“เหนื่อย ใจสั่น เหงื่อออกที่มือ หินจุแต่ผอม ” ทายซิเป็นโรคอะไร


“เหนื่อย ใจสั่น  เหงื่อออกที่มือ  หินจุแต่ผอม  ”  ทายซิเป็นโรคอะไร

 

                เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาขณะที่ชลัญนั่งซักประวัติในตอนบ่าย ก็ต้องต๊กใจอีกครั้ง   เมื่อผู้ป่วยที่มานั่งต่อหน้า  ซึ่งเป็นสาวสวยหุ่นดี ทีเดียว  ( หุ่นดีนี่ชลัญยอมแพ้  แต่ความสวยชลัญไม่รอง อิอิ)  รับใบวัดความกันโลหิต  แล้วก็มองหน้า ผู้ป่วย  สลับกับกระดาษไปมา

                อึ๋ยยยย์......เอาอีกแล้วเพิ่งได้ตื่นเต้นกับคุณตำรวจไปแม๊บๆ   นี่ชีพจร 185 ครั้ง/นาที  อีก   มันอะไรกันนักหนานี่   จะให้ตื่นเต้นทั้งวันเลยหรือง๊าย  ดูเวลา วัดความดัน จับชีพจร  ตั้ง แต่  09.45 น. แม่เจ้าตอนนี้มัน 14.42 แล้ว  ไปอยู่ไหนมาอีนางเอ๊ย......เอาว่ะ นั่งอยู่มาได้ ตั้งแต่ เก้าโมงกว่า มาถึงบ่ายสองกว่า ไม่ตายง่ายหรอก ยังนั่งยิ้มแฉ่งอยู่เลย  จากนั้นชลัญจึงเริ่มคำถาม

                ชลัญ :  เป็นอะไรจ๊ะ ( เป็นคำถามอัตโนมัติ ของ พบ.ที่มักจะถามผู้ป่วยทุกคนที่มาตรวจโรค  เคยโดนน้องในโรงพยาบาลมันสวนกลับ  บอก “ เป็นเวรเปลครับ อ้าวอยู่มาตั้งนานพี่โจ้ไม่รู้เหรอว่าผมเป็นเวรเปล  แหม! อยากตืบมันสักทีสิเอ้า !  ) 

                ผู่ป่วย :  มารับยาไทรอยด์ต่อค่ะ  หนูไม่ได้กินยามา 1 ปี  คิดว่าหายก็เลยหยุดยา  แต่ 1 เดือนก่อนมานี่หนูรู้สึกไม่ค่อยสบายตัว เหนื่อยใจสั่น  มือสั่น เหงื่อแตก  น้ำหนักลด  คิดว่าไทรอยด์น่าจะกลัยมาอีกก็เลยมาตรวจค่ะ

 

ชลัญคิดในใจ แหม!  แกคือคิดได้ช้าแท้ ปล่อยมาเป็นปี  “เอ้า...ไหนเอามือมาซิ  ขอจับชีพจรใหม่หน่อย” พอเริ่มจับก็พบว่าโห! ...ตุ๊บ ตุ๊บ ตุ๊บ ตุ๊บ ตุ๊บ ตุ๊บ รัวเป็นกลองเลย  ว๊าว...ตื่นเต้นอีกแล้วชลัญธร 

                “น้องเตรียมคนไข้ตรวจ EKG”

น้องผู้ช่วยรับคำสั่งแบบไม่รอช้า  คนไข้ก็เริ่มงง   ชลัญต้องอธิบาย  ตอนนี้หัวใจของคุณเต้นเร็วกว่าปกติมาก ขอตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในแน่ชัด  ผู้ป่วยให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

                ผลการตรวจออกมาพบ Atrial Fibrillation (AF)  อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ 107  ครั้ง/นาที  กไม่เร็วมาก แต่ก็คลื่นไม่สวยเอาเสียเลย  ในระหว่าง monitor  EKG นั้น จังหวะขึ้นลงไม่สม่ำเสมอ  เดี๋ยว  136 , 107, 164, สลับขึ้นลง 

                ตรวจร่างกายผู้ป่วยมี tremor  ( อาการสั่น)  มือชื้น  จึงรีบเอา แผ่นคลื่นไฟฟ้าหัวใจไปปรึกษาแพทย์  แพทย์ส่งไปแผนกฉุกเฉินทันที  จากนั้นแพทย์ที่แผนกฉุกเฉินก็ให้  digoxin  แก้ไข ภาวะ AF  ผู้ป่วยปลอดภัย  แต่ชลัญใจหายใจค่ำ  ว่ะ... อะไรจะปาน 2 case ในวันเดียว  ก็เลยย้อนกลับมาดูประวัติหน่อย  เพื่อเอามาเป็นตัวอย่างให้ชาว GTK  ได้สังเกตตัวเองกันบ้าง  เราต้องรู้เท่าทันโรค ก่อนที่โรคจะมาเล่นงานเรา  อย่างชลัญ  แต่ของชลัญนี่เป็นเหตุสุด วิสัย น่ะ  ลองมาต่อกลอนกันซึ่งๆหน้าซิมีรึ  ชลัญจะรับมือไม่ไหว

                ไล่ประวัติดู  พบว่า  ผู้ป่วยเคยเป็น  ไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis) รักษาอยู่ปีกว่า ๆ  พบว่า  อาการตัวเองดีขึ้นคิดว่าหายก็เลยหยุดยาเองไปทำงานที่ต่างจังหวัด  จนกระทั่งมีอาการอีกนี่แหล่ะถึงได้ กลับมารักษา แบบชลัญหัวใจจะวายใหม่  ซึ่งการหยุดยานี่อาจจะเกิดจากการไม่เข้าใจของผู้ป่วย คิดว่าดีขึ้นคือหาย  และแพทย์อาจอธิบายไม่กระจ่างนั่นเอง 

                จากการทำงานของชลัญที่แผนกผู้ป่วยนอก นั้น ทำให้พบว่ามีผู้ป่วยที่มีปัญหานี้มากจริง  ก็เลยเอากลุ่มอาการ  มาให้ทุกท่านพิจารณาตัวเอง  อย่านิ่งนอนใจ  ว่า  ไม่ว่าง ห่วงสอน ห่วง โน่น  นี่  นั่น  จนตัวเอง น็อค  อยากรู้ว่า  คนที่เราห่วงน่ะจะมาเยี่ยมเราถึง 10 ครั้งมั๊ยให้ตายเถอะ  รักตัวเองให้มากๆ นะ  มารู้จัก ไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis) กันดีกว่า 

               

ผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ จะมีอาการและอาการแสดงคือ

1. อาการจากต่อมไทรอยด์โต : ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการมีก้อนที่คอหรือคอโตกว่าปกติ

2. อาการจากการที่ร่างกายมีการเผาผลาญพลังงานมากกว่าปกติ เช่นน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว โดยที่ยังรับประทานอาหารได้ปกติหรือได้มากกว่าปกติ (ผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจลดน้ำหนัก)ความอยากอาหารเพิ่มขึ้นมีอาการใจสั่น : จากหัวใจเต้นเร็วหว่าปกติหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ  หงุดหงิด, กระวนกระวาย, ฉุนเฉียวง่ายมือและนิ้วสั่นเหงื่อออกมากผิดปกติ  ไวต่อความร้อนมากขึ้น  รอบเดือนเปลี่ยนแปลง  ลำไส้เคลื่อนไหวมากขึ้น : ผู้ป่วยอาจมีอาการท้องเสีย หรือในรายที่ปกติท้องผูก จะรู้สึกขับถ่ายง่ายขึ้น แต่ผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษบางรายอาจมีอาการท้องผูกได้   อ่อนเพลีย, รู้สึกเหนื่อยง่าย  กล้ามเนื้ออ่อนแรง  นอนหลับยาก  ผมร่วง

3. อาการที่สัมพันธ์กับบางสาเหตุของภาวะไทรอยด์เป็นพิษ เช่น ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการตาโปน

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ประกอบด้วย

 

       มีอันตรายต่อหัวใจ เช่น ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ซึ่งอาจทำให้คนที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอยู่ก่อนแล้ว มีอาการแย่ลงได้, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, หัวใจวายภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจทำให้เกิดลิ่มเลือดในหัวใจ จากนั้นลิ่มเลือดอาจหลุดออกไปอุดที่อวัยวะต่างๆ ได้ (Thromboembolic event) เช่น เส้นเลือดสมองตีบ (Stroke), เส้นเลือดแดงที่ขาอุดตันเฉียบพลัน (arterial embolization) เป็นต้น

         เอาเป็นว่าใครมีอาการเหมือนที่ชลัญกล่าวมา  ก็ลองไปปรึกษาแพทย์ ใกล้บ้านดู  แต่การไปปรึกษาแพทย์  ชลัญบอกเทคนิคนิดหนึ่ง  เวลาไปนั้น ให้บอกอาการ  เช่น เหนื่อยง่ายใจสั่น  อะไรก็ว่าไป  อย่าไปบอกว่า  จะมาตรวจเลือดดูไทรอยด์  เพราะแพทย์ พยาบาล เป็นโรคจิตอย่างหนึ่ง  มีนิสัยชอบสั่งให้คนนั้นทำนี่ คนนี่ทำนั้น แต่ถ้ามีคนมาสั่นจะออกแนวไม่พอใจเกิดการกวนประสาททันที  ก็ขอให้โชคดี นะ  คิดว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์  บ้างโดยเฉพาะ อ.แอ๊ด  ขจิต  ฝอยทอง  hyper แบบนั้นตรวจไทรอยด์ หรือยังจ๊ะ 

 

ด้วยความปรารถนาดี 

         ชลัญ

 

เนื้อหา  ไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis)  อ้างอิงจาก http://healthy.in.th/disease/thyrotoxicosis/

 

หมายเลขบันทึก: 493158เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2012 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กรกฎาคม 2012 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แวะมาอ่านและชื่นชมผลงาน....ขอบคุณที่ให้ความรู้

ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน...พรหมมา

อันตรายมากจริงๆ..จะป้องกันอย่างไรคะ?..เคยทราบว่าควรบริโภคเกลือไอโอดีน..

กฤษฎา อาภาเกียรติคุณ

ถ้าเทียบจากอาการแล้ว คอด้านขวาเวลาจับเหมือนจะมีก้อนๆ ด้านซ้ายไม่มี
กินเยอะเท่าไรก็ไม่อ้วนขึ้น ผอมลงอีกต่างหาก
หัวใจเต้นเร็ว มือสั่นตัวสั่น กลายเป็นคนขี้ร้อน จากขี้หนาวมาก

เยี่ยมครับ..


ไปหาหมอ ต้องบอกอาการที่เราเป็นให้หมอฟัง...

...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท