drrakpong
นายแพทย์ รักษ์พงศ์ เวียงเจริญ

การอบรมการจัดการความรู้ ( KM ) ที่ สสจ.กาญจนบุรี


แม้ ใน รพ.พหลฯ จะดูมีความยุ่งเหยิง แต่ในความยุ่งเหยิงนั้นมีเรื่องดี ๆ อยู่มากมาย

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2549 ทาง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ได้จัดการอบรมเรื่อง การจัดการความรู้ ( Knowledge Management - KM ) โดยวิทยากร ดร.ประพนธ์ ผาสุขยึด ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม มีผู้เข้ารับการอบรมจากทุกส่วนของงานสาธารณสุขในจังหวัดกาญจนบุรีเป็นจำนวนมาก

โรงพยาบาลพหลฯ มีตัวแทนเข้ารับการอบรมหลายท่าน โดยทางแพทย์นำโดย พญ.สุวพีร์ พญ.พรสวรรค์ นพ.ธนูศักดิ์ นพ. วิชัย และตัวผมเอง ทางการพยาบาลนำโดย พี่แดง กัลยา เข็มเป้า และหัวหน้าตึกอีกหลายท่าน ได้แก่ คุณวารุณี OR คุณสุชาดา ICU Med คุณกฤษณา ญสส.9 คุณผกามาศ ญสส.8 คุณวรรณวรา LR คุณจุฑาพันธ์ กจ.4 คุณเพ็ญศรี ศชบ. และอีกหลายท่านที่ผมจำได้แต่ชื่อเล่น เช่น พี่เซ่ พี่จุ๋ม พี่เมี่ยง ฯลฯ และทีม พรส. คือ คุณอรวรรณ คุณนวพรรษ และคุณหทัยรัตน์

 เนื้อหาการอบรม เป็นเรื่องที่พวกเราคงเคยได้ยินกันบ้างและฟังดูไกลตัวและน่าจะยากที่จะทำความเข้าใจ แต่ท่านวิทยากรก็มีเทคนิคการสอนให้พวกเราเข้าใจเรื่องนี้ได้กระจ่างขึ้น ด้วย โมเดลปลาทู ทำให้พวกเราได้รู้จักการกำหนด Knowledge Vision วิธีการทำ Knowledge Sharing ด้วยวิธีการที่ไม่เครียด และ Knowledge Assets คือการนำเสนอและจัดเก็บความรู้และเอาไปใช้ ซึ่งถ้าท่านอยากรู้รายละเอียดคงจะต้องขอความรู้จากท่านผู้เป็นตัวแทนของโรงพยาบาลที่เข้ารับการอบรมได้ เพราะผมเชื่อว่านอกจากท่านที่มาจะได้ความรู้ในเรื่องนี้แล้ว ท่านยังมี Attitude ที่ดีในการ Sharing ความรู้ด้วยครับ

แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือกิจกรรมกลุ่มที่พวกเราทำ เนื่องจากสมาชิกจาก รพ. เรามากันมาก เลยได้รับเกียรติให้ทำกลุ่มต่างหาก ซึ่งกลุ่มเราได้เลือกประเด็นที่จะคุยกันในเรื่อง การสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้รับบริการ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายคุณภาพที่ท่านผู้อำนวยการได้มอบเอาไว้

เรื่องเล่า ( Story Telling ) ในเรื่องความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลของเราจากสมาชิกกลุ่ม ก็เลยพรั่งพรูออกมาหลายเรื่องในเวทีสบาย ๆ แบบนี้ ได้แก่

- ความภูมิใจของ PCT กุมาร โดยคุณหมอสุวพีร์และคุณหมอพรสวรรค์ ในเรื่องการดูแลผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่ต้องมารับเลือดเป็นประจำ มีการวางระบบให้ผู้ป่วยได้รับ Leukocyte-poored blood เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการให้เลือด และมีระบบการเปิดโอกาสให้คนไข้ได้นัดหมายกับตึกถึงเวลาที่มีเลือดพร้อม เพื่อให้คนไข้ไม่ต้องเสียเวลามานอนรอเลือด สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ป่วยถึงสองต่อ แถมยังเผื่อแผ่การจัดการนี้มายัง PCT อายุรกรรม เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้ พออายุเกิน 15 ปี ต้องโอนมาให้ Med ดูแล ก็เลยได้อานิสงส์ไปด้วย แฮ่แฮ่

- ความภูมิใจของระบบการจัดการเตรียมผู้ป่วยเพื่อผ่าตัดต้อกระจกที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลชุมชนของคุณหมอวิชัย ซึ่งคุณหมอได้ขอความร่วมมือไปยัง รพช. ให้เตรียมผล Lab ที่สำคัญในการเตรียมผ่าตัดมาให้พร้อม ส่งมาแล้วก็ได้คิวผ่าตัดเลย ไม่ต้องทำให้คนไข้ต้องเสียเวลาเข้าเมืองมาโรงพยาบาลหลายรอบ

-ความภูมิใจของห้องคลอด ที่มีวิธีการจัดระบบ และมอบหมายหน้าที่ให้พยาบาลแต่ละเวร ได้แจ้งความคืบหน้าในการคลอดให้แก่ญาติที่เฝ้ารออยู่หน้าห้องคลอดเป็นระยะ ๆ ซึ่งคุณพ่อและปู่ย่าตายายที่รอลุ้นอยู่ข้างนอกพอใจมาก ๆ

- ความภูมิใจจากหอผู้ป่วยพิเศษ ญสส. 8 โดยพี่มาศ และ ญสส. 9 โดยพี่กฤษณา ที่คิดระบบการบริหารจัดการเตียงห้องพิเศษให้ใช้ได้อย่างคุ้มค่า ผู้ป่วยได้เข้าห้องพิเศษเร็วขึ้นผู้ป่วยพอใจ ได้ผ่าตัดเร็ว และลดความแออัดที่ตึกสามัญได้ ( บ้างน่า )

-ความภูมิใจจากหอผู้ป่วยศัลยกรรมหญิง ( กจ.1 ) ที่จัดให้ผู้ป่วยที่ผ่าตัดแบบเดียวกัน เช่นผ่าตัดเนื้องอกเต้านม ได้นอนเตียงใกล้ ๆ กัน เพื่อสะดวกในการพยาบาล การให้สุขศึกษา และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ( เรียกว่า อำนวย การเรียนรู้ที่ระดับผู้ป่วยด้วยนะเนี่ย )

 ผมในฐานะ Facilitator ของกลุ่ม ฟังแล้วก็รู้สึกชื่นชม และรู้สึกว่าแม้ ใน รพ.พหลฯ จะดูมีความยุ่งเหยิง แต่ในความยุ่งเหยิงนั้นมีเรื่องดี ๆ อยู่มากมาย เพียงแต่เรายังไม่มีโอกาสได้มาแลกเปลี่ยนกันอย่างนี้เท่านั้นเอง

ผลจากการประชุมกลุ่ม เราได้ความรู้ที่ฝังอยู่ในระบบงานจากคนและทีมเอามาสังเคราะห์เป็นแนวคิดที่จะตอบสนองความพึงพอใจของผู้ป่วยได้หลายข้อ และมีความรู้สึกดี ๆ เกิดขึ้นกับองค์กรของเราเอง ว่ายังมีเรื่องดี ๆ และมีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์อยู่มาก แต่ผมก็ยังไม่รู้ว่าแนวคิดของ KM จะมาปรับใช้ในโรงพยาบาลของเราได้หรือไม่

ใครจะเป็น คุณอำนวย และ คุณเอื้อ ที่จะดึง คุณกิจ ในโรงพยาบาลของเราออกมาแสดงความสามารถกันเพื่อประโยชน์ขององค์กรและความสุขในการทำงาน คงต้องติดตามตอนต่อไปครับ

 

หมายเลขบันทึก: 48898เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2006 19:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คุณหมอรักษ์พงศ์เขียนได้แบบ blogger มืออาชีพเลยล่ะครับ คือเขียนแล้วผู้อ่านๆ ได้แบบสบายๆ แถมได้ความรู้อีกด้วย ...ถ้าสามารถขับเคลื่อนคนใน รพ.พหลฯ ให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ (ทั้งแบบ Face to Face และแบบ Blog to Blog) ก็คงจะดีนะครับ ...จะติดตามอ่านต่อไปครับ

  • ตามมาอ่าน
  • ท่านเหล่านี้มีบันทึกไหมจะได้ไปทักทายครับ
  • มีเพื่อนผมด้วยดีใจจัง
  • คุณวารุณี OR คุณสุชาดา ICU Med คุณกฤษณา ญสส.9 คุณผกามาศ ญสส.8 คุณวรรณวรา LR คุณจุฑาพันธ์ กจ.4 คุณ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท