โครงการห้องเรียนสำหรับคนไร้รัฐไร้สัญชาติ : ทำไม??


นอกจากองค์ความรู้ที่จะได้รับแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ห้องเรียนกฎหมายจะปลูกฝังให้แก่นักเรียนทุกคน โดยเฉพาะเจ้าของปัญหา คือ ความกล้า ที่จะลุกขึ้นต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิที่ตน ครอบครัว และชุมชนควรจะได้รับตามกฎหมาย
จากการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผลของการวิจัยได้ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุของปัญหาว่า ส่วนหนึ่งเกิดมาจากความไม่รู้กฎหมายของผู้ประสบปัญหาและครอบครัว ความไม่รู้กฎหมายนี้เองที่เป็นตัวสร้างปัญหา และในหลายต่อหลายครั้งก็เป็นตัวที่ทำให้ปัญหาต่างๆ ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งบุคคลที่จะสามารถแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติได้ดีที่สุด ก็คือ บุคคลที่ตกอยู่ในสภาพการณ์นั้น อันได้แก่ เจ้าของปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติเอง เนื่องจากพวกเขาเหล่านี้เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาที่เกิดขึ้น และเป็นผู้ที่เข้าใจถึงปัญหาของตนเองได้ดีที่สุด นอกจากนี้แล้ว พวกเขาย่อมจะเป็นผู้ที่มีความสนใจ กระตือรือร้น ในการแก้ไขหรือเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด แต่เนื่องจากความไม่รู้กฎหมายและไม่รู้จักวิธีการใช้กฎหมายเพื่อการรักษาโรคของความไร้รัฐไร้สัญชาติเหล่านี้ อุปสรรคต่างๆ จึงตามมา และปัญหาจึงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงประเด็น

เพราะฉะนั้น สิ่งที่จำเป็นและสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ คือ การสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ บุคคลที่จะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหา หรือแม้แต่กลุ่มคนอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นผู้สร้างปัญหานั้นเสียเอง แต่การสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านกฎหมาย จำเป็นจะต้องใช้ผู้ที่เชี่ยวชาญและผู้ที่มีประสบการณ์ทางด้านกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน หรือเจ้าพนักงานที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายนั่นๆ เพื่อทำหน้าที่เป็น ครูอาสา ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการให้ความรู้แก่เจ้าของปัญหาและครอบครัว

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง จำลองห้องเรียนกฎหมาย ทั้งในพื้นที่ส่วนกลาง คือ กรุงเทพฯ และในพื้นที่อื่นๆ ที่ปรากฏคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เป็นลักษณะของห้องเรียนกฎหมายเคลื่อนที่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เจ้าของปัญหาและเพื่อสร้างองค์ความรู้ทางด้านกฎหมายในการแก้ไขปัญหาเฉพาะประเด็น ดังนี้ คือ

·       ห้องเรียนกฎหมายฯ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เจ้าของปัญหา

วัตถุประสงค์ของห้องเรียนกฎหมายฯ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง คือ เพื่อทำให้เจ้าของปัญหาเกิดความรู้ความเข้าใจในเบื้องต้น ถึงวิธีการในการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติที่ห้องเรียนกฎหมายจะนำมาใช้ ซึ่งจะเน้นที่ตัวเจ้าของปัญหาเป็นหลัก เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป นอกจากนี้ ห้องเรียนกฎหมายฯ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เจ้าของปัญหา จะให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของกลุ่มเจ้าของปัญหาเอง ซึ่งอาจจะมีการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มใหญ่ หรือการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มย่อยเฉพาะประเด็นปัญหา เช่น

-          ห้องเรียนกฎหมายฯ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มคนที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์ตน

-          ห้องเรียนกฎหมายฯ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มเด็กที่มีปัญหาสถานะบุคคลในสถาบันการศึกษา

-          ห้องเรียนกฎหมายฯ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มบุตรบุญธรรมของคนสัญชาติไทย

-          ห้องเรียนกฎหมายฯ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มคนถือบัตรสี

-          ห้องเรียนกฎหมายฯ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มคนที่ต้องการขอสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นโดยการแปลงชาติ หรือ การโดยการสมรสกับคนสัญชาติไทย

-          ห้องเรียนกฎหมายฯ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มคนถือสัญชาติต่างด้าวแต่ต้องการสัญชาติไทย

-          ห้องเรียนกฎหมายฯ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น

-          ห้องเรียนกฎหมายฯ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มคนลาวอพยพ

-          ห้องเรียนกฎหมายฯ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มคนอดีตไร้สัญชาติ

·       ห้องเรียนกฎหมายฯ เพื่อสร้างองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะประเด็น

วัตถุประสงค์ของห้องเรียนกฎหมายฯ เพื่อสร้างองค์ความรู้ คือ เพื่อทำให้เจ้าของปัญหาเกิดความรู้ความเข้าใจในเชิงลึก ถึงวีธีการในการแก้ไขปัญหาเฉพาะประเด็นที่เจ้าของปัญหาประสบ ตามกฎหมายและนโยบายที่มีและสามารถนำมาบังคับใช้ได้ ซึ่งในการจัดห้องเรียนในลักษณะนี้จะมีการเชิญวิทยากรผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะประเด็นที่เจ้าของปัญหาประสบ เข้ามาทำหน้าที่ในฐานะ ครูอาสา ห้องเรียนกฎหมายฯ เพื่อสร้างองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะประเด็น จะครอบคลุมประเด็นปัญหา ดังต่อไปนี้

-          ห้องเรียนกฎหมายฯ เพื่อแก้ปัญหากลุ่มคนที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์ตน

-          ห้องเรียนกฎหมายฯ เพื่อแก้ปัญหากลุ่มเด็กที่มีปัญหาสถานะบุคคลในสถาบันการศึกษา

-          ห้องเรียนกฎหมายฯ สำหรับกลุ่มคนถือบัตรสี

-          ห้องเรียนกฎหมายฯ เพื่อแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานต่างๆ

นอกจากองค์ความรู้ที่จะได้รับแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ห้องเรียนกฎหมายจะปลูกฝังให้แก่นักเรียนทุกคน โดยเฉพาะเจ้าของปัญหา คือ ความกล้า ที่จะลุกขึ้นต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิที่ตน ครอบครัว และชุมชนควรจะได้รับตามกฎหมาย ทั้งนี้เมื่อเจ้าของปัญหาทุกคนมีความรู้รวมกับความกล้าที่จะนำความรู้นั้นไปใช้แก้ไขปัญหาแล้ว ในที่สุดแล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา ก็คือ ความมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติในทุกจุดเล็กๆ ของสังคมไทยด้วยตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติเอง

(บทความจาก www.archanwell.org)

หมายเลขบันทึก: 48695เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2006 19:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2013 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท