จัดการความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพชาวจังหวัดพิจิตร


จัดการความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพชาวจังหวัดพิจิตร


          ผมไปร่วมงาน “รวมพลคนรักษ์สุขภาพ จ.พิจิตร” มาครับ   งานนี้จัดวันที่ 24 – 26 มิ.ย.48   ที่โรงแรมพิจิตร พลาซ่า   ลานหน้าโรงแรมและลานหน้าแฮปปี้ พลาซ่า   ผมไปร่วมตั้งแต่เย็นวันที่ 25 ไปจนเลิกงาน   โดยการชักชวนของคุณสุรเดช  เดชคุ้มวงศ์

“”–


          กิจกรรมมีทั้งการออกร้าน   การแสดง   การอภิปราย   และการประชุมกลุ่มจัดการความรู้ของเกษตรกร
          ผมไปถึงตอนประมาณ 15.30 น. (โดยคุณรุ่งโรจน์  เจศรีชัย  มือเขียนบล็อกของมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตรไปรับจากร้านอาหาร เรน ฟอเรสต์ ที่พิษณุโลก) กำลังมีการประชุมกลุ่มกันอยู่   ผ่านไปสักครู่ก็เป็นการนำเสนอผลการประชุมกลุ่ม   ว่าแต่ละกลุ่มมีกิจกรรมอะไรบ้าง   และมีเป้าหมายจะร่วมกันทำอะไรต่อ   ตัวอย่างเช่น
                   กลุ่มเกษตรปลอดสารพิษ
                   กลุ่มรำตะบองออกกำลังกาย
                   กลุ่มผู้สูงอายุ
                   กลุ่มวิทยุชุมชน


          ผมติดใจการนำเสนอของกลุ่มรำตะบอง   โดยคุณสุนทรา  เตียวประเสริฐกุล จากตะพานหิน   ประธานชมรมรำตะบอง   ซึ่งมีหลายกลุ่ม   มีท่ารำต่างกัน   คุณสุนทราเล่าว่ากลุ่มตะพานหินไม่รำเฉย ๆ    แต่นับไปด้วย   โดยตะโกนดัง ๆ เพื่อบริหารปอด   สมาชิกชมรมทุกคนได้รับการวัดความจุปอด   พบว่าหลังออกกำลังกายโดยการรำตะบองแนวนี้ทุกคนมีความจุปอดเพิ่มขึ้น   คุณสุนทราเป็นผู้หญิงวัย 50 ตัวไม่โต   บอกว่าความจุปอดของตนกว่า 3 ลิตร


          จุดสุดยอดของกลุ่มรำตะบองอยู่ตรงแผนในอนาคต   จะมีการจัดการความรู้เพื่อการออกกำลังกายโดยการรำตะบอง   จริง ๆ แล้วคุณสุนทราและสมาชิกกลุ่มคงจะไม่รู้จัก KM    แต่วิธีที่คุณสุนทราเล่าเป็นการทำ KM    คือมีการทำ KM แบบไม่รู้ตัว


          คือจะมีการเชิญกลุ่มรำตะบองทั้ง 4 กลุ่มมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ท่ารำ  เช่นบางกลุ่มใช้นกหวีด   บางกลุ่มมีท่าร่ายรำแปลก ๆ   จะมาแลกเปลี่ยนกันว่าแต่ละท่ามีข้อดีหรือจุดเด่นอย่างไร   เพื่อหา “ท่ามาตรฐาน” และจะมีการถ่ายทำวีดีโอท่ารำที่ปรับปรุงแล้ว   ส่งไปให้หน่วยงานวิชาการที่กรุงเทพฯ วิเคราะห์ท่าร่ายรำ   ว่าท่าไหนดีไม่ดีอย่างไร   เหมาะสมต่อคนที่มีร่างกายแบบใด


          คุณสุนทราเล่าว่า   สมาชิกชมรมของตนที่หลังค่อมเกือบ 90 องศา   หลังรำตะบอง   หลังเหยียดได้เกือบตรง   จึงคิดว่าท่ารำน่าจะถูกต้องแล้ว   แต่ก็ยังอยากให้ผู้มีความรู้ตรวจสอบท่ารำของกลุ่ม


          เห็นการสร้างความรู้จากการปฏิบัติ   และนำความรู้เชิงทฤษฎีมาเชื่อมต่อไหมครับ


          นักวิชาการนักวิจัยด้านพลศึกษา   การกีฬา   การออกกำลังกายครับ   ชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันออกกำลังกายแบบนี้    และต้องการสร้างความรู้ขึ้นใช้งานแบบนี้คือ “ขุมทอง” ในการทำวิจัยของท่านนะครับ
                                                                                      วิจารณ์  พานิช
                                                                                        26 มิ.ย.48
                                                                                          พิจิตร

หมายเลขบันทึก: 493เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2005 01:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท