ตัวอย่างแผนการเรียนรู้เรื่อง สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่น่าเรียนรู้ ภาคผนวก 4 โดย ชาตรี สำราญ


ความหมายของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

                การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  หมายถึง  การใช้ทรัพยากร ธรรมชาติอย่างชาญฉลาดด้วยวิธีการที่เหมาะสม  จะต้องรู้ว่าทรัพยากรใดควรใช้อย่างใด  สิ่งใดหายาก  ถ้านำมาใช้ประโยชน์ก็อาจจะเกิดผลเสียหาย  ก็ต้องใช้อย่างประหยัด  ให้เกิดประโยชน์และคุณค่าอย่างสูงสุด  รวมทั้งการปรับปรุงของเสียนำมาใช้ใหม่  เพื่อให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด  ทั้งนี้รวมถึงการสงวนทรัพยากรธรรมชาติด้วย

 

ความหมายของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

                การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  หมายถึง  การใช้สิ่งแวดล้อมอย่างฉลาด นำใช้โดยไม่ก่อให้เกิดพิษภัยต่อสังคมส่วนรวม  สามารถทรงสภาพเดิมของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ  และสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นไว้ได้   นำสิ่งต่าง ๆ  มาใช้ใหม่โดยไม่ก่อให้เกิดภาวะมลพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และธรรมชาติ

 

วัตถุประสงค์ของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

                ปัจจุบันนี้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะออกมาในรูปของการป้องกันสิ่งแวดล้อม  โดยมีวัตถุประสงค์  ดังนี้

  1. คงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
  2. รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
  3. การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสม
  4. ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างประชากรและทรัพยากรเพื่อคุณภาพชีวิต
  5. การกระจายประชากรที่เหมาะสม
  6. การอนุรักษ์สิ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์  วัฒนธรรมและความงามตามธรรมชาติ

 

วิธีการในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

                1.  การถนอม  วิธีการนี้สามารถรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้มีอยู่ได้นานที่สุดทั้งปริมาณและคุณภาพ  โดยพยายามใช้ทรัพยากร ธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพ  เช่น  ไม่จับปลาในฤดูกาลวางไข่   ไม่จับปลาตัวเล็ก ๆ  เกินไป  เลือกจับปลาขนาดโตที่เหมาะในการใช้บริโภค  เปิดโอกาสให้ปลาตัวเล็กโตขึ้นแทนปลาโตที่ถูกจับไปบริโภคก่อนแล้ว

 2.  การบูรณะซ่อมแซม  ทรัพยากรธรรมชาติใดที่มีสภาพเสียหายต้องซ่อมแซมให้เหมือนเดิมหรือเกือบเท่าของเดิมและควรพัฒนา   เช่น  การปลูกป่าไม้ทดแทน

                3.  การปรับปรุงและใช้อย่างมีประสิทธิภาพ   เช่น  การนำแร่โลหะประเภทต่าง ๆ  มาถลุงแล้วนำไปสร้างเครื่องจักรกล  เครื่องยนต์ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ  ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์แก่มนุษย์เรามากยิ่งขึ้น

                4.  การนำมาใช้ใหม่   เป็นการนำทรัพยากรที่เคยใช้แล้วมาใช้ใหม่  เช่น  เศษเหล็กนำมาหลอมใหม่สร้างสิ่งอื่นต่อไปได้

                5.  การใช้สิ่งทดแทน  เป็นการนำสิ่งอื่นที่สามารถใช้แทนกันได้  เช่น  นำพลาสติกมาทำโต๊ะ   เก้าอี้  แทนไม้  หรือเครื่องโลหะบางชนิดในเครื่องจักรหรือยานพาหนะ

                6.  การสำรวจหาแหล่งทรัพยากรเพิ่มเติม  เพราะทรัพยากร ธรรมชาติบางอย่างที่มนุษย์นำใช้เริ่มลดปริมาณลง  จึงจำเป็นต้องสำรวจแหล่งทรัพยากรแหล่งใหม่มาใช้ทดแทนในอนาคต

                7.  การประดิษฐ์ของเทียมขึ้นมาใช้  เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อย ๆ ลดปริมาณจึงมีการประดิษฐ์ยางเทียม  ผ้าเทียม  ไหมเทียม  มาทดแทน

            8.  การเผยแพร่ความรู้   เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องให้ทุก ๆ คนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติจึงต้องร่วมด้วยช่วยกันเผยแพร่ความรู้  เพื่อที่จะได้ร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

                9.  การตั้งสมาคม  เป็นวิธีการหนึ่งที่จะสามารถร่วมกันเผยแพร่และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทั้งด้านความรู้และการปฏิบัติโดยที่สมาคมหรือชมรมจะมีบทบาทในการเป็นผู้นำได้

 

สาเหตุของการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

                กล่าวได้ว่า  มนุษย์คือผู้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุด  อาจจะทำไปโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามแต่  ธรรมชาติถูกทำลายโดยมนุษย์อยู่ทุกวัน  อันเนื่องมาจากสาเหตุดังนี้

                1.  ประชากรเพิ่มขึ้น   เราจะเห็นว่า  ปัจจุบันนี้ประชากรมนุษย์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องการทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตก็ย่อมมีมากขึ้น  นั่นหมายถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มปริมาณมากขึ้นในขณะที่จำนวนของทรัพยากรธรรมชาติไม่ได้เพิ่มขึ้น  เช่น  เคยหว่านไถ  ปลูกพืช ผักแบบธรรมชาติ  ก็มาทำการปลูกแบบเร่งด้วยสารเคมี  ส่งผลให้คุณภาพของดินเสื่อมลง  น้ำมันถูกสูบขึ้นมาผลิตใช้มากขึ้น ๆ  จนจะ ขาดแคลนทำให้น้ำมันมีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ

 

2.  ความต้องการปัจจัยสี่ของมนุษย์    ดังได้กล่าวมาในข้อ 1   โลกเพิ่มจำนวนมนุษย์มากขึ้น  ความต้องการนำทรัพยากรธรรมชาติมาผลิตปัจจัยสี่  อาหาร  ยา  เครื่องนุ่งห่ม  ที่พักอาศัย  ก็ย่อมเพิ่มขึ้นสิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้  เรานำมาจากทรัพยากรธรรมชาติ  มาผลิตใช้ให้ทันตามความต้องการของมนุษย์  จึงทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายไปอย่างรวดเร็ว

                3.  ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์  เกิดจากมนุษย์บางกลุ่มขาดความรู้เรื่องวิธีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้ถูกหลักการ  แต่มีความต้องการใช้จึงทำไปอย่างผิด ๆ  เช่น  การเผาป่าไม้เพื่อเอาพื้นดินมาทำที่เพาะปลูก   การไถพรวนดินผึ่งแดด  ทำให้ฮิวมัสในดินเสียไป  หรือการเผาป่าล่าสัตว์  สิ่งเหล่านี้จะเห็นว่า ได้น้อยกว่าเสีย

                4.  มีเครื่องมือทันสมัย  แต่ก่อนเพียงใช้ขวานโค่นไม้  แต่วันนี้ใช้เลื่อยไฟฟ้าโค่น  ทำให้ปริมาณการทำลายป่าเพิ่มขึ้น  การล่าสัตว์ก็ใช้อาวุธทันสมัยขึ้น  วิทยาศาสตร์ช่วยผลิตเครื่องมือทันสมัยมาทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

                5.  เกิดจากความเชื่อถือที่มีมานาน  เช่น การปล่อยให้วัชพืชคลุมดินในสวนผลไม้  เข้าใจว่าไม่ดี  เชื่อว่าเจ้าของสวนเป็นคนขี้เกียจ ต้องถากถางให้เตียนโล่งส่งผลให้หน้าดินขาดความชุ่มชื้น

 

6.  เพื่อเกมกีฬา   เป็นความคิดของคนกลุ่มหนึ่งที่มีกีฬาการล่าสัตว์  ยิงนกตกปลา  จากเครื่องมือเล็ก  ๆ  สู่การระเบิดปลา ใช้   ไฟฟ้าช็อต  ส่งผลให้ปลาเล็ก ๆ  ก็ตายไปด้วย

                7.  สร้างนิคมและถนนหนทาง ปรากฏการณ์นี้ส่งผลให้พื้นที่ป่าถูกทำลายไปมาก  เพื่อการสร้างนิคมและตัดถนน

                8.  การถูกแรงกระตุ้นทางด้านสิ่งแวดล้อม  เช่น  การปลูกบ้านโดยใช้ไม้สักทองมาสร้างถือว่ามีเกียรติ  ก็ลักลอบตัดไม้ทำลายป่ามาสร้างบ้าน  เครื่องเรือนไม้สัก  ก็ได้จากการทำลายป่าเช่นกัน

                9.  สงครามและความขัดแย้งระหว่างประเทศ  เมื่อมีการต่อสู้แย่งชิงกันก็ย่อมจะต้องมีการป้องกัน  นั่นคือการสร้างอาวุธทรัพยากรต่าง ๆ  เช่น  แร่  เชื้อเพลิง  กำมะถัน  อลูมิเนียมก็ถูกขุดมาประกอบเป็นอาวุธ  ฆ่าฟันกัน

 

                จะเห็นได้ว่า  การทำลายทรัพยากรธรรมชาติทั้ง  9  ข้อนั้น  เกิดขึ้นมาจากมนุษย์ทั้งนั้น     อาจจะมาจากเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตามแต่  ทว่าถ้ายังไม่คิดอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไว้  สักวันหนึ่งมนุษย์ก็จะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นเครื่องบำรุงความต้องการ

ทรัพยากรพลังงานมนุษย์

                มนุษย์เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและเป็นสมบัติที่ล้ำค่าของประเทศ  มนุษย์มีประโยชน์ต่อตนเองและต่อสรรพสิ่งทั้งหลาย โดยอาศัยพลังงานทางร่างกายก็สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เช่นเดียวกับทรัพยากรอื่น ๆ จึงถือได้ว่า  พลังงานมนุษย์นี้เป็นทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนึ่ง

 

ความหมายและประเภทของพลังงานมนุษย์

                พลังงานมนุษย์  หมายถึง  ประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งแสดงออกมาเป็นงานให้เห็น  สามารถแบ่งได้  2  ทาง คือ

                1.  พลังงานทางร่างกาย   ได้แก่  ความสามารถในการใช้พลังงานที่เกิดจากความแข็งแรงของร่างกาย  ทำงานต่าง ๆ ให้ปรากฏผลออกมาได้เป็นความสามารถในการผลิตความชำนาญในการประกอบอาชีพและความขยันขันแข็งในการทำงาน

                2.  พลังงานทางจิตใจ  ได้แก่  ความสามารถในด้านสติปัญญา   ความนึกคิด  ความคิดสร้างสรรค์  ความมีเหตุผล  ความยึดมั่นในศีลธรรมและกำลังใจในการทำงาน

 

ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ

                มนุษย์เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสามารถพิเศษ คือ  สามารถใช้พลังงานที่มีอยู่ในตัวตนนำทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ มาใช้ประโยชน์ได้  การที่มนุษย์สามารถคิดประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ได้  ด้วยสติปัญญาของมนุษย์นั้น  สิ่งที่มนุษย์คิดค้นประดิษฐ์ขึ้นมา  เช่น  ยานพาหนะทางบก             ทางเรือ   ทางอากาศ   ยานอวกาศ  สมองกลต่าง ๆ อันเกิดจากพลังทางสมองของมนุษย์  เราเรียกสิ่งนั้น ๆ ว่า  มรดกทาง    วัฒนธรรม   สมองของมนุษย์ที่ก่อเกิดเป็นสติปัญญานั้น  ย่อมจะ ต้องได้รับการคุ้มครอง          โดยการมุ่งส่งเสริมให้พลเมืองเป็นคนมีประสิทธิภาพสูง  มีมาตรฐานการศึกษาสูง  มาตรฐานการครองชีพสูง  สุขภาพสมบูรณ์  อนามัยดี

 

                การสูญเสียทรัพยากรพลังงานมนุษย์

                สาเหตุที่ก่อให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรพลังงานมนุษย์       มีดังนี้

  1. โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ
  2. อุบัติเหตุ
  3. ปัญหาทางด้านอาชญากรรมและศีลธรรม
  4. ความเกียจคร้านและการเลือกงาน 
  5. ภัยธรรมชาติ
  6. สงคราม
  7. การเพิ่มขึ้นของประชากร

 

วิธีการอนุรักษ์ทรัพยากรพลังงานมนุษย์

                กระทำได้ทั้งการป้องกันและส่งเสริม  คือ

  1. ป้องกันการว่างงาน
  2. ป้องกันการเจ็บป่วย
  3. ป้องกันการหย่อนสมรรถภาพ
  4. ป้องกันการแก่เกินวัย
  5. ป้องกันการตาย
  6. จัดการศึกษาให้ทั่วถึง
  7. จัดให้มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
  8. พัฒนาจิตใจให้มีคุณธรรม

บทสรุป

 

                ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น  มนุษย์เป็นผู้ที่มี บทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงและทำลายทรัพยากรธรรมชาติและ     สิ่งแวดล้อมมากที่สุด  กล่าวคือ  มนุษย์เป็นผู้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ  มีบทบาทในการสร้างมลภาวะ  และแต่งเติมเปลี่ยนแปลงสภาพ   แวดล้อมธรรมชาติอยู่เสมอ  ฉะนั้น  มนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้คงสภาพที่ดี  เพื่อประโยชน์ต่อสรรพสิ่งทั้งหลายและต่อมนุษย์เองด้วย

ตัวอย่างคำถาม

                คำถามที่น่าจะนำถามและฝึกตั้งคำถามเพื่อนำไปถามภูมิปัญญาท้องถิ่น

  1. คนในยุคคุณปู่คุณย่ายังหนุ่มสาว  มีความเป็นอยู่อย่างไรบ้าง  ต่างกับรุ่นของหนูอย่างไร
  2. ตอนที่ ( ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น คุณปู่  คุณย่า )  ยังเล็ก ๆ  อยู่นั้น บริเวณตรงนี้มีสภาพอย่างไร  มีสิ่งใดมากน้อยอย่างไรบ้าง
  3. แล้วทำไมสภาพตรงนี้จึงมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ในสภาพอย่างนี้
  4. คนในยุคสมัยนั้น  ( รวมทั้งคุณปู่  คุณย่า )  มีความคิดเห็นกันอย่างไรจึงได้เปลี่ยนแปลงสภาพบริเวณตรงนี้
  5. การเปลี่ยนแปลงสภาพบริเวณตรงนี้  จากเดิมมาสู่ปัจจุบันนี้  มีผลอะไรเกิดขึ้นในด้านใดบ้าง  ทำไมจึงเกิดผลอย่างนั้นขึ้นมา
  6. ถ้าหากบริเวณตรงนี้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง  คิดว่าในวันนี้ตรงบริเวณนี้จะมีสิ่งใดเกิดขึ้นบ้าง  ทำไม
  7. การเปลี่ยนแปลงสภาพบริเวณตรงนี้  คุณปู่คุณย่ามีความรู้สึกอย่างไรบ้าง  ทำไม
  8. คุณปู่คุณย่าเห็นสภาพบริเวณตรงนี้ในวันนี้แล้ว มีความ รู้สึกอย่างไรบ้าง
หมายเลขบันทึก: 486249เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2012 11:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2012 09:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท