จาก "เห็ดถอบ" ถึง "เห็ดทรัฟเฟิล"


การหาเห็ดถอบนั้น คนจะเขี่ยค้นหาด้วยตนเอง ในขณะที่การค้นหาเห็ดทรัฟเฟิลนั้น จะต้องใช้หมูหรือสุนัขที่ฝึกมาอย่างดีแล้วเป็นตัวช่วย

 

 

เรื่องเล่าจากบ้านแม่ตาด :

จาก "เห็ดถอบ" ถึง "เห็ดทรัฟเฟิล"

 

 

 

เห็ดถอบของบ้านแม่ตาด

 

 

               ช่วงนี้เป็นช่วงที่หมู่บ้านแม่ตาดของผมกำลังมีความครึกครื้นกันมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเมื่อหลายวันก่อนฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก ทำให้ “เห็ดถอบ” หรือ “เห็ดเผาะ” เริ่มออก โดยชาวบ้านแม่ตาดและชาวบ้านใกล้เคียงต่างก็พากันเดินเดินทางเข้าป่าและขึ้นดอยที่ตั้งอยู่หลังหมู่บ้านกันอย่างคึกคักหนาแน่นคล้ายกับว่าไปเที่ยวงานวัดประจำปี (รวมทั้งตัวผมเองด้วยน่ะ  คิคิคิ) ทั้งนี้ ก็เพื่อพากันขึ้นไปหาเห็ดถอบหรือเห็ดเผาะเพื่อนำมาบริโภคหรือจำหน่ายหารายได้เสริมให้กับครอบครัวนั่นเอง

                อันว่า “เห็ดถอบ” นั้น  เป็นภาษาเรียกตามท้องถิ่นของภาคเหนือ ส่วนทางภาคอีสานหรือภาคกลางนั้น จะเรียกเห็ดชนิดนี้ว่า  “เห็ดเผาะ” ซึ่งเป็นเห็ดที่มีเฉพาะทางภาคเหนือและภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่ และเป็นเห็ดที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลที่ราคาค่อนข้างจะมีราคาแพง

                ในสารานุกรมเสรี วีกิพีเดีย กล่าวไว้ว่า......  “เห็ดเผาะ (อังกฤษ: Barometer Earthstars; ชื่อวิทยาศาสตร์Astraeus hygrometricus) หรือ เห็ดถอบ ในภาษาถิ่นภาคเหนือ เป็นเห็ดชนิดหนึ่ง ที่จัดอยู่ในวงศ์ Lycoperdaceae โดยจัดเป็นเห็ดที่ขึ้นได้เองธรรมชาติ เป็นลูกกลมๆ ขนาด 1.5-3.5 เซนติเมตร ไม่มีลำต้น ไม่มีราก ขึ้นตามดินร่วนที่ถูกไฟไหม้"

                เห็ดเผาะมีลักษณะเป็นลูกกลมๆ ไม่มีลำต้น ไม่มีราก ชอบขึ้นตามดินร่วนที่ถูกไฟไหม้ เห็ดที่ยังอ่อนอยู่มีสีขาวนวล ส่วนเปลือกนอกรอบ ห่อหุ้มสปอร์สีขาวนวล เมื่อเห็ดแก่ เปลือกจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลถึงสีดำ ส่วนสปอร์ข้างในก็เป็นสีดำด้วย ถ้าแก่มากๆ เปลือกเห็ดจะแตกออกเป็นแฉกรูปดาวสามารถมองเห็นสปอร์ข้างในได้

 

                เมื่อพูดถึงเห็ดถอบแล้ว ก็ทำให้นึกถึงเห็ดชนิดหนึ่ง ชื่อว่า “เห็ดทรัฟเฟิล(Truffle)” (ภาษาฝรั่งเศส เรียกว่า "เห็ดทรู๊ป")ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “ราชาแห่งเห็ดทั้งปวง” หรือ "เพชรดำ" เนื่องจากเป็นเห็ดที่หายากและมีกลิ่นหอมอบอวลทั้งตอนอยู่ในดินและขณะอยู่ในปาก แถมยังมีราคาแพงถึงกิโลกรัมละ 5-60,000 บาทอีกด้วย โดยเห็ดชนิดนี้จะมีอยู่เฉพาะที่ยุโรปเท่านั้น

                โดยเห็ดทรัฟเฟิลนี้ มีอยู่ประเภทด้วยกัน คือ 

                1.เห็ดทรัฟเฟิลขาว (White truffle) มีกลิ่นหอมมาก   ซึ่งราคาจะแพงมาก

                 2. เห็ดทรัฟเฟิลดำ (Black truffle) ซึ่งมีอยู่หลายชนิด  โดยชนิดนี้ราคาจะถูกกว่าเห็ดทรัฟเฟิลขาว 

                เห็ดทรัฟเฟิลมักจะซ่อนตัวเองอยู่ใต้ต้นเบิร์ช ต้นโอ๊ก ต้นเฮเซลนัท  และต้นบีช อยู่ใต้ดินลึกจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นและดูราวกับว่างอกออกมาจากรากของต้นไม้ใหญ่ บ้างก็แพร่ขยายไปตามรากของต้นราสเบอร์รีป่า

               ทั้งนี้ วิธีหาเห็ดทรัฟเฟิลนี้ก็แสนจะซับซ้อนมากกว่าการหาเห็ดถอบเสียอีก  เพราะต้องใช้หมูหรือสุนัขที่ได้รับการฝึกหัดในการหาเห็ดทรัฟเฟิลโดยเฉพาะ ดมกลิ่นและขุดหาเห็ดที่อยู่ใต้ดิน การหาเห็ดจึงต้องแย่งกันระหว่างคน หมูและสัตว์นานาชนิด  หากเจ้าของมัวชักช้า  รับรองว่าเสร็จเจ้าหมูกับเจ้าตูบอย่างแน่นอน  555

               ทั้งเห็ดถอบและเห็ดทรัฟเฟิล มีลักษณะที่คล้ายๆ กันก็คือ เป็นเห็ดที่ไม่มีรากและฝังตัวอยู่ตามรากไม้หรือใต้ดิน แถวยังออกเสียงคล้ายๆ กันอีก ....ถอบ...ทรัฟ(เฟิล)....ถอบ...ทรัฟ(เฟิล)  555

                หากจะแตกต่างกันอยู่บ้าง ก็ตรงที่ว่า เห็ดถอบนั้นปัจจุบันคนไทยเราเริ่มจะทำการเพาะขึ้นเองได้บ้างแล้ว เพียงแต่ยังไม่แพร่หลายมากนัก  ในขณะที่เห็ดทรัฟเฟิลนั้นยังไม่มีใครสามารถเพาะขึ้นได้เลยและวิธีการหาเห็ดทั้งสองชนิดนี้ก็มีความแตกต่างกันด้วยเช่นกัน โดยการหาเห็ดถอบนั้น คนจะเขี่ยค้นหาด้วยตนเอง ในขณะที่การค้นหาเห็ดทรัฟเฟิลนั้น จะต้องใช้หมูหรือสุนัขที่ฝึกมาอย่างดีแล้วเป็นตัวช่วย

                สำหรับเห็ดถอบของไทยเรานั้น เป็นเห็ดตามฤดูกาลที่ออกในช่วงต้นฤดูฝน ระหว่างเดือน พ.ค.-มิ.ย. ของทุกปี โดยชอบออกหรือชอบขึ้นตามพื้นดินที่อยู่ใต้โคนไม้ที่ถูกไฟเผา เช่น ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้พลวง ไม้พะยอม และมักชอบขึ้นในป่าโปร่ง ป่าแพะ เป็นต้น

                ส่วนวิธีการหาเห็ดถอบนั้น เมื่อถึงฤดูที่เห็ดถอบออก ชาวบ้านก็จะพากันไปหาเก็บเห็ดถอบ โดยใช้ขอเหล็กยาวประมาณ ๑ ศอก เขี่ยค้นหา ซึ่งต้องมองหาตามโคนต้นไม้ ตอไม้ที่ถูกไฟไหม้ โดยเห็ดบางส่วนจะฝังอยู่ใต้ดิน ในขณะที่บางส่วนก็โผล่พ้นดินขึ้นมาให้มองเห็นอย่างชัดเจน  เวลาเขี่ยหาเห็ด ก็จะใช้ขอเหล็กขูดไปตามดินอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้ขอไปถูกเห็ด โดยต้องพยายามให้ได้เห็ดที่เป็นลูกสมบูรณ์ที่สุด

                 เมื่อได้เห็นมาแล้ว ก็จะเก็บไว้ในภาชนะที่เตรียมไว้  ก็คือ ใบตองตึงหรือใบพลวงที่ทำเป็นกรวย เพื่อช่วยให้เห็ดมีความสดและไม่แก่เร็ว  โดยเห็ดชนิดนี้ถ้าถูกแดดถูกลมจะทำให้แก่เร็ว คนไม่นิยมรับประทาน เพราะเปลือกที่หุ้มสปอร์จะเหนียวมาก เวลาเคี้ยวจะรู้สึกเหมือนเคี้ยวยางในรถจักรยานเลยทีเดียว  555

                 สำหรับเมนูอาหารจากเห็ดถอบนั้น  ก็มีหลายอย่างด้วยกัน เช่น ต้มเค็ม ยำ แกง ผัด และลวกจิ้มน้ำพริก เป็นต้น  ใครชอบเมนูไหน ก็เชิญทำรับประทานได้ตามสบาย  รับรองว่าอร่อยอย่างแน่นอน

 

                 พอเขียนมาถึงตรงนี้  ก็เริ่มจะน้ำลายย้อยแล้วละครับ  จึงขอจบไว้เพียงเท่านี้ก่อนดีกว่า

 

                 เอวัง  ก็มีด้วยประการฉะนี้   555



เห็ดทรัฟเฟิลดำ
(ภาพจากอินเตอร์เนต)

เห็ดทรัฟเฟิลขาว  ซึ่งราคาแพงกว่าทองคำเสียอีก
(ภาพจากอินเตอร์เนต)

หมูที่ฝึกมาอย่างดีแล้วกำลังดมหาเห็ดทรัฟเฟิล

โดยมีเจ้าของคอยจ้องมองอย่างไม่กระพริบตา

ชาวบ้านแม่ตาดกำลังใช้ขอเหล็กเขี่ยหาเห็ดถอบ

ต้องก้มๆ เงยๆ มองหาแบบนี้ จนปวดหลังเลยทีเดียว

กลุ่มนี้มีอยู่ 6 ดอก

ส่วนกลุ่มนี้มีอยู่ 3 ดอก

ต้องเก็บใส่กรวยใบไม้อย่างที่เห็น เพื่อรักษาความสดของเห็ดเอาไว้

พักกินข้าวกลางวันบนปลายดอย

เห็ดถอบราคาลิตรละ 100-150 บาท

ส่วนเห็ดทรัฟเฟิลดำที่เห็น ราคา กก.ละ 5-60,000 บาท

(สามารถซื้อเห็ดถอบได้ตั้งหลายตันเลยทีเดียว)




เพลง   "โอ้ละหนอเชียงใหม่"

ศิลปิน    "วงนกแล"




หมายเลขบันทึก: 489351เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 06:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ถึงราคาต่างกันราวกับฟ้ากับดิน แต่ผมเชื่อว่าความสุขในการกินเห็ดถอบอาจจะเยอะกว่าเห็นทรัฟเฟิลมากเลยครับ (เพราะคนหาไม่ได้กิน คนกินไม่ได้หา)

สวัสดีครับ อาจารย์ ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์

 

ช่วงนี้ชาวบ้านแม่ตาดมีความสุขกันทุกครอบครัวเลยครับ

เพราะเข้าป่าแล้วได้เห็ดถอบกลับมาทุกคน

บ้างก็ได้มาก บ้างก็ได้น้อย แล้วแต่โชคนะครับ

ซึ่งเป็นวิถีชีวิตอีกแบบหนึ่งของหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้

คุณอักขณิชค่ะ ..อารมณ์เดียวกันเลยค่ะ...คนอ่านก็น้ำลายหก ใช่ว่าจะเป็นเพียงคนเขียนบันทึกที่กล่าวว่า น้ำลายย้อย!! นัยว่าน่่าจะอร่อยมากนะค่ะ ที่สนนด้วยเมนูต่างๆ .. เห็นถอบ หรือเห็ดเผาะ.จากภาพฟ้องว่า..ป่าที่ชาวบ้านเค้าไปหาเห็ดมีลักษณะพื้นล่างเป็นหิน เหรอค่ะ เห็นเห็นกรวด หินก้อนเล็กๆ ?? ..สังเกตจากต่ำแหน่งที่พบเห็ด และตำแหน่งที่นั่งพัก?? ..ป่าที่เห็นต่างจากที่ปักษ์ใต้ค่ะ เพราะถามๆอาจารย์ที่เค้าสอนเกี่ยวกับเห็ด ว่าปักษ์ใต้มี เห็นถอบในธรรมชาติบ้างไหม๊?? เค้าบอกไม่น่าจะมี แต่ถ้าดูจากแหล่งที่พบ อย่างกะ ภาพในบันทึกนี้ ไ่ม่น่าจะมีป่่าลักษณะอย่างนี้ที่ปักษ์ใต้นะค่ะ?? ...อืม..ขออภัยนะค่ะ ..สงสัยมากไปหน่อยไหม๊เอ่ย :-))

สวัสดีครับ อาจารย์ kwancha

 

*ป่าทางภาคใต้ส่วนใหญ่จะเป็นป่าดงดิบหรือป่าดิบชื้นนะครับ ในขณะที่ป่าทางภาคเหนือจะเป็นป่าเบญจพรรณหรือเป็นป่าผลัดใบ ซึ่งบนเขาจะเป็นก้อนหินเสียส่วนใหญ่ ตอนหน้าแล้งใบไม้จะร่วงหมด แต่ยามหน้าฝนก็จะผลิใบเขียวชอุ่ม ทั้งอากาศ ความชื้น และดินจึงเหมาะสำหรับการเกิดของเห็ดถอบโดยเฉพาะ

**หากอาจารย์อยากทานเห็ดถอบ ก็นั่งเครื่องบินมาแอ่วที่บ้านแม่ตาดได้นะครับ รับรองได้ทานอย่างแน่นอนครับ คิคิคิ

ช่วงนี้ราคายังสูงอยู่ครับ

สวัสดีครับ คุณทองหยอด

 

* รออีกสักพัก ตอนเห็ดออกเยอะๆ ราคาก็จะลดลงเองนะครับ

** ขอบคุณมากๆ ครับ ที่กรุณาแวะเข้ามาเยี่ยมและทักทาย

อยากขึ้นดอยไปหาเห็ดเผาะอย่างคุณอักขณิชจังเลย ตอนเป็นเด็กอยู่ชุมแพ เคยหาแต่เห็นปลวก(เห็ดโคน) ต้องตื่นแต่เช้าแล้วแย่งกันหาตามจอมปลวกที่เคยออก ได้มากน้อยก็แล้วแต่วันไหนจะหมานไม่หมาน ได้มากก็นำมาแกง ได้น้อยก็นำมาทำแจ่ว แต่ก็อร่อยทั้งนั้นล่ะครับ คิดฮอดบ้านจังเด้....

สวัสดีครับ คุณพี่ พ.แจ่มจำรัส

 

* ตอนนี้เห็ดถอบหรือเห็ดเผาะกำลังออก แต่อีกหน่อยเห็ดโคนก็คงจะออกตามมานะครับ

** บ้านนา....ยังรอคอยการกลับมาเยือนเสมอนะครับ

เหมือนเห็ดเผาะบ้านผมเลย เข้าใจว่าเหมือนกันใช่ไหมครับ

สวัสดีครับ อาจารย์ขจิต ฝอยทอง

 

เห็ดถอบกับเห็ดเผาะคือเห็ดชนิดเดียวกันนะครับ ภาคเหนือเรียกว่า....เห็ดถอบ ภาคกลางและอีสาน เรียกว่า....เห็ดเผาะ ส่วนเห็ดทรัฟเฟิลนั้น ที่บ้านเราไม่มีนะครับ

ปีนี้ยังไม่ได้กินเลย

อิจฉาคนบ้านแม่ตาดจัง

สวัสดีครับ คุณหมอ ทพญ.ธิรัมภา

 

* ที่หนองคายมีเห็ดเผาะหรือเห็ดถอบบ้างหรือเปล่าครับ?

** ที่บ้านแม่ตาดตอนนี้เห็ดเริ่มวายแล้วนะครับ เพราะเห็ดถอบมีช่วงระยะเวลาออกประมาณ 2-3 สัปดาห์เท่านั้น จากนั้นก็จะเริ่มแก่และหายากขึ้นครับ....ตอนนี้ราคาก็เลยแพงตามไปด้วย

*** อีกหน่อยเห็ดโคนก็จะออกแล้วนะครับ คุณหมอรอทานเห็ดโคนดีกว่านะครับ เนื่องจากหาได้ง่ายกว่าเห็ดเผาะเยอะเลย

บ้านหนูอยู่ภาคใต้แต่มีเห็ดเผาะคะหนูหาทุกปี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท