล่ากับนิสิตในชั้นเรียนบ่อยมาก  เพราะผมอยากให้นิสิตทบทวนทิศทางการใช้ชีวิตในแต่ละวัน  ไม่อยากให้เขาเหมือนเรือที่แล่นจากออกจากฝั่ง  แต่ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน อย่างไร...อย่างน้อยมันจะช่วยให้เขามีสมาธิกับสิ่งที่เรากำลังเรียนรู้ หรือเติบโตในถนนสายนั้น อย่างน้อยก็ในห้วงสั้นๆ นั้น...

ขอบคุณครับ

ร่วมคิด..ร่วมใจ..ร่วมทำ..ล้วนนำสังคมสู่ความสุข..ชื่นชมมากค่ะ..

ขอบคุณครับพี่ใหญ่...(นงนาท สนธิสุวรรณ)

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับกับวาทกรรม "ร่วมคิด-ร่วมใจ-ร่วมทำ"

 

นอกจากนั้นกระบวนการที่ว่านี้ยังช่วยกระตุ้นให้ชาวบ้านได้มองเห็น “คุณค่าตัวเอง"

ชอบกระบวนการนี้มากนะคะอาจารย์ เพราะแอบคิดไปไกลว่าปัญหาสังคมหลายๆ เรื่องที่เกิดขึ้นในขณะนี้ส่วนหนึ่งก็คงเนื่องมาจากการไม่ตระหนักถึงคุณค่าในตัวเองของคนเรา

หากเรามองเห็นศักยภาพตรงนี้ความมั่นใจในการดำเนินชีวิตจะตามมา การยืนหยัดด้วยตนเอง ความหวัง ความฝัน จะต่อยอดจากตรงจุดนี้ และการพัฒนาตนและรอบข้างเพื่อการเป็นอยู่ที่ดีขึ้นก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

กิจกรรมเหล่านี้จึงมีค่าต่อสังคมจริงๆ ค่ะ ขอชื่นชมผู้มีส่วนร่วมอย่างจริงใจค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท