การจัดการความรู้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์


พยายามโยงให้เห็นความเชื่อมโยงกับการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลตามแนวทางของHAฉบับ 2006 ซึ่งใช้มุมมองเชิงระบบ มองที่ผลลัพธ์ก่อนแล้วย้อนกลับไปดูที่กระบวนการสำคัญ

เมื่อ  15 สิงหาคม ที่ผ่านมา ผมได้รับการติดต่อจากคุณหมอขจร วินัยพานิช ผชช. เวชกรรมป้องกัน สสจ.อุตรดิตถ์ให้ไปช่วยบรรยายเรื่องการจัดการความรู้ซึ่งจัดที่โรงแรมฟลายเดย์ โดย สสจ.เป็นแม่งาน มีทีมงานจากโรงพยาบาลต่างๆในจังหวัดอุตรดิตถ์เข้าร่วม โดยในตารางกำหนดให้บรรยายทั้งวันแล้วอีกวันหนึ่งคุณหมอขจรจะเป็นวิทยากรทำกิจกรรมกลุ่มเอง

แต่ปรากฏว่าคุณหมอขจรติดภารกิจด่วน ทีมงานผู้จัดจึงขอให้ผมช่วยทำกิจกรรมกลุ่มให้ด้วย ผมก็เลยต้องปรับการบรรยายลดเวลาลง แล้วเพิ่มเรื่องการใช้เครื่องมือธารปัญญาในช่วงบ่าย มีการแบ่งกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่มตามกิจกรรมงานที่ทำเป็นผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ห้องฉุกเฉินและห้องคลอด และผมได้ขอให้ทีมQRTของจังหวัด มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงกลุ่มด้วยเพื่อเรียนรู้การเป็นวิทยากลุ่มไปพร้อมๆกับการทำกลุ่มของคุณกิจ

แม้มีเวลาแค่ประมาณ 2 ชั่วโมง กลุ่มต่างๆก็สามารถจัดทำตารางอิสรภาพเพื่อที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้โดยกำหนดปัจจัยสำคัญเป็นผลลัพธ์ โดยผมได้พยายามโยงให้เห็นความเชื่อมโยงกับการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลตามแนวทางของHAฉบับ 2006 ซึ่งใช้มุมมองเชิงระบบ มองที่ผลลัพธ์ก่อนแล้วย้อนกลับไปดูที่กระบวนการสำคัญ ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมองงานของตนเองแล้วมองประเด็นสำคัญที่จะต้องทำให้บรรลุ แล้วจะรู้ว่าบรรลุหรือไม่ใช้อะไรเป็นตัวบอก ทำให้ได้ตัวชี้วัดที่สำคัญๆพร้อมทั้งบอกได้ว่าตัวชี้วัดนั้นๆวัดประเด็นคุณภาพอะไรที่ลูกค้าต้องการ

การจัดการความรู้เป็นกระบวนการเพื่อถอดเอาความรู้ฝังลึกที่ใช้ในการทำงานจริงๆจนสำเร็จออกมาให้เห็นได้ชัดในรูปแบบต่างๆเพื่อให้คนอื่นๆได้นำเอาไปเรียนรู้และประยุกต์ใช้ เมื่อคนๆหนึ่งทำงานสำเร็จได้ผลดีแสดงว่าเขาต้องมีความรู้อยู่จึงทำงานสำเร็จได้ เราก็เอาสิ่งที่เขาทำสำเร็จเป็นตัวตั้งแล้วตามรอยไปดูว่าเขาทำอย่างไร วัดออกมาอย่างไรจึงบอกว่าสำเร็จ ก็เข้าได้กับนวัตกรรม (ความสำเร็จหรือคำชื่นชม) ตามรอย (Tracing) และการวัดผล (มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนเพื่อใช้เปรียบเทียบผลงานกัน) ซึ่งใช้ในแนวทางของการพัฒนาคุณภาพตามHospital Accreditation ซึ่งอาจารย์หมออนุวัฒน์ได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งเมื่อปี 2542 ว่า หัวใจสำคัญของ HAคือการเรียนรู้

การพัฒนาคุณภาพทำให้ได้งานที่ดีที่มีคุณภาพเรียกได้ว่ามีผลสัมฤทธิ์ที่ดี กระบวนการบริหารจัดการเพื่อให้บรรลุหรือมุ่งหวังที่ผลสัมฤทธิ์นี้เรียกว่า การบริหารแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ (Result-based Management: RBM) และผลสัมฤทธิ์ที่ดีนี้เป็นเป้าหมายสำคัญ 1 ใน 3 ของการจัดการความรู้ (อีก 2 ประการคือคนดีขึ้น (สมองและสมาธิ) กับ วิธีการทำงานดีๆหรือนวัตกรรมมากขึ้น) พูดไปพูดมาก็คิเรื่องเดียวกันนั่นเอง

เมื่อเดือนกรกรฎาคม ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร พิษณุโลก ให้ไปบรรยายเรื่องการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่(บูรณาการ) ผมก็ได้พยายามให้ผู้บริหารระดับต้นที่เข้าอบรมได้มองเห็นความเชื่อมโยงหรือบูรณาการของการบริหาร 3 เรื่องนี้ว่าน่าจะถือเป็นเรื่องเดียวกันหรือต้องบูรณาการกันคือการบริหารแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ การบริหารเชิงคุณภาพและการบริหารจัดการความรู้ (ซึ่งจะรวมเรื่องการบริหารการเปลี่ยนแปลง การบริหารสมรรถนะ การบริหารสารสนเทศ การบริหารวิกฤตการณ์และข้อขัดแย้งด้วย)

การจัดสัมมนาการจัดการความรู้ของ สสจ.อุตรดิตถ์ครั้งนี้ ได้รับความสนใจเป็นอย่างดีมากเลิกเกือบ 5 โมงเย็น และคืนก่อนบรรยายก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากคุณหมอขจร พี่สิงห์เปรม (สสอ. ตรอน) พี่ขจรศักดิ์ (สสอ.ลับแล) ที่ได้พาไปทานข้าว ฟังเพลงอย่างสนุกสนาน แถมตอนกลับยังฝากทุเรียนอีกหลายลูกกับลองกองอีกกล่องใหญ่ พอดีผมขับรถไปเองก็เลยขนกลับบ้านได้สะดวกและได้ถือโอกาสแวะไปเยี่ยมคุณยายและญาติๆที่สวรรคโลกด้วย ขอขอบคุณทีมงานของ สสจ.อุตรดิตถ์ไว้ ณ โอกาสนี้ครับ
คำสำคัญ (Tags): #kmกับคุณภาพ
หมายเลขบันทึก: 49336เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2006 17:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท