มุมมองเด็กผ่านเอแบคโพลล์ จัดอันดับมหา'ลัยกระทบจิตวิทยาสังคม


ทางสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้สำรวจความเห็นของนักศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐเขตกรุงเทพฯ 1,152 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-2 ก.ย. ที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญที่พบจากทำโพลหลายประเด็นด้วยกันดร.นพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เปิดเผยผลสำรวจว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.2 ระบุติดตามข่าวการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของคณะกรรมการการอุดมศึกษา ขณะที่มีเพียงร้อยละ 31.8 ระบุไม่ได้ติดตามข่าวเมื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อตัวเอง หากมหาวิทยาลัยที่กำลังศึกษาอยู่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับท้ายๆ พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 72.8 คิดว่า จะทำให้หางานทำได้ยากขึ้นหลังเรียนจบ ในขณะที่จำนวนมาก หรือร้อยละ 46.4 คิดว่า จะทำให้สังคมไม่ยอมรับตัวนักศึกษาแต่เมื่อคณะผู้วิจัยสอบถามตัวอย่างถึงความภูมิใจ และความเชื่อมั่นต่อสถาบันการศึกษาของตนเองหากถูกจัดอยู่ในอันดับท้ายๆ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ยังมีความภูมิใจในสถาบัน รวมทั้งภูมิใจในตัวเอง และยังเชื่อมั่นต่อสถาบันที่ตนเองศึกษาอยู่เท่าเดิม คิดเป็นร้อยละ 66.5 ร้อยละ 69.0 และ ร้อยละ 63.7 ตามลำดับเรื่องของความเชื่อมั่นต่อการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของสกกอ. พบว่า นักศึกษาจำนวนมาก หรือร้อยละ 39.3 ไม่เชื่อมั่นต่อการจัดอันดับดังกล่าว โดยให้เหตุผลสำคัญคือ เกณฑ์ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยไม่มีความชัดเจนไม่ครอบคลุม ไม่เชื่อถือหน่วยงานที่ทำการจัดอันดับ ใช้หน่วยงาน/คนกลุ่มเดียวเป็นผู้ตัดสินประเมิน เป็นต้นในขณะที่ร้อยละ 23.6 ระบุเชื่อมั่น และร้อยละ 37.1 ไม่ระบุความคิดเห็นประเด็นสุดท้ายที่พบคือ แนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อคุณภาพทางการศึกษาไทย โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 37.3 เห็นว่าการศึกษาของไทยควรปรับปรุงในด้านหลักสูตร และพัฒนาคุณภาพการศึกษารองลงมาคือร้อยละ 27.5 ระบุควรเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการศึกษาให้เพียงพอต่อความต้องการ ร้อยละ 15.1 ระบุควรจัดระบบการศึกษาให้ได้มาตรฐานเท่าเทียมกัน ร้อยละ 14.8 ระบุรัฐบาลควรให้การสนับสนุนทางด้านการศึกษาอย่างจริงจัง ร้อยละ 13.5 ระบุควรพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีที่ใช้ในการเรียนการสอน ร้อยละ 10.4 ระบุให้เน้นการปฏิบัติงานจริงมากกว่าการศึกษาในห้องเรียน นอกจากนี้ตัวอย่างยังระบุให้พัฒนาด้านจริยธรรม คุณธรรมให้กับนักศึกษา เพิ่มมาตรฐานการวัดและประเมินผลทางด้านการศึกษา เพิ่มทุนในการทำวิจัย เป็นต้นดร.นพดลกล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นชัดเจนถึงผลกระทบด้านจิตวิทยาต่อนักศึกษาอย่างน่าเป็นห่วง ทั้งที่กลุ่มนักศึกษาที่ถูกสำรวจส่วนใหญ่ ไม่ได้แสดงความกังวลต่อผลการจัดอันดับที่มีต่อสถาบันการศึกษาของตน เพราะยังคงเชื่อมั่น และภูมิใจต่อสถาบันที่พวกเขากำลังศึกษาอยู่ แต่แสดงความกังวลต่อการหางานทำและการยอมรับจากสังคม ถ้ามหาวิทยาลัยของตนเองถูกประกาศออกไปว่าสถาบันของตนอยู่ในอันดับท้ายๆ ของการจัดอันดับ"คณะทำงานด้านการจัดอันดับจึงควรพิจารณาตนเอง และน่าจะออกมาขอโทษนักศึกษาเหล่านี้หรือแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย" ดร.นพดลกล่าวผอ.สำนักวิจัยเอแบคโพลล์กล่าวด้วยว่า เจตนาที่ดีอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อผลการกระทำที่สร้าง ผลกระทบต่อความรู้สึกของนักศึกษาส่วนใหญ่ของประเทศ การที่พวกเขาเหล่านั้นเขาไปรับศึกษาตามสถาบันการศึกษาที่ถูกจัดอันดับท้ายๆ อาจเป็นเพราะบรรดาผู้ใหญ่ในสังคมที่ไม่สามารถปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จลงได้ ทำให้คุณภาพและโอกาสทางการศึกษาไม่ได้ถูกกระจายไปยังพื้นที่ และภูมิภาคต่างๆ ของประเทศอย่างเท่าเทียมกันนอกจากนี้ เด็กนักศึกษาส่วนใหญ่อาจได้รับผลกระทบจากการสร้างมาตรฐานทดสอบแบบโอเน็ต-เอเน็ต หรือการสอบเอ็นทรานซ์ในอดีตที่มีปัญหา ทำให้พวกเขาต้องไปเข้าสู่สถาบันการศึกษาบางแห่งที่เป็นทางเลือกที่สอง หรือที่สามโดยจำเป็น ทั้งที่นักศึกษาทุกคนอาจต้องการเข้าสู่ระบบการศึกษา ผ่านสถาบันที่ได้รับความเชื่อถือจากสังคมในอันดับต้นๆการออกมาประกาศผลการจัดอันดับครั้งนี้จึงไม่ค่อยจะเป็นธรรม กับบรรดานักศึกษาที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเท่าใดนัก แนวทางที่น่าจะเหมาะสมกว่าคือ ในระยะแรกกระทรวงศึกษาธิการควรใช้วิธีการจัดอันดับที่จะทำให้สถาบันการศึกษาต่างๆ แข่งขันกับตัวเอง ก่อนจะไปสร้างแรงกดดันให้เกิดการแข่งขันระหว่างสถาบัน"การสร้างการแข่งขันภายในตัวสถาบันแต่ละแห่ง คือ การส่งเสริมด้วยวิธีวัดประเมินจากกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องของสถาบันนั้นๆ เช่น วัดจากผู้บริหาร บุคลากรทางวิชาการ นักศึกษา และสังคมที่ใช้นักศึกษาที่เป็นผลผลิตจากสถาบันการศึกษาเหล่านั้น โดยไม่ต้องมีการจัดอันดับระหว่างสถาบัน เป็นต้น" ดร.นพดลกล่าวผลการสำรวจความเห็นของเด็กผ่านการทำโพล และผลสรุปความเห็นเด็กๆ จากคนทำโพล ก็เป็นอีกมุมมอง ที่สะท้อนกลับไปยังการจัดอันดับศักยภาพมหาวิทยาลัย ของสกอ. ผลต่อสังคมในเชิงจิตวิทยาก็เป็นอีกมุมมองที่น่าสนใจ  
หมายเลขบันทึก: 48978เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2006 10:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 21:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท