consideration of right positioning in 4vessels study


positioning

การเปรียบเทียบเวลาในกระบวนการจัดท่าก่อนฉีดสารทึบรังสีของการตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดสมอง

 Consideration of right positioning in 4vessels study: time comparative

เอกลาภ  มานะกิจไพบูลย์                   วท.บ (รังสีเทคนิค)

ชัยวัฒน์  เชิดเกียรติกุล                        วท.บ (รังสีเทคนิค)

กฤตญา  สายศิวานนท์                        วท.บ (รังสีเทคนิค)

เอนก       สุวรรณบัณฑิต                      วท.บ (รังสีเทคนิค)

ภาควิชารังสีวิทยา  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เอกลาภ มานะกิจไพบูลย์, ชัยวัฒน์ เชิดเกียรติกุล, สุรชาติ การประเสริฐ, เอนก สุวรรณบัณฑิต. การเปรียบเทียบเวลาในการจัดท่าก่อนฉีดสารทึบรังสีในการตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดสมอง. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2554; 5 : 45-51

คำนำ

            การวินิจฉัยหลอดเลือดสมองด้วยการฉีดสารทึบรังสีผ่านทางสายสวนหลอดเลือดโดยตรงถือได้ว่าเป็นมาตรฐานที่ดีที่สุดในการวินิจฉัยหลอดเลือดสมอง โดยอาศัยภาพหลอดเลือดสมองที่มีคุณภาพเพียงพอต่อการใช้ตัดสินการรักษาผู้ป่วยของแพทย์ ภาพที่มีคุณภาพ การทำหัตถการที่ราบรื่น ระยะเวลาทำหัตถการที่สั้น จะเป็นตัวแทนแสดงถึงประสิทธิภาพ โดยที่มีอัตราความสำเร็จของหัตถการและอัตราภาวะแทรกซ้อนเป็นตัวชี้วัด ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงในฐานะนักรังสีเทคนิคก็คือการจัดท่าได้ เพื่อให้ได้ท่าเริ่มต้นที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และการยึดตรึงผู้ป่วยเพื่อไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหว (immobilization)  จะทำให้การทำหัตถการมีความราบรื่นและเมื่อแพทย์เริ่มทำหัตถการตรวจหลอดเลือดสมองก็จะสามารถฉีดสารทึบรังสีและถ่ายเอกซเรย์ได้ทันที แต่หากมีการละเลยการจัดท่าเริ่มต้นจะทำให้แพทย์ต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งไปกับการปรับเอียง Gantry และ ใช้ Fluoroscopy เพื่อตรวจสอบตำแหน่งของกระโหลกศีรษะให้ตรง เพื่อให้ได้ภาพที่ถูกต้อง  ในทางวิชาการเห็นว่าการเพิ่มขึ้นของเวลาในการทำหัตถการอาจมีผลต่ออัตราภาวะแทรกซ้อนได้  ผู้วิจัยจึงเห็นว่าจำเป็นจะต้องจำลองสถานการณ์เพื่อตรวจสอบแนวคิดทางทฤษฎีนี้ จะได้เป็นหลักวิชาการแก่นักรังสีเทคนิคในการย้ำเตือนหน้าที่ของตนเอง 

  

วัตถุประสงค์

          1. เพื่อตรวจสอบแนวคิดทางทฤษฎี ว่าการเพิ่มขึ้นของเวลาในการทำหัตถการอาจมีผลต่ออัตราภาวะแทรกซ้อนได้

       2.เพื่อแสดงถึงความสำคัญของการจัด Position ของผู้ป่วยก่อนการทำหัตถการ

 

การจัดท่าศีรษะในการทำหัตถการตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดสมอง

นักรังสีเทคนิคจะต้องยืนในตำแหน่งหัวเตียง เพื่อจะได้เห็นตำแหน่งระนาบหลักได้ชัดเจน จะใช้ท่า  A.P.(Anteroposteria) ในการจัดท่า  คือให้ผู้ป่วยนอนหงายบนเตียง   ให้วางมือของผู้จัดท่าบนเตียง  ฝ่ามือตั้งฉากชิดศีรษะคนไข้ทั้งสองด้าน  กางนิ้วโป้งออก  ปลายนิ้วโป้งแตะตรง  tragus  จัดศีรษะให้หน้าตรงตามระนาบของ Median Sagittal Plane และควรจะพยายามจัดท่าให้ถูกต้อง โดยให้ผู้ป่วยก้มหน้าจน  orbitomeatal  line  หรือ  radiographic  base  line  ตั้งฉากกับเตียง  ถ้าผู้ป่วย อกหรือไหล่หนา  มักจะก้มหน้าให้  base  line  ตั้งฉากไม่ได้จึงต้องใช้  ฟองน้ำที่เป็น non-opaque  pad  หนุนศีรษะให้สูง  แล้วใช้  เทปยาวๆ  คาดศีรษะและลูกคางยึดติดติดกับข้างเตียง  เพื่อบังคับให้ศีรษะอยู่นิ่งๆ ตลอดระยะเวลาการทำหัตถการ

 

กระบวนวิธีวิจัย

1.เป็นวิจัยแบบจำลองเหตุการณ์ (Simulation study) ด้วยใช้เครื่องเอกซเรย์ระบบหลอดเลือดยี่ห้อ Phillips รุ่น Allura Xper2010, นาฬิกาจับเวลา และที่วางรองศีรษะผู้ป่วยขณะทำการตรวจ เป็นเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมในการวิจัย 

2. ทดลองกระบวนการในการจัดท่าเริ่มต้น ในตัวอย่างที่ได้รับการยินยอม (volunteer) โดยให้ตัวอย่างได้วางศีรษะลงในอุปกรณ์ที่วางรองศีรษะผู้ป่วย ในท่าฟรีสไตล์ (Free-Style Position) และถูกจัดท่าโดยนักรังสีเทคนิค (Accuracy Position)

 3. ทำการศึกษาเปรียบเทียบเวลาในการจัดท่าเพื่อการถ่ายภาพเอกซเรย์หลอดเลือด การนับวัดเวลาในการ fluoroscopy และการวัดปริมาณรังสีที่เกิดขึ้น จากการทดลองเหตุการณ์จริงในการปรับเอียง Gantry และ ใช้ Fluoroscopy เพื่อตรวจสอบตำแหน่งของกระโหลกศีรษะให้ตรง เพื่อให้ได้ภาพที่ถูกต้อง ในท่า AP Position และ Lateral Position ในเหตุการณ์ที่ใช้เครื่องระบบ Single Plane และ Biplane

  

 

ผลการวิจัย

 

สรุปผลการวิจัย

          จากการจำลองเหตุการณ์ พบว่า ในกรณีที่ไม่ได้จัดท่าเริ่มต้นที่ถูกต้อง กระบวนการจะเกิดความล่าช้า ด้วยการจัดท่าใหม่ด้วยการปรับมุมเครื่องเอกซเรย์ระบบหลอดเลือดชนิด biplane ซึ่งต้องตรวจสอบทั้งแนว AP และ Lateral view พบว่าที่เสียเวลาการจัดท่า 1.31 นาที และ ในระหว่างการจัดการท่า จำเป็นที่จะต้องใช้การ fluoroscopy ร่วมด้วยเพื่อตรวจสอบตำแหน่ง ทำให้เกิด fluoroscopy time  0.39 นาที และทำให้ผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีเพิ่มขึ้น  8.75 mGy  และเมื่อจำลองเหตุการณ์โดยใช้รูปแบบ single plane ซึ่งต้องตรวจสอบทั้งแนว AP และ Lateral view เช่นกันพบว่าที่เสียเวลาการจัดท่า 1.57 นาที  เกิด fluoroscopy time  0.22 นาที และทำให้ผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีเพิ่มขึ้น  4.32 mGy

การจัดตำแหน่งศีรษะให้ถูกต้องนั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็จะต้องทำการตรวจสอบตำแหน่งด้วย fluoroscopy ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เกิดการปรับตำแหน่งเพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุด และทำให้ได้รับปริมาณรังสีจำนวนหนึ่ง แต่ในรูปแบบ single plane นั้นการปรับท่าให้ถูกต้อง นั้นกระทำโดยการที่นักรังสีเทคนิคเข้าไปจัดท่า จึงใช้ fluoroscopy ลดลง ปริมาณรังสีย่อมน้อยตาม แต่แน่นอนว่าเวลาในการจัดท่าเพิ่มขึ้น

 การจัดตำแหน่งของศีรษะให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ จะทำให้ลดเวลาในการเตรียมก่อนการถ่ายภาพ และได้ภาพที่มีคุณภาพ การทำหัตถการจะเกิดความราบรื่น และนำไปสู่อัตราความสำเร็จที่เพิ่มขึ้น   โดยที่ผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีเท่าที่จำเป็น และนักรังสีเทคนิคได้ใช้ความรู้ในทางวิชาชีพในการทำงานอย่างแท้จริง

 

บรรณานุกรม

1. Oldnall, N.J. (1996, August 8). Radiography of The Skull. Retrieved August 20, 2011, from http://www.eradiography.net/nickspdf/Skull.pdf

2. Sutherland, R., & Thomson, C. (2007). Pocketbook of Radiographic Positioning (3rd ed.).

3.  ขนิษฐา  ชูชาวนา. (2552, 15 กุมภาพันธ์). การถ่ายภาพเอกซเรย์กะโหลกศีรษะ (Plain skull). ค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2554, จาก http://gotoknow.org/blog/nitasan?page=2

4.  เอนก สุวรรณบัณฑิต, วิธวัช หมอหวัง และ คง บุญคุ้ม. มาตรฐานและเทคนิคในหัตถการการวินิจฉัยหลอดเลือดสมอง. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย. 2551, 2(1) : 9-19

        

คำสำคัญ (Tags): #positioning#4vv
หมายเลขบันทึก: 492487เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2012 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มิถุนายน 2012 11:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท