การแพทย์แผนไทยที่ศิริราช


ศิริราชจัดเป็นการแพทย์แผนไทยประยุกต์ มีการฟื้นฟูความรู้เดิม เสริมความรู้ใหม่ด้วยการวิจัย และประยุกต์เข้ากับบริการการแพทย์ปัจจุบัน

การแพทย์แผนไทยที่ศิริราช

         เมื่อวันที่ ๒๒ สค. ๔๙ สภามหาวิทยาลัยมหิดลไปเยี่ยมชื่นชมศิริราช     คุณมยุรี แย้มศรี หัวหน้างานประชุมและพิธีการ ของกองกลาง ได้บันทึกรายงานการประชุมไว้อย่างละเอียดมาก     ผมจึงนำใาเผยแพร่ต่อ    เพราะเห็นว่าแนวทางการดำเนินการ  สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ของศิริราชน่าชื่นชมมาก     รายงานมีดังนี้

          รองศาสตราจารย์ นพ.ทวี เลาหพันธ์ หัวหน้าสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์เป็นผู้นำเสนอ โดยกล่าวว่าสภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้จัดตั้ง สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ สังกัดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เมื่อปี  ๒๕๔๖  ก็มีคำถามตามมามากว่า แพทย์แผนไทยประยุกต์ คืออะไร และจะต้องทำอะไรกับแพทย์แผนไทยที่รับเข้ามา  ศิริราชมีความเข้าใจจริงๆ หรือไม่  หรือรับเข้ามาเพราะตามกระแสเรื่องภูมิปัญญาไทย/มรดกไทย  ซึ่งในประเทศไทยจะมีอยู่มาก    โดยได้พยายามที่จะรณรงค์ ไม่ต้องการให้ทิ้งให้สูญหายไป รวมทั้งเรื่องการแพทย์แผนไทย

            ในเรื่องนี้ ต้องยกความดีให้กับ ศ. อวย เกตุสิงห์  ซึ่งเป็นอาจารย์ของศิริราช ที่ได้วางปรัชญาเพื่อการพัฒนาแพทย์แผนไทยว่า ถ้าจะทำให้ยั่งยืนอยู่ได้ในสังคมยุคปัจจุบัน จะต้องมีมุมมองใหม่ ซึ่งอาจารย์ต้องการให้ใช้คำที่เรียกว่า “อายุรเวทย์”  แต่ในทางกฎหมายตอนที่เสนอขอจัดตั้งนั้น โดยให้ใช้คำว่า “การแพทย์แผนไทยประยุกต์”  เหตุที่ ศ. อวย ต้องการให้มีการพัฒนาเพราะคิดว่า หากปล่อยการแพทย์แผนไทยไว้ คงไม่มีรากฐานที่จะพัฒนาต่อ และเป็นการสืบทอดกันมาของคนแต่ละยุค    การดูแลรักษาก็ต่างจากแพทย์แผนปัจจุบัน โดยใช้วินิจฉัยโรคจากอาการของคนไข้เป็นส่วนใหญ่   สมุนไพรส่วนใหญ่ถึงแม้ว่าจะดี แต่หากการวินิจฉัยไม่ถูกต้อง ก็คงไม่มีประโยชน์ ฉะนั้น ควรจะให้  ผู้ที่มาทำงาน ได้มีความรู้ทางการแพทย์พื้นฐาน  เพื่อเป็นรากฐานของความรู้ในการติดต่อสื่อสาร จากสิ่งที่ศ.อวย เกตุสิงห์ ทำไว้  ทำให้ยุคที่สองที่ศิริราชรับเข้ามาง่ายขึ้น คือมีคนที่เราสามารถจะพูดจากันได้ระหว่างแพทย์แผนไทยกับแพทย์แผนปัจจุบัน รวมทั้งแพทย์แผนไทยก็จะเห็นแบบอย่างของการพัฒนา แต่ตัวผู้ปฏิบัติจะต้องเรียนวิชาแพทย์แผนไทย เป็นหลักในทางการทำเวชปฏิบัติ 

           สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์  เริ่มจากการที่ศาสตราจารย์ อวย เกตุสิงห์ ได้เริ่มตั้งโรงเรียนอายุรเวทย์ เมื่อปี ๒๕๒๕ สถานที่แรกตั้งอยู่ที่วัดบวรนิเวศ  ศ. อวยเป็นอาจารย์แพทย์แผนปัจจุบัน จึงมองแพทย์แผนไทยเป็นเวชปฏิบัติจริงๆ ในสิ่งที่อาจารย์ทำจะมีคลินิก เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาเรียนในหลักสูตรของอาจารย์ได้มีการฝึกปฏิบัติ  และในปี ๒๕๔๑ ได้ย้ายเข้าไปที่โรงเรียนสวนบัว ซึ่งเป็นพื้นที่ของครอบครัวอาจารย์อวยเอง 

                จนถึงปี ๒๕๔๕  เป็นช่วงที่อาจารย์ศิริราชที่เกษียณแล้ว ยุคหลังๆ ๒-๓ ท่านที่เข้าไปช่วยกันดูแลนั้น คิดว่าจะดูแลกันด้วยความลำบากในการพัฒนาแพทย์แผนไทยตามเจตนารมณ์ของ ศ. อวย ก็ได้มาติดต่อกับคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อขอโอนย้ายเข้ามาที่ศิริราช และได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย ให้ตั้งเป็นโครงการจัดตั้งสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ขึ้น  ซึ่งเมื่อตอนที่เป็นโรงเรียนอายุรเวท จะรับเด็กที่จบ ม. ๖ เข้าศึกษา เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ใช้เวลาเรียน ๓ ปี 

               เมื่อมาเป็นสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ งานแรกที่ศิริราชทำคือการจัดการศึกษา โดยจะต้องปรับเป็นหลักสูตรปริญญาตรี เรียกการแพทย์แผนไทยบัณฑิต รับนักเรียนตั้งแต่ปี ๒๕๔๖  ขณะนี้รุ่นแรกที่รับเข้ามา กำลังศึกษาอยู่ชั้นปี ๔  กำลังเรียนภาคเวชปฏิบัติ ทั้งนี้ ในปี ๒๕๔๘ สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ได้มีการเปิดการศึกษาต่อเนื่อง ให้กับอาจารย์ของโรงเรียน ซึ่งหลายคนมีวุฒิปริญญาตรี ปริญญาโท ทางด้านอื่น แต่ยังไม่มีวุฒิปริญญาตรีทางด้านแพทย์แผนไทย

                สำหรับอาคารเรียนซึ่งเป็น infarstructure ที่สำคัญในการที่จะทำงานแพทย์แผนไทยต่อ เ นื่องจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลขาดแคลนพื้นที่ จึงต้องไปปรับปรุงชั้นดาดฟ้าของตึกอดุลยเดชวิกรม ชั้น ๑๓ ให้เป็นสำนักงาน และมีส่วนหนึ่งที่จะเป็นห้องฝึกปฏิบัติหัตถเวช  และหน่วยที่ผลิตยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งจะเป็นโรงงานที่ย้ายเข้ามาในศิริราช ทางคณะฯ ได้เตรียมเครื่องมือไว้แล้วเป็นส่วนใหญ่

             อีกเรื่องที่สำคัญ คือคลินิกการให้บริการแพทย์แผนไทย คณะฯ ได้ปรับปรุงพื้นที่บางส่วนของชั้น ๕ ตึกอดุลยเดชวิกรม เริ่มให้บริการมาตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๔๗ มีการรักษาทั้งยา  และการรักษาแบบอื่นๆ ตามคัมภีร์ต่างๆ  และคณะฯ ได้จัดสรรงบประมาณเงินรายได้ อีก ๒-๓ ปีข้างหน้า ในการพัฒนาพื้นที่ ๖ ไร่ บริเวณพุทธมณฑลสาย ๓ ให้เป็นสถานที่ให้บริการทางด้านการแพทย์แผนไทย เพิ่มเติมอีก ๑ แห่ง และสำหรับศึกษาวิจัยพัฒนาการผลิตยาสมุนไพร โดยจะมีสวนสมุนไพรด้วย    จะเป็นโรงงานระดับที่ได้มาตรฐาน GMP

             ส่วนโครงการสู่ความเป็นเลิศจะเป็นอีกชั้นหนึ่ง ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ตร.เมตร เป็นคลินิกของการแพทย์แผนไทยอีกที่หนึ่ง ซึ่งจะมีส่วนหนึ่งที่มี health spa

             ที่สำคัญที่สุด  นอกจากเรื่อง “การแต่งตัว” หาสถานที่การทำงาน การจัดการเรียนการสอนแล้ว  คือ การรวบรวมฟื้นฟูพัฒนาวิชาการ ซึ่งได้เข้ามาช่วยดูแล เพราะเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างมาก    เพราะความรู้ที่มีอยู่ส่วนใหญ่ไม่ได้จัดเป็นระบบ แต่จะเป็นการสอนต่อๆ กันมา และการเปิดให้บริการก็มีคำถามมาก ในการเข้ามาในระบบทางแพทย์ตะวันตก  ว่าจะปลอดภัยหรือไม่ จะทำได้หรือเปล่า  แต่เชื่อว่ากรอบที่ได้ร่วมมือกับทีมงานอื่นๆ ได้แก่ ภาควิชา เวชศาสตร์ฟื้นฟู  ภาควิชาเภสัชวิทยา ฝ่ายเภสัชกรรม งานแรกที่จะทำคือการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย  หากมีแพทย์แผนไทย แผนโบราณ คนไหนปฏิบัติอย่างไร จะไปเรียนรู้ไว้ก่อน กลัวว่าจะหายไป และได้เติมในส่วนที่สูญหาย เพราะมีส่วนที่อ่านไม่เข้าใจ    มีส่วนที่ต้องทำความเข้าใจใหม่อยู่มาก และที่สำคัญ คือต้องการพัฒนาให้ยั่งยืนบนพื้นฐานวิชาการ  ทั้งนี้ หากอธิบายทางวิชาการทางตะวันตก จะเข้าใจได้ง่ายกว่า 

           ในส่วนนี้ จะเป็นการพัฒนารูปแบบการให้บริการใช้ความรู้แพทย์แผนไทยว่าจะใช้ในระบบสุขภาพอย่างไร จะเป็นการผสมผสานกัน    ตัวอย่างเรื่องการนวดไทย ซึ่งเป็นที่สนใจของบุคคลทั่วไป มี ๒ รูปแบบที่สำคัญ คือ การนวดไทยแบบทั่วไป และการนวดไทยแบบราชสำนัก    สำหรับการนวดไทยที่ให้บริการที่คลินิกอายุรเวทฯ เป็นการนวดไทยแบบราชสำนัก ซึ่งจะสามารถแก้ไขอาการบางอย่างได้ค่อนข้างดี คล้ายของจีน จะมีเส้น มีจุดต่างๆ  ผู้เรียนต้องเรียนการนวด ด้วยแรง ด้วยองศา ด้วยจุดต่างๆ ตามทฤษฎีที่ถ่ายทอดกันมา    คลินิกที่เปิด จะบริการทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ซึ่งได้รับความกรุณาจากภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ให้สามารถให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยแก่ผู้ป่วยบางกลุ่มก่อน    และภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู ก็มีการ consult ให้แพทย์แผนไทยไปช่วยให้บริการแก่คนไข้บางกลุ่ม เช่น คนไข้ที่เป็นอัมพฤกษ์  อัมพาต   มีการพัฒนาเรื่องสิ่งต่างๆ เพื่อจะวัด จะตอบ พูดเป็นภาษาแพทย์แผนตะวันตกมากขึ้นว่า คนไข้ดีขึ้นอย่างไร  เป็นจุดเริ่มต้นในการตั้งคำถาม ว่าดีจริงหรือเปล่า

          นอกจากนี้ ยังมีการบริการอื่นๆ เช่น การประคบสมุนไพร  การเข้ากระโจมอบสมุนไพร การทับหม้อเกลือ  การนั่งถ่าน (เพื่อช่วยให้ฝีเย็บของหญิงหลังคลอดแห้ง และดีขึ้น)  ซึ่งมีการนำวิทยาศาสตร์เข้ามา และสอนนักเรียนได้อย่างมีหลักการ     สมัยก่อนนั้น กว่าคนที่จะเป็นแพทย์จริง ต้องติดสอยห้อยคามครูนานมาก จนกระทั่งครูพอใจ เห็นถึงความสามารถ  ทางแพทย์แผนไทยเองต้องเรียนแบบเร่งรัดให้จบภายใน ๔ ปี

          ฉะนั้น หลักการต่างๆ ต้องสอนด้วยเหตุและผล   นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการดูแลผิวพรรณด้วยสมุนไพร (มีสูตรต่างๆ ที่ทำ ได้ให้อาจารย์ได้มาสาธิต มาลองทำ เพื่อจะเรียนรู้ และเปิดให้บริการ) การให้คำแนะนำตามความรู้ไทย ในโอกาสต่างๆ (เช่นหลังคลอด การบำรุงครรภ์) 

           ส่วนเรื่องฤาษีดัดตน  ที่มีข่าวว่า ญี่ปุ่นจะเอาไปเป็นโลโก้ แบรนด์เนม  ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมารื้อฟื้นว่าฤาษีดัดตนคืออะไร ที่เห็นที่วัดโพธิ์ เป็นรูปตะกั่วหล่อไว้  หรือเป็นรูปที่เขียนไว้     แต่ก็มีคำถามออกมามากว่า ฤาษีดัดตน คืออะไร ทำหน้าที่ได้อย่างไร ช่วยเราได้อย่างไร ประโยชน์อะไรบ้าง เป็นคำถามที่ถูกถามมา    เวลาค้น มักจะค้นตรงคัมภีร์ส่วนที่อ่านง่าย  สิ่งที่ต้องพัฒนาคือ ต้องค้นให้ลึกที่สุด ไม่ใช่เฉพาะ ๑๕ ท่าเท่านั้น แต่จะนำท่าทั้งหมด (๘๐ หรือ ๑๐๐ ท่า) มาศึกษากันดู โดยรวบรวมทั้งหมดว่าท่านั้น ท่านี้แก้อะไรบ้าง  ซึ่งอาจจะมีความร่วมมือกับภาควิชากายวิภาคศาสตร์  โดยน่าจะจัดทำเป็นเล่ม อธิบายแต่ละท่า ซึ่งจะเป็นองค์ความรู้ที่เกิดขึ้น โดยไม่มีในตำรา

          สำหรับความร่วมมือกับองค์กรภายนอก ได้แก่ การไปร่วมมือกับกรมพัฒนาแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข ในการทำเรื่อง ICD - 10 ของแพทย์แผนไทย และเป็นกรรมการวิชาชีพ ของกองประกอบโรคศิลปะ  

         บุคลากรของสถานการการแพทย์แผนไทยฯ มีการปรับตัวอย่างมาก หน่วยงานโตเร็วมาก จากอาจารย์ ๒๐ คน เป็น ๕๐ คน ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์เด็กๆ ที่ยังไม่มีความชำนาญ ประสบการณ์ ในเรื่องการบริหาร เรื่องวิชาการ    ก็ได้หลายงานมาช่วย  ซึ่งเป็นปัญหาที่พบ    ดังนั้น แผน

           ในช่วงต่อไป  ในปีหน้า สถานการการแพทย์แผนไทยฯ พร้อมที่จะเปิดให้คนเข้ามาดู  จะจัดให้ความร่วมมืออย่างเป็นภาคี โดยจะเชิญมหาวิทยาลัยที่การเปิดหลักสูตรการแพทย์แผนไทย เข้ามาพูดคุย เพื่อให้เกิดแนวทางเดียวกัน ตลอดจนคุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา  สำหรับเรื่องสมุนไพร เมื่อโรงงานสร้างเสร็จ ก็จะขอ GMP และพัฒนากระบวนการผลิต และอื่นๆ อีกมาก  partner ที่มีอยู่ ก็จะมีภาควิชาเภสัชวิทยา แพทย์แผนไทย และฝ่ายเภสัชกรรม     ส่วนเรื่องวิจัย จะมีทีมอาจารย์ปรีดา มาลาสิทธิ์ ที่เข้ามาช่วย  สำหรับ partner นอกคณะฯ ก็ได้ประสานไว้กับคณะเภสัชศาสตร์แล้ว   ในเรื่องสถานที่เรียนและการวิจัยต่างๆ 

          สถานการการแพทย์แผนไทยฯ พบว่ามีปัญหาที่เกิดขึ้น  ดังนี้
  ๑. จะเห็นว่าในท้องตลาด มีความรู้แพทย์แผนไทย ฝึกอบรมกันมาก นวด ๓๐ ชม. ๓๐๐ ชม. ๘๐๐ ชม.  มีอยู่จำนวนมาก  สุดท้ายจะตีกันเอง  ซึ่งจะเป็นการทำลายแพทย์แผนไทยกันเอง เพราะไปให้วิชาความรู้กับบางกลุ่ม โดยที่ไม่ระมัดระวัง  
  ๒. มหาวิทยาลัยบางแห่ง มีการเปิดหลักสูตรแพทย์แผนไทย  จะถามว่า เขาเน้นเรื่องเวชปฏิบัติหรือไม่  หรือเขาจะสอนเป็นนักอ่านคัมภีร์    เขาตอบว่า เขาจะเป็นแพทย์แผนไทยประยุกต์แบบศิริราช  ก็ได้แนะนำให้มาดูที่ศิริราชก่อน  เป็นเรื่องที่ยุ่งมาก 
  ๓. ปัญหาเรื่องความล่าช้าในการกำหนดตำแหน่งแพทย์แผนไทยในระบบสาธารณสุข  ซึ่งลำบากมาก  เพราะส่งเรื่องไปนานแล้ว แต่เรื่องเงียบหายไป 
  ๔.  การที่ประเทศไทยต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยว และมีการบูมเรื่องการนวด  ทำให้มีการกลืนไปหลายอย่าง เช่น  นวดฝ่าเท่า ก็กลืนเป็นนวดไทยไปด้วย จนสับสนว่าภูมิปัญญาอะไร
  ๕. ความคาดหวังของคนนอก ที่มองมาที่ศิริราชอย่างมาก เพื่อต้องการคำตอบในเรื่องแพทย์แผนไทย

         ในการนี้  ได้เชิญให้อาจารย์สร้อยศรี  จากสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ พร้อมนักศึกษา ๒ คนจากสถานการแพทย์แผนไทยฯ มาเล่าถึงการเรียนในหลักสูตรนี้
                    นางสาวสุภาภรณ์  จิระพร้อมพงศ์  นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ เล่าว่า เป็นนักศึกษารุ่นแรก เข้ามาเรียนสถานการการแพทย์แผนไทยประยุกต์  โดยเทียบโอนจากโรงเรียนอายุรเวช  ปีแรกจะเรียนรวมกับคณะอื่นๆที่ศาลายา ปีที่ ๒-๔  จะเข้ามาเรียนที่ศิริราช  ขณะนี้กำลังฝึกงานที่ฝ่ายเภสัชกรรม สิ่งที่ได้จากการเรียนที่สถานการแพทย์นี้ คือทำให้เกิดการเรียนรู้ว่า การแพทย์แผนไทยมีความสำคัญมาก และเป็นทางเลือกสำหรับคนไข้ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้  เพราะการแพทย์แผนไทยมีมาก่อนแพทย์แผนปัจจุบัน  เหตุที่เลือกเรียน เพราะอยากรู้ว่า คนสมัยก่อนอยู่ได้อย่างไร  มีการดูแลรักษาอย่างไร มีการสืบทอดมาอย่างไร  และมีสิ่งที่ได้รับจากการเรียน คือ สามารถเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างแพทย์แผนไทยจริงๆ กับแผนปัจจุบัน 

          กรรมการสภาฯ เสนอความคิดเห็นว่า
 ๑. คนทั่วไป เข้าใจว่าแผนไทย ไม่ได้มาจากการวิจัย แต่จะมาจากการลองผิดลองถูก และตัดสินว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด  ตัวหนึ่งที่สร้างความถูกต้อง คืองานวิจัย
 ๒. หากวิทยาศาสตร์มาอยู่กับแพทย์แผนไทย จะมี conflict  แต่หากเราเอาศาสตร์ของการ Control Postion เข้ามาดูแล จนตำรับต่างๆ ที่เข้ามาในสายการแพทย์แผนไทยที่จะผลิต ได้มาตรฐานอยู่ชุดหนึ่ง เราจะต้องหา System หนึ่งว่าไม่เป็นอันตราย  หลังจากนั้นให้นำหลักวิทยาศาสตร์มาประกอบให้ชัดเจน  ซึ่งต้องทำเป็นระบบ     โดยบันทึกให้ออกมาเป็นตัวเลข ที่บอกว่าใช่ หรือไม่ใช่
 ๓. ปัญหาของแพทย์แผนไทย จะไม่มีการบันทึก  ตัวความรู้เฉพาะการแพทย์แผนไทยมีมาก  ควรจะมีการบันทึก เป็นแบบ tacit knowledge เพื่อนำมาแลกเปลี่ยน  และเป็นศาสตร์ขึ้นได้  ซึ่งทีม KM สามารถช่วยได้
 ๔. มีการมองแพทย์แผนไทยแบบมองของสูง เพราะมองถึงอาจารย์อวย เกตุสิงห์  และแนะนำว่า คำร้อยกรอง     ที่โชว์ใน slide นั้น  หากมีการใส่ท่วงทำนองเพลง แล้วมีการร้องบ่อยๆ จะเป็นการซึมลึกเข้าไป  เป็นเรื่องที่ดีมาก  เพื่อจะให้เกิดการเคารพต่อสิ่งเก่าๆ
 ๕. ควรมีการคิดว่าจะสร้างการยกระดับแพทย์แผนไทยอย่างไร เพื่อให้ status ของแพทย์แผนไทยสูงขึ้น

        ศาสตราจารย์เจตนา  นาควัชระ กล่าวเสริมว่า มีอีกหลายๆ ประเด็นด้านวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยที่ รศ.ทวี  เลาหพันธุ์ ยังไม่ชัดเจน   จึงแนะนำให้ไปคุยกับครูดนตรีไทย ซึ่งจะอธิบายเกี่ยวกับ tacit knowledge  ซึ่งจะเทียบกันได้   
      

วิจารณ์ พานิช

๙ กย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 49199เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2006 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2012 11:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

อยากให้มีการดำเนินการเรื่องการบรรจุตำแหน่งแพทย์แผนไทย ในระบบราชการอย่างจริงจัง เพราะเป็นหนึ่งในวิชาชีพ อยากให้เห็นความสำคัญของบุคลากร เท่าๆกับวิชาชีพอื่น ขอความกรุณาดำเนินการต่อเนื่องเพื่อยกระดับแพทย์แผนไทยด้วย

ขอเชิญร่วมงาน ระลึกถึง ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์ เดือนกันยายน 2551 ที่ รพ.ศิริราช

สอบถามรายละเอียดที่ โทร.024197000 ต่อ 8844

อยากอบสมุนไพรหลังคลอดติดต่อได้ที่ไหนคะ ขอรายละเอียดด้วยนะคะ

ขอบคุณค่ะ

จะเปิดเรียน 800ชม.เมื่อไหร่ขอลายละเอียดด้วยนะคะ

ศาสตราจารย์เจตนา นาควัชระ กล่าวเสริมว่า มีอีกหลายๆ ประเด็นด้านวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยที่ รศ.ทวี เลาหพันธุ์ ยังไม่ชัดเจน จึงแนะนำให้ไปคุยกับครูดนตรีไทย ซึ่งจะอธิบายเกี่ยวกับ tacit knowledge ซึ่งจะเทียบกันได้

ขอเรียนถาม รศ.ทวี เลาหพันธุ์ ว่าได้ไปคุยกับครูดนตรีไทยตามที่ศาสตราจารย์เจตนา นาควัชระแนะนำไว้หรือยังคะ ถ้ายัง ขอเรียนว่า ประเด็นด้านวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยที่ท่านยังไม่ทราบ หรือยังไม่ชัดเจนพอนั้นเป็นหัวใจของการพัฒนางานแพทย์แผนไทย ดังนั้น หากท่านมีความตั้งใจจริงที่จะสืบทอดเจตนารมณ์ของอาจารย์หมออวย เกตุสิงห์ และตระหนักในคุณค่าภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยอย่างแท้จริง มีจิตใจที่จะฟื้นฟูการแพทย์แผนไทยจริงๆ แล้ว ท่านต้องทำความเข้าใจถึงแก่นของทฤษฎีแพทย์แผนไทย ซึ่งการศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรม หรือวิถีการแพทย์แผนไทยนั้นจะช่วยให้การบริหารองค์กรนี้เป็นไปได้ดี และยั่งยืน

ผมอยากเห็นการักษาคนป่วยไปทิศทางเดียวกัน เพราะหมอก็เก่งๆทุกคน ผมคนหนึงที่เรียนแพทย์แผนไทยมา ผมรักษาคนป่วยประเภทเรื้อรังและเก็บข้อมุล เพื่อเป้นแนวทางในการรักษา รวมถึงการหายของคนป่วยหลังการรักษา ขณะนี้คนไข้ที่เข้ามารักษามีความพอใจมากๆ ผมจะรักษาประเถทโรคเรื้อรัง คือเพราะอยากรู้ว่าโรคที่หมอที่รักษาแล้วไม่หายแล้วผมจะรักษาได้หรือเปล่า เช่นโรคกระดูกทับเส้น กระดูกคอเสื่อม ปวดหัวเข่า แขนชาถาวร ขัดสะโพกชาลงขา ปวดต้นคอ ยกแขนไม่ขึ้น ไมเกรน ปวดเบ่าตา รักษาโดยไม่กินยา ไม่ทายา รักษาด้วยวิธีสับเส้นแบบละเอียด และโรครักษาด้วยยาสมุนไพร เช่น แผลเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไตยังไม่ฟอก โรคพุ่มพวง โรหอบหืด ผลตอบรับบอกว่า พอใจมากหลังการรักษาถึงระยะเวลาที่หาย การเก็บข้อมูลของผมถึงจะไม่ละเอียดแบบน้กวิชาการ แต่ก็ได้ข้อมูลไว้ศึกษาต่อไป (หมอมุขสับเส้น)หล้งการรักษาไปตรวจเส้นเลือด เส้นเลือดจะหนุ่มขึ้2ปี หมอมุขสับเส้น 22/7หมู่9ตำบลเกวียนหักอ.ขลุงจ.จันทบุรี 0856506788

ผมมีความภุมใจมากที่เป็นหมอแผนไทย เพราะผู้ป่วยที่มารักษาส่วนมากจะเป็นโรคเรื้อรังมา เป็นกันมาหลายๆปี รักษาที่ใหนแล้วไม่หาย รักษามาทุกวิธีแล้วยังไม่หาย หรือบางท่าน กลัวการผ่าตัด กลัวพิการ เพราะหมอแผนปัจจุบันไม่รับรอง ผมเชื่อว่ารักาาด้วยแผนไทยหายแน่นอน ประกอบอาชีพได้ตามปกติ ผู้ป่วยทุกท่านที่มารักษาผมจะเก็บข้อมูลไว้เพื่อดูว่า หายระยะยาว ขนาดใหน แต่ผมก็ภูใจมากที่สามารสที่รักษาผู้ป่วย ที่หมอแผนปัจุบันรักษาไม่หาย  มารักษาแล้วหาย แต่ จะให้ดี ไม่ว่าหมอแผนไทย หรือแผนปัจจุบัน ควรจะร่วมมือกัน รักษาคนป่วย เพราะจุดประสงค์ ของหมอทุกคนคือต้องการให้คนป่วยหายทุกคน ขอให้รักษาผู้ป่วยด้วยความเมตตา แพทย์แผนไทยจงเจริญ หมอมุขสับเส้น

อยากให้ประชาชนทั้งประเทศเข้าถึงการบริการอย่างนี้ ครับ ทีมสุขภาพส่วนภูมิภาค มีโอกาสลองถอดบทเรียน นำไปเพิ่มใน รพช.บ้างก็จะดี การแพทย์แผนไทยจะอยู่กับเรา และพัฒนาเป็การแพทย์กระแสหลัก น่าจะดี ครับ

ถ้าผมสนใจ อยากสั่งสมุนไพรมาใช้ในโรงพยาบาล ผมขอรายการยาสมุนไพรและ จะสามารถสั่งซื่อได้ไหมครับ

อยากสอบถามเรื่องค่าใช้จ่ายในการอยู่ไฟอบประคบหลังคลอด ครอสนี้ประมาณเท่าไหร่คะ?และมีบัตรประกันสังคมสามารถใช้ได้หรือเปล่าคะ?ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะถ้าจะกรุณาตอบ.


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท