แง่งามของความรู้จากชีวิตจริง


การเรียนจากชีวิตจริง ทำให้นักศึกษา เข้าใจว่า บางทีการหาช่องว่างสำหรับใส่คำตอบ ยากกว่าการหาคำตอบเสียอีก

สัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าห่างหายจาก gotoknow ไปทำหน้าที่
อาจารย์ผู้ประเมินกิจกรรมนักศึกษาแพทย์ที่หมุนเวียนมาปฎิบัติงาน
สิ่งที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้จากนักศึกษา หลังจากเคาะสนิมตัวเองแล้วคือ
..ความงาม ของการให้โอกาส นักศึกษาได้เรียนรู้จากชีวิตจริง

###
บ่ายวันหนึ่ง เป็นการนำเสนอผลงาน
ที่นักศึกษาจัดทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพให้แก่ครอบครัวผู้ป่วยที่ได้รับมอบหมาย
แต่ละกลุ่มต่างก็งัดกลยุทธ์ ใส่ความคิดสร้างสรรค์ ออกมา 
.


ภาพ : หนูเองเป็นนางแบบโปสเตอร์ออกกำลังกาย ติดที่ข้างฝาบ้านคนไข้ค่ะ

.
แต่มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งดูซึมๆ
ก่อนนำชั่วโมงนำเสนอ นักศึกษาเข้ามาปรึกษาข้าพเจ้าว่า
"ผู้ป่วยและครอบครัว ไม่ร่วมกิจกรรม" 
ซักถาม ความสัมพันธ์ของกลุ่มนักศึกษา กับผู้ป่วย ก็ไม่มีปัญหาอะไร
แต่เมื่อนักศึกษาเตรียมบอร์ด แนะนำการปฎิบัติตัวผู้เป็นเบาหวาน
นัดหาเวลาว่าจะไปหา
ผู้ป่วยบอกจะเข้ากรุงเทพ ไม่ว่างเลย 
นักศึกษาไม่ยอมแพ้ จะใช้วิธีโทรไปให้คำแนะนำ
ก็ไม่รับสาย
นักศึกษาถามข้าพเจ้าว่า จะต้องรีบหาผู้ป่วยอื่นทำแทนหรือไม่
แต่ข้าพเจ้าเอง กลับพบ "แง่งาม" จึงบอกให้เขา "เสนอตามเป็นจริง"
.

ภาพ: กลุ่มผม เตรียมไว้แต่เก้อ เพราะคนไข้ไป กทม.
...
จริงอยู่ นักศึกษากลุ่มนี้ ไม่อาจบรรลุเป้าหมายการส่งเสริมสุขภาพ
แต่บทเรียนจากผู้ป่วยจริงเหตุการณ์นี้
เขาเรียนไม่ได้จาก ผู้ป่วยในกระดาษ ที่อาจารย์เตรียมให้
เขาได้เรียนถึงความซับซ้อนของมนุษย์
มากไปกว่า หาคำตอบที่ถูกต้อง ใส่ในช่องว่างที่เตรียมไว้
ในชีวิตจริง
การหา "ช่องให้เติม" อาจลำบากกว่า หาคำตอบที่ถูกต้องด้วยซ้ำ
การเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ คล้ายการเปลี่ยนคลื่นวิทยุ
ที่เปลี่ยนสถานีไม่ได้ ก็เพราะ
ตัวรับสัญญาณ กับตัวส่งสัญญาณ "ไม่พอดีกัน จูนไม่ตรงกัน"
ไม่ใช่ความผิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ไม่โทษผู้ป่วย  ไม่โทษนักศึกษา
ต้องขอบคุณเหตุการณ์จริง
ที่ช่วยให้บทเรียนนี้ต่างหาก 

###
อีกกิจกรรมที่ข้าพเจ้าจัดให้ นักศึกษา คือ workshop
(บันทึกแผนการสอนไว้ในบล็อก gotoknow ที่นี่ ค่ะ) 
พบว่า นักศึกษาไม่ค่อยชอบ
"เคสแห้ง" กรณีศึกษา สมมติในกระดาษ
..
สำหรับพวกเขาแล้ว
คุ้นเคยดีกับการเรียนแบบไม่บรรยาย
ไม่ว่าจะ PBL , Group work, Role play ฯลฯ ก็ไม่เกี่ยง
แต่สิ่งที่เขาต้องการคือ

"ขอให้อยู่บนพื้นฐานชีวิตจริง"
คนไข้ที่เขาเคยเห็น  
เหตุการณ์ที่เขาเคยมีส่วนร่วม

เขารู้สึกอึดอัดหากได้รับ
คนไข้สมมติ
บทบาทสมมติในเหตุการณ์ที่เขาไม่เคยเจอ

.
.
สรุปโจทย์สำหรับข้าพเจ้าต่อไป คือ
ทำอย่างไร จึงจะให้โอกาสนักศึกษาได้รู้จักปรับตัวรับ ตัวส่งสัญญาณ
ให้ตรงกับสภาพจริง ภายนอกห้องเรียนสี่เหลี่ยม
.

ภาพ:สอบเสร็จ มีเลี้ยงพิซซ่า (ปลอบใจ) 
 

หมายเลขบันทึก: 487112เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 09:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 00:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

มีเลี้ยงพิซซ่าด้วย !!!

คุณหมอบางเวลา "ถอดบทเรียน" ได้น่าอ่านจริง กำลังย้อนคิดถึงโครงการครูเปินเลิศที่กำลังทำอยู่นี่ การได้นั่งอยู่เหตุการณ์ห้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักศึกษาตลอด ทำให้ได้มีโอกาสพูดคุยกับวิทยากรเสมอ แต่เราก็พูดคุยกันในเรื่องเช่น ... บันทึกนี้ หากแต่ยังไม่ได้เล่าออกมาเท่านั้น

ขอบคุณนะครับ ;)...


"ขอให้อยู่บนพื้นฐานชีวิตจริง"
คนไข้ที่เขาเคยเห็น  
เหตุการณ์ที่เขาเคยมีส่วนร่วม"


- ดีจังเลย...ขอบคุณค่ะ


  • เย้มีเลี้งพิซซ่าด้วย
  • ขอเป็นส้มตำข้าวเหนี่ยวไก่ย่างได้ไหม 555
  • ผมเห็นว่าการได้เรียนรู้จากชีวิตจริง
  • ดีกว่าเรียนในนี้ครับ
  • http://www.gotoknow.org/blogs/posts/486343
  • ที่ www.classstart.org คุณหมอไปทดลองใช้ไหมครับ
  • ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆครับ

ในที่สุด...ชอบตอนสอบเสร็จ...

ได้ทานพิซซ่า...ค่ะ  :)

นักศึกษากลุ่มนี้สะท้อนให้เห็นตัวเองเมื่อหลายปีที่ผ่านมา พองานวิจัยเจอผนังข้างหน้าก็มองหาทางออก บางครั้งอยากเปลี่ยนหัวข้อวิจัยเพราะที่ผ่านมามันไม่ได้ผล เพราะเราอยากนำเสนอผลงานแห่งความสำเร็จ ไม่เคยคิดว่าจะต้องไปยืนหน้าชั้นแล้วบอกว่าที่ผ่านมามันทำไม่ได้

อาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่า ไม่เป็นไร นำเสนอเท่าที่มี เน้นวิธีการที่ทำ เน้นการเรียนรู้ที่ได้รับในช่วงที่ทำ เพราะอย่างน้อยที่สุดก็จะได้บอกให้ทุกคนได้รู้ว่าวิธีนี้มันไม่ได้ผล ไม่ต้องไปเสียเวลากับมันอีก

โชคดีที่การวัดผลไม่ได้อยู่ที่การนำเสนอผลงานที่มี positive result เท่านั้นจึงรอดรั้วมหาวิทยาลัยออกมาทำงานได้ เพื่อที่จะมาเจอความเป็นจริงว่าเกือบสิบปีที่ทำงานเกี่ยวกับการนำตัวยาใหม่สู่ท้องตลาด เกือบสิบตัวยาที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นทั้งผู้ตามและผู้นำ มีเพียง ๒ ตัวที่สามารถรายงานว่าเป็นโปรเจคที่ประสบความสำเร็จ มียาวางขายบนชั้นได้ ที่เหลือต้องยืนรายงานว่าทำไมจึงต้องปิดโปรเจคลงและเราเรียนรู้อะไรจากความล้มเหลวนั้นได้บ้าง

อาจารย์หมอ ป. ช่วยสอนนักศึกษาไม่เพียงแต่ด้านวิชาการการรักษาทางการแพทย์ แต่คือการเตรียมตัวนักศึกษาสู่การรักษาการทำงานในชีวิตจริง เพราะคุณยายที่บ้านก็เป็นเบาหวานก็ไม่ได้ทานยาตามที่หมอสั่งเสมอ เพิ่งจะมารู้กันก็ตอนทำความสะอาดห้องคุณยายแล้วเจอยาเป็นกองซุกไว้ใต้เตียง หัวอกคนผลิตยาแทบสลาย...อิอิอิ

  • ผมสอนเด็กๆก็รู้สึกอย่างนั้นครับ ถ้าให้เขาเรียนรู้เองทำเอง ห้องเรียนจะคึกคักมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที..
  • สิ่งที่ไม่รู้หรือไม่ได้ตามที่มุ่งหวังก็เป็นความรู้ ที่สำคัญกว่าคือการที่ได้เรียนรู้ อาจมีค่ากว่า..เพราะเป็นกรณีที่ไม่มีสอนในตำรา
  • ขอบคุณความรู้ครับ

อาจารย์ตกใจเรื่องพิซซ่าหรือค่ะ :)  เป็นธรรมเนียมปฎิบัติเล็กๆ น้อยๆ ของเรา
อาจารย์ที่ปรึกษา จะเลี้ยงอาหารกลางวันมื้อสุดท้าย (ก่อนไปวอร์ดอื่น) แล้วพูดคุยกันค่ะ
...
เรียนรู้จากผู้เรียน
เรียนรู้จากผู้ป่วย
เป็นความสุขเล็กๆของคนเป็น ครูของครู และครูของหมอ นะค่ะ :)

ขอบคุณค่ะพี่เปิ้ล
น้องๆ มักสะท้อนว่า ชอบการออกตรวจผู้ป่วยนอกมากที่สุด
ที่จัดให้ ยังน้อยไป
เด็กเดี๋ยวนี้ คุยเก่งและชอบคุยกับคนไข้มากค่ะ
ไม่รู้พี่เปิ้ลสังเกตเหมือนกันไหม


ขอบคุณค่ะ กำลังสนใจ classstart เช่นกันค่ะ
ยังไม่รู้คุณสมบัติทั้งหมด
ถ้ามีเวลาว่าง จะย้ายแผนการสอนไปอยู่ในนั้นน่าจะดี

...

ส่วนข้าวเหนียว ไก่ย่าง ส้มตำ
ไว้เลี้ยงตอนมาเป็นเรสิเดนท์ค่ะ :)

 

เรียนรู้จากความล้มเหลว...เรียนรู้จากความสำเร็จ....ที่มาจากชีวิตจริง...จะทำให้เราเข้าใจตนเอง และผู้อื่นครับ....มาตามให้กำลังใจอาจารย์และน้องนักศึกษานะครับ

5 5 5 คุณหมอบางเวลา :) เห็นแล้วหิว แต่มิสันทัดเมนูนี้เลย

คราวหน้าขอเป็นเลี้ยง ข้าวเหนียวส้มตำ ไก่ย่าง บ้างเด้อค่า

ผมมาเขียนเรื่อง ClassStart แล้วครับคุณหมอ...

สวัสดีค่ะอาจารย์หมอป.

  • คุณยายเข้าใจความรู้สึกของนักศึกษาแพทย์ที่เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์หมอกลุ่มนี้นะคะ ที่บรบือก็ได้รับเกียรติให้นศพ.จากมข.ไปศึกษาดูงานด้วยค่ะ คุณหมอน้อยๆแต่ละท่านน่ารักมาก ขยัน อยากรู้อยากเห็นและซักถามปัญหาทุกแง่มุม ถ้าช่วงไหนตรงกับวันที่ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พวกเราก็จะเรียนเชิญนศพ.ออกด้วยเพื่อให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์จริง สภาพจริงๆของผู้ป่วย เพราะมีแง่มุมชีวิตจริงๆที่พวกเราไม่เห็นอีกมากมายค่ะ
  • ยังไงก็ขอเป็นกำลังใจให้ทั้งอาจารย์หมอและคุณหมอตัวน้อยๆทุกท่านนะคะ การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุดค่ะ ยังมีอะไรอีกมากมายที่คุณหมอจะต้องค้นหาค่ะ

ขอบคุณ ดร.ปริม ที่แชร์ประสบการณ์ เป็นกำลังใจให้นักศึกษาคนอื่นๆด้วยค่ะ
ธรรมดา ที่เราจะหวังให้ผลงานที่ผลออกมาเป็น positive result
แต่การเรียนรู้เกิดได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็น negative หรือ positive result
ชื่นชมวิธีคิดของอาจารย์ที่ปรึกษาคุณปริม
  เน้น "การเรียนรู้"ที่ได้รับในช่วงที่ทำ
เพราะอย่างน้อยที่สุดก็จะได้บอกให้ทุกคนได้รู้ว่าวิธีนี้มันไม่ได้ผล
ไม่ต้องไปเสียเวลากับมันอีก

...
ความซื่อตรงต่อวิชาชีพ เปิดเผยข้อมูลทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว
เป็นคุณลักษณะที่คุณปริมแสดงออกอย่างน่าชื่นชมค่ะ
 

 

 

 

สิ่งที่ไม่รู้หรือไม่ได้ตามที่มุ่งหวังก็เป็นความรู้ ที่สำคัญกว่าคือการที่ได้เรียนรู้ อาจมีค่ากว่า..เพราะเป็นกรณีที่ไม่มีสอนในตำรา

...
ประโยคนี้เด็ดจริงๆ ขอนำไปใช้้ต่อนะคะ 

อ่านไปยิ้มไป  ดีใจนะคะที่ นักศึกษาแพทย์มีอาจารย์ดีดีจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่นนี้

มาด้วยความระลึกถึงนะคะอาจารย์หมอป.

ขอบคุณค่ะ
เข้าใจตนเอง ว่ามีความถนัดทางไหน มีข้อจำกัดอย่างไร
เข้าใจผู้อื่น  ว่าเขาก็มีเหตุผลของตัวเอง
เป็นเข็มทิศ ที่ตัวเองพยายามปรับทุกเช้าก่อนทำงานค่ะ 

ข้าวเหนียว ไก่ย่าง + น้ำพริกหนุ่มด้วยจะดีมากๆ
ชอบแบบนี้มากกว่าเหมือนกันค่ะ
แต่พานักศึกษากลุ่มใหญ่ๆ ไป คงลำบาก
รอว่าใครจะทำ ข้าวเหนียวไก่ย่างส้มตำ delivery :)
 

ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้ค่ะ
น่าลองใช้มากๆ แล้วจะมาปรึกษาอาจารย์เป็นระยะๆ
 

   เห็นด้วยค่ะ นักศึกษาปัจจุบัน มีทัศนคติที่ดีต่อการออก "นอกกะลา"
ไปมีประสบการณ์ที่ โรงพยาบาลชุมชน ยิ่งเห็นคนไข้ห่างไกลรอความหวังจากหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ คงเปลี่ยนแปลงอะไรในใจเขาบ้างค่ะ

   มีคำพููดหนึ่งที่น้องนักศึกษาพูด สั้นๆ แต่กินใจ
"สิ่งที่ได้ คือ เห็นใจคนไข้ขึ้นเยอะเลยครับ"
  

คิดถึงเหมือนกันค่ะพี่อุ้ม  เดี๋ยวเจอกันงาน R2R ปีนี้แน่นอน

ว้าว !!!!! ลึกซึ้งอีกแล้วค่ะ

"คน" ที่จะเป็น "แพทย์" เนี่ย ให้รู้จักผิดหวังไว้...ไม่สำเร็จ แล้วบอกเงื่อนไขได้ ไว้หาทางปิดจุดอ่อน ป้องกันคราวหน้า

โดยเฉพาะความเข้าใจว่า ไม่มีใคร ทำอะไรได้ดั่งใจไปเสียทุกอย่าง .... ผิดหวังเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นวัคซีนป้องกันใจตนเอง...ให้เข้มแข็ง มุ่งมั่น ทำดีต่อไป

ขอบคุณบันทึกดีมาก ๆ นี้ นะคะ

ขอบคุณค่ะคุณหมอธิรัมภา ความผิดหวังของการ "ทำไม่ได้"
นักศึกษาได้รับจากการทำข้อสอบ
เป็นตัวกระตุ้นให้พัฒนาตนเอง
ความผิดหวังของการ "ไม่ได้ทำ" ในสิ่งที่ตั้งใจจะทำ
นักศึกษาเรียนรู้จากการทำกิจกรรม
ก็เป็นวัคซีนไม่ให้ท้อแท้ ล้มเลิก แล้วรู้จักรอจังหวะเวลา

ตามรอยทางความสุขที่ได้เรียนรู้จากความล้มเหลวค่ะ  โชคดีนะคะที่พบกับความผิดหวังในวัยนี้เพื่อจะได้มีภูมิคุ้มกันในวันข้างหน้า ไม่มีตำราใด หรือโรงเรียนใดอบรมวิชาเอาชนะปัญหาอุปสรรคค่ะ อาศัยวัยเรียน พบกับปัญหามาก ๆ เราจะเกิดปัญญาแก้ไขปัญหาด้วยตัวเราเอง

ขอบคุณบทเรียนผ่านห้องเรียนที่อบอุ่นค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท