สร้างวัฒนธรรมใหม่“ห้องเรียนเป็นสำคัญ”


แต่ละวันของการทำงานทั้งผู้บริหารและครูจิตใจต้องจดจ่ออยู่กับห้องเรียน ห้องไหน เป็นอย่างไรแล้วบ้าง ปัญหาอุปสรรค ความสำเร็จ เมื่อวานเพราะอะไร วันนี้จะใช้วิธีใด จึงจะเหมาะสมกว่าหรือสนองการเรียนรู้ของเหล่าลูกศิษย์ได้ทันท่วงที อาจเป็นสัปดาห์ละครั้งที่ผู้เกี่ยวข้องจะพูดคุยกันถึงเรื่องเหล่านี้ เมื่อได้ทางออกหรือแนวทาง ก็ไปเริ่มไปลองกันใหม่อีกในชั้นเรียน

สารพันปัญหาเกี่ยวกับการจัดการศึกษาบ้านเราที่หลายคนรู้ ในมุมมองครูผู้สอนคนหนึ่งหนักหนาสาหัสครับ ที่สำคัญเมื่อพิจารณาแนวโน้มหรือเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อๆไป ก็ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อยู่ดี วิธีหรือแนวทางการปรับปรุงแก้ไขที่คิดและลงมือกระทำกันนั้น เหมือนไม่กล้าแตะตัวปัญหาอย่างจริงจัง อาจเพราะลูบหน้าแล้วปะจมูก หรือก็เห็นว่ายากเช่นกันที่จะเยียวยาต้นตอให้เห็นผลในเร็ววัน นักการเมืองผู้หวังเพียงคะแนนเสียงอย่างรีบเร่ง และปัญหาคอร์รัปชั่นที่รุนแรงน่าจะเป็นเหตุสำคัญ คงไม่ต้องกล่าวหากันเลยเถิดขนาดว่า “บางกลุ่มบางพวกก็อาศัยความไม่รู้ของคนนั่นเองทำมาหากิน”

อันที่จริงตัดพ้อเรื่องเหล่านี้พร้อมฟ้องสาธารณชนมาหลายวาระแล้ว อาทิ เสียงสะท้อนจากครูกังวล-สับสน ศธ.ดึงเทคนิคกวดวิชามาใช้? , เอกภาพ อำนาจ และนักการเมืองกับการถ่ายโอนโรงเรียน , กวดวิชา"Tutor Channel"ถูกต้องหรือถูกใจ? ฯลฯ ก็ได้บ่นระบายบ้าง หลายคนที่ไม่รู้อีกแง่มุมหนึ่งก็อาจรับรู้ การเปลี่ยนแปลงซึ่งหวังให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ผู้ปฏิบัติรู้อยู่เต็มอก ก็มีที่ถูกทิศถูกทางขึ้น

ล่าสุดสรุปปัญหาการจัดการศึกษาที่เคยวิพากษ์วิจารณ์ให้กับเพื่อนครูรุ่นพี่คนหนึ่ง ซึ่งบอกกล่าวให้เขียนเพื่อนำเสนอระดับบริหารตามที่ท่านกำลังจะมีโอกาสเข้าพบ ตัวเองบันทึกไว้อย่างนี้ครับ

  • การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามพ.ร.บ.การศึกษาหรือหลักสูตร ไม่ก้าวหน้าอย่างที่ควร น่าจะมีสาเหตุใหญ่มาจากระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และเกณฑ์ประเมินคุณภาพโรงเรียนด้วยผลสอบโอเน็ตโดยสมศ. นอกจากนั้น วัฒนธรรมไทยเองบางอย่าง อาทิ เด็กไม่ควรเถียงผู้ใหญ่ ลูกน้องไม่ควรเถียงเจ้านาย ฯลฯ ก็น่าจะเป็นสาเหตุด้วย ที่สำคัญดูจะแก้หรือเปลี่ยนแปลงยากมาก
  • เมื่อการจัดการเรียนการสอนเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามพ.ร.บ.การศึกษาหรือหลักสูตรไม่ก้าวหน้าอย่างที่ควร เสียงบ่นเกี่ยวกับนร.คิดวิเคราะห์-สังเคราะห์ไม่เป็น จึงยังคงก้องกังวานต่อไป ผลการวัดในระดับนานาชาติหรือPISA เราก็คงรั้งท้ายชาติอื่นอีกเรื่อยๆ ซึ่งทำให้การแข่งขันด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของบ้านเราสู้เขาไม่ได้
  • การถ่ายโอนโรงเรียนไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หลักการดี แต่การปฏิบัติยังเป็นปัญหาอยู่มาก โรงเรียนไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับก่อนโอน เพราะท้องถิ่นไม่ลึกซึ้งหรือไม่เข้าใจถ่องแท้ เหตุเพราะการศึกษาไม่อาจเห็นผลรวดเร็วอย่างที่นักการเมืองต้องการ
  • งานครูที่โรงเรียนมากเกินไป หมายถึง มากกว่าเวลาที่มีในแต่ละวัน จนกระทั่งอาจทำให้ครูหลายคนละเลยการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเป็นหัวใจหรือเป็นหน้าที่หลักของตนเอง อันจะส่งผลต่อการจัดการศึกษาของชาติโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  • ช่วงเวลานี้ การติว การกวดวิชา หรือการสอนพิเศษ ซึ่งไม่ใช่วิถีตามที่หลักสูตรหรือพ.ร.บ.การศึกษากำหนด กำลังระบาดหนักเข้าไปในโรงเรียน หรือเข้าไปถึงการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนปกติแล้ว สาเหตุหลักน่าจะมาจากการวัดมาตรฐานโรงเรียนด้วยผลสอบโอเน็ต
  • การจัดการเรียนรู้ในโรงเรียน ซึ่งจัดตามหลักสูตร เน้นเนื้อหาสาระมากเกินไป จนกระทั่งโรงเรียนไม่สามารถปลูกฝังกระบวนการเรียนรู้ซึ่งเป็นหัวใจให้กับเด็กๆได้ นอกจากนั้นเวลาเรียนอันมากมาย(หรือทั้งวันของเด็กๆ)ทั้งที่โรงเรียนและไม่ใช่ นับเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อกระบวนการพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ พัฒนาจิตใจให้เป็นคนดี อยู่ในศีลธรรมจรรยา รวมถึงสร้างความตระหนักในเรื่องศิลปะ ดนตรี และกีฬา ฯลฯ ซึ่งจะนำไปสู่สุนทรียภาพ และสุขภาพที่แข็งแรง เกิดสังคมที่น่าอยู่อย่างที่ทุกคนปรารถนา
  • การประเมินคุณภาพโรงเรียนหรือการประเมินอื่นๆซึ่งเกิดขึ้นที่โรงเรียนในปัจจุบันมีมากมายหลายอย่าง ส่วนใหญ่เน้นประเมินที่เอกสาร ทำให้ครูมีภาระนอกเหนือจากการสอนเพิ่มขึ้น แถมการวัดประเมินมักมีลักษณะเอื้อช่วยหรือเป็นการประเมินไปอย่างนั้นๆ ไม่ได้จริงจังอะไร ขอให้มีหลักฐานเอกสารก็จะถือว่าผ่านเกณฑ์ ทำให้ผลการประเมินต่างๆมักไม่ได้รับความเชื่อถือจากสังคม นำไปใช้หรือนำไปเป็นเกณฑ์พัฒนาอย่างจริงจังไม่ได้

เอาเถอะ! ในที่สุดแล้ว เราซึ่งมีอาชีพครู งานที่มีเกียรติและน่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง แถมเป็นบุญกุศลอย่างแท้จริง ก็คืองานจัดการเรียนรู้ ดังนั้นถ้าจะมองเชิงบวกแบบครู แล้วลองลืมปัญหาทุกเรื่อง แม้กระทั่งความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันและกันของแต่ละปัจจัย รวมถึงผลกระทบต่างๆที่อาจเกิด แนวทางปฏิรูปการศึกษาไม่น่าจะยากอย่างที่หลายคนคิด ไม่ต้องลงทุนงบประมาณมากมายดังที่กระทำอยู่ แถมน่าจะเห็นผลสัมฤทธิ์ชัดเจนกว่าวิธีอื่นๆด้วย “ปฏิรูปการจัดการศึกษาที่โรงเรียนและที่ห้องเรียน”ครับ

ต้องเน้นการเรียนการสอนในห้องเรียนให้เป็นหัวใจอย่างแท้จริง งานอื่นที่อ้อมเกินไป หรือขนาดต้องพยายามอธิบายว่ามันเกี่ยวกับการเรียนการสอนอย่างไรควรละเลิกให้หมด แต่ละวันของการทำงานทั้งผู้บริหารและครูจิตใจต้องจดจ่ออยู่กับห้องเรียน ห้องไหน เป็นอย่างไรแล้วบ้าง ปัญหาอุปสรรค ความสำเร็จ เมื่อวานเพราะอะไร วันนี้จะใช้วิธีใด จึงจะเหมาะสมกว่าหรือสนองการเรียนรู้ของเหล่าลูกศิษย์ได้ทันท่วงที อาจเป็นสัปดาห์ละครั้งที่ผู้เกี่ยวข้องจะพูดคุยกันถึงเรื่องเหล่านี้ เมื่อได้ทางออกหรือแนวทาง ก็ไปเริ่มไปลองกันใหม่อีกในชั้นเรียน กรณีที่พอมีเวลาหรือเจอะเจอปัญหาซับซ้อนยากจะแก้ไขโดยลำพัง ก็อาจต้องเข้าไปร่วมกันสังเกตเพื่อเก็บข้อมูล ดังหลายตัวอย่างดีๆจากบันทึกของท่านรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตราด หรือท่านรองฯวิชชา ครุปิติ ในgotoknowแห่งนี้

หนึ่งเดือนก็สรุปร่วมกันเป็นคณะใหญ่ครั้งหนึ่ง ประชุมประจำเดือนต้องมีวาระนี้ตลอด และต้องถือเป็นเรื่องหลักหรือสำคัญสุด ที่ทั้งผู้บริหารและครูจะร่วมถกตามแนวคิดแต่ละคน เพื่อให้ได้แนวทางการจัดการเรียนรู้ในบริบทของศิษย์แต่ละคน แต่ละห้องเรียน หรือตามบริบทของโรงเรียนตัวเอง ทำซ้ำๆอย่างนี้ ตราบที่การจัดการเรียนการสอนยังต้องดำเนินไป จนเกิดวัฒนธรรมการทำงานใหม่ของทุกคนในโรงเรียน

แผนจัดการเรียนรู้ที่ใช้สอนจริงของครูต้องมีให้กับคณะผู้นิเทศติดตามที่จะสุ่มตามดูกระบวนจัดการเรียนรู้ของแต่ละคนอย่างสม่ำเสมอจริงจัง ครูที่มีหน้าที่ในคณะนี้น่าจะต้องมีชั่วโมงสอนน้อยกว่าคนอื่นสักครึ่งหนึ่ง สำหรับแผนฯที่ครูต้องแสดงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น ไม่ต้องวิลิศมาหรา รวมทั้งไม่ต้องมีรายละเอียดมาก เพียงเขียนให้รู้ว่าวันใด จะสอนเรื่องอะไร เพื่ออะไร ด้วยวิธีไหน ใช้สื่ออะไร ประเมินอย่างไร อย่างละบรรทัดก็พอ หนึ่งแผนครึ่งหน้ากระดาษ หรือมากสุดก็หนึ่งหน้าอะไรทำนองนั้น ที่สำคัญกว่าควรเป็นบันทึกหลังสอนแล้ว ว่านักเรียนตอบรับ พึงพอใจ มีความรู้ ความดี หรือได้เรียนรู้อะไรบ้าง ตลอดจนปัญหาอุปสรรค และความสำเร็จ เช่นกันครูบันทึกสั้นๆก็พอ เพราะวงสนทนาระหว่างเพื่อนครู(PLC)ในทุกๆสัปดาห์ จะต้องอภิปรายกันอย่างละเอียดลอออยู่แล้ว

เชื่อเลยว่าแค่ทำง่ายๆอย่างนี้ให้เป็นวัฒนธรรมใหม่ของโรงเรียน หมายถึง หากผิดเพี้ยนไปโรงเรียนจะถูกตำหนิอย่างรุนแรงจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ชุมชน สังคม หรือจากผู้รับผิดชอบ ถ้าถึงขนาดนั้นได้ จะสามารถพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินเลยทีเดียวในเรื่องการศึกษาของบ้านเรา ไม่ต้องห่วงกังวลเรื่องผลสอบโอเน็ต ผลเปรียบเทียบในระดับนานาชาติหรือPISA นักเรียนคิดวิเคราะห์ไม่เป็น หรือคุณธรรมจริยธรรม ฯลฯ เพราะเหล่านี้จะตามมาเองกับวัฒนธรรมใหม่ ด้วยการจัดการศึกษาโดยเน้นห้องเรียนเป็นสำคัญ

ความฝันการศึกษาในปี 2020 ครับ หรือจะกว่านั้นก็ไม่มีใครว่าอะไร

(พิมพ์ในมติชนรายวัน , 23 กันยายน 2555)

หมายเลขบันทึก: 494355เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2012 22:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2014 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)
  • บันทึกนี้ มีการวิเคราะห์และให้มุมมองเกี่ยวกับสภาพปัญหาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงเหตุแห่งปัญหาที่ชัดเจนและตรงใจ อ.วิ มากค่ะ
  • อีกทั้งเป็นมุมมองเกี่ยวกับปัญหาการจัดการศึกษา และการเสนอทางออกในการแก้ปัญหา จากบุคคลที่สำคัญที่สุดในการจัดการศึกษา คือ "ครู" อ.วิจึงขออนุญาตนำบันทึกนี้ ไปเป็นตัวอย่างให้นักศึกษาเรียนรู้ด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ 

อ่านทั้งหมด แล้วมองภาพรวมออกมา จะเห็นความเป็นไทยของเราชัดเจน นะครับ บันทึกนี้ก็คนไทย ผมก็คนไทย หลายอย่างที่เสนอนั้นดีมากครับ แค่คิดก็ต้องชื่นชมแล้ว หากแต่การนำสู่การปฏิบัติ ต้องพึ่งอุดมการณ์มากเหมือนกัน จะมีสักกี่คนที่ปรารถนา ผมแสดงความคิดเห็นแบบนี้ อาจไม่ถูกใจ ก็ตำหนิกันได้นะครับ

ผมเห็นความทุ่มเทของอาจารย์มาตลอดนะครับ บางครั้งผมอ่านบันทึกนี้ไป ใจก็ยังคิดว่า ง่ายๆเลย หากเรามีตังส์ก็ไปเรียนมันเมืองนอกเลย น่าจะง่ายกว่าการค้นหาระบบที่สมบูรณ์ของบ้านเรานะ

จริงๆ ในแง่ของคนที่รับบริการด้านการศึกษา เขาก็พัฒนาไปกันไปเยอะแล้วครับ ระบบจะต้องมอง โลกทั้งใบ หากมองอย่างนี้เราก็จะเห็นภาพชัดขึ้น ขอบคุณบันทึกดีๆ และความทุ่มเทนะครับ :)

ปัญหาการจัดการเรียนการสอน ผู้แก้ปัญหาได้ดีที่สุดคือ ครู ผู้สอน ครับ

   

ขอเป็นกำลังใจให้ครู ผู้สอนคะ

หากแต่หลักสูตรการเรียนการสอนนั้น

แก้ไขและปรับเปลี่ยนได้ แต่ต้องใช้เวลา

จึงคิดเห็นว่า ครูผู้สอน ถือเป็นจิ๊กซอชิ้นสำคัญ

ในการพัฒนา คิดค้นวิธีการเรียนการสอน โดยใช้เทคโนโลยีที่

มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอนเพื่อศิษย์คิดต่อยอด

คงแก้ไขปัญหาการเรียนกวดวิชาได้ไม่มากก็น้อยคะครูธนิตย์ 

เวลาที่มืดที่สุดคือเวลาใกล้สว่างค่ะอาจารย์ หวังว่ารุ่งเช้าที่สว่างไสวกับการศึกษาไทยจะมาถึงเร็วๆ นี้

อย่าเพิ่งท้อนะคะอาจารย์ :)

ขอบคุณที่ช่วยกันคิด..ช่วยกันย้ำทางแก้ไข..และทำให้เห็นเป็นตัวอย่างดีๆค่ะ..

สวัสดีค่ะ

เห็นด้วยค่ะ เน้นห้องเรียนเป็นสำคัญ มีสื่ออุปกรณ์พอเพียงสำหรับนักเรียน

 แล้วผลโอเน็ตหรืออะไรต่างๆก็จะตามมาเองค่ะ

                ขอบคุณบันทึกดีๆค่ะ

มีอีกอย่างที่อยากทำคือ การเปลี่ยนวัฒนธรรมการสร้างแรงจูงใจของกระทรวงกับผลลัพธ์ที่ครอบคลุมทุกด้าน อ่านบันทึกนี้แล้ว ได้ปัญญามากขึ้นครับ ขอบคุณครับ

  • ตรงเป้า..ตรงใจ เข้าใจ
  • ขอให้ฝันเป็นจริง...ขอเป็นกำลังใจครับ
  • แค่นี้"เรื่องสอน" เหมือนง่ายครับ ทั้งๆที่ควรง่าย ในเมื่อโรงเรียนควรมีหน้าที่สอนหรือให้ความรู้ลูกศิษย์เป็นหลัก แต่อย่างที่คุณเพชรพูดครับ การปฏิบัติจริงไม่ง่าย.. 
  • ขอบคุณคุณเพชร พรหมสูตร์ครับ
  • แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมา ตัวเองคิดว่าเขาฟังครูในเรื่องนี้น้อยมากเลยครับท่านอาจารย์..
  • ขอบคุณท่านอ.แว่นธรรมทองครับ
  • อยากให้ทุกฝ่ายเปิดโอกาสให้ครูมีเวลารับผิดชอบห้องเรียนของตัวเองอย่างเต็มที่ครับ สำหรับการใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันไม่ว่าครูท่านใดจะไม่ถนัดหรือไม่ชอบ อย่างไรก็ตามถึงวันนี้น่าจะหลีกเลี่ยงได้ยากแล้วครับ 
  • ขอบคุณEGAครับ ที่ให้เกียรติแวะเยี่ยมเยือน ร่วมแสดงความเห็น พร้อมให้กำลังใจ
  • ขอบคุณกำลังใจครับ เพียงคิดว่าถ้าบ้านเราให้ครูหรือเน้นปฏิรูปการศึกษาไปที่ห้องเรียน โอกาสสำเร็จน่าจะง่ายหรือรวดเร็วกว่าวิธีอื่นๆครับ
  • ขอบคุณคุณปริมอีกครั้งครับ
  • คิดว่าระยะยาว เราคงไม่พ้นที่ต้องหันมาแก้ที่โรงเรียนหรือห้องเรียนอย่างจริงๆจังๆแน่ครับ
  • ขอบคุณพี่ใหญ่ นงนาทครับ
  • "เห็นด้วยค่ะ เน้นห้องเรียนเป็นสำคัญ มีสื่ออุปกรณ์พอเพียงสำหรับนักเรียน" ได้ยินประโยคอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวจากเพื่อนครูบ่อยๆเลยครับ เพื่อนครูเราต่างตระหนักถึงรากเหง้าของปัญหาคล้ายๆกันนะครับ
  • ขอบคุณKRUDALAครับ
  • "การเปลี่ยนวัฒนธรรมการสร้างแรงจูงใจของกระทรวงกับผลลัพธ์ที่ครอบคลุมทุกด้าน" น่าคิดครับอาจารย์..
  • ขอบคุณท่านอ.ฤทธิไกร มหาสารคาครับ
  • ตัวเองก็ว่าอย่างนี้น่าจะ"ตรงเป้า..ตรงใจ"ที่สุดแล้วครับ ถ้าเราตั้งใจจะแก้การศึกษากันจริงๆ มิใช่สักแต่พูดให้ดูดี..
  • ขอบคุณคุณสามสัก(samsuk)ครับ 

สู้ๆนะครับคุณครู เป็นกำลังใจให้ครับ..

  • ตามมาให้กำลังใจอาจารย์ด้วยคน
  • อ่านบันทึกนี้นานแล้ว
  • แต่ไม่ค่อยมีเวลามาแสดงความคิดเห็นเลย
  • สอนเยอะมาก
  • แต่มีความสุขนะครับ
  • เอาความสุขมาเผื่อพี่ครูด้วยครับ

ขอบคุณมากสำหรับการเยี่ยมชมเป็นกำลังใจให้กับอาชีพครูที่ต้องไปตามลู่ทางที่หน่วยงานชี้นำ มีแต่การประชุมและประเมินภายใน จึงละทิ้งห้องเรียนโดยปริยายเพราะครูแต่ละท่านก็มีภาระงานเช่นกัน เป็นเช่นกันที่ นักเรียนจะร้อง เฮๆๆ...ครูไม่สอน..อยากสอนแต่เตรียมต้อนรับประเมินภายในสำคัญมากกว่า หุหุ..

  • เพิ่งรู้จากที่มีโอกาสได้พูดคุยกันว่าอ.ขจิตสอนเยอะเหมือนครูในโรงเรียนมัธยมเลย..เชียร์ๆเสมอนะครับ 
  • ขอบคุณอ.ขจิตครับ โดยเฉพาะความสุข..
  • หัวอกเดียวกันเลยครับอาจารย์ สภาพการทำงานที่โรงเรียนคงไม่ต่างกันนัก..เรามัวไปเน้นเรื่องอื่นมากเกินหน้าที่หลักของโรงเรียนที่ต้องมุ่งให้ความรู้นักเรียนนะครับ ปัญหาการศึกษาต่างๆนาๆที่สังคมหรือครูเราเองพร่ำบ่นจึงดูไม่ทุเลาลงเลย..
  • ขอบคุณkrutoomครับ

สวัสดีครับท่านอ.ธนิตย์

วันวานไปกรุงเทพฯ ระหว่างรอ หยิบหนังสือพิมพ์มติชนมาอ่านเจอะบทความ สร้างวัฒนธรรมใหม่“ห้องเรียนเป็นสำคัญ” อ่านดูเห็นชื่อผู้เขียนรู้สึกคุ้น ๆ มาตรวจสอบดู ใช่เลยคนกันเอง เป็นแง่คิดมุมมองที่น่าคิด และไปสู่การปฏิบัติไปจริง เช่น การชวนคุยในวงเล็กๆ ของครู ก่อนการพูดคุยกันในวงใหญ่ในแต่ละเดือน จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งเลยครับ

  • อาจน่าแปลกใจสำหรับบุคคลทั่วไปในสาระสำคัญ แต่คนที่โรงเรียนน่าจะรับรู้ปัญหาเหล่านี้ดี จุดประสงค์อยากฟ้องสังคมด้วย เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาชาติบ้านเมืองอย่างตรงจุด ซึ่งอาจไม่ยากและสิ้นเปลืองงบประมาณอย่างที่กำลังทำกัน ที่ที่สำคัญที่สุดของโรงเรียนก็น่าจะเป็น"ห้องเรียน"นะครับอาจารย์.. 
  • ขอบคุณอ.บินหลาดงครับ

เข้ามาสนับสนุนอย่างเต็มที่ครับ  ผมชอบแนวคิดของ อ.ธนิตย์  มาตั้งแต่ยังไม่รู้จักกัน  จากการอ่านบทความในหนังสือพิทพ์มติชน   ชอบใจในแนวคิดครับ และก็ติดตามผลงานการเรียนการสอน  ที่เป็นการปฏิรูปการศึกษาอย่างง่ายๆ ไม่หวือหวา    แต่พัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนในห้องเรียน

                          ขอชื่นชมในแนวคิดและความพยายามในการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ครับ

  • คสช. รัฐบาลใหม่เอี่ยมอ่อง สังคม..พูดถึงปฏิรูปการศึกษาอีกครั้งแล้วครับ..
  • ขอบคุณท่านรองฯวิชชามากๆเลยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท