ลูกหลานเทวดา : วิชาพ่อแม่


สร้างสภาพแวดล้อมให้ลูกเรียนรู้ชีวิตประจำวัน พาทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ค่อย ๆ พูดดี ๆ กับลูก อดทน ใจเย็น

 

เอ่อ....คือว่า  เตรียมตัวเข้าสู่สังคมอาเซียน  กรุณาอ่านสองภาษา

 

"รักลูกเท่าหน่วยตาล  รักหลานเท่าหน่วยหมากพร้าว  คุณหมอคิดเบิ่งดู้  หน่วยใด๋ใหญ่กว่ากัน  ยายสิฮักผูใด๋หลายกว่า?”

 

เมื่อคุยไปถึงเรื่องความรักลูกหลาน  คุณยายก็ยกขนาดลูกตาลและลูกมะพร้าวเปรียบเทียบให้หมอฟังว่า  เฉพาะตัวคุณยายนั้นรักใครมากกว่ากัน  คุณยายบอกอีกว่า  ยิ่งรักมากก็จะเลี้ยงดูสั่งสอนให้ดีที่สุด  เป็นคนดีของสังคม  ไม่ติดยาเสพติด  มีงานทำดี ๆ

 

คล้ายกับผู้เลี้ยงดูอีกหลายคน  นอกจากเป็นคนดีแล้ว  อยากให้ลูกหลานเก่ง  ฉลาดเฉลียว  ทันคน  ไม่โง่  ช่วยเหลือตัวเองได้  เอาตัวรอดตนเองได้

 

“เป็นคนฮู้ผู้ดี”  ดีทุกอย่าง  นิสัยดี  อารมณ์ดี  ไม่เตะพ่อเตะแม่  เชื่อฟังพ่อแม่ครูบาอาจารย์  กตัญญูต่อทุกคน  ไม่เกเร  ไม่อันธพาล  ให้ดีไปตลอด 

 

“อยู่ดีมีแฮง”  สุขภาพร่างกายแข็งแรง  ผิวสวย  ฟันสวย  ฟันแข็งแรง  ไม่เจ็บป่วย  สบายกาย  สบายใจ  หลานใจดีก็ดีกับหลาน  ไม่ไข้ไปกับหลาน (“หลานเจ็บคนเดียว  เหมือนป่วยทั้งบ้าน”)

 

อยากช่วยให้ลูกหลานมีพัฒนาการที่ดี  “ได้หนังสือ”  เป็นพื้นฐานการเรียนติดตัวไป  ได้เรียนขั้นสูง ๆ ต่อไป  เป็นเจ้าคนนายคน  (“ได้หนังสือ”  หมายถึง  อ่านออก  เขียนได้  เป็นความสามารถพื้นฐานในการเรียนรู้  ...ธิรัมภา  ผู้แปล)

 

“บ่อยากให้เฮ็ดนา  ตัดอ้อย คือพ่อคือแม่มัน  งานมันหนัก”

 

 

ความคิดเห็น  ความเชื่อของใคร  คนกลุ่มไหน  นิเวศวิทยา  สังคมแวดล้อมที่อยู่สั่งสมกันมาอย่างไร  คงยากที่จะแปลงร่างเป็นหมอดูฟันธง  แล้วบอกว่าอะไรถูก  อะไรผิด

 

แม่  ยาย  ตา  พ่อ  ผู้ปกครองทุกคนที่พบในวง “โสเหล่” ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก  ซึ่งผู้ปกครองส่งเด็กมาให้ครูพี่เลี้ยงดูแลช่วงกลางวัน  คราวนี้องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านฝาง  อำเภอสระใคร  จังหวัดหนองคาย  นัดหมายให้พบกับหมอฟันคนนี้  วันละ  ๑  ศูนย์  ช่วงเดือนมิถุนายน ๒๕๕๕  ล้วนอยากให้ลูกหลานเป็นเด็กดี  เชื่อฟังพ่อแม่ตายาย  ร่างกายแข็งแรง  เรียนหนังสือดี  เติบโตมีงานทำดี ๆ  ดังที่กล่าวไปแล้ว

 

เพียงส่วนน้อยที่มุ่งมั่นคาดว่าจะทำให้ดีที่สุด  ส่วนใหญ่ไม่กล้าคาดว่าผลลัพธ์การเลี้ยงลูกหลานจะออกมาเป็นเช่นไร  “ตอนนี้กะดีอยู่  บอกหยังกะเซือ  แต่ใหญ่ขึ้น  กะจักสิเป็นจังใด๋แหลว”  

(ขณะนี้เป็นเด็กดี  บอกอะไรก็เชื่อ  แต่โตขึ้น  ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร)

 

พบผู้ปกครองหลายคนทนเห็นลูกหลานร้องไห้ไม่ได้  ยอมให้ลูกหลานไปเชื่อขนมกินเองได้ที่ร้านค้า  แล้วค่อยตามไปจ่ายเงิน

 

หรือพอเด็กเล็ก ๆ บอกว่าจะแปรงฟันเอง  ไม่ยอมให้แม่  ยายหรือผู้ใหญ่แปรงให้  ยายหรือแม่ก็ไม่ได้แปรงซ้ำให้อีก 

 

โอกาสที่ผู้ปกครองมาพบกันเป็นวงโสเหล่เช่นนี้  จึงให้แม่คนที่ลูกยอมให้แปรงฟัน  เล่าว่าทำอย่างไร 

 

ลูกไม่ยอมง่าย ๆ  แม่ให้ถือแปรงอันหนึ่งไว้  อีกอันหนึ่งแม่แปรงให้เอง  แรก ๆ ก็ร้องไห้  ทำไปนาน ๆ ก็ชิน 

 

เวลาไปในเมือง  ให้ลูกเลือกแปรงสีฟันเอง  ด้ามจับเป็นตัวการ์ตูนสีสวย ๆ

 

แม่ที่บ้านโนนแดงคนหนึ่งเล่าว่า  เคยเช็ดฟันให้ลูกมาตลอด  ช่วงลูกอายุ  ๘ – ๙  เดือน  จะเปลี่ยนเป็นแปรงฟันให้  ลูกไม่ยอม  แล้วก็ไม่ยอมให้เช็ดด้วย  ปล่อยแค่  ๒  อาทิตย์  จนฟันหน้าบนของลูกแหว่งตรงกลาง  แม่ยอมไม่ได้ร้องไห้ก็ต้องแปรงจนสะอาด

 

คุณยายบ้านขี้เหล็กคนหนึ่งบอกว่า  ไม้อ่อนดัดง่าย  ไม้แก่ดัดไม่ได้  แตกหักง่าย  เห็นหลานบ้านอื่น  ตาเคร่งครัดเกินไป  จนเกือบเป็นบ้า  แค่เรียกก็สะดุ้ง

 

 

“เขาแฮงฮู้หลายกว่าเฮา  กดโทรศัพท์กะเป็น  เปิดเพลงเต้น  เปิดซีดีเบิ่งเองโลด”

 

อันนี้ถามตรง ๆ ไม่ได้  ได้แต่มาคิดที่นี่....เรียนรู้ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ไวกว่ารุ่นยาย  แปลว่า  รู้มากกว่าแล้วจริงหรือ? 

 

จะจำนนต่อการปลูกฝังนิสัยลูกหลาน  ด้วยเทคโนโลยี  โทรทัศน์  เครื่องฉายวีซีดี  โทรศัพท์ฯ  เท่านั้นหรือ 

 

พ่อแม่ยายย่าคนเลี้ยงดูใกล้ชิด  ยังจำเป็นต้องบอกต้องสอนเพิ่มอีกหรือไม่?

ส่วนตัวชื่นชมนักแต่งเพลงลูกทุ่ง   ไวในการจับทางความรู้สึกนึกคิด  ความเป็นไปของสังคม   ช่างสรรหาคำมาเรียก “ลูกเทวดา”  “หลานเทวดา”

 

จึงต้องให้กำลังใจอย่างแรง  ไม่ต้องรอแต่โชคดี  เราคนเลี้ยงนี่แหละมีผลมาก  ดังที่แม่หลายคนบอก  หลังจากคุยในวงว่า  วันนี้ได้อะไรที่จะกลับบ้านไปทำให้ลูกหลานบ้าง 

 

สร้างสภาพแวดล้อมให้ลูกเรียนรู้ชีวิตประจำวัน  พาทำให้ดูเป็นตัวอย่าง  ค่อย ๆ พูดดี ๆ กับลูก  อดทน  ใจเย็น  

 

ทีมหมอและ อบต. ก็จะมาหามาให้กำลังใจ  เอาใจช่วยด้วยกัน  หวังว่าทักษะฝึกแปรงฟันที่ทำไปวันนี้  สิ่งที่คุณแม่คุณยายคุณลุงได้คุยกันในวันนี้  จะเกิดความมุ่งมั่นดี ๆ ที่จะปลูกฝังให้ลูกหลานต่อไป 

 

แรกเกิดมาเป็นเทวดาของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย  ค่อย ๆ เลี้ยงดูกล่อมเกลาด้วยความรัก  ควบคู่ความรู้บนฐานความเชื่อของแต่ละหมู่บ้านชุมชน  ผสานความกว้างไกลของการสื่อสารไร้พรมแดน

 

จนเป็นลูกหลานคนธรรมดา  ที่พ่อแม่ยายตาปู่ย่าผู้เลี้ยงดูประจำ  จะให้การโอบกอดมอบความรัก  ให้การเลี้ยงดูด้วยใจที่มีแรงใฝ่สัมฤทธิ์  อยากให้ลูกหลานเติบใหญ่ตามที่ฝันไว้ 

 

หมายเลขบันทึก: 491498เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 16:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2012 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สรุปว่ารักลูกใหญ่กว่ารักหลานใช่มั้ยครับท่านทหารพรานหญิง

เป็นการใช้ mind map ที่น่ารักมากค่ะคุณหมอ ;)

โอโห1 คุณหมอสุดยอดงานทันตลงถึงชุมชนขนาดนี้นับถือๆๆๆ เดี๋ยวขอ link ไว้ให้ฝ่ายทันคที่ รพ.ดูหน่อยค่ะ ขอบคุณค่ะ

ท่านลุงบังคะ

มะพร้าวใหญ่กว่าลูกตาล .... คุณยายจึงรักหลานมากกว่าลูกค่ะ

ทหารพรานหญิงขอขอบคุณนะคะ ที่มาเยี่ยมเยียน

Mind map แบบรีบ ๆ ค่ะคุณปริม

ทั้งฟัง ทั้งเขียน.....ไม่ง่ายนะคะ ที่จะให้ชาวบ้านพูดทีละคน

พอการสนทนาลื่นไหล ต้องจับใจความให้ได้ไว ๆ

ขอบคุณมากค่ะ ราตรีสวัสดิ์นะคะ

ยินดีค่ะคุณชลัญ

โคราชก็เป็นเอกด้านทันตสาธารณสุข ความสุขด้านปากและฟันในชุมชนนะคะ

ขอบคุณค่ะ

เดี๋ยวนี้คลอดลูกเสร็จ ส่งกลับมาให้พ่อ-แม่เลี้ยง.. ปู่-ย่า-ตา-ยาย บางท่านอายุเยอะมาก ต้องมารับภาระเลี้ยงหลาน แต่ก็มีความสุขที่ได้ดูแล (จากการสอบถาม) บางคน.. บอกรักแต่ไม่กล้าตีไม่กล้าบ่นมาก เดี๋ยวพ่อ-แม่มันว่าเอา.. เลี้ยงยากเหมือนกันนะคะเจ้าหลานนี่หนะ สำหรับเรื่องฟัน.. ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่า ต้องรักษาให้ดีค่ะคุณหมอธิรัมภา

 

ชื่นชมอย่างยิ่งครับ

เห็นด้วยนะครับ ว่า Mind map  ทำไม่ยากนัก ออกแบบด้วยตนเองได้ โดยไม่ต้องเป็นทฤษฎีจ๋า แต่ที่ยากคือชวนให้คนพูด - และจับประเด็นนี่แหละ ผมถือว่ายากสุดๆ

...

กรณีการดูแลอนามัยช่องปากในวัยเด็กเช่นนี้  น่าจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี ดูแลไปพร้อมกับสอนสุขศึกษา หรือแม้แต่การเคี้ยวอาหาร สิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กๆ...

...

 

สงสัยบริบทพ่อแม่ไปทำงานที่อื่น บ้าน (เอ็ง) สูงเนิน คงคล้าย ๆ แถวอำเภอสระใครนะคะ

มีคุณลุงคนหนึ่งที่บ้านขี้เหล็ก รับเลี้ยงหลานเป็นรุ่น ๆ ต่อกัน ๔ คน

ให้นิยามว่ามี "โรงผลิต" ส่วนคุณลุงคนเองเป็น "โรงเลี้ยง"

เฮ้อ ! ครอบครัวมีความหมายว่าอย่างไร ?

ขอบคุณมากค่ะคุณ kunrapee ที่แลกเปลี่ยน

สวัสดีค่ะ  อาจารย์แผ่นดิน

Blank

สงสัยจะให้พี่เป็นพี่จริง ๆ  ...  ได้ค่ะจัดให้

ปกติถ้าออกทำงานในชุมชนช่วงหลังเลิกงานจะมีทีมไปด้วยกัน   แบ่งหน้าที่กัน  พี่ชวนคุยเป็นหน้าที่หลัก  มีน้อง ๆ ช่วยฟัง  จับประเด็น  และเขียน 

เพื่อสะท้อนคืนให้กลุ่มที่ร่วมวงโสเหล่  ตามกันไปได้ไม่หลุดออกนอกประเด็นไปไกล  หรือหลุดก็กลับมาได้

รอบนี้  อบต.เป็นเจ้าภาพจัดการนัดกลุ่มแม่  ยาย  ผู้ปกครองเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กน่ะค่ะ  เจ้าภาพสะดวกช่วงเช้าในเวลาราชการ

ในขณะที่ห้องฟันของโรงพยาบาลก็ยังเปิดให้บริการตามปกติ  คนน้อยน่ะค่ะ  จึงต้องฉายเดี่ยว

การพูดคุยสนทนาอย่างมิตร  การฟังกันและกัน  โสเหล่กันอย่างกันเองนี่แหละค่ะ  คือ  เครื่องมือทรงพลัง  เข้ากับความรู้สึกนึกคิด  วิถีของแม่บ้าน 

(บางคนนั่งปักครอสติสไปด้วย  แผ่นเล็ก ๆ  ค่าแรงแผ่นละ  ๓๐  บาท)

การเขียน  การรับรู้ผ่านตัวหนังสือ  ยังไม่ค่อย "เข้าถึง"  แม่ ๆ ยาย ๆ  ส่วนใหญ่แถวสระใครเท่าไหร่นะคะ   แต่บางคนก็ดูตามที่เราเขียนตลอด  น่าจะช่วยความเข้าใจด้วยกันดีขึ้น

ขอบคุณนะคะที่อาจารย์แผ่นดินแวะมา

 

มาชวนไปให้กำลังใจ ชมรมผู้สูงอายุสุขภาพช่องปากฟันดี ที่บ้านสวน ที่นี้เขามีทุนทางสังคมสูง

ไปเยี่ยมมาแล้วนะคะท่านลุง....สุดยอดจริง ขอบคุณนะคะ...พันธมิตรช่องปาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท