ประติมากรรมสุโขทัยโดยสังเขป


ข้อมูลพื้นฐานของอาณาจักรสุโขทัย

สุโขทัยเป็นรัฐโบราณที่อยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำยม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดพระพายหลวง เป็นรัฐที่มีความสัมพันธ์กับขอมและละโว้ หรือลพบุรีในปัจจุบัน หลักฐานที่เป็นประจักษ์พยานคือ วัดพระพายหลวง วัดศรีสวาย ซึ่งเป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธ นิกายมหายาน และศาลตาผาแดง ซึ่งเป็นเทวสถาน ต่อมาในสมัยพ่อขุนรามคำแหงได้มีการย้ายเมืองมาตั้งอยู่บริเวณที่เป็นเมืองโบราณสุโขทัยที่รู้จักกันในปัจจุบัน  โดยมีศูนย์กลางคือวัดมหาธาตุ เมืองแห่งใหม่นี้ได้สร้างขึ้นทางทิศใต้ของเมืองเก่า มีกำแพงเมืองด้านทิศเหนือติดกับคูเมืองด้านทิศใต้ของเมืองสุโขทัยเดิม

จากหลักฐานด้านจารึกให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ว่าเมืองสำคัญในแคว้นสุโขทัยมีทั้งหมด ๕ เมืองคือ เมืองศรีสัชนาลัย เมืองสรลวงสองแควหรือพิษณุโลก เมืองสุโขทัย และเมืองชากังราวหรือเมืองพิชัย ซึ่งเจ้าเมืองเหล่านี้ต่างก็เป็นญาติพี่น้องกัน โดยมีเมืองสุโขทัยเป็นเมืองของผู้นำที่จะเข้ามาปกครองดินแดนเหล่านี้ ดังนั้นผู้ที่จะขึ้นมาปกครองแคว้นสุโขทัยจึงต้องเป็นผู้มีบุคลิกภาพสูงทั้งในทางโลกและในทางธรรม ไม่เช่นนั้นเมืองต่างๆเหล่านี้ก็จะตั้งตนเป็นอิสระ ดังเช่นหลังสิ้นรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหง เมืองเหล่านี้ก็ตั้งตนเป็นอิสระ แคว้นสุโขทัยจึงสลายไปครั้งหนึ่ง ก่อนที่พระมหาธรรมราชาลิไทจะรวบรวมขึ้นใหม่อีกครั้ง

ในทางประวัติศาสตร์สุโขทัยมีความหมายอยู่ ๓ ประการคือ ความหมายในฐานะที่เป็นแคว้นโบราณ ความหมายในเชิงศิลปะ และความหมายที่เป็นชื่อเมืองสุโขทัย ซึ่งความหมายในฐานะที่เป็นแคว้นโบราณนั้น สุโขทัยหมายถึง ดินแดนที่ประกอบด้วยเมืองต่างๆโดยมีสุโขทัยเป็นศูนย์กลาง เมื่อเทียบกับปัจจุบันดินแดนเหล่านี้อยู่ในเขตพื้นที่การปกครองของจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร พิษณุโลก บางส่วนของจังหวัดเพชรบูรณ์ ตาก และอุตรดิตถ์ โดยการรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นขึ้นอยู่กับผู้นำที่เข้มแข็ง ซึ่งการรวบรวมบ้านเมืองในประวัติศาสตร์สุโขทัยนั้นมีทั้งหมด ๒ สมัยคือ สมัยพ่อขุนรามคำแหง และสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท

ศิลปะสุโขทัยเริ่มตั้งแต่เมื่อแคว้นสุโขทัยรับพระพุทธศาสนาเถรวาทจากลังกา ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ศิลปะสุโขทัยจัดได้ว่าเป็นศิลปะไทยที่งดงามที่สุด และมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง โดยเฉพาะพระพุทธรูปสุโขทัยซึ่งมีลักษณะเด่นคือ พระรัศมีเป็นเปลวเพลิง ขมวดพระเกศาเป็นก้นหอย พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์อมยิ้มเล็กน้อย พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรยาวลงมาจรดพระนาภี ปลายจีวรเป็นลายเขี้ยวตะขาบ นอกจากนี้ในสมัยสุโขทัยยังนิยมทำพระพุทธรูปตามอิริยาบททั้งสี่คือ ยืน เดิน นั่ง และนอน ศิลปะสุโขทัยไม่เพียงแต่ทำกันในแคว้นสุโขทัยเท่านั้นแต่ได้ส่งอิทธิพลให้แก่ศิลปะอยุธยา แม้ว่าจะถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาแล้วก็ตาม

สุโขทัยนอกจากจะมีพระพุทธรูปที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเองแล้ว ยังมีสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเองอีกด้วยคือ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือเจดีย์ทรงดอกบัวตูม ซึ่งเป็นเจดีย์ที่พัฒนารูปแบบมาจากปรางค์ ลักษณะทำเป็นฐานสี่เหลี่ยมสามชั้น ยอดเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือทรงดอกบัวตูม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์พบโดยทั่วไปในเมืองสำคัญสมัยสุโขทัย เช่นที่จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ นอกจากนี้ยังพบที่วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งขึ้นไปพร้อมกับพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่พระมหาธรรมราชาลิไทส่งพระสุมนเถระขึ้นไปเผยแพร่ ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ศิลปะอธิบายว่า ทรงพุมของเจดีย์อาจได้รับอธิพลจากพม่า เช่น อานัทเจดีย์ พุกาม ก็เป็นได้

 

เจดีย์ทรงพุ่มข้างบิณฑ์หรือทรงดอกบังตูมวัดเจดีย์เจ็ดแถว

http://th.wikipedia.org/wiki/วัดเจดีย์เจ็ดแถว 

อานันทเจดีย์ ส่วนยอดอาจเป็นต้นแบบให้เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์

http://th.wikipedia.org/wiki/อานันทเจดีย์

ศิลปะสุโขทัยได้ส่งอิทธิพลให้แก่ศิลปะอยุธยาอย่างมากโดยเฉพาะในศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น แม้แคว้นสุโขทัยจะถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา โดยมีฐานะเป็นกลุ่มเมืองเหนือของกรุงศรีอยุธยา ลักษณะโดยทั่วไปของพระพุทธรูปในศิลปะนี้คือ มีไรพระศก ฐานเป็นหน้ากระดานแอ่นเป็นร่องเข้าข้างใน ตามแบบศิลปะที่ทำสืบกันมาของอยุธยาเอง และพระพักตร์รูปไข่ พระวรกายเพรียวบาง ซึ่งเป็นลักษณะของอิทธิพลศิลปะสุโขทัย โดยพบพระพุทธรูปรุ่นนี้จำนวนมากในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ 

 

ประติมากรรมก่อนสมัยสุโขทัย

หลักฐานทางด้านประติมากรรมก่อนสมัยสุโขทัย นอกจากพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบลพบุรี มีขนาดเล็ก หล่อด้วยสำริด จากวัดพระพายหลวงแล้ว ที่ศาลตาผาแดงได้พบประติมากรรมลอยตัวสลักจากหินทรายเป็นรูปเทวดา เทวนารี จำนวน ๖ รูป (สันติ เล็กสุขุม, ๒๕๔๙ : ๖๓) มีทั้งขนาดเท่าคนและเล็กกว่าซึ่งทั้งหมดล้วนชำรุด เศียรและพระกรหักหาย ลวดลายสลักในส่วนของเครื่องประดับ เช่นกรองศอ เข็มขัด มีผู้ห้อยตลอดจนนุ่งผ้ายาวยาว เทียบได้กับศิลปะขอมแบบนครวัด เรื่อยมาจนถึงสมัยศิลปะแบบบายน

ประติมากรรมโดยทั่วไปในศิลปะแบบสุโขทัย

               

พุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ นับตั้งแต่พ่อขุนบางกลางท่าวเจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราดได้ร่วมกันตีได้เมืองสุโขทัย พ่อขุนบางกลางท่าวได้รับสถาปนาเป็นเจ้าเมืองสุโขทัย ประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับขอม และได้มีพระมหากษัตริย์ปกครองกรุงสุโขทัยต่อมาอีกหลายพระองค์ ตั้งอาณาจักรสุโขทัยเป็นปึกแผ่น

ศิลปะสุโขทัย เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ประกาศตั้งกรุงสุโขทัยเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่อาณาจักรขอมเมื่อราว พ.ศ. ๑๘๐๐ ศิลปะสุโขทัยจัดได้ว่าเป็นศิลปะที่งดงามที่สุดและมีลักษณะเป็นของตนเองมากที่สุด โดยเฉพาะในการสร้างพระพุทธรูป ในสมัยนี้สุโขทัยติดต่อรับพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทนิกายลังกาวงศ์มาจากเกาะลังกา เหตุนั้นศิลปะอิทธิแบบลังกาจึงมีผลต่อศิลปกรรมสุโขทัยบ้าง แต่สวนมากมีอยู่กับสถาปัตยกรรมมากกว่าประติมากรรม พระพุทธรูปสำริดลอยตัวปางลีลาของสมัยสุโขทัยงามไม่แพ้ประติมากรรมชิ้นเอกอื่น ๆ ในโลก (สุภัทรดิศ ดิศกุล, ๒๕๔๖ : ๒๖)

ช่วงเวลาดังกล่าว พุทธศาสนาในลังกาเจริญรุ่งเรืองมาก บรรดาพระสงฆ์ในสุวรรณภูมิอันได้แก่ ไทย พม่า มอญ พากันไปศึกษาพุทธศาสนาในลังกาเป็นอันมาก และได้มีพระสงฆ์ชาวลังกา เข้ามาเผยแพร่ พุทธศาสนาในดินแดนส่วนนี้ด้วย โดยในระยะแรกมาอยู่ที่นครศรีธรรมราช ต่อมาจึงขึ้นไปอยู่สุโขทัย และเชียงใหม่ ดังนั้นพระพุทธรูปในยุคนี้จึงได้แบบอย่างมาจากลังกา ลักษณะโดยทั่วไปมีดังนี้คือ รัศมียาว เส้นพระศกขมวดก้นหอย ส่วนมากไม่มีไรพระศก พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระหนุเสี้ยม หัวพระถันโปน ชายสังฆาฏิยาว ปลายมี ๒ แฉก และย่นเป็นเขี้ยวตะขาบ ฐานส่วนใหญ่เป็นแบบฐานเอียง ตอนกลางโค้งเข้าด้านใน ตรงข้ามกับสมัยเชียงแสน

พระพุทธรูปสุโขทัยอาจแบ่งได้ เป็น ๔ หมวดด้วยกันคือ หมวดใหญ่ หมวดกำแพงเพชร หมวดพระพุทธชินราช หมวดเบ็ดเตล็ดหรือหมวดวัดตะกวน

พระพุทธรูปวัดศรีชุม หมวดใหญ่

http://www.palungdham.com/t256.html


พระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่มีอยู่ทั่วไปเป็นลักษณะศิลปะสุโขทัยโดยเฉพาะ มีลักษณะคือ พระรัศมีเป็นเปลว ขมวดพระเกศาเล็ก พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม (ตามแบบลักษณะมหาบุรุษจากอินเดีย พระโอษฐ์อมยิ้มเล็กน้อย พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มเฉียง ชาวจีวรยาวลงมาถึงพระนาภี ปลายเป็นเขี้ยวตะขาบ ชอบทำปางมาวิชัย ประทับขัดสมาธิราบ ฐานเป็นหน้ากระดานเกลี้ยง

 

พระพุทธรูปหมวดกำแพงเพชร 

http://gotoknow.org/blog/vatin-history/334463

 

มีลักษณะพระพักตร์ตอนบนกว้าง  พระหนุเสี้ยม อยู่มาก ค้นพบน้อย รูปตัวอย่างเป็นเศียรพระพุทธรูปในพิพิธภัณฑ์สถานพระนคร กรุงเทพฯ

 

พระพุทธรูปหมวดพุทธชินราช ศิลปะสุโขทัย

http://gotoknow.org/blog/vatin-history/334463

 

พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระองค์ค่อนข้างอวบอ้วน นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่มีปลายเสมอกัน มีลักษณะของมหาบุรุษ ๓๒ ประการอยู่มาก หมวดนี้เชื่อกันว่าคงเริ่มสร้างครั้งแผ่นดินพระเจ้าลิไท ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ หรือหลังกว่านั้น

 

พระพุทธรูปหมวดเบ็ดเตล็ด หรือ หมวดวัดตะกวน ศิลปะสุโขทัย

http://gotoknow.org/blog/vatin-history/334463

 

หมวดเบ็ดเตล็ดหรือหมวดวัดตะกวน เป็นหมวดพระพุทธรูปแบบสุโขทัยที่มีศิลปะแบบเชียงแสนและลังกาเข้ามาปะปนอยู่มาก บางองค์มีลักษณะชายสังฆาฏิหรือจีวรสั้น พระนลาฏแคบ แต่พระองค์และฐานมักเป็นแบบสุโขทัย ที่เรียกว่าแบบวัดตะกวนนั้น เพราะได้พบพระพุทธรูปแบบสุโขทัยและแบบแปลก ๆ เหล่านี้ที่วัดตะกวนในเมืองสุโขทัยเป็นครั้งแรก พระพุทธรูปแบบนี้บางองค์อาจเป็นพระพุทธรูปรุ่นแรกของศิลปะแบบสุโขทัยก็เป็นได้ หากเราเชื่อว่าศิลปะเชียงแสงรุ่นแรกเกิดขึ้นก่อนศิลปะสุโขทัย บรรดาพระพุทธรูปปูนปั้นที่ค้นพบ ณ เจดีย์ทางทิศตะวันออกและในพระปรางค์วัดพระพายหลวงเป็นวัดเก่าในสมัยสุโขทัยก็ดูจะเป็นลักษณะแบบนี้


พระพุทธรูปทั้งสี่หมวด แบ่งออกเป็น ๓ รุ่น ด้วยกัน คือ  รุ่นแรก มีวงพระพักตร์กลมแบบลังกา  รุ่นที่สอง มีวงพระพักตร์ยาว และพระหนุเสี้ยม รุ่นที่สาม น่าจะสร้างในรัชสมัยพระมหาธรรมราชา หรือ พระเจ้าลิไท พระองค์ทรงหาหลักฐานต่าง ๆ จากพระไตรปิฎก มาประกอบการสร้างพระพุทธรูป จึงได้เกิดพระพุทธรูปแบบสุโขทัยขึ้นอีกแบบหนึ่ง ได้แก่ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ วงพระพักตร์ รูปไข่คล้ายแบบอินเดีย ปลายนิ้วพระหัตถ์เสมอกันทั้ง ๔ นิ้ว การแบ่งเช่นนี้สอดคล้องกับ Griswold ซึ่งได้แบ่งพระพุทธรูปทั้ง ๔ หมวดออกเป็น ๓ ยุค คือ ยุคก่อนยุคทอง เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา ยุคทอง คือพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒ และหลังยุคทอง (พรพรรณ จันทโรมานนท์, ๒๕๔๗ : ๑๔๗)

พระพุทธรูปแบบสุโขทัยมีอิทธิพลของศิลปะแบบลังกาเข้ามาปะปนอยู่มาก และจัดอยู่ในหมวดวัดตะกวนนั้นอาจเป็นพระพุทธรูปแบบสุโขทัยรุ่นแรกด้วย เมื่อกล่าวถึงพระพุทธรูปสุโขทัยที่มีอิทธิพลลังกาปน จะเห็นได้ชัดในพระพุทธสิหิงค์ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติพระนคร พระพุทธสิหิงค์นั้นตามตำนานกล่าวว่าได้มาจากเกาะลังกาในรัชกาลพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ หรือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ แต่ลักษณะฝีมือช่างที่เห็นปรากฏอยู่เป็นศิลปะไทยปนลังกาจึงเป็นที่น่าสงสัยว่าโดยเหตุที่เคยไปประดิษฐานในเมืองต่าง ๆ หลายเมือง คือเมืองนครศรีธรรมราช สุโขทัย อยุธยา กำแพงเพชร เชียงราย และเชียงใหม่ จึงอาจถูกขัดแต่งจนกลายเป็นพระพุทธรูปแบบฝีมือไทยหรือองค์เดิมสูญหายไปเสีย จึงหล่อขึ้นแทนใหม่ในสมัยสุโขทัยนี้ก็เป็นได้ หรืออาจจะแต่งตำนานขึ้นเพื่อประกอบพระพุทธรูปให้ศักดิ์สิทธิ์โดยกล่าวว่ามาจากเกาะลังกาได้เช่นเดียวกัน (สุภัทรดิศ ดิศกุล, ๒๕๔๖ : ๒๗)

 

 

พระพุทธสิหิงส์ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงเทพมหานคร

http://www.laksanathai.com/book1/p176.aspx

 

พระสี่อิริยาบถเป็นงานศิลปกรรมที่พบมากในศิลปะแบบสุโขทัย เช่น วัดพระเชตุพน จ.สุโขทัย วัดพระสี่อิริยาบถ จ.กำแพงเพชร โดยจะทำเป็นอาคารที่มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม แกนกลางทึบ ในแต่ละด้านประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถที่แตกต่างกันคือ ยืน เดิน นั่ง และนอน ซึ่งคติในการทำพระพุทธรูปสี่อิริยาบถนี้มาจากพระไตรปิฎกเกี่ยวกับพุทธกิจของพระพุทธเจ้าในแต่ละวัน ซึ่งพระองค์ในฐานะที่เป็นมนุษย์ย่อมต้องทรงพักผ่อนพระวรกายให้คลายจากความเมื่อยล้าในแต่ละวัน เนื่องจากต้องทรงปฏิบัติกิจอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน และการยืน เดิน นั่ง และนอนก็เป็นอิริยาบถทั้งสี่ในการพักผ่อนของพระองค์

ในสมัยนี้มีเครื่องปูปั้นที่ใช้ประดับอาคารอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ปั้นเป็นพระพุทธรูปและสวยงามยิ่งนั้น อยู่ที่วัดตระพังทองหลาง นอกเมืองสุโขทัยเก่าทางทิศตะวันออก เป็นพระพุทธรูปกำลังเสด็จลงจากชั้นดาวดึงส์ คล้ายกับจิตกรรมฝาผนังที่วิหารเหนือเมืองโปลนนารุวะ เกาะลังกา ซึ่งวาดขึ้นในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มาก รวมทั้งพระพุทธรูปที่เมืองพุกามในประเทศพม่าด้วย เหตุนั้น รูปพระพุทธองค์กำลังเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ในศิลปะสุโขทัยคงได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะลังกาหรือศิลปะพม่า และกลายเป็นต้นเค้าของพระพุทธรูปลีลาลอยตัวสำริดในสมัยสุโขทัยนั่นเอง

 

ร่องรอยปูนปั้นพระลีลาวัดตระพังทองหลาง

http://www.comingthailand.com/sukhothai/wat-traphangthonglang.html

 

พระพุทธรูปสุโขทัยแสดงให้เห็นถึงลักษณะเหนือโลกย์หรือเหนือระดับมนุษย์ธรรมดา ความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ในระดับอุดมคติอันสูงสุดของพระพุทธศาสนา ศิลปินได้ทำพระพุทธรูปขึ้นโดยตามพุทธลักษณะตามที่กล่าวไว้ในวรรณคดีภาษาบาลีของลังกา หรือที่เรียกว่า ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ เช่น มีฝ่าพระบาทเรียบเสมอกัน มีส้นพระบาทยาว พระอุระเหนือราชสีห์ พระอังสากว้าง พระกรยาว  ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง ๔ ยาวเสมอกัน และพระเศียรทรงอุณหิศเป็นรูปโป่งอยู่เหนือกระหม่อม ช่วงสุโขทัยนี้ได้นำความงามจากวรรณคดีมาดัดแปลงให้ประติมากรรมมีความสวยงามดังคำภีร์ในภาษาสันสกฤตกล่าวว่า พระชงฆ์เหมือนเขากวาง ขาอ่อนเหมือนต้นกล้วย พระกรกลมและเกลี้ยงเกลาเหมือนงาช้าง พระหัตถ์เหมือนดอกบัวที่เริ่มบาน  นิ้วพระหัตถ์เหมือนกลีบดอกไม้ พระพักตร์มีลักษณะเป็นรูปไข่แก้มนูนเป็นวงรี พระนาสิกเหมือนปากนกแก้ว พระเกศาขมวดเหมือนก้นหอย สิ่งเหล่านี้ช่างสุโขทัยได้ดัดแปลงผสมผสานกับความงามแบบท้องถิ่น ทำให้พระพุทธรูปมีความงดงามเฉพาะตัวเป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัย พระพุทธรูปที่มีความงดงามมากเช่นพระพุทธรูปสำริดปางลีลาระเบียงวัดเบญจมบพิตร (พรพรรณ จันทโรมานนท์, ๒๕๔๗ : ๑๔๔)

 

รูปพระพุทธรูปสำริดปางลีลาระเบียงวัดเบญจมบพิตร

ถ่ายโดย วาทิน ศานติ์ สันติ

 

สำหรับพระพิมพ์สมัยสุโขทัยนี้ก็มีทั้งทำด้วยแผ่นดินเผาและโลหะ ที่น่าชมก็คือพระพุทธรูปปางลีลาหรือที่เรียกกันเป็นสามัญว่าพระกำแพงเขย่ง ซึ่งคำว่าเขย่งนั้นคงหมายถึงปางลีลานั่นเอง และคำว่ากำแพงก็คงมาจากชื่อเมืองกำแพงเพชร เพราะได้ค้นพบพระพิมพ์เป็นจำนวนมากที่เมืองนั้น (สุภัทรดิศ ดิศกุล, ๒๕๔๖ : ๒๗)

ในสมัยสุโขทัยนิยมสร้างพระพุทธบาทด้วย มีทั้งทำด้วยศิลาและสำริด ที่สำคัญคือพระพุทธบาทที่ครอบรอยพระพุทธบาทที่ทำด้วยสำริดที่ได้มาจากวัดเสด็จ จ.กำแพงเพชร ปัจจุบันรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร จารึกสุโขทัยกล่าวว่า พระยาลิไทโปรดให้จำลองรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสุนนกูฏในเกาะลังกามาประดิษฐานไว้บนยอดเขาหลายแห่งในอาณาจักรสุโขทัย

ในสมัยนี้มีการหล่อเทวรูปสำริดขึ้นหลายองค์ เช่น รูปพระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ พระพรหม พระหริหระ (พระนารายณ์ผสมพระอิศวร) ลักษณะพระพักตร์ก็เหมือนกับพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่ ต่างกันแต่เครื่องแต่งกายเท่านั้น ลักษณะของเครื่องทรงและอาภรณ์ของเทวรูปเหล่านี้ อาจทำให้กำหนดได้ว่าองค์ไหนหล่อขึ้นก่อนหลัง การที่สมัยสุโขทัยซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์อย่างแน่นแฟ้น จำต้องหล่อเทวรูปขึ้นด้วยก็เพราะเหตุว่า ในสมัยโบราณนั้นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงนับถือพระพุทธศาสนาจำต้องอุปถัมภ์ศาสนาพราหมณ์เพื่อประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ และเพื่อการปกครองประเทศเช่นเดียวกับการตัดสินอรรถคดี เพราะพราหมณ์เป็นผู้รักษาคัมภีร์ธรรมศาสตร์ เป็นต้น อีกทั้งยังแสดงถึงความเชื่อเรื่องเทวราชาอีกด้วย

 

เทวรูปพระนารายณ์และพระอิศวรในพิพิธภัณฑ์สถาน พระนคร

สันนิฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระยาลิไท

 http://www.gotoknow.org/blogs/posts/449346

พระอิศวรองค์นี้จัดเป็นกลุ่มเทวรูปสำริดสมัยสุโขทัย พบหลายองค์มีทั้ง พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระหริหระและเทวสตรี สันนิษฐานว่าเป็นเทวรูปที่สร้างขึ้นในสมัยของพญาลิไท ตามจารึกหลักที่ ๔ วัดป่ามะม่วง (พ.ศ.๑๙๐๔) มีข้อความกล่าวถึงพระองค์ได้โปรดให้สถาปนาพระอิศวรและพระนารายณ์ ประดิษฐานยังหอเทวาลัยเกษตรพิมาน ลักษณะของพระอิศวรคือมี ๒ กร มีพระเนตรที่สามและมีสังวาลเป็นงู ประดับเครื่องทรงได้แก่ มงกุฎ กรองศอ พาหุรัด การนุ่งผ้า เหมือนกับเทวดาที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะลังกา รูปแบบพระพักตร์เหมือนกับกลุ่มพระพุทธรูปหมวดใหญ่สมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมอยู่ในสมัยพญาลิไท

อาณาจักรสุโขทัยสร้างขึ้นมาจากเส้นทางการค้าที่สำคัญ ทำให้ได้รับศิลปวัฒนธรรมจากหลายที่ ช่างสุโขทัยประติดประต่อเลือกรับปรับปรุงแล้วพัฒนาจนได้งานศิลปะที่มีความเฉพาะตัว อ่อนช้อย งดงาม สะท้อนสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในอาณาจักรได้อย่างดี จนปราชญ์หลายท่านกล่าวตรงกันว่า ศิลปะสุโขทัยคือศิลปะที่สวยงามที่สุดยุคหนึ่งของชนชาติไทย

วาทิน ศานติ์ สันติ 

หนังสือประกอบการเขียน

พรพรรณ จันทโรนานนท์, รศ. ศิลปะวิจักษณ์. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง. ๒๕๔๗.

สันติ เล็กสุขุม, ศ.ดร. ศิลปะสุโขทัย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ฟิสิกส์เซ็นเตอร์.๒๕๔๙.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, ศ.มจ. ศิลปะในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งงที่ ๑๓. กรุงเทพฯ : มติชน. ๒๕๕๐.

หมายเลขบันทึก: 486337เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2012 21:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ขอขอบคุณ ในความรู้ที่นำมาแบ่งปัน ซึ่งมากด้วยคุณค่า..
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท