สุขภาวะถิ่นแพร่ น่าน ลำปาง : ๖. กระบวนการเรียนรู้ที่บูรณาการและเชื่อมโยงกับสังคม


ในฐานะผู้ต้องคอยออกแบบ จัดวางองค์ประกอบเวที จัดกระบวนการ และดำเนินการเวทีเรียนรู้ไปเป็นกลุ่มด้วยกันทั้งตัวผมเองและทุกคนในเวที ผมก็จะให้กลุ่มผู้เข้าร่วมเวทีนั่งคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันด้วยบรรยากาศที่สบาย กันเอง และได้มีความเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด

การได้เป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุดนี้ ในแง่ของการพัฒนาคนทำงานด้านให้การศึกษาเรียนรู้แก่ผู้คน และการทำงานศิลปะนั้น จัดว่าจะเป็นกระบวนการที่ปัจเจกจะสามารถถ่ายทอดสื่อสารอย่างเต็มศักยภาพของตนเองที่สุด ขณะเดียวกัน ก็จะอยู่ในภาวะที่เห็นตนเอง ได้สังเกตและเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นด้านในตนเอง ควบคู่ไปกับสิ่งที่กำลังปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้ประสบการณ์ชีวิตด้านในเกิดความเจริญงอกงามขึ้นบนสิ่งที่กำลังทำด้วยตนเอง เป็นด้านที่แต่ละคนต้องสร้างขึ้นเองอย่างจำเพาะตน เพราะเป็นมิติที่คนอื่น แม้ผมเอง ไม่สามาราถที่จะบอกสอนและทำให้ได้ แต่จะพาเดินไปส่งให้ถึงที่ พร้อมกับให้เครื่องมือ วิธีการ การชี้แนะ และเป็นสภาพแวดล้อมเสริมส่ง เพื่อให้เข้าถึงด้วยการปฏิบัติให้ได้แก่ตนเองทุกคนได้

ผมไม่ลืมที่จะต้องคอยเฝ้าดูความสามารถอธิบาย ถ่ายทอดแบ่งปันประสบการณ์ แจกแจง ถามตอบ การฟังและสัมผัสอารมณ์เวที การตั้งประเด็น ที่สะท้อนการมีคำถามวิจัยอยู่ในชีวิตที่แหลมคม แยบคาย สร้างวิธีคิด การให้ข้อเท็จจริงและตัวอย่างอ้างอิงจากประสบการณ์ตรง ชวนใคร่ครวญชีวิต การงาน ผู้คน และสภาพแวดล้อม รวมไปจนถึงความมั่นใจที่จะแสดงทรรศนะต่างๆออกจากตนเอง และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในเวทีได้อย่างสอดคล้องกับเงื่อนไขสถานการณ์

หากพูดคุยสนทนาได้สนุกเพลิดเพลิน ต่อเนื่อง ก็จะปล่อยให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องด้วยการบริหารจัดการตนเอง หากสะดุด หลุดประเด็น และการพูดคุยสนทนามีบรรยากาศกังวลใจหรือเหมือนเกิดสิ่งรบกวนสมาธิ ผมก็จะดึงประเด็นและดึงวาระกำกับการสนทนากลับมาที่ผม หากสนทนาต่อไปได้ก็จะโยนประเด็นกลับ แต่หากยังไม่เหมาะสมและเรื่องราวต่างๆยังสนทนาได้ไม่ครบถ้วนหมดจรด ก็จะแขวนประเด็นไว้ให้แล้วหมุนเวียนให้คนอื่นสนทนาต่อ ขณะเดียวกัน หากมีใครเกิดประเด็นและวาระความสนใจ ร่วมแทรกการสนทนาขึ้นมาแต่มีความสอดคล้อง เชื่อมโยง เสริมข้อมูลและเสริมความคิดให้กัน ก็จะสนับสนุนให้ร่วมพูดคุยได้ทันที ทำให้สิ่งที่นำมาทบทวนและช่วยกันเรียนรู้ในเวทีหลายเรื่อง เกิดความรอบด้าน และเห็นวิธีคิดอย่างอย่างมีความเชื่อมโยง ที่อยู่ในความสำนึกรู้ต่อสังคมและอยู่กับวิถีปฏิบัติในการทำงานเชิงพื้นที่ต่างๆของเครือข่ายคนแพร่ น่าน และลำปางกลุ่มนี้

วุฒิไกร ผาทอง เครือข่ายคนแพร่ เล่าว่า เขาทำผ้าย้อมคราม ผ้าและสิ่งทอหม้อห้อม และผลิตภัณฑ์งานฝีมือภายใต้เครื่องหมายผลิตภัณฑ์ 'แก้วววรรณา' โดยไม่เพียงเห็นว่าเป็นภูมิปัญญาและสิ่งสะท้อนความสง่างามของเมืองแพร่ที่มีมาแต่ก่อนเก่าของปู่ย่าตายายเท่านั้น แต่ทำเป็นกิจการที่เห็นความหมายของกระบวนการผลิตและกระบวนการประกอบการเศรษฐศาสตร์ชุมชน ที่จะไปกระตุ้นและก่อให้เกิดวงจรสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การใช้ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีในพื้นถิ่นอย่างผสมผสาน ตลอดจนก่อเกิดกิจกรรมชีวิตทั้งในเมืองและชนบทอีกหลายอย่างที่มีความเชื่อมโยงส่งเสริมกัน ให้เกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน เขาเองและครอบครัว ก็บริจาคที่ดินสร้างสำนักสงฆ์เผยแผ่ศาสนธรรมและดำเนินการมูลนิธิแพร่แสงเทียน ให้เป็นแหล่งพัฒนาด้านจิตใจของชุมชนผู้ศรัทธาและใฝ่ศึกษาการเจริญสติภาวนาแนวสติปัฏฐาน ๔ แบบเคลื่อนไหวของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ซึ่งทั้งหมดนี้เขาเห็นถึงความเป็นวิถีชีวิตที่มีหลายมิติและมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกัน ทุกอย่างจึงเป็นการทำทั้งเพื่อพัฒนาตนเอง มีความเกี่ยวเนื่องกับถิ่นฐานและมีส่วนร่วมต่อการสร้างสุขภาวะของสังคม นับแต่ชีวิตด้านในของปัจเจกไปจนถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมเศรษฐกิจที่พอเพียง

อาจารย์สิทธิธัช ธิติกุลเกษมศักดิ์ ศิลปินน่าน ทำงานศิลปะ แสดงงาน รวมทั้งทำงานศิลปะเพื่อสังคม และทำงานเชิงกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งทำให้เห็นถึงพลังของศิลปะ ที่มีต่อการเชื่อมโยงปัจเจกกับชุมชนให้มีประสบการณ์ต่อสถานการณ์สังคม รวมทั้งทำให้เกิดการเรียนรู้ทางสังคมและเข้าถึงความซาบซึ้งต่อสิ่งที่มีอยู่ในถิ่นฐานเมืองน่าน อย่างหลากหลายและต่อเนื่อง พาเด็กๆ เยาวชน และคนเมืองน่าน รวมกันเป็นกลุ่มและไปเรียนรู้เขียนรูปตามแหล่งต่างๆ เพื่อมีประสบการณ์อันงดงามลึกซึ้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมทุกมิติของเมืองน่านอย่างลึกซึ้ง แล้วเรียนรู้ตนเองที่จะบันทึก บอกเล่า และสะท้อนสิ่งต่างๆเหล่านั้นลงสู่การทำงานศิลปะ ทำให้คนชอบศิลปะได้เข้าถึงการศึกษาเรียนรู้และสร้างชีวิตทางศิลปะให้กับตนเอง ขณะเดียวกัน ก็ทำให้กระบวนการทางศิลปะ ได้เป็นเครื่องมือและวิธีการทางการศึกษากล่อมเกลา ให้ปัจเจกและชุมชน ได้พัฒนาระบบวิธีคิด พัฒนาการเรียนรู้ เชื่อมโยงตนเองกับเมืองน่านและสิ่งที่สังคมชาวน่านสั่งสมสืบทอดไว้มายาวนาน

อาจารย์ยุทธภูมิ สุประการ และก้อยผู้เป็นภรรยา ได้ทำบ้านให้เป็นสตูดิโอชุมชนเอนกประสงค์ โดยเป็นทั้งบ้านอาศัย สตูดิโอทำงานศิลปะ แหล่งพักพิงของเด็กๆชาวไทยลูกหลานชนเผ่าที่มีความสามารถในการศึกษาเล่าเรียนแต่ไร้บ้านและกำพร้าพ่อแม่ ชื่อบ้านตามชื่อของลูกว่า 'บ้านพู่กันศิลป์' ได้ให้ความคิดที่ลึกซึ้งต่อการทำงานทางการศึกษากับการแก้ปัญหาเพื่อคนไร้โอกาสและการใช้การศึกษาร่วมสร้างสุขภาวะสังคมบางประการระหว่างที่เล่าถ่ายทอดสิ่งต่างๆในชีวิตและการทำงานแก่ผมและเครือข่ายผู้ร่วมเวทีว่า เขา ครอบครัว อาจารย์สิทธิธัช และเครือข่ายที่ทำงานด้วยกันในพื้นที่เมืองน่าน ได้มีส่วนในการทำหลายอย่างที่ก่อให้เกิดความตื่นตัวและก่อเกิดมิติใหม่ๆของการสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้เกิดขึ้นในเมืองน่าน

หลายกิจกรรมได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ เช่น ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร สสส เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายศิลปินน่าน จังหวัด บางกอกฟอรั่ม องค์กรสาธารประโยชน์ของอเมริกาและต่างประเทศ

แต่ขณะเดียวกัน จำนวนของเด็กและเยาวชน หรือนักเรียนของเครือข่ายสถานศึกษาการศึกษาสงเคราะห์น่าน ก็มีจำนวนเพิ่มมากยิ่งๆขึ้นทุกปี ซึ่งหากเป็นสถานการณ์ทั่วไป นักการศึกษาและคนทำงานเชิงสังคมสาขาต่างๆ ก็คงจะดีใจและเห็นด้านที่มีแต่ความสำเร็จ แต่ในฐานะที่เขาอยู่อย่างใกล้ชิดกับเด็กๆและผู้คนนั้น ภาพดังกล่าวกลับทำให้เขายิ่งต้องเดินออกไปทำงานกับผู้คนในขอบเขตที่กว้างขวางกว่าห้องเรียนและกิจกรรมตามหลักสูตร เพราะเด็กและเยาวชนของโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์น่าน เป็นเด็กที่ไร้โอกาส มาจากครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆในสังคม กระทั่งจากครอบครัวที่แตกสลายด้วยสาเหตุนานัปการในสังคม ดังนั้น ความสำเร็จ การเพิ่มขึ้นของผู้เรียนและการขยายตัวในภาคการศึกษาที่เขาได้เห็นอยู่ในชีวิตการทำงานในอีกนัยหนึ่ง จึงเป็นเครื่องบ่งชี้การเพิ่มขึ้นของปัญหาและภาวะกดดันต่างๆของสังคม

บทบาทของคนทำงานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้แก่ผู้คนของเขากับเครือข่าย เช่นเดียวกับวิถีคิดและวิถีปฏิบัติที่สะท้อนอยู่ในบทเรียนของทุกคนในเครือข่ายคนแพร่ น่าน และลำปางในเวทีนี้ จึงมีลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่ง โดยมีความเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่บูรณาการและเชื่อมโยงกับสังคม มีขอบข่ายที่กว้างขวางเชื่อมโยงหลายมิติและหลายระดับ กับผู้คนและชีวิตสังคม สะท้อนความมีน้ำจิตน้ำใจต่อสาธารณะ คุณธรรมต่อส่วนรวม และความสำนึกร่วมต่อสังคมและโลกกว้าง ไปสู่สิ่งที่ตนเองจะทำได้ในวิถีชีวิตและการงานบนถิ่นฐานและถิ่นอาศัย ใส่ใจทั้งความงอกงามของผู้เรียนและเล็งไปถึงผลกระทบต่อการเกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสภาวการณ์ต่างๆที่เป็นปัญหาและส่งผลต่อความมีสุขทุกข์ร่วมกันของผู้คนในสังคมวงกว้างด้วย

หมายเลขบันทึก: 492805เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2012 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบพระคุณอ.นุครับ 
ที่แวะเข้ามาทักทายและคลิ๊กให้ดอกไม้เป็นกำลังใจกันครับ
มีความสุขเสมอๆครับอาจารย์ 

เป็นชุมชนนักปฏิบัติแห่งศิลปะการใช้ชีวิตเพื่อการศึกษาอย่างแท้จริงครับ

สวัสดีครับอาจารย์ดร.Pop ครับ
แล้วก็เป็นรูปธรรมชุมชนปฏิบัติอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่เน้นการพัฒนาชีวิตด้านใน ออกไปสู่การจัดความสัมพันธ์ของมนุษย์กับแหล่งอาศัยและโลกรอบข้าง ด้วยความสมดุล พอเพียง ได้ความงาม แก้ปัญหาที่อยู่ใกล้ตัวได้จริง และเป็นความดี ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ได้ถอดบทเรียนให้กับกลุ่มอย่างนี้ แล้วก็ได้เป็นเครือข่ายวิชาการร่วมสื่อสารและสร้างการเรียนรู้ให้กว้างขวางจากชุมชนในระดับฐานรากไปสู่วงกว้างแล้ว ก็เหมือนกับได้เรียนรู้ความสร้างสรรค์ของมนุษย์ พร้อมกับได้ร่วมเป็นกำลังทางวิชาการ เพื่อสร้างพลังความเป็นจริงในมิติใหม่ๆของสังคม จากสิ่งที่ก่อเกิดขึ้นด้วยความริเริ่มของชาวบ้านและคนตัวเล็กๆ เลยละครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท