BeeRoff
นาย ธีรพงษ์ บัญชาชาญชัย

ปัญหาพื้นฐาน 4 ประการในพีซีที่คุณสามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง


. คุณเปิดคอมพิวเตอร์แล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ไม่มีไฟ ไม่มีเสียงบีฟ ไม่มีเสียงพัดลม สิ่งแรกที่คุณควรทำคืออะไร? คุณควรตรวจสอบว่าปลักไฟเสียบต่อเรียบร้อยแล้วหรือยัง แม้คุณแน่ใจว่าสายไฟเสียบต่อแล้วก็ตาม แต่คุณควรตรวจเช็คซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

สมมติว่าสายไฟของคุณเสียบต่อเรียบร้อยแล้ว คุณน่าจะมีปัญหาเรื่องพาวเวอร์ซัพพลายเสีย พาวเวอร์ซัพพลายเป็นกล่องโลหะซึ่งติดอยู่บริเวณด้านหลังของคอมพิวเตอร์ ซึ่งโดยปกติพาวเวอร์ซัพพลายจะติดกับตัวถัง โดยใช้น็อต 4 ตัว และมีสายไฟเสียบต่ออยู่ ส่วนพัดลมจะเป่าอากาศออกไปด้านหลัง

คุณจะเห็นพวงของสายไฟเล็กๆโผล่ออกมาจากพาวเวอร์ซัพพลายที่อยู่ภายในคอมพิวเตอร์ ที่ปลายด้านหนึ่งของสายเหล่านี้จะมีคอนเนกเตอร์อยู่เป็นจำนวนมาก สายเหล่านี้มักจะต่อกับไดรฟ์ พัดลม หรืออุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งเมนบอร์ดด้วย สายจะไปต่อตรงไหนไม่สำคัญ ถ้าหากคอนเนกเตอร์ของสายต่อได้ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว

เมื่อคุณเปิดตัวถังขึ้นมา สายไฟที่ยุ่งเหยิงดังกล่าวอาจทำให้คุณรู้สึกปอดๆอยู่บ้าง ถ้าหากคุณศึกษามันให้ดี คุณจะพบว่ามันไม่ใช่เรื่องลึกลับอย่างที่คุณคิด คุณควรจดว่าสายแต่ละเส้นเชื่อมต่อไปยังที่ใดบ้าง ถ้าหากจำเป็นคุณอาจต้องถอดสายเหล่านี้ออก จากนั้นถอดพาวเวอร์ซัพพลายออกมาด้วย แล้วนำไปยังร้านคอมพิวเตอร์เพื่อซื้อตัวใหม่ที่มีวัตต์เท่ากันมาเปลี่ยน คุณจะเสียค่าใช้จ่ายราวๆ 50-70 ดอลลาร์

2. คอมพิวเตอร์เปิดใช้งานได้แต่ไม่มีอะไรปรากฏบนจอภาพ
หรือพูดอีกแง่หนึ่งก็คือ คุณไม่เห็น Windows แสดงขึ้นมา คุณอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับจอภาพ คุณอาจจะลองใช้จอเครื่องอื่นๆที่คุณมั่นใจว่าไม่เสียกับคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ดู จากนั้นดูว่ามีอะไรปรากฏบนจอหรือไม่ ถ้าหากจอเครื่องที่นำมาเปลี่ยนใช้การได้ นั่นหมายความว่าจอแรกเสีย จอภาพไม่คุ้มกับการซ่อมแต่อย่างใด คุณควรซื้อจอใหม่ไปเลย คุณไม่ควรลองเปิดด้านหลังของจอมอนิเตอร์เพื่อซ่อมเอง คาปาซิเตอร์ที่อยู่ภายในมอนิเตอร์เก็บกระแสไฟฟ้าจำนวนมากเอาไว้ คุณอาจบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้

ถ้าหากจอยังมืดอยู่ มันอาจเป็นปัญหาเกี่ยวกับวิดีโอการ์ด ก่อนอื่นคุณต้องหาวิดีโอการ์ดในคอมพิวเตอร์ของคุณให้เจอ วิดีโอการ์ดเป็นแผงวงจรที่เสียบอยู่ในสล็อตของเมนบอร์ด ส่วนเคเบิลจากจอภาพจะเชื่อมต่อกับพอร์ต VGA (video graphics adapter) บริเวณด้านหลังของคอมพิวเตอร์ ถ้าหากพอร์ต VGA เป็นส่วนหนึ่งของเมนบอร์ด นั่นหมายความว่าคุณมีการ์ดวิดีโอในตัว ถ้าหากเป็นวิดีโอในตัว คุณจะแก้ปัญหาไม่ได้ แต่ถ้าเป็นวิดีโอการ์ดแยกต่างหาก คุณสามารถลองเปลี่ยนใหม่ได้

ถ้าหากคุณมีวิดีโอการ์ดสำรอง คุณต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าใส่การ์ดลงไปแน่นแล้ว บริเวณด้านหน้าการ์ดอาจจะเผยอขึ้นมาโดยไม่ตั้งใจ ขณะที่คุณไขน็อตให้ตัวการ์ดยึดกับสล็อทก็เป็นได้

ถ้าหากคุณมีคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นๆที่ใช้งานได้ดี ให้ปิดคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นแล้วถอดวิดีโอการ์ดออกมา จากนั้นนำวิดีโอการ์ดมาลองใส่ลงไปในคอมพิวเตอร์เครื่องที่มีปัญหา ถ้าหากใส่การ์ดลงไปแล้วคอมพิวเตอร์ทำงานได้ คุณจำเป็นต้องซื้อการ์ดอันใหม่ ถ้าหากคุณไม่มีการ์ดสำรองเพื่อทดสอบระบบ จงซื้อการ์ดราคาถูกมาลอง (30-50 ดอลลาร์) ถ้าหากการ์ดใหม่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จงนำการ์ดไปคืน

คุณอาจจะเลือกซื้อวิดีโอการ์ดรุ่นที่มีราคาแพงหลายร้อยดอลลาร์ได้ แต่ถ้าหากคุณใช้งานแอพพลิเคชันเชิงธุรกิจหรือท่องเว็บเท่านั้น คุณควรซื้อการ์ดราคาถูกจะดีกว่า การ์ดราคาแพงเหมาะสำหรับนักเล่นเกมเท่านั้น

3. ถ้าหากคุณเจอปัญหาเครื่องแฮงก์ โดยสิ่งที่ปรากฏบนจอเป็น "จอสีฟ้าที่อยู่นิ่งๆ" คุณอาจจะมีปัญหาเรื่องเมมโมรี (RAM)
จดข่าวสารที่ประตูอยู่บนจอสีฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลข ตรวจสอบตัวเลขปัญหาได้จากเว็บไซต์ Help และ Support Knowledge Base ของไมโครซอฟท์ หรือใส่ข้อความแสดงปัญหาลงไปในกลไกค้นหาข้อมูลเพื่อค้นหาจากอินเทอร์เน็ตก็ได้

ถ้าหากคุณแยกแยะปัญหาได้ การแก้ปัญหาเรื่องเมมโมรีจะทำได้ง่ายดายอย่างมาก ถ้าหากคุณไม่เจอข้อมูลแยกแยะปัญหาทางออนไลน์ คุณอาจลองนำเอาเมมโมรีจากเครื่องอื่นๆมาทดสอบดูได้ แต่เมมโมรีจำเป็นต้องเป็นชนิดเดียวกัน ถ้าหากคุณลองแล้วแต่ไม่ได้ผล คุณควรนำเอาเมมโมรีเก่าไปที่ร้านคอมพิวเตอร์ พนักงานที่นั้นน่าจะยินดีทดสอบให้คุณได้

แผงเมมโมรีจะใส่ลงไปในสล็อทใกล้ๆกับไมโครโพรเซสเซอร์ มันมีความยาวประมาณ 4 นิ้ว คุณสามารถถอดเมมโมรีเก่าออกแล้วนำไปเทียบดูที่ร้านค้า ราคาของเมมโมรีขึ้นอยู่กับชนิดและความเร็ว คุณต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณซื้อเมมโมรีชนิดเดิมเหมือนกับที่มีอยู่

ขณะที่คุณกดเมมโมรีใหม่ลงไปในสล็อท คุณอาจต้องออกแรงเล็กน้อย ตัวหนีบที่อยู่ทั้งสองด้านจะหนีบเข้าที่เมื่อเมมโมรีใส่อย่างแน่นหนาดีแล้ว

4. ถ้าหากคุณบูตเครื่องแล้วคอมพิวเตอร์หาไดรฟ์ C: ไม่เจอ คุณอาจจะเจอปัญหาเรื่องฮาร์ดดิสก์เสีย
ถ้าหากคุณมีคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น คุณควรลองถอดฮาร์ดดิสก์ของคอมพิวเตอร์เครื่องที่ดีมาใส่เครื่องที่เสียเพื่อแยกแยะปัญหา ถ้าหากคอมพิวเตอร์ของคุณสามารถบูตจากฮาร์ดดิสก์อันใหม่ได้ ฮาร์ดดิสก์อันเดิมอาจจะเสียแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคกล่าวว่า คุณอาจจะลองนำเอาฮาร์ดดิสก์ใส่ถุงกันความชื้น แล้วลองใส่ในตู้เย็นทิ้งเอาไว้หนึ่งคืน วงจรในฮาร์ดดิสก์อาจจะหดตัวจนสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ผมเคยลองใช้เทคนิคนี้สองสามครั้ง แถมยังใช้ได้ผลอีกด้วย

การใช้โปรแกรมแบกอัพเป็นประจำจะช่วยคุณได้ในกรณีที่ฮาร์ดดิสก์เสียขึ้นมา แต่คุณต้องไม่แบกอัพข้อมูลเก็บเอาไว้ในฮาร์ดดิสก์ตัวเดียวกัน ถ้าหากฮาร์ดดิสก์ของคุณเสีย และคุณไม่มีแบกอัพเก็บไว้ ร้านขายคอมพิวเตอร์อาจจะช่วยกู้ข้อมูลของคุณขึ้นมาได้

ฮาร์ดดิสก์มีราคาถูกมาก คุณสามารถซื้อฮาร์ดดิสก์ใหม่มาเปลี่ยนโดยเสียเงินน้อยกวา 100 ดอลลาร์ คุณควรซื้อฮาร์ดดิสก์รุ่นขายปลีกที่ใส่กล่องเอาไว้ ซึ่งในนั้นจะมีวิธีการติดตั้งและฮาร์ดแวร์ต่างๆที่คุณจำเป็นต้องใช้ให้มาด้วย

ฮาร์ดดิสก์ของคุณมักจะติดตั้งด้านหน้าของคอมพิวเตอร์ โดยมีขนาดพอๆกับสมุดปกแข็งแล้วใช้น็อตสี่ตัวยึดเอาไว้ข้างละสองตัว ส่วนด้านหลังจะมีสายไฟหนึ่งเส้นและสายเคเบิลแบบแบนเชื่อมต่ออยู่

คุณสามารถติดตั้งฮาร์ดดิสก์ลูกใหม่เป็นมาสเตอร์ แล้วปรับแต่งให้ฮาร์ดดิสก์ตัวเก่าเป็นสลาฟ คุณสามารถศึกษาวิธีการตั้งค่าตัวแปรมาสเตอร์และสลาฟได้จากคู่มือที่ให้มาพร้อมกับฮาร์ดดิสก์ จากนั้นให้คุณบูตคอมพิวเตอร์แล้วติดตั้ง Windows ลงไปในไดร์ฟใหม่ ถ้าหากคุณโชคดีคอมพิวเตอร์จะมองเห็นไดร์ฟตัวเก่าด้วย (เป็นไดร์ฟ D:) จากนั้นคุณก็สามารถโอนถ่ายข้อมูลไปยังไดร์ฟใหม่ได้แล้ว

การเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์เป็นงานที่ยากกว่างานอื่นๆ อย่างไรก็ตามถ้าหากคุณไปจ้างร้านคอมพิวเตอร์ให้ทำงานนี้ เงินที่คุณเสียไปอาจไม่คุ้มค่า ดังนั้นคุณควรจะซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่จะดีกว่า แต่ถ้าหากคุณชอบผจญภัยและพอมีเวลา การเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์น่าจะเป็นงานที่คุ้มค่าอย่างมาก

 

คำสำคัญ (Tags): #ima#it#rsu
หมายเลขบันทึก: 49307เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2006 14:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท