ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับ การคุ้มครองผู้บริโภคในความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย


การคุ้มครองผู้บริโภค, ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย, ปัญหาอำนาจหน้าที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำเทศบาล, ปัญหานิยามความหมาย "สินค้าที่ไม่ปลอดภัย"

 ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับ

การคุ้มครองผู้บริโภคในความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย[1]

 

Phachern Thammasarangkoon [2]

 

เมื่อมนุษย์มารวมตัวกันอยู่เป็นสังคมมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญอยู่ 2 อย่าง คือ การผลิต (Production) และ การบริโภค (Consumption) เพราะมนุษย์ในสังคมต้องกิน ต้องใช้ ทั้งผลิตเพื่อขายหรือการบริโภคของตนเอง  เมื่อสังคมเจริญก้าวหน้าขึ้นก็มีกฎหมายกฎเกณฑ์เข้ามาบังคับใช้ เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีความสมดุลกัน  ก้าวล่วงมาถึงยุคสมัยใหม่ที่มีความก้าวหน้าด้านข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี  ก็เริ่มมีความไม่สมดุลกันระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคมากขึ้น จากหลักที่ “ผู้ซื้อต้องระวัง” (Caveat Emptor) รัฐจึงต้องเข้าแทรกแซง เพราะผู้ผลิตจะได้เปรียบผู้บริโภคในหลาย  ๆ อย่าง ทั้งในเรื่อง เงินทุน เทคนิคการผลิต และโอกาสที่ดีกว่า จึงกลายมาเป็นหลัก “ผู้ขายต้องระวัง” (Caveat Venditor) ในปัจจุบันที่มีการแข่งขันทางการค้าสูง มีสินค้ารูปแบบใหม่ ๆ มากมายตามระบบการค้าโลกเสรี  ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องคุณภาพสินค้า หรือ ในเรื่องความรับผิดในสินค้าที่บกพร่องเกิดขึ้นมากมาย  ข่าวคราวการฟ้องร้องเกี่ยวกับสินค้าไม่ปลอดภัยหรืออันตรายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย เพื่อเรียกร้องในความรับผิดก็ปรากฏมาตลอด อาทิเช่น ข่าวแหนมนิ้วมือ (2547), ข่าวพบทากในนมเปรี้ยว (2549) จนกระทั่งมีกฎหมายความรับผิดในสินค้าที่ไม่ปลอดภัยออกมาบังคับใช้ ก็มีข่าวดังอีก อาทิ ข่าวการฟ้องกระทรวงฯ แจกปลากระป๋องเน่า (2552), ข่าวเข็มขัดนิรภัยขาดบาดเจ็บกึ่งพิการ (2552) และ ข่าวดังในปี 2555 ได้แก่ ข่าวอดีตอาจารย์ฟ้องคลื่นสัญญาณมือถือทำให้ความจำเสื่อมเรียกค่าเสียหาย 200 ล้านบาท, ข่าวดาราถูกหลอกให้ซื้อสินค้าเสริมความงามไม่ได้คุณภาพ เป็นต้น

ประเทศไทยมีกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นในปี พ.ศ. 2522  และมีพัฒนาการทางกฎหมายว่าด้วยสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย (Safety Products) ขึ้นหลายฉบับ ไม่ว่าพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 จนถึงเป็นการคุ้มครองเกี่ยวกับสถานะของคู่ความที่ไม่เท่าเทียมกันตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 และจนกระทั่งมาถึงพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 หรือที่เรียกว่า "กฎหมายความรับผิดในสินค้าที่ไม่ปลอดภัย”  (Product Liability Law : PL Law) หรือขอเรียกอย่างย่อว่า "กฎหมายสินค้าที่ไม่ปลอดภัย” ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2552

ในปี พ.ศ. 2552 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ถ่ายโอนภารกิจตามแผนการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นโดยการแต่งตั้ง “ปลัดเทศบาล” เป็น “อนุกรรมการและเลขานุการอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำเทศบาล” ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 3/2552 ลงวันที่ 20 เมษายน 2552 เป้าหมายหลัก คือ “เทศบาลตำบล” จำนวน 1,900 แห่ง (ข้อมูลกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  30 กันยายน 2554) ด้วยคาดว่าจะเป็นเป้าหมายที่น่ามีศักยภาพมากที่สุดในการดำเนินการตามนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภค  แต่การดำเนินการในระยะแรกมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำเทศบาลที่ไม่ชัดเจน และนอกจากนี้ตามกฎหมายความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยดังกล่าว ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดนิยามความหมายของคำว่า “สินค้า” ไม่ชัดเจนมีความหลากหลาย ทำให้ความคาดหวังเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคประสบปัญหา

พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 มีหลักการว่าหากผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการใช้สินค้านั้น ผู้ผลิตหรือผู้ที่เกี่ยวข้องต้องรับผิด โดยร่างนำมาจาก EU Directive  สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแม่แบบ ใช้หลักความรับผิดโดยเคร่งครัด (Strict Liability) ในการแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่ปลอดภัยนั้นต้องใช้มาตรการเชิงป้องกันและเยียวยา โดยอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะมาตรการด้านเยียวยา เมื่อผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการใช้สินค้าที่ไม่ปลอดภัย

จากการศึกษาประเด็นปัญหาข้อเสนอแนะกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย  ดังนี้

ปัญหาแรกเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำเทศบาลที่ไม่ชัดเจน

ผู้เขียนเห็นว่า เริ่มมาจากการมอบอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตามนโยบายการกระจายอำนาจของรัฐบาล เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ กฎหมายไม่มีความชัดเจน ยังไม่มีกฎหมายรองรับ  มีข้อเสนอแนะว่า การนำ “การระงับข้อพิพาททางเลือก”  (Alternative Dispute Resolutions = ADRs) มาใช้เป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่มีกฎหมายรองรับ  การนำหลักประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับในเรื่องสัญญาประนีประนอมยอมความ ตาม มาตรา 850 – 852 เป็นผลให้อายุความไม่สะดุดหยุดอยู่  เพราะเป็นการไกล่เกลี่ยนอกศาล ก่อนการฟ้องคดีต่อศาล กรณีมีการเจรจาเกี่ยวกับค่าเสียหายที่พึงจ่ายอายุความจึงไม่สามารถสะดุดหยุดอยู่ตาม มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 หรือ ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ไม่นับอายุความในระหว่างนั้นจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้บอกเลิกการเจรจา ในกรณีที่ใดฝ่ายหนึ่งไม่สุจริต  โดยเฉพาะฝ่ายผู้ประกอบการ ซึ่งมีกำลังทุนทรัพย์ และความได้เปรียบในโอกาสหลายประการ อาจใช้เวทีการเจรจาไกล่เกลี่ยนี้เพื่อสร้างเงื่อนไขต่อรอง หรือ ประวิงเวลา ฯลฯ และควรบัญญัติเรื่องหลักเกณฑ์การแต่งตั้งอนุกรรมการฯที่มาจากภาคประชาชนไว้ในกฎกระทรวง เพื่อการพัฒนา “วิชาชีพ” (Professional) ต่อไป

ปัญหาที่สองเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนของนิยามคำว่า “สินค้า”

ผู้เขียนเห็นว่า นิยามความหมายของคำว่า “สินค้า” ยังไม่ชัดเจน มีความหลากหลาย ด้วยกฎหมายไทยตั้งต้นเน้นที่นิยามความหมายของคำว่า “สินค้าไม่ปลอดภัย”  มีความพยายามให้นิยามความหมายในสิ่งที่กว้าง  โดยไม่เน้นที่กระบวนการผลิต ซึ่งจะเป็นจุดเกาะเกี่ยว (Connecting  Point) ที่โยงไปถึงความรับผิดแบบเคร่งครัด (Strict  Liability) ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายสินค้าที่ไม่ปลอดภัยหรือ กฎหมาย PL Law ที่นานาอารยประเทศได้ยึดถือปฏิบัติกัน จากความหลากหลายไม่ชัดเจนในนิยามความหมายของคำว่า “สินค้าไม่ปลอดภัย” ทำให้เกิดปัญหาในการวินิจฉัยตีความ  เพราะหากไม่เข้านิยามความหมายของคำว่า “สินค้าไม่ปลอดภัย” แม้จะได้รับความเสียหายจริง ก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายสินค้าที่ไม่ปลอดภัยแต่อย่างใด ความหลากหลายไม่ชัดเจนหลายประการ เช่น

1. ถ้อยคำว่า “สินค้า” หรือ “ผลิตภัณฑ์” (Products) มีความสับสนในคำศัพท์ “Products” แปลว่า “ผลิตภัณฑ์”  แต่ใช้เป็นคำว่า “สินค้า”

2. นิยามศัพท์คำว่า “สินค้า” ไม่ครอบคลุม “การบริการ” เพราะยังมีบริการที่ไม่ปลอดภัย (Unsafety  Service) ที่มีความเสียหายไม่ต่างไปจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก “สินค้า” ที่ไม่ปลอดภัย

3. เรื่องสินค้าเกษตร เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม  มีรายได้หลักจากผลิตผลเกษตรกรรม สินค้าเกษตรที่อยู่ในกระบวนการผลิตเบื้องต้น ขั้นปฐมภูมิไม่มีลักษณะอันตรายที่สมควรนำหลักความรับผิดโดยเคร่งครัดมาใช้  และเพื่อให้สินค้าไทยเป็นที่มั่นใจในเวทีการค้าระดับประเทศ  สำหรับสินค้าเกษตรดังกล่าว ได้มีประกาศกฎกระทรวงยกเว้นตามมาตรา 4 มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2553 แล้ว

4. อุปกรณ์ของสินค้าที่ติดอยู่กับอสังหาริมทรัพย์เป็นสินค้าหรือไม่  มีปัญหาการร้องเรียนในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมายความรับผิดในสินค้าที่ไม่ ปลอดภัย อุปกรณ์ของสินค้าที่ติดอยู่กับอสังหาริมทรัพย์ว่าเป็นสินค้าหรือไม่

5. สินค้าของเล่นเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ตามสถิติเด็กไทยเสียชีวิตจากการสำลักอุดตันทางเดินหายใจ ของเล่นชำรุดและการออกแบบไม่เหมาะสมกับเด็ก  นอกจากนี้ยังมีสารเคมีปนเปื้อนของเล่นเด็ก ตะกั่ว สารก่อมะเร็ง Phthalate

6. สินค้ามือสอง สังคมไทยมีการนำสินค้ามือสอง ที่ชำรุด บกพร่องมาค้ากำไรอยู่มาก ผู้ขายสินค้ามือสองที่ไม่ทราบผู้ผลิต ถือว่าเป็นผู้ประกอบการด้วย

7. สินค้าลักษณะอื่น ๆ ที่มีลักษณะพิเศษอื่น ๆ อาจมีปัญหาว่าอยู่ในบังคับตามกฎหมายสินค้าที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในการปรับบทกฎหมาย เจตนารมณ์ รวมทั้งตามสภาพเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว อาทิเช่น กรณีสระว่ายน้ำ  หากเป็นสระแบบถังที่วางไว้บนพื้น ถือเป็นสินค้า  แต่หากสร้างติดตรึงตราถาวรกับพื้นดิน ไม่ถือว่าเป็นสังหาริมทรัพย์ กรณีรถเข็นตามห้างสรรพสินค้า ไม่ถือว่าเป็นสินค้า เพราะมิได้มีไว้เพื่อขาย กรณีเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือ นิตยสาร หรือสื่ออื่นใด ไม่ถือเป็นสินค้า โดยพิจารณาจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย กรณีเนื้อหา หรือภาพในเกม เพลง วิดีโอเกม และเว็บไซต์  ไม่ใช่สินค้า โดยศาลสหรัฐอเมริกาให้น้ำหนักในการรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพในการแสดงออก กรณีเลือดมนุษย์ ไม่ถือเป็นสินค้า เพราะโดยประเพณีแล้วไม่มีการซื้อขายเลือดมนุษย์กัน นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างกรณีต่าง ๆ สินค้าที่อันตราย รวมสินค้าที่อันตรายในตัวเองว่า น่าเกิดอันตราย หรือมีสภาพที่เป็นอันตรายที่เห็นได้ชัด หรือเป็นที่รับรู้ถึงอันตรายนั้น (Obvious or Generally know dangers) ก็จะไม่ถือว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย

8. สินค้าที่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติฯ มุ่งเน้นถึงการผลิตในลักษณะใด ในประเด็นนี้เกี่ยวโยงถึง “ผู้ประกอบการ” ไม่ว่าสินค้าประเภทงานฝีมือ (Handmade) หรือ เชิงอุตสาหกรรม (Mass Product)  สินค้านั้นจะมีการผลิตแบบใดก็ตาม หากมีการผลิต ก็ถือว่าเป็นการผลิต ซึ่งผลผลิตที่ได้ออกมา  หากมีการซื้อขายเชิงพาณิชย์เพื่อประโยชน์ทางการค้าถือว่าอยู่ในข่าย

9. การผลิตที่ผ่านกระบวนการแปรรูปสินค้า (Processing) ในการการแบ่งบรรจุสินค้า สินค้าแบ่งขาย บรรจุเอง โดยเฉพาะยาหรือเครื่องมือแพทย์ ในทางอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ยังใช้หลักความรับผิดโดยเคร่งครัด (Strict Liability) เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหาย ฯ แต่เมื่อพิจารณาดูให้ชัดเจนแล้วจะพบว่า พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ เป็นกฎหมายที่เปิดช่องให้ผู้ประกอบการสามารถหยิบยกข้อต่อสู้ได้กว้างขวางมาก เพราะอนุญาตให้ผู้ประกอบการยกเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ได้

ข้อเสนอแนะในปัญหาความไม่ชัดเจนของคำว่า “สินค้า” ก็คือ ควรเพิ่มการบริการบางประเภทไว้ในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคด้วย  และแก้ไขในเรื่องวิธีการพิสูจน์ความผิดอันอยู่ในกฎหมายวิธีสบัญญัติ    ควรให้คำนิยามสินค้าบางประเภทไว้ให้ชัดเจน โดยนิยามและขยายความไว้ในกฎกระทรวงยกเว้นตามมาตรา 4   สำหรับสินค้าอันตราย เช่นของเล่นเด็ก ควรมีประกาศควบคุมมาตรฐานสินค้าดังกล่าวไว้ สำหรับยาและเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเกี่ยวพันกับกฎหมายว่าด้วยความรับผิดในทางการแพทย์ เพราะมีลักษณะพิเศษเกี่ยวกับวิชาชีพจรรยาบรรณที่มีความรับผิดชอบสูงต่อชีวิตและสุขภาพ ได้มีประกาศกฎกระทรวงยกเว้น มีผลตั้งแต่วันที่  28 มกราคม 2554 แล้ว

เอกสารอ้างอิง

มานิตย์  จุมปา. คำอธิบายกฎหมายความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, 2554.

สุษม  ศุภนิตย์.  คำอธิบายพัฒนาการของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของไทย.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, 2554.

สุรเชษฐ์ เณรบำรุง.  “ปัญหาการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีผู้บริโภค : ศึกษาเฉพาะกรณีการไกล่เกลี่ยในชั้นของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค.” วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, 2552.

ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.  “ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย.” เอกสารสรุปการสัมมนาทางวิชาการ ณ  ห้องประชุม จิตติ  ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  (ท่าพระจันทร์), 18 มิถุนายน 2552, สรุปเผยแพร่เมื่อ 27 ธันวาคม 2554.

Dominick W. Savaiano j. Ryan Hemingway.  “U.S. Products Liability Overview & Recent Developments.” Clausen Miller PC , MAY, 2005.[Online]. Available URL : http://img.alibaba.com/images/eng/others/us_products_liability.pdf 

Praphrut Chatprapachai. “THAI PRODUCT LIABILITY LAW: PREPARATION FOR ENTREPRENEURS. ” ABAC Journal 30, 3 (September-December, 2010) : 30-44. [Online]. Available URL : www.journal.au.edu/abac_journal/2010/dec2010/article03_Thai.pdf

The Gomez Law Firm. “CaliforniaProduct Liability Attorney.” [Online]. Available URL : http://injury.thegomezfirm.com/product-liability.php

กฎหมาย

พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551.

คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 3/2552 เรื่อง  แต่งตั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำเทศบาล ลงวันที่ 20 เมษายน 2552.



[1] บทความนี้เรียบเรียงจากการศึกษาอิสระเรื่อง ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือรองศาสตราจารย์ ประเสริฐ  ตัณศิริ และคณะกรรมการสอบ คือรองศาสตราจารย์มยุรี พันแสงดาว รองศาสตร์จารย์นิมิต ชิณเครือ

[2] นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

หมายเลขบันทึก: 492668เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2012 21:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2013 22:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ประเด็นปัญหากฎหมาย

                มาตรา 84 ป.วิพ. ถูกยกเว้นโดย มาตรา 11 มาตรา 5 มาตรา 6 ยกเว้น ผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นต้องนำสืบ คล้าย ม. 437 ปพพ. เดินเครื่องจักรกล ก็ผิดแล้ว ภาระการพิสูจน์ตกอยู่แก่ผู้ประกอบการ  นำสืบว่าเข้า พรบ.ครผ.สินค้าที่ไม่ปลอดภัย

                มาตรา  3 พรบ.ครผ.สินค้าที่ไม่ปลอดภัย ใช้มาตรฐานที่สูงกว่า เช่น พรบ.อาหาร มีโทษบังคับแล้ว

                ความรับผิด ปรับใช้ป.แพ่ง  ขยายความรับผิดของผู้กระทำละเมิด ถ้า ปพพ.ไม่สามารถบรรเทาความเสียหายให้เพียงพอ กม.ครผ.สินค้าที่ไม่ปลอดภัย จึงกำหนดความรับผิดให้ให้มากขึ้น

                มาตรา 43 วิ.ผบ. พิพากษาเกินคำขอ เรียกคืนสินค้า

            สินค้าที่ขัดต่อความสงบ ยังเป็นตัวสินค้าอยู่ ต้องผ่านนิติกรรม ม. 149 กม.ต้องรับรอง เป็นสินค้า แต่สินค้ามิชอบด้วยกม.   ให้ร่างกายรพ. แต่ญาติว่า ฝัง เพราะร่างกายไม่ใช่ทส.  เลือดขายไม่ได้

ณัฐกานต์  กุลวงศ์

8 พฤษภาคม 2555

คดีตัวอย่าง ศาลอิตาลีชี้ขาด 'โทรศัพท์มือถือ' เป็นสาเหตุ 'เนื้องอกในสมอง'
http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9550000128564
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์     20 ตุลาคม 2555 14:58 น.     
    
       เดอะ เทเลกราฟ - ศาลสูงสุดอิตาลีพิพากษาคดีตัวอย่าง โดยตัดสินชี้ขาดว่ามีความเชื่อมโยงกันระหว่างการใช้โทรศัพท์มือถือกับเนื้องอกในสมอง เป็นการปูทางสำหรับการดำเนินคดีทางกฏหมายในกรณีเดียวกันนี้อีกมากมาย
       
       ศาลสูงสุดในกรุงโรมตัดสินว่า โทรศัพท์ของอินโนเซนเต มาร์โคลินี นักธุรกิจแดนมะกะโรนี วัย 60 ปี เป็นสาเหตุให้เขาล้มป่วย หลังจากใช้มือถือทำงานติดต่อกันวันละเกือบ 6 ชั่วโมงทุกวันเป็นเวลา 12 ปี หนังสือพิมพ์เดอะซันรายงาน

     

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท