คำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ของอาจารย์ปรีดี


วิวัฒนาการทางสังคมไปสู่การพัฒนาการศึกษากฎหมาย

          อาทิตย์นี้ ได้ลองอ่านหนังสือกฎหมายเก่าๆ หลายเล่ม แต่ที่จะได้หยิบยกขึ้นมาพูดกัน ก็คงเป็นคำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล โดย หลวงประดิษฐมนูธรรม ...ก็ท่านปรีดี พนมยงค์ ของพวกเราชาวเหลืองแดงนั่นแหละ คำอธิบายดังกล่าวปรากฏอยู่ในหนังสือประชุมกฎหมายมหาชนและเอกชน ของ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 วัน แห่งการอสัญกรรมของผู้ประศาสน์การ ปรีดี พยามยงค์ 9 สิงหาคม 2526 คำอธิบายที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ (ซึ่งต่อไปในที่นี้ ขอเรียกว่า “ท่าน”) ที่ปรากฏในหนังสือดังกล่าว ท่านได้แสดงที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม เมื่อ พ.ศ. 2474 เมื่อได้ลองพิจารณาจากหน้าสารบัญของท่าน ก็พอจะมองเห็นได้ว่า เรื่องหลักๆของกฎหมายระหว่างประเทศที่ได้กล่าวไว้ในสมัยนั้น ก็ยังเป็นเรื่องหลักๆที่ยังคงสอนกันอยู่ในสมัยนี้ แต่ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป ซึ่งก็คงเพราะสภาพเศรษฐกิจและสังคมในอดีตกับปัจจุบันที่แตกต่างกัน หากลองมองดูสารบัญในส่วนของภาค 1 ข้อความเบื้องต้น ที่ท่านได้เขียนขึ้น ก็พิจารณาได้ว่า ก็เป็นเช่นเดียวกับหนังสือกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปๆ ในปัจจุบัน ที่ต้องมีการกล่าวถึงผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศเสียก่อน แต่ประเด็นที่น่าสนใจในภาค 1 นี้ มีอยู่ 2 จุด คือ

          1. ท่านได้แบ่งความเกี่ยวพันระหว่างประเทศ เป็น 4 บท คือ

            1.1 เกี่ยวพันในคดีเมือง

            1.2 เกี่ยวพันในคดีบุคคล

            1.3 เกี่ยวพันในคดีอาชญา

            1.4 เกี่ยวพันในกระบวนการพิจารณาคดี

          แม้ท่านจะแยก ความเกี่ยวพันในกระบวนการพิจารณาคดีออกมาเป็นสาขาที่ 4 แต่ท่านก็ได้อธิบายว่า แม้ประเทศจะเกี่ยวพันกันในกระบวนการพิจารณาคดีก็ตาม แต่ไม่ควรที่จะแยกออกเป็นสาขาต่างหากจากสาขาอื่นๆ แห่งกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะกฎหมายวิธีสบัญญัติควรจะรวมอยู่กับกฎหมายสารบัญญัตินั้นๆ เพราะฉะนั้น ความสัมพันธ์ในทางระหว่างประเทศที่เป็นสาขาหลักๆ ที่ท่านกล่าวถึง ก็มีเพียง 3 สาขา คือ คดีเมือง คดีบุคคล และคดีอาชญา (อาญา) ซึ่งก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ในปัจจุบัน

          2. วัตถุแห่งกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ท่านได้แบ่งวัตถุแห่งกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลออกเป็น 4 ข้อ ดังนี้

            2.1 สัญชาติ (ปัจจุบัน ได้ถูกเรียกว่า การจัดสรรเอกชนระหว่างประเทศ)

           2.2 ฐานะของคนต่างด้าว (ในปัจจุบัน จะเปลี่ยนเป็น สถานภาพทางกฎหมายของเอกชนทางกฎหมายระหว่างประเทศ)

            2.3 การใช้กฎหมายเนื่องแต่กฎหมายเอกชนระหว่างประเทศขัดกัน

            2.4 วิธีพิจารณาแผนกเอกชนระหว่างประเทศ

          การแบ่งวัตถุแห่งกฎหมายฯ ออกเป็น 4 ประเภท ข้างต้น ก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่นักกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล ยังคงศึกษากันอยู่ในปัจจุบันนี้ อาจจะเรียกได้ว่า การแบ่งดังกล่าว เป็นแม่แบบแห่งการศึกษากฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคลเลยก็ว่าได้

          แต่มีข้อสังเกตว่า ในข้อ 2.2 ฐานะของคนต่างด้าว ท่านได้เน้นถึงนิติฐานะของบุคคลต่างด้าวทั้งบุคคลต่างด้าวและนิติบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ในขณะที่นิติฐานะของคนไทยในต่างประเทศ ท่านมิได้มีการกล่าวไว้แต่อย่างใดเลย นั่นอาจจะเป็นเพราะว่า ในขณะนั้น นิติสัมพันธ์ระหว่างประเทศของบุคคลยุคนั้น จะเป็นเรื่องของคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรมากกว่าคนไทยที่อาศัยนอกราชอาณาจักร ซึ่งแตกต่างจากในปัจจุบัน ในยุคที่มีความก้าวหน้าทางด้านคมนาคมมากขึ้น จึงมีการเคลื่อนไหวของบุคคลในทางระหว่างประเทศมากขึ้น ทั้งคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรและคนไทยออกไปในราชอาณาจักร จึงได้นำเรื่องของบุคคลสัญชาติไทย (ตามกฎหมายเอกชน) ที่มีนิติสัมพันธ์ระหว่างประเทศเอามาเป็นวัตถุแห่งกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลด้วย ซึ่งเป็นพัฒนาการทางด้านสังคมที่มีผลต่อการพัฒนาศึกษากฎหมายอีกอย่างหนึ่ง

          การอ่านตำรากฎหมายเล่มนี้ ทำให้สามารถมองเห็นว่า หลักการศึกษากฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคลนี้ มิได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักเมื่อเทียบกับปัจจุบัน แต่ก็ยังมองเห็นวิวัฒนาการทางกฎหมายสาขานี้ว่าเป็นอย่างไร มีพัฒนาการอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้เรามองเห็นแนวทางการพัฒนากฎหมายต่อไปในอนาคตได้เช่นกัน เช่น การแก้ปัญหาการตีความคำว่า “กำเนิด” ที่กล่าวใน พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 ว่าหมายถึงการเกิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ การปฏิสนธิตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งในกฎหมายฉบับหลังจึงได้เปลี่ยนเป็น “การเกิด” แทน เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 48724เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2006 21:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท