ชีวิตที่พอเพียง: ๑๕๖๓. ไปตามหาสินทรัพย์ของชาติด้านการศึกษา


 

 

          วันที่ ๑๙ เม.ย. ๕๕ ผมติดตามมูลนิธิสยามกัมมาจลไปเยี่ยมชื่นชมกิจการของโรงเรียนดรุณสิกขาลัย   ซึ่งจัดการศึกษาแบบ “การศึกษาทางเลือก” (alternative education)

          มีการนำเสนอ เสวนา และเยี่ยมชมกิจการอย่างสนุกสนาน และมีความสุข อยู่เกือบ ๔ ชั่วโมง    ในช่วง ๘.๓๐ - ๑๒.๓๐ น.   แล้วผมไปทำงานอื่นอีก ๒ งาน   แล้วไปงานสวดศพคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ที่วัดธาตุทอง   เมื่อกลับมาบ้านในตอนค่ำ ผมบอกตัวเองว่า ที่โรงเรียนดรุณสิกขาลัย ผมพบ national assets (สินทรัพย์ของชาติ) สำหรับต่อยอดไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของชาติแบบเปลี่ยนกระบวนทัศน์

          ผมขอกราบขอบพระคุณ ผู้อำนวยการโรงเรียนดรุณสิกขาลัย คือคุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา   ผู้ช่วยครูใหญ่ คือคุณสันติ ทิสยากร   และคณะครูที่ให้การต้อนรับและแบ่งปันปัญญาอย่างดีเยี่ยม   เราจะ ร่วมมือกันขับเคลื่อนการศึกษาของชาติต่อไปอย่างอดทน ไม่หยุดยั้ง    ขอหมายเหตุว่า ทั้งคุณพารณ และคุณสันติ เป็นวิศวกร ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพวิศวกรมาแล้ว   และคุณสันติเป็นเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษากับน้องชายคนหนึ่งของผม คือคุณวิจัย พานิช ซึ่งประกอบสัมมาชีพเป็นเกษตรกรอยู่ที่ชุมพร

          ผมเชื่อว่าระบบการศึกษาของไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันกำลังสั่นคลอนอย่างหนัก    ทั้งจากแรงกดดันจาก ปัจจัยภายนอก ที่สังคมเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง    และจากพลังของความเน่าเฟะโสโครกในระบบ    ในงานศพคุณไพบูลย์ มีผู้ใหญ่ของบ้านเมืองและเป็นผู้น่าเคารพนับถือท่านหนึ่ง เล่าความน่ารังเกียจในระบบการศึกษา ที่มีการแสวงหา ผลประโยชน์บนความเสียหายทรุดโทรมของบ้านเมือง ทั้งด้านการศึกษาและด้านคุณธรรมจริยธรรม   ที่ทำกันเป็นขบวนการ มีเครือข่ายใหญ่โตกว้างขวาง    ท่านเอ่ยชื่อคนด้วย

          มีผู้ส่งลิ้งค์ที่เขียนเล่าความโสโครกในวงการศึกษาที่นี่

          ผมจึงเชื่อว่า ระบบการศึกษาไทยกำลัง “รอวันฟื้น”   ระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะต้องสูญสลายไป    เพราะเป็นระบบที่ทำร้ายบ้านเมือง    ทำร้ายนักเรียน ทำร้ายคนไทย   เพราะเป็นระบบที่บ่มเพาะพลเมืองที่อ่อนแอ บั่นทอนศักยภาพของมนุษย์

          เราจึงต้องระดมพลัง ช่วยกันค้นหา “สินทรัพย์ของชาติ” ด้านการศึกษา หรือการเรียนรู้    เอาไว้ “กู้ชาติ” ยามบ้านเมืองล่มจม   เป็นการกู้ชาติจากพลังคนเล็กคนน้อย

          ผมจึงบอกตัวเองว่า โรงเรียนดรุณสิกขาลัย เป็นสินทรัพย์ทางปัญญาด้านการศึกษาของชาติ    เป็นสินทรัพย์ที่คุณพารณ และคณะสร้างขึ้น   ตามปณิธานในชีวิตของท่านหลังเกษียณจากงานประจำ    โดยคำว่า “โรงเรียนดรุณสิกขาลัย” ต้องหมายเหตุว่า รวมเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศ   ทั้งที่เป็นโรงเรียน และเป็นชุมชน เรียนรู้   โดยมีดาวเด่นด้านชุมชนคือบ้านสามขา จ. ลำปาง

          ที่สำคัญยิ่งคือ เครือข่าย รร. ดรุณสิกขาลัย มีความเชื่อมโยงกับต่างประเทศ    จึงเท่ากับทำงานอยู่ที่ พรมแดนความรู้ด้านการศึกษาของโลก   เป็นงานสร้างต้นแบบ และทำงานวิจัยและพัฒนาด้านการเรียนรู้ต่อเนื่อง    ยิ่งไตร่ตรอง ผมยิ่งเห็นคุณค่าของเครือข่ายโรงเรียนดรุณสิกขาลัย

          ผมจึงดีใจมากที่ในวันนี้มีคุณ… ที่เคยเป็นครู และเวลานี้เป็นนักเขียนอิสระ มาร่วมประชุมเพื่อ “จับภาพ” กิจกรรมของโรงเรียน เอาไปเขียนหนังสือเผยแพร่    ผมคิดว่าควรมีการเผยแพร่แนวทางและวิธีการจัดการเรียนรู้ ของโรงเรียนดรุณสิกขาลัย ให้กว้างขวางกว่านี้

          คุณเปา (ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร) ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กระซิบกับผมว่า โรงเรียนดรุณสิกขาลัยกับ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ใช้หลักการเรียนรู้เดียวกันคือช่วยอำนวยความสะดวกให้นักเรียนเรียนแบบงอกงาม จากภายในตน    ไม่สอนแบบป้อนความรู้   ต่างกันที่บริบท   ที่ดรุณสิกขาลัยเป็นโรงเรียนในเมือง  และนักเรียนเป็นลูกคนมีฐานะ   ส่วนลำปลายมาศพัฒนาเป็นโรงเรียนในชนบท นักเรียนเป็นลูกชาวบ้าน

          โรงเรียนดรุณสิกขาลัย เน้นเรียนแบบ constructionism  และเน้นใช้คอมพิวเตอร์ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ แบบไม่รู้สึกตัว

          ทั้งสองโรงเรียนเน้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้แบบไม่รู้สึกตัว

          เราคุยกันว่า แผนต่อยอดคือ มูลนิธิสยามกัมมาจล กับมูลนิธิเอสซีจี (คุณโก้ สุรนุช ธงศิลา)  จะร่วมกันสนับสนุน การพัฒนาวิธีการประเมินการเรียนรู้แนวใหม่ ที่เน้นประเมินทักษะ และเน้นประเมินเพื่อพัฒนา    โดยที่ภาคีที่เข้าร่วมพัฒนาต้องมี ๓ ฝ่ายเป็นอย่างน้อย   คือครู นักเรียน และผู้ปกครอง    และผมคิดว่า น่าจะชวนคนทางสื่อมวลชนที่สนใจการศึกษาเข้าร่วมด้วย   เพื่อสื่อสารสังคม ว่าสังคมไทยต้องมีการรื้อปรับระบบการประเมินทางการศึกษาใหม่

          วิธีประเมินทางการศึกษาแบบใหม่ จะเป็นสินทรัพย์ของชาติทางการศึกษาที่มีค่ายิ่ง    โดยจะต้องเน้นการประเมินเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก    และเน้นประเมินว่าผู้เรียนเกิดทักษะตามที่ต้องการหรือไม่   ไม่ใช่เน้นประเมินตัวความรู้  

          ที่จริงพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ก็เป็นสินทรัพย์ของชาติด้านการศึกษา    พ่อแม่ที่เข้าใจว่าแนวทางที่ถูกต้องในการวางพื้นฐานชีวิตแก่ลูกเป็นอย่างไร   การศึกษาที่ถูกต้องสำหรับวางพื้นฐานชีวิตของลูกเป็นอย่างไร จะเป็น “สินทรัพย์” ที่สำคัญของชาติ   ในการร่วมกันขับเคลื่อนการศึกษาสู่สภาพใหม่ หรือที่เรียกว่า การปฏิรูปการศึกษา/ปฏิรูปการเรียนรู้   การปล่อยให้กระทรวงศึกษาธิการ และคนในวงการศึกษารับผิดชอบเรื่องนี้เพียงฝ่ายเดียว เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง   ที่ถูกต้องคือ All for Education, Education for All            

          ในการประชุมวันนี้ มีฝ่ายผู้ปกครองและนักเรียนมาร่วมด้วย ๓ ครอบครัว   ครอบครัวหนึ่งมาแม่กับลูกชายระดับอนุบาล   อีกครอบครัวหนึ่งมาแม่กับลูกชายที่เข้ามหาวิทยาลัยแล้ว และลูกสาวเรียนชั้นประถม   อีกครอบครัวหนึ่งภรรยากับสามียังไม่มีลูก   ฟังคำพูดของแม่และพ่อแล้ว ผมคิดว่า เรายังใช้พลังพ่อแม่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาน้อยไป   ท่านเหล่านี้มีฐานะ มีความรู้ และมีความห่วงใยลูกของตน และห่วงคุณภาพเยาวชน   สามารถเข้าร่วมขบวนการปฏิรูปการศึกษาโดยร่วมกันกำหนดเป้าหมายผลลัพธ์ทางการศึกษาที่ต้องการสำหรับเยาวชน ที่จะเติบโตเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ ๒๑

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๗ เม.ย. ๕๕

 

 ห้องโถงของโรงเรียน ซึ่งอาคารเป็นตึกสูง


 

นักเรียนมาเรียนเสริม เนื่องจากน้ำท่วม


ตู้ไปรษณีย์ สำหรับสื่อสารระหว่างครูกับพ่อแม่นักเรียนเป็นรายคน


เรียนเพื่อฝึกทักษะ 5Q


วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้


ถ่ายอีกมุมหนึ่ง


ภาพวาดของคุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ติดอยู่หน้าห้องประชุม


คุณสันติ (ซ้าย) provost ของโรงเรียน กับคุณเทอดศักดิ์ วิศวกรไทยที่ทำธุรกิจที่นครฮุสตัน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา และภรรยา


 

 ห้องเรียนวิชาภาษาไทย


 

ห้องเรียนวิชาคณิตศาสตร์ 

  


หมายเลขบันทึก: 489094เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 13:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 07:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท