บทอาขยานสู่การเรียนรู้ 1 ชาตรี สำราญ


เวลาผมจะสอนผมต้องคิดเสมอว่า ผมจะสอนใคร จะสอนทำไม เมื่อรู้ว่าจะสอนใคร และสอนทำไมแล้ว ผมจึงจะคิดว่าสอนอย่างไร

บทอาขยาน  สู่การเรียนรู้

               

เวลาผมจะสอนผมต้องคิดเสมอว่า  ผมจะสอนใคร  จะสอนทำไม  เมื่อรู้ว่าจะสอนใคร  และสอนทำไมแล้ว  ผมจึงจะคิดว่าสอนอย่างไร  เพราะสอนใครนั้น  ถ้าเรารู้ก็จะสามารถจัดกิจกรรมการเรียนให้สนองปัญญาเด็ก  เด็กแต่ละคนมีปัญญาการรับรู้ไม่เท่ากัน  ปัญหาหรือคำถามที่นำมาสอนก็ต้องไม่เท่ากัน  ยากง่ายตามปัญญาแต่ละคน

อีกอย่างหนึ่งถ้าเราจัดกิจกรรมทำให้เด็กๆ คละกลุ่ม  เก่ง-กลาง-อ่อน  มาร่วมเรียนรู้กันได้ก็จะง่ายต่อการเรียนรู้

สถานการณ์  เปน็็็็นสื่อง่ายๆ ที่ครูสามารถนำมาจัดกิจกรรมสอนเด็กได้เกือบทุกเรื่อง  โดยเฉพาะสถานการณ์แห่งความเป็นจริง  ถ้าเด็กๆ มีโอกาสได้นำเรื่องราวชีวิตจริงที่เขาพบเห็น  นำมาวิเคราะห์วิจารณ์  อภิปรายหาข้อสรุปเป็นข้อปฏิบัติตนได้แล้ว  เด็กๆ ก็จะติดนิสัยการคิดวิเคราะห์อยู่ตลอดเวลา

วิธีการเรียนรู้ชีวิตสู่ชีวิต  ซึ่งผมเรียกว่าการสอนโดยอาศัยสิ่งแวดล้อมเป็นสื่อนั้น  จะหยิบยกเรื่องใดมาเป็นสถานการณ์การสอนย่อมได้ทั้งนั้น  เช่น  บทดอกสร้อยเรื่อง  จันทร์เจ้า

                จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า

ใครขอข้าวขอแกงท้องแห้งหนอ

ร้องจนเสียงแห้งแหบถึงแสบคอ

จันทร์จะรอให้เราก็เปล่าดาย

ยืมจมูกท่านหายใจเห็นไม่คล่อง

จะหาช่องเลี้ยงตนเร่งขวนขวาย

แม้นเป็นคนเกียจคร้านพานกรีดกราย

ไปมัวหมายจันทร์เจ้าอดข้าวเอย

 

                ถ้าท่านอ่านดูให้ดีเราจะเห็น  ความลุ่มลึกของบทดอกสร้อยบทนี้ซ่อนที่ซ่อนเร้นอยู่อย่างมากมาย  เพียงแต่เราจะนำมาสอนใครเท่านั้นเอง  ถ้าผู้เรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษา  ครูก็สามารถให้คิดวิเคราะห์วิจารณ์  เปรียบเทียบกับสถานการณ์แห่งความเป็นจริงของชีวิตได้  โดยครูตั้งปัญหาให้คิดว่า

                1. ทำไมผู้แต่งจึงแต่บทดอกสร้อยนี้ขึ้นมา

                2. บทดอกสร้อย “จันทร์เจ้า”  สะท้อนภาพบ้านเมืองยุคสมัยนั้นอย่างไรบ้าง

                3. ภาพของบ้านเมืองที่กล่าวถึงในข้อ 2  นั้น  มีสถานการณ์เหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง  ทำไมจึงคิดอย่างนั้น

                4. บทดอกสร้อยบทนี้  ชี้นำการดำเนินชีวิตของเราในวันนี้อย่างไรบ้าง  มีข้อความใดที่นักเรียนมองเห็นภาพการชี้นำได้

                ภาพให้คิดอย่างนี้  จะช่วยจุดประกายให้เด็กๆ ได้คิดอย่างหลากหลาย  คิดค้นหาความรู้  สืบเสาะหาความเป็นมาของการคิดเขียนบทดอกสร้อย  นั่นคือ  ต้องศึกษาประวัติวรรณคดี  เพื่อนำสู่การอภิปรายสรุปผล

                นักเรียนระดับ ป.3-ป.4  ก็จะให้ร่วมกันคิดเรื่องราวที่ง่ายๆ ใกล้ตัวเด็กคือ  บทดอกสร้อย  เด็กเอ๋ยเด็กน้อย

                                เด็กเอ๋ยเด็กน้อย

                ความรู้เรายังด้อยเร่งศึกษา

                เมื่อเติบใหญ่จะได้มีวิชา

                เป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพสำหรับตน

                                ได้ประโยชน์หลายสถานเพราะการเรียน

                จงพากเพียรไปเถิดจะเกิดผล

                ถึงลำบากตรากตรำก็จำทน

                เกิดเป็นคนควรหมั่นขยันเอย

 

                ครูควรจะตั้งคำถามให้เด็กคิดวิเคราะห์  วิจารณ์  อภิปราย  สรุปผล  ถึงเรื่องราวต่างๆ ที่สามารถมองเห็นได้ในบทดอกสร้อย  สุภาษิตบทนี้พอที่จะมีตัวอย่างให้เห็นคือ

                1. คำว่า  “เด็กเอ๋ยเด็กน้อย”  น่าจะหมายถึงใคร  ทำไมจึงคิดอย่างนั้น

                2. คำว่า  “ความรู้เรายังด้อย”  หมายความว่าอย่างไร  ทำไมจึงคิดอย่างนั้น

                3. ถ้าไม่ใช้คำว่า  “ความรู้เรายังด้อย”  แล้วเราจะสามารถใช้คำใดมาแทนได้อีก  ยกตัวอย่างด้วย

                4. คำว่า  “การศึกษา”  หมายความว่าอย่างไร  เราควรศึกษาเรื่องใดบ้าง  ศึกษาไปทำไม

                5. ข้อความใดในบทอาขยานนี้ที่กล่าวถึงคุณประโยชน์ของการศึกษา

                6. คำว่า  “เป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพสำหรับตน”  หมายความว่าอย่างไร  ยกตัวอย่างด้วย

                7. คนในชุมชนของเรามีใครที่ใช้  “วิชาเป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพสำหรับตน”  บ้าง  และเขาเหล่านั้นทำอาชีพอะไร

                8. จากคำว่า  “ได้ประโยชน์หลายสถานเพราะการเรียน”  นั้นมีประโยชน์อะไรบ้าง  ทำไมจึงคิดอย่างนั้น

                9. คำว่า  “จงพากเพียรไปเถิดจะเกิดผล”  จะต้องพากเพียรอย่างไร  และจะเกิดผลอะไรบ้าง  ทำไมจึงเกิดผลอย่างนั้น

                10. ถ้าหากเราขาดความ  “พากเพียร”  ในการเรียนแล้วจะเกิดผลอะไรขึ้นบ้าง  ทำไมจึงเกิดผลอย่างนั้น

                11. นักเรียนเข้าใจความหมายของคำว่า  ถึงลำบากตรากตรำก็จำทน  อย่างไรบ้าง  ทำไมจึงคิดอย่างนั้น

                12. ทำไมเราจึงต้อง  “...ควรหมั่นขยัน...”  เราควรหมั่นขยันในเรื่องใดบ้าง  หมั่นขยันอย่างไร  หมั่นขยันไปทำไม

                ถ้าเราเปิดโอกาสให้เด็กๆ คิดวิเคราะห์  วิจารณ์  อภิปราย  สรุปผล  ได้บ่อยๆ แล้วจะช่วยให้เด็กได้จุดประกายความคิดของตนออกไปได้กว้างไกลโดยไม่หลงทิศทาง  เพราะมีคำถามนำเป็นลู่ให้เด็กคิดได้  และเมื่ออ่านบทอาขยาน  หรือวรรณกรรมต่างๆ ก็จะต้องใช้ดุลยพินิจในการสืบเสาะ  สร้างมุมมองที่หลากหลาย  เพื่อเสพย์อรรถรสแหห่งวรรณกรรมมากกว่าการท่องจำแต่เพียงอย่างเดียว

                ถ้าเด็กๆ ได้ซาบซึ้งถึงวรรณศิลป์ภาษาแล้วครูสามารถชี้ทำนำทาง  สู่รูปแบบของฉันทลักษณ์เหล่านั้น  จนถึงขั้นหัดแต่งบทร้อยกรอง  และแต่งจนได้ในที่สุด

                ถ้าหากครูต้องการเนื้อหาความรู้ที่ลึกลงไปอีก  ก็สามารถให้เด็กๆ ได้ศึกษาค้นคว้าเจาะลึกลงไปได้  เช่น  ในเรื่องของอาชีพ  นักเรียนสามารถศึกษาค้นคว้าถึงอาชีพต่างๆ มาวิเคราะห์วิจารณ์ได้  อีกทั้งสามารถเจาะลึกลงสู่การออกศึกษาอาชีพในชุมชน  ฝึกทำอาหาร  ฝึกวิชาชีพที่ตนต้องการจะฝึก

                แม้แต่คำว่า  ถึงลำบากตรากตรำก็จำทน  ถ้าครูเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ไปสนทนาเรียนรู้ชีวิตจริงจากเด็กขายพวงมาลัย  เด็กขายขนมข้างถนน  กรรมกร  คนงานก่อสร้าง  แม่ค้าหาบเร่    ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะสามารถเล่าเรื่องราวความยากลำบากและการต่อสู้กับชีวิตของตนให้เด็กๆ เก็บมาเป็นข้อมูลในการอภิปรายหาข้อสรุป  จนเกิดความตระหนักต่อตัวผู้เรียนได้

อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ https://drive.google.com/file/... 



หมายเลขบันทึก: 486802เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 09:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2018 13:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นหนังสือที่จัดพิมพ์โดย มูลนิธิ สดศรี- สฤษดิ์วงศ์ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท