ยามที่มีเวลาคิด


กระบวนการพัฒนาต้องสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิก เพราะสมาชิกจะเป็นผู้บอกทิศทางของกลุ่ม หากกลุ่มเล็กๆมีคุณภาพเมื่อนำมารวมตัวกันเป็นเครือข่ายก็จะเข้มแข็งมีประสิทธิภาพในการทำงาน

เมื่อได้รับหน้าที่ในการคุมสอบทำให้มีเวลาว่างได้คิดโน่นคิดนี่ แต่ที่ลืมไม่ได้คือคิดเรื่องงานวิจัย เพราะเมื่อตอนที่จัดแบ่งกลุ่มเพื่อหาเป้าหมายในทีมเรา (ในคลองบางปลากด) ก็มีความคิดกันว่าเป้าหมายที่มีอยู่ตอนนี้มันเป็นไปได้ไหม เพราะจากสภาพจริงที่เกิดขึ้นกองทุนที่มีความสนใจจะเข้าร่วมจริงๆมีเพียง ๙ กองทุน (แต่ในความคิดของนักวิจัยทำทั้ง ๑๓ กองทุนน่าจะมีความเป็นไปได้) เพราะจากการที่ออกไปสัมภาษณ์(ประธานกองทุนและคณะกรรมการกองทุน)มีความเห็นดีด้วยกับการทำงานของเครือข่าย ยกเว้นทางหมู่ ๒ ที่มความคิดว่าเครือข่ายที่มีอยู่มีแต่หน้าที่ไม่มีอำนาจ แต่ก็ยินดีให้ความร่วมมือ

ด้วยความที่ในคลองบางปลากดมีความเป็นอยู่แบบชาวเมืองเวลาก็จะถูกใช้ไปกับการประกอบอาชีพหารายได้เพื่อจุนเจือครอบครัวและกิจกรรมอื่นๆเสียมาก ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ก็เป็นแบบกระจายเนื่องจากมีถนนที่ตัดเข้ามาทำให้คนแม้จะอยู่หมู่เดียวกันแต่ไม่มีความสัมพันธ์กัน หรือแม้กระทั่งบางบ้านอยู่ข้างๆกันยังไม่รู้จักกันเลยก็มี จากสาเหตุนี้เองที่ทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชนเองก็มีน้อย แต่ก็มีบางชุมชนที่มีการรวมตัวกันก็จะมีกิจกรรมเกิดขึ้นได้พอสมควรแก่โอกาส เมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนเกษตรกรรมที่เคยผ่านมาก็จะพบว่าปัญหาจะแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นต้องหาวิธีการใหม่ๆในการเข้าหาชุมชน เพื่อจะทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม

วิธีการที่ตอนนี้คิดได้คือการจัดตลาดนัดความรู้ อย่างที่เคยจัดกันที่อบต.ในคลองบางปลากด แต่ตลาดนัดนี้จะเป็นแบบสัญจรและกลุ่มของผู้ซื้อผู้ขายเป็นขนาดเล็กๆ (ที่ต้องทำแบบเล็กๆเพื่อให้เข้ากับบริบทชุมชนทีเป็นอยู่ในปัจจุบัน) การจัดตลาดนัด ๑๓ กองทุน(ทำแบบเอาแต่ใจตัวเองว่าต้องทั้งหมด) ที่มีขนาดเล็กนั้นจะใช้วิธีการเจาะเข้าไปในแต่ละกองทุนในวันทำการกองทุนเพื่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนู้ ผู้ที่จะเข้าไปซื้อขายอาจจมีการหมุนเวียนกันไปตามแต่ความสนใจ (เพราะเท่าที่เรียนรู้มาพบว่าการทำการจัดการความรู้ได้นั้นต้องอาศัยการเปิดใจรับฟังและการยอมรับสิ่งที่บุคคลอื่นกระทำไว้ดีแล้วเป็นสำคัญ) เมื่อคนเราเปิดใจรับฟัง(ทำตนเป็นคนแก้วว่างก็พร้อมที่จะรับสิ่งใหม่เข้าเข้ามาได้ไม่ยากนัก)กระบวนการต่างๆก็จะขับเคลื่อนไปได้ สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นในตลาดนัดก็ตือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการดำเนินการบริหารจัดการกองทุนเพื่อให้ได้เป็นบทเรียนที่ดีสำหรับกองทุนอื่นที่เกิดปัญหาเหมือนกัน

ความรู้ที่จะนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันคงจะต้องเป็นไปตามความพอใจของแต่ละคนที่จะมารับไป แต่ก็จะมีกรอบใหญ่ที่จะให้ก้าวไปเพื่อให้ถึงจุดหมายเดียวกันอยู่คือการพัฒนาทั้งทางด้านการบริหารจัดการกองทุน ด้านการสนับสนุนกองทุนของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรท้องถิ่นจนกระทั่งถึงองค์กรภาคประชาชน ด้านการมีส่วนร่วมของสมาชิก(ทั้งในระดับกองทุนและระดับเครือข่าย)ที่เป็นฐานรากของกองทุนผู้ที่มีความสำคัญที่สุดว่าจะบังคับหันหางเสือของเรือให้แล่นไปทางไหน คณะกรรมการก็จะเป็นเพียงใบพัดของหางเสือเรือที่จะคอยพัดหมุนให้เรือเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ส่วนนักวิจัยก็เป็นเพียงพลังงานนิดๆหน่อยที่จะทำให้เรือของเครือข่ายได้แล่นไปข้างหน้า แต่อย่างว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นทรัพยากรที่หมดแล้วหมดเลย ดังนั้นทางเครือข่ายหรือแม้แต่กระทั่งแต่ละกองทุนเองคงจะต้องหาพลังงานไว้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้แล้วมีแต่จะหมดไปด้วยตนเองจึงจะทำให้การดำเนินงานเครือข่าย กองทุนอยู่ยังยืนและมีประสิทธิภาพต่อไป

หมายเลขบันทึก: 4948เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2005 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยครับ
อาจจะเริ่มจากการทบทวนเป้าหมายของแต่ละกองทุนว่ากรรมการซึ่งเสียสละมาทำงานกันนั้นหวังสิ่งใด และทบทวนดูว่ามีความรู้ดีๆอะไรอยู่บ้าง เป็นการจัดทำเป้าหมายของแต่ละกลุ่มให้ชัดเจนใหม่ขณะเดียวกันก็จัดตลาดนัดความรู้เล็กๆน้อยๆไปด้วย โดยลงลึกเข้มข้นแต่ละกองทุน อาจจัดในวันทำการหรือวันประชุมกรรมการให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชน
ทีมคุณอำนวยมีบทบาทเป็นทีมกระบวนการ ทั้งนำกระบวนการบนเวที การบันทึก(เขียน เสียง ภาพ)
เท่าที่เห็น คุณวิจัยจำเป็นต้องจัดเวทีเฉพาะคุณอำนวยเพื่อทำความเข้าใจภาพรวมโครงการ(แนวคิดการจัดการความรู้-พัฒนาและวิจัย ติดตามได้ในgotoknow.org/km4fc) และบทบาทของคุณอำนวย(ซึ่งถือว่าเป็นนักเรียนด้วยเช่นกัน เพราะคุณอำนวยก็ต้องประเมินตนเองตลอดกระบวนการของโครงการตามตารางอิสรภาพ) เมื่อเข้าใจร่วมกันแล้วจึงจะสามารถลงพื้นที่สนับสนุนกองทุนแต่ละกองทุนได้อย่างมีพลังและมีประสิทธิภาพ(ใครสนใจเป็นคุณอำนวยต้องเกาะติดอย่างต่อเนื่องเป็นรายบุคคลเลย)

การทำอย่างนี้ จะพบว่าเป้าหมายของแต่ละกองทุนจะไม่เท่ากัน คุณอำนวยก็จัดกระบวนการพัฒนาให้สอดคล้องกับเป้าหมายของแต่ละกองทุน อาจจะเรียนรู้จากกันและเรียนรู้จากที่อื่น       ที่เสนอเป้าหมายร่วมในวันที่29ควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามความเป็นจริง มีบางเป้าหมายร่วมกันได้ก็ร่วมกันเรียนรู้เช่น การตั้งกองทุนสวัสดิการวันละ1บาท เป็นต้น
สรุปคือ เสนอให้ทีมสมุทรปราการจัดทัพพัฒนาให้เป็นระบบ
1)ทัพคุณอำนวยและคุณวิจัย มีใครบ้าง เป้าหมาย? บทบาท?ชัดเจน ต่อเนื่อง
2)ทัพกองทุนแต่ละกองทุน มีเป้าหมายอย่างไร มีคนทำงานร่วมเรียนรู้เพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างต่อเนื่องกี่คน นั่นแหละคือนักเรียนจัดการความรู้(คุณกิจ)ของโครงการ
3)เป้าหมายร่วมของเครือข่ายเท่าที่ดูยังไม่มี ถ้าพัฒนาจากฐานกองทุนและสมาชิกในแต่ละแห่งให้เข้มแข็งก่อน จากนั้นจึงมาดูเป้าหมายระดับเครือข่ายน่าจะเป็นกลวิธีที่สอดคล้องกับบริบทของในคลองบางปลากดครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท