พัฒนาการเครื่องมือวิเคราะห์ชุมชน


พัฒนาการของเครื่องมือวิเคราะห์ชุมชน
 พัฒนาการใช้เครื่องมือในการศึกษาวิเคราะห์ชุมชน 

บทนี้เป็นการนำเสนอพัฒนาการการใช้เครื่องมือในการศึกษาวิเคราะห์ชุมชน ทั้งในเรื่องเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาโดยใช้วิธีมานุษยวิทยา พัฒนามาเป็นการประเมินสภาวะชุมชนอย่างเร่งด่วนRRA (Rapid Rural Appraisal) เป็นการประเมินชนบทแบบมีส่วนร่วม PRA(Participatory Rural Appraisal ) จนมาถึงการศึกษาวิเคราะห์ระบบชุมชนRSA (Rural System Analysis) ซึ่งมีรายละเอียดตามลำดับหัวข้อดังนี้ เครื่องมือในการศึกษาวิเคราะห์ชุมชนเพื่อการวิจัยนั้นได้มีการพัฒนาการใช้เครื่องมือในการเก็บข้อมูลให้เหมาะสมกับสถานการณ์หรือช่วงเวลาและมีคุณภาพสามารถเก็บข้อมูลได้ครบถ้วนและเที่ยงตรงมากขึ้นตามลำดับซึ่งมนุษย์มีการศึกษาหาความรู้ความจริงเกี่ยวกับเรื่องงราวข้อมูลที่เกี่ยวกับตนเองและชุมชนมาช้านานโดยวิธีการที่ใช้เป็นวิธีการที่ง่ายๆ ไม่มีระบบระเบียบแบบแผนซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นฐานของเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาหาความรู้ความจริงเกี่ยวกับเรื่องงราวข้อมูลของมนุษย์ ในสมัยโบราณมนุษย์จนมนุษย์ได้มีการพัฒนาการใช้เครื่องมือในการค้นคว้าหาความจริงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะขอนำเสนอพัฒนาการการใช้เครื่องมือในการศึกษาวิเคราะห์ชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยแบบ PAR ดังนี้ 1) การประเมินสภาวะชุมชนอย่างเร่งด่วนRRA (Rapid Rural Appraisal)
1.1 ความหมาย ความสำคัญ
การประเมินสภาวะชนบทอย่างเร่งด่วน (Rapid Rural Appraisal – RRA)เป็นเทคนิคที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่นักวิชาการ รวมถึงนักพัฒนาชนบทและและนักการเกษตรใน ช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยการประเมินสภาวะชนบทอย่างเร่งด่วน สุริยา สมุทคุปต์และพัฒนา กิติอาษา,(2537)ได้นิยามความหมายของ RRA ว่า RRA คือการศึกษาที่เป็นจุดเริ่มต้นในการทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นแห่งหนึ่ง เป็นการศึกษาที่ทำโดยอาศัยทีมสหวิชาการใช้เวลาอย่างน้อย 4 วัน อย่างมากไม่เกิน 3 สัปดาห์ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลมือสอง การสังเกตโดยตรง และการสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นที่เข้าใจว่าคำถามทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในการเก็บข้อมูลนั้นไม่สามารถกำหนดไว้ล่วงหน้าได้ สำหรับวัตถุประสงค์ของการประเมินสภาวะชนบทอย่างเร่งด่วน (Rapid Rural Appraisal – RRA) นั้น สุจินต์ สิมารักษ์ และ สุเกสินี สุภธีระ, 2530 ,(อ้างถึงในศูนย์พัฒนาทรัพยากรการศึกษา(CARD)) แบ่งออกได้ 2 ประเภทดังนี้ 1) การศึกษาทั้งระบบ (General RRA) 2) การศึกษาข้อมูลเฉพาะ (Specific RRA) และหลักการสำคัญของเทคนิค RRA ว่าอาจจะมีขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติไม่เหมือนกัน แต่ต่างต้องยึดหลักการที่สำคัญ คือ

 1. การพิจารณาแบบสามมิติ (Triangulation) วิธี RRA เน้นการพิจารณาข้อมูลจากหลายมิติ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้น หลักการพิจารณาแบบสามมิติ ได้แก่ 1) การกำหนดทีมนักวิจัย ที่มาจากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องและเหมาะสมกับเรื่องที่จะศึกษา 2) การกำหนดตัวอย่างที่หลากหลาย 3) การกำหนดวิธีการ เครื่องมือ และเทคนิคที่ใช้ในการศึกษาเพื่อเพิ่มคุณภาพของข้อมูล 2. การวิจัยแบบสำรวจหาความรู้ในเบื้องต้น และทำซ้ำอย่างต่อเนื่อง (Exploratory and highly iterative research) 3. การเรียนรู้อย่างรวดเร็วและก้าวหน้า (Rapid and progressive learning) 4. การใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาของชาวบ้าน (Substantial use of indigenous Knowledge) 5. การใช้แนวทางการศึกษา และทำงานเป็นทีมแบบสหวิทยาการ 

(Interdisciplinary approach and teamwork)

 6. ความคล่องตัวและการใช้วิจารณญาณ (Flexibility and use of conscious judgment) 1.2 ข้อดีและข้อจำกัด 

RRA จะเป็นวิธีการที่ช่วยให้สามารถเข้าใจปัญหาได้เร็วและดียิ่งขึ้น เป็นวิธีการที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ RRA ซึ่งเป็นคนมาจากภายนอกชุมชนได้เรียนรู้และทำความเข้าใจ คนและสภาพสังคมชนบท ได้อย่างรัดกุม รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ แต่ RRA ก็ มีข้อจำกัดบางอย่างในการทำงานเพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ สนับสนุน ส่งเสริมหรือวางแผนทำงานพัฒนาร่วมกับชาวชนบทในพื้นที่และของการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการวางแผน และดำเนินงานตามโครงการพัฒนา(สุริยา สมุทคุปต์และพัฒนา กิติอาษา,2537) ซึ่งเป็นที่มาของการพัฒนาวิธีการประเมินชนบทแบบมีส่วนร่วม PRA(Participatory Rural Appraisal ) ต่อมา 2) การประเมินชนบทแบบมีส่วนร่วม PRA(Participatory Rural Appraisal )
2.1 ความหมาย ความสำคัญ
PRA(Participatory Rural Appraisal ) เป็นเครื่องมือหนึ่งสำหรับการวิเคราะห์ชุมชน โดยการหาข้อมูล หาปัญหา และวิเคราะห์ว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผลของปัญหา โดยชุมชนมีส่วนร่วม PRA จึงกำเนิดจากแนวคิดที่ว่าการศึกษาชุมชนเป็นสิ่งที่ชุมชนควรกระทำ โดยเฉพาะสิ่งที่ชุมชนไม่รู้ มองข้าม หรือเข้าใจไม่ถูกต้อง เช่นไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ รู้ปัญหาแต่ไม่รู้สาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร ทำให้ไม่สามารถหาทางป้องกันหรือแก้ปัญหานั้นได้อย่างทันท่วงที(ณัฐพฤทธ์ แก้วพิบูลย์ และคณะ,2547) แนวคิดของ PRA(Participatory Rural Appraisal) นั้นมนตรี กรรพุ่มมาลย์ (อ้างถึงใน โครงการสนับสนุนเครือข่ายองค์กรชุมชน(สค.อช.,2547) กล่าวว่าคือการยื่นไม้เท้าให้ชาวบ้าน คือ แทนที่ผู้ศึกษาจะใช้ไม้เท้าในการเขียน แต่จะให้ชาวบ้านเป็นคนเขียนเอง ดังนั้น ข้อมูลที่ได้จากวิธีการศึกษารายกรณี (Case Study) หรือการสัมภาษณ์เจาะลึกกับผู้รู้ ซึ่งเป็นเทคนิคการเก็บข้อมูลอย่างหนึ่ง ข้อมูลที่ได้เหล่านี้เป็นข้อมูลที่เก็บโดยนักวิจัยเท่านั้น ส่วนชาวบ้านเป็นคนให้ข้อมูลและนักวิจัยวิเคราะห์ผล หลังจากนั้นจึงจัดเสนอผลให้ชาวบ้าน Feed Back หรือแสดงความคิดเห็นต่อผลการศึกษา ต่อข้อมูลที่นักวิจัยวิเคราะห์ให้ในภาพรวม เช่น นักวิจัยคิดอย่างนี้ ครัวเรือนหนึ่งคิดอย่างนี้ ถ้าคนอื่นคิดจะเป็นอย่างไร โดยกระบวนการ Feed Back กลับสู่ชาวบ้านควรมีตลอด เป็นการสื่อสารสองทางแต่การทำ PRA ไม่ถึงขั้นที่เป็นสองทาง เพราะ PRA มักหมายถึงการเก็บข้อมูล และการวิเคราะห์ชุมชนก่อน หลังจากนั้นจึงเป็นการทำ PAR หรือการวิจัยเชิงปฏิบัติการต่อเนื่องกัน PRA จึงเป็นเครื่องมือการศึกษาชุมชนในขั้นตอนหนึ่งเท่านั้น แต่ PRA จะไม่สำเร็จถ้าไม่ทำ PAR เพราะกระบวนการของ PRA จะจบเมื่อมีเทคนิค มีข้อมูลแต่เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ถ้าไม่นำไปใช้ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร ดังนั้นPRA ไม่เห็นด้วยกับการให้นักวิจัยเป็นหลักและชาวบ้านเป็นรอง และ PRA ต้องอาศัย PAR พาชาวบ้านนำไปสู่การแก้ปัญหา PRA โดยตัวของมันเองจะเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน สร้างสรรค์ปัญญา และช่วยให้แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

 2.2 ข้อดี ข้อดีของการทำ PRA (Participatory Rural Appraisal ) นั้นมนตรี กรรพุ่มมาลย์ อ้างถึงใน โครงการสนับสนุนเครือข่ายองค์กรชุมชน(สค.อช.,2547)กล่าวว่า PRA นั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนทัศนคติ หรือการแสดงความคิด กับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือการกระทำ ดังนั้น การทำ PRA คือ การหาวิธีที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดว่า ข้อมูลไม่ได้มาจากคนนอก แต่เป็นข้อมูลที่คนภายในเป็นคนบอกและรู้จากตนเอง นำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการกระทำ โดย มีเทคนิคและเครื่องมือการเก็บข้อมูลหลายอย่าง ที่เป็นหลัก ทั้ง การจดบันทึก การทำแผนที่ชุมชน ตาราง Matrix การทำ Viagram หรือ วงกลมกลุ่ม สัมพันธ์ และการทำรายงานประวัติชุมชนที่เน้นเหตุการณ์สำคัญ การสัมภาษณ์ พูดคุย การเก็บข้อมูลแบบเจาะลึกรายกรณีพิเศษ (Case Study) และการสังเกต ที่เป็นหัวใจของ PRA เพราะการเก็บข้อมูลโดยวิธีอื่น ทั้งการสัมภาษณ์ จดบันทึก ทำประวัติหมู่บ้าน ฯลฯ ต้องใช้การสังเกตเป็นพื้นฐาน ซึ่งมีทั้งการสังเกตแบบมีส่วนร่วมและการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม 

2.3 ข้อจำกัด ข้อจำกัดของการทำ PRA นั้นมีหลายประการ ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น 1. การทำ PRA ต้องเน้นการมีส่วนร่วมให้ชุมชนเป็นพระเอก ซึ่งปัจจุบันกลับเป็นพระรองในการพัฒนา 2. การทำให้ PRA ได้ผล คือ การใช้เครื่องมือและวิธีการต่าง ๆ ต้องเหมาะสม หากขาดเครื่องมือและวิธีการที่เหมาะสมก็ไม่สามารถทำให้ PRA ประสบผลตามคาดหวัง 3. ต้องทำให้ชาวบ้านมั่นใจตนเอง เพราะชาวบ้านทราบดีว่าปัญหาของตนคืออะไร ทำแผนที่วิเคราะห์ได้ การสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้านทำให้ชาวบ้าน กล้าคิดวิเคราะห์กล้าทำ จากบทเรียนการทำงานในพื้นที่ พบว่าสิ่งที่ชาวบ้านมักทำไม่ได้ คือการเขียน เมื่อชาวบ้านไม่ถนัดก็จะถอยห่าง จึงควรทำเทคนิคให้ง่าย พูดภาษาชาวบ้าน คัดเลือกตัวแทนผู้ให้ข้อมูลที่เหมาะสม 4. หากขาดการสร้างความคุ้นเคย ที่ถือเป็นหัวใจอันหนึ่งของการทำ PRA ก็จะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการทำ PRA ได้ 3) การศึกษาวิเคราะห์ระบบชุมชน ( RSA : Rural System Analysis )

3.1 ความหมาย ความสำคัญ การศึกษาวิเคราะห์ระบบชุมชน ( RSA : Rural System Analysis ) นั้นณัฐพฤทธ์ แก้วพิบูลย์ และคณะ,(2547) กล่าวไว้ในเอกสารชุดการเรียนที่เป็นการสรุปเนื้อหาในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์เรื่องการศึกษาชุมชน ว่าเป็นเทคนิค ที่เน้นการศึกษาในระบบย่อยของชุมชน เพื่อให้เข้าใจองค์ประกอบย่อยต่างๆของชุมชน และเพื่อให้นักพัฒนารู้ถึงสภาพปัญหาการพัฒนาของชุมชน โดยวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของคนกับทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชน เพื่อนำไปแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนโดย RSA พัฒนามาจาก RRA แต่มีการปรับปรุงเครื่องมือที่ใช้เก็บ/วิเคราะห์ข้อมูลบางประการเพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ของ RSA เพื่อให้นักพัฒนาที่ศึกษาและทำงานในชุมชน เข้าใจสภาพชุมชนโดยทั่วไป และรู้จักเกษตรกรรายย่อย ( Small Farmers ) ว่าเป็นใครบ้าง มีวิถีชีวิตเป็นอย่างไร ประสบปัญหาใด สนใจปรับปรุงคุณภาพชีวิตตนเองหรือไม่ มีช่องทางในการพัฒนาเกษตรกรรายย่อย อย่างไรบ้าง 

โดยกระบวนการและขั้นตอนของการวิเคราะห์ระบบชนบท ( มงคล พนมมิตรและชาติชาย รัตนคีรี , 2540อ้างถึงในณัฐพฤทธ์ แก้วพิบูลย์ และคณะ,2547) ประกอบไปด้วย 1. ทบทวนทำความเข้าใจกรอบแนวคิด วัตถุประสงค์ ประเด็นที่จะศึกษา 2. ศึกษาข้อมูลมือสองและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 3. ตรวจสอบและนำข้อมูลมือสองบันทึกตามกรอบการศึกษาที่กำหนดไว้ 4. พบปะผู้นำ ผู้อาวุโสและพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ 5. จัดประชุมแบบเป็นทางการกับชาวบ้านเพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ของการศึกษาชุมชน 6. จัดทำแผนที่ 7. เก็บข้อมูลรายครัวเรือน 8. รวบรวมและวิเคราะห์ ข้อมูลทั้งระดับครัวเรือนและระดับชุมชน

 3.2 ข้อดี RSA เป็นทั้งการศึกษา ( เรียนรู้สิ่งที่มีอยู่ ) และการวิจัย ( หาความรู้ใหม่ ) โดยเน้นระดับหมู่บ้านและครัวเรือนเท่านั้นอีกทั้งRSA ถูกกำหนดเป็นขั้นตอนแรกในการทำงานพัฒนาเกษตรกรรายย่อยในชุมชน และตามด้วยกิจกรรมการพัฒนาอย่างอื่น เช่น การกระตุ้นให้เกิดกลุ่ม การให้การศึกษาแก่กลุ่ม การเสริมศักยภาพในการบริหารจัดการกลุ่ม การสร้างเครือข่ายจากกลุ่มที่มีอยู่ เชื่อมโยงแหล่งทรัพยากรหรือสถาบันพัฒนาจากภายนอกและมีการพัฒนากรอบในการวิเคราะห์ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการวิเคราะห์ข้อมูลระดับชุมชน โดยเน้นความสัมพันธ์ ของคนแต่ละกลุ่มฐานะ กับทรัพยากรทั้งธรรมชาติ และที่สร้างขึ้น เช่น ระบบชลประทาน โรงเรียน วัด ศูนย์การเรียนรู้ ผู้นำ ภูมิปัญญาต่างๆ ฯลฯ ทั้งการได้มา การเข้าถึง โอกาสในการควบคุม ทรัพยากรต่างๆ เกิดจากความสัมพันธ์ทางสังคมประเภทใด เช่น ความร่วมมือ การแข่งขัน การแย่งชิง ความขัดแย้งการหลอกหลวง ฯลฯและRSA ใช้วิธีการเก็บข้อมูล แบบ RRA เป็นหลัก และเสริมด้วยวิธีการเก็บข้อมูลแบบอื่นเพื่อให้ได้ภาพของชุมชนเพื่อให้ได้ภาพทั้งด้านเกษตร เศรษฐกิจและสังคมที่สมบูรณ์พอที่จะนำไปใช้สร้างกิจกรรมในการพัฒนาชุมชน(ณัฐพฤทธ์ แก้วพิบูลย์ และคณะ,2547) 

3.3 ข้อจำกัด ถึงแม้ RSA จะมีการพัฒนามาจาก RRA โดยมีการปรับปรุงเครื่องมือที่ใช้เก็บ/วิเคราะห์ข้อมูลบางประการเพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้นแต่RSA นั้นเป็นทั้งการศึกษา ( เรียนรู้สิ่งที่มีอยู่ ) และการวิจัย ( หาความรู้ใหม่ ) โดยเน้นในระดับหมู่บ้านและครัวเรือนเท่านั้น

เอกสารอ้างอิง

ณัฐพฤทธ์ แก้วพิบูลย์ และคณะ,(2547)การศึกษาชุมชน.โครงการส่งเสริมการผลิตเอกสารชุดการเรียนที่เป็นการสรุปเนื้อหาในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์.สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา พวงรัตน์ ทวีรัตน์. ( 2543 ) วิธีการวิจัยพฤติกรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์. สำนักทดสอบการศึกษาและจิตวิทยา(ฉบับปรับปรุงล่าสุด).มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร. มนตรี กรรพุ่มมาลย์,(2547) การทำ PAR ในงานพัฒนาและแผนชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง.โครงการสนับสนุนเครือข่ายองค์กรชุมชน(สค.อช) ศูนย์พัฒนาทรัพยากรการศึกษา(CARD), (2553).เอกสาร E-learning เรื่องการวางแผนชุมชนแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น 0109501,ออนไลน์,2553 สุริยา สมุทคุปต์และพัฒนา กิติอาษา, (2537) .จากวิธีการประเมินสภาวะชนบทแบบเร่งด่วนถึงวิธีการประเมินสภาวะชนบทแบบมีส่วนร่วม: พลวัตของวิธีการพัฒนาชนบทแนวใหม่. สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.

หมายเลขบันทึก: 492255เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 15:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท