เพิ่มความปลอดภัยผู้ป่วยทำไงดี


แก้ปัญหาด้วยการกำจัดคนที่มีคุณภาพไม่ดีเป็นการแก้ปัญหาที่ง่ายไปหรือเปล่า

ผมอยู่เขมร พอดีต่อเน็ตได้ เลยเอาเรื่อง ความปลอดภัยคนไข้มาเล่าให้ฟัง เพราะเคยไปฟังผู้เชี่ยวชาญ ตปท เขาพูดเรื่องนี้ไว้น่าสนใจ เมื่อคราวไปประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาการวิจัยของแผนงานนี้ที่จัดตั้งโดยองค์การอนามัยโลก

เผื่อพวกเราจะช่วยกันทำ R2R เพิ่มความปลอดภัยในการดูแลคนไข้ ได้มากขึ้น เพราะขณะนี้กำลังตื่นตัวกันที่จะทำให้คนไข้ไม่ต้อง เกิดโรคแทรกซ้อน หรือได้รับอันตรายถึงชีวิตโดยไม่จำเป็น 

ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยชื่อ จิม รีซัน เป็นนักจิตวิทยาศึกษาเรื่องความปลอดภัยในภาคธุรกิจเอกชนให้ข้อมูลจากความพยายามในการป้องกันความผิดพลาดในธุรกิจ และกิจการอื่นๆ เช่นธุรกิจการบิน การดูแลความปลอดภัยในโรงไฟฟ้าปรมาณู และสรุปว่ามีแนวโน้มทการแก้ปัญหาี่จะมองในเชิงระบบมากกว่ามองว่าเป็นปัญหาของปัจเจกด้านคน

พูดง่ายๆคือมองว่าต้องปรับปรุงระบบการทำงาน การบริหารจัดการ ไม่ใช่ไปโทษว่าเป็นเพราะคนไม่มีคุณภาพ

แต่เขาบอกว่าหลังจากทำงานในด้านนี้มานาน เขาคิดว่าคงต้องดูให้ได้สมดุลย์

เพราะบ่อยครั้งที่ความพยายามที่จะแก้ปัญหาเชิงระบบ ไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้น

แปลว่ายังคงต้องแก้ปัญหาที่เรื่องพฤติกรรม และการทำงานของแต่ละคนอยู่ดี

โดยเฉพาะในระบบบริการทางการแพทย์ที่มักเป็นการให้บริการแบบตัวต่อตัว (ไม่เหมือนนักบินที่บริการผู้โดยสารทีเดียวทั้งลำ หรือบริการประเภทอื่นๆ)

ที่อเมริกามีตัวอย่างของการพยายามแก้ปัญหาเชิงระบบ ด้วยการออกกฏหมายตั้งหน่วยงานที่จะรับรายงานว่าด้วยความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการรักษษพยาบาล โดยกฏหมายจะระบุว่าข้อมูลของหน่วยงานนี้เป็นความลับ ห้ามไม่ให้ใครมาขอหรือเอาไปใช้เป็นหลักฐานเพื่อการอ้างอิงทางกฏหมาย หรือเอาไปฟ้องร้อง

นี่ขนาดเป็นประเทศที่เชื่อในสิทธิ และการเข้าถึงข้อมูล เขายังออกกฏหมายห้ามการใช้ข้อมูลในบางลักษณะ เพราะคิดว่าน่าจะเกิดข้อเสียมากกว่าข้อดี

เขาเชื่อว่าถ้าไม่มีกฏหมายคุ้มครองผู้รายงาน จะไม่มีการรายงานกรณีผิดพลาด ซึ่งก็อาจจะไม่ใช่ความผิดของผู้กระทำ (เป็นเหตุที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงจริง หรือไม่ก็เป็นเพราะทำงานหลายชั่งโมงติดต่อกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดกันมากในวงการแพทย์ แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว) หรือปัจจัยอื่นๆ

เมื่อไม่มีการรายงาน ก็จะไม่มีข้อมูลดีพอ และทำให้ไม่รู้ปัญหา หรือปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข

จะมารอให้ประชาชนหรือญาติมาฟ้องร้อง หรือมาขอให้ตรวจสอบก็อาจจะได้

แต่ก็จะรู้น้อยกว่าที่ควร

เพราะเรื่องแบบนี้ผู้มีความรู้จะรู้ดีกว่าว่าเป็นเรื่องที่น่าผิดพลาดหรือไม่มากกว่าคนที่ไม่มีความรู้

ที่บ้านเรา เรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย ยังพูดกันแบบง่ายๆว่าเป็นเรื่องของใครผิดใครถูก แต่ในหลายกรณีมันเป็นเรื่องที่ไม่มีใครผิดหรือใครถูก แม้จะเป็นเรื่องเศร้า แต่ก็เป็นเรื่องจริง

การแก้ปัญหาด้วยการหาคนผิด น่าจะได้ประโยชน์น้อยกว่าการแก้ปัญหาด้วยการหาสาเหตุของความผิดพลาด และพยายามหาทางป้องกันไม่ให้เกิดอีก

ถ้าปัญหามาจากคนที่ไม่มีคุณภาพ การกำจัดคนที่ไม่มีคุณภาพก็คงเป็นวิธีที่ดีที่สุด

แต่การแก้ปัญหาด้วยการกำจัดคนที่ไม่มีคุณภาพ เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายไปหรือเปล่า

หมายเลขบันทึก: 49240เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2006 23:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 19:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

     การแก้ปัญหานี้เชิงระบบโดยการออกกฏหมาย เพื่อคุ้มครองผู้รายงานข้อมูลความผิดพลาด ซึ่งในภาพรวมของการได้ข้อมูลรายงานที่เป็นความผิดพลาดไปวางแผนแก้ไขก็มีส่วนดีมาก ๆ เพราะการเหยียบกลบปัญหาย่อมเกิดขึ้นทันทีเมื่อไกดความผิดพลาดขึ้น ผมจึงเห็นด้วยที่สุดครับ
     แต่หากมองอีกทางหนึ่ง ความตระหนักของผู้ให้บริการที่จะป้องกันความผิดพลาดจะลดลงไหมเพราะได้รับการคุ้มครองอยู่ ประเด็นนี้ก็น่าจะเป็น Impact ที่เกิดขึ้นจากการใช้มาตรการเชิงระบบนี้นะครับ พยายามอ่านที่อาจารย์เขียนก็ไม่พบว่ามีการป้องกัน Impact นี้อย่างไร
     อาจารย์พอจะบอกต่อได้ไหมครับว่ามี Impact นี้เกิดขึ้นหรือไม่ครับ หรือเขาได้ป้องกันไว้อย่างไรแล้ว  ขอบพระคุณครับ

เท่าที่ทราบ กม ที่ว่าเพิ่งผ่านสภาเขาไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน อีกสักพักคงมีการประเมิน ติดตามมาดูกัน

แต่ผมคิดว่าการไม่ให้ระบบรายงานนี้เอาไปใช้ต่อ ไม่ได้แปลว่าไปห้ามระบบอื่นๆ

ในทางกลับกันก็อาจจะเหมือนการสารภาพบาป ไม่รู้มีใครเคยติดตามประเมินไหมว่าการสารภาพบาปทำให้คนมีแนวโน้มจะทำบาปมากขึ้น  

เห็นด้วยกับที่คุณหมอเขียนไว้ว่า

"การแก้ปัญหาด้วยการหาคนผิด น่าจะได้ประโยชน์น้อยกว่าการแก้ปัญหาด้วยการหาสาเหตุของความผิดพลาด และพยายามหาทางป้องกันไม่ให้เกิดอีก"

ถ้าไม่มีการสร้างเชิงระบบ ทุกครั้งจะจบลงที่การหาคนผิด และจะลงเอยด้วยการกลบซ่อนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ระยะยาวต่อสังคม

แต่ถ้ามีแต่ระบบ ไม่มีคนผิด ก็จะทำให้รายคนอาจเกิดนิสัยขาดความรับผิดชอบได้

คงต้องปรับทั้งสองด้านให้สมดุล ช่วงไหนอ่อนด้านไหน ก็เสริมด้านนั้นมากหน่อย

และอีกเรื่องที่ควรทำ คือต้องหาทางสื่อถึงสาธารณชนว่า บางกรณี อาจไม่มีคนผิดเลยก็ได้ (เช่น แพ้ยาครั้งแรก) ซึ่งเป็นความเสี่ยงปฐมมูลที่ทุกคนต้องตระหนักและแบกรับเอง

คุณจิม รีซันที่ผมอ้างถึงก็พูดเรื่องสมดุลย์ ระหว่าง การแก้ที่ตัวคนกับการแก้ที่ระบบ ผมเองก็เชื่อแบบเดียวกัน และมีความเห็นเพิ่มเติมว่าสำหรับบ้านเรายังต้องมีการแก้เชิงระบบกันอีกมาก ในขณะที่เราพยายามลดปัญหาด้วยการแก้ที่ตัวคน

ที่น่าเสียใจคือ คนจำนวนไม่น้อย รวมทั้งคนมีอำนาจ ที่เพิ่งหลุดจาอำนาจไป ก็คิดว่าวิธีแก้คือการเอาคนผิดมาลงโทษ บางทีเขาอาจจะรู้ว่าต้องแก้เชิงระบบ แต่มันยาก และนานกว่าจะเห็นผล แถมยังไม่มีชื่อเหมือนบอกว่าคนนี้ คนนั้นผิด ต้องเอามาลงโทษ

ทำแบบเอาคนผิดมาลงโทษ มันเท่ห์ และได้ความนิยมมากกว่า

เราทุกคนจึงต้องช่วยกันบอกว่า เราอยากได้การแก้เชิงระบบมากกว่า ถ้าใครแก้ปัญหาแค่เอาคนผิดมาลงโทษ เราจะไม่ยกให้เขาเป็น ฮีโร่  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท