คนค้นฅน : ตามรอยเลือดไทยในเคดาห์


ชุมชนคนไทยในแผ่นดินมาเลเซีย ยังคงเป็นชุมชนที่สงบสุข มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย อีกทั้งยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทยไว้ได้แทบจะสมบูรณ์เสียยิ่งกว่าชุมชนบางกลุ่ม ที่กำลังถูกกระชากลากทึ้งทำลายด้วยระบบกระแสบริโภคนิยม และคนไทยกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้เอง กลับเลือกที่จะสร้างพลังให้ปรากฏขึ้นเป็นชุมชนของตน จนเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ด้วยการรักษารากเหง้า ประเพณี และวัฒนธรรม ไม่ให้ถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา พวกเขาทำกันได้อย่างไร เลือดไทยถึงได้เข้มข้นแม้จะอยู่บนแผ่นดินอื่นก็ตาม"

     เนื่องจากดิฉันเป็นคนที่ติดทีวีค่อนข้างมาก  บางครั้งก็รู้สึกว่าไม่มีรายการอะไรที่ชอบและอยากดูในช่วงนั้นๆ แต่บางครั้งก็ยังนั่งหน้าทีวี มือถือรีโมทเปลี่ยนช่องโน้นช่องนี้ไปมาอยู่เรื่อย  จนต้องแก้ด้วยการหาหนังสือมาอ่าน  และต่อ internet เพื่อหาอะไรดีดีอ่านใน Gotoknow ดูจะมีประโยชน์กว่า  แต่เมื่อคืน (5 ก.ย. 49 ประมาณ4 ทุ่ม) ดิฉันไม่แน่ใจว่ามีใครได้ดูรายการ "คนค้นฅน" ทางช่อง 9 บ้าง  ดิฉันดูไปร้องไห้ไปเพราะซาบซึ้งในความรักที่คนไทยที่แม้ไม่ได้เกิด  และไม่ได้อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยที่มีต่อประเทศไทย มีต่อภาษา และศิลปวัฒนธรรมไทย  ดิฉันถึงกับต้องมาหาบทความที่ทางรายการได้เขียนไว้เพื่ออ่านซ้ำอีกครั้ง และถือโอกาสนำมาบันทึกให้กับท่านที่สนใจได้อ่านและร่วมซาบซึ้งใจไปด้วยกันค่ะ ...

     “นับตั้งแต่ พ.ศ. 2452 หลังจาก ‘ประเทศสยาม’ เสียดินแดนส่วนหนึ่งที่เรียกว่า ‘รัฐไทรบุรี’ ให้กับประเทศอังกฤษไป ก็มิได้สูญเสียเฉพาะผืนแผ่นดินไปเท่านั้น หากแต่ชุมชนคนไทยที่อยู่กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษก็ได้ติดไปกับผืนแผ่นดินนั้นไปด้วย บางคนจึงเรียกพวกเขาว่า ‘คนติดแผ่นดิน’ ที่ถูกโอนถ่ายกลายเป็นคนบนแผ่นดินอื่น แต่พวกเขากล้าพูดได้เต็มปากว่าพวกเขาคือ ‘คนไทย’ แม้จะไม่ได้อยู่บนผืนแผ่นดินไทยก็ตาม

     ‘คนค้นฅน’ จึงขอตามรอยค้นคนเชื้อสายไทยสัญชาติมาเลเซีย โดยเฉพาะในรัฐเคดาห์ ซึ่งเป็นรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย ที่มีผืนแผ่นดินติดกับชายแดนทางภาคใต้ของประเทศไทย และมีคนไทยรวมตัวกันมากที่สุดจำนวนหนึ่ง พวกเขายังคงรักษารากเหง้าเอกลักษณ์ของความเป็นคนไทย และรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีความเป็นไทยไว้อย่างเหนียวแน่น แม้เวลาจะผ่านมาเกือบ 100 ปีแล้วก็ตาม

     คนมาเลเซียจะเรียกคนที่มีเชื้อสายไทยว่า ‘โอรัง เสียม’ ซึ่งแปลตามตัวว่า ‘คนไทย’ แต่ก็ไม่ได้มีนัยยะของการดูถูกเยียดหยาม หรือแบ่งแยกชนชั้นวรรณะ หากแต่เป็นการแบ่งแยกเฉพาะเชื้อชาติ ให้รู้ว่าคนกลุ่มนี้คือคนไทยเท่านั้นเอง เหมือนกับแบ่งคนจีน คนมุสลิม คนอินเดีย พวกเขาคงอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และสงบสุข เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากความสนิทสนมกัน เติบโตมาด้วยกัน ไร้ซึ่งความขัดแย้ง

     คนไทยที่อยู่ในรัฐเคดาห์นับถือศาสนาพุทธ เรียกว่าที่ไหนมีชุมชนคนไทยอาศัยอยู่ที่นั่นต้องมีวัด จะเห็นได้จากในรัฐเคดาห์จะมีวัดไทยประมาณเกือบร้อยวัด วัดคือศูนย์กลางของคนเชื้อสายไทย และเป็นศูนย์รวมของคนในหมู่บ้าน เป็นศูนย์รวมของความเป็นไทยทั้งหมด รวมถึงเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจของชุมชนชาวไทย

     “คนไทยในมาเลเซียยึดถือในประเพณีเป็นอย่างมาก อย่างเช่นประเพณีการบวช ไม่ว่าจะเป็นการบรรพชาหรืออุปสมบท เราจะเคร่งครัดมาก จะมีการมาฝากนาคให้มาอยู่ที่วัดก่อนประมาณเกือบเดือน เพื่อให้มาศึกษาพระธรรม และฝึกท่องบทสวดมนต์ไหว้พระ จะมีการสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ คนที่เป็นคนไทย และพร้อมจะบวชเรียนต้องเข้ามาเรียนหนังสือ และมาท่องบทสวดมนต์ตั้งแต่เด็กๆ เรียนกันตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงประถมในโรงเรียนสอนภาษาไทยที่อยู่ในวัด เริ่มตั้งแต่ท่อง ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก การสะกดคำ จนกระทั่งอ่านออกเขียนได้ เพราะถ้าอ่านหนังสือไทยไม่ออกก็อ่านบทสวดมนต์ไม่ได้ เราจะใช้ภาษาไทย และตัวหนังสือไทยทุกอย่าง เพราะไม่อยากให้ภาษาไทยหายไป พออายุครบ 21 ปีก็มาบวช เพราะฉะนั้นต้องรู้ภาษาไทย ไม่อย่างงั้นก็ไม่เข้าใจความหมาย และจะเข้าไม่ถึงในพระธรรม”

     คนเชื้อชาติไทยในรัฐเคดาห์ เห็นพ้องต้องกันอย่างไม่มีใครคัดค้านว่า “มีอยู่ 3 อย่างที่ยึดถือในจิตใจของชาวไทยที่นี่คือ ชาติ ศาสนา และภาษาของชาติ ชาติ’ ก็คือชาติไทย ‘ศาสนา’ ก็คือศาสนาพุทธ ‘ภาษาของชาติ’ ก็คือภาษาไทยของเรานั่นเอง เป็น 3 สิ่งที่อยู่ในใจพวกเราตลอดมา ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปชีวิตก็จะไม่สมบูรณ์ ถึงแม้ว่าเรานับถือศาสนาพุทธ แต่ไม่รู้ภาษาไทย แล้วเราจะสื่อสารกันอย่างไร จะสอนลูกหลานของเราได้อย่างไร และเราจะเรียกตัวเองว่าเป็นคนไทยได้หรือไม่ อีกส่วนที่อยู่ลึกๆ ของจิตใจพวกเราคือ เรายังเคารพพระมหากษัตริย์ของไทยก็คือในหลวงของเรา ไล่ตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน อย่างเช่นรูปในหลวงก็มีกันเกือบทุกบ้าน”

     แม้ในปัจจุบันคนไทยที่อยู่ที่นี่ส่วนใหญ่จะเกิดและเติบโตบนแผ่นดินมาเลเซียจนนับเป็นรุ่นที่ 3 แล้วก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นการสืบทอด และรักษารากเหง้า เอกลักษณ์ความเป็นไทยไว้ นั่นคือ  ชื่อและนามสกุลที่บ่งบอกว่าเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซนต์ พวกเขาบอกว่าถ้ามีลูกก็จะตั้งชื่อเป็นภาษาไทย และจะบอกลูกให้ตั้งชื่อลูกรุ่นต่อๆ ไปด้วยชื่อไทยด้วยเช่นกัน

     ชุมชนคนไทยในแผ่นดินมาเลเซีย ยังคงเป็นชุมชนที่สงบสุข มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย อีกทั้งยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทยไว้ได้แทบจะสมบูรณ์เสียยิ่งกว่าชุมชนบางกลุ่ม ที่กำลังถูกกระชากลากทึ้งทำลายด้วยระบบกระแสบริโภคนิยม และคนไทยกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้เอง กลับเลือกที่จะสร้างพลังให้ปรากฏขึ้นเป็นชุมชนของตน จนเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ด้วยการรักษารากเหง้า ประเพณี และวัฒนธรรม ไม่ให้ถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา พวกเขาทำกันได้อย่างไร เลือดไทยถึงได้เข้มข้นแม้จะอยู่บนแผ่นดินอื่นก็ตาม"

     "หวังอยากให้คนไทยรักกัน  อยากให้คนไทยรักแผ่นดิน  ด้วยความรักและเคารพคนไทยทุกคนค่ะ"

     เข้าชมรายการได้ที่ www.mcot.net  รายการคนค้นฅน  ตอนตามรอยเลือดไทยในเคดาห์

     ที่มา  :  www.jsl.co.th

คำสำคัญ (Tags): #คนไทย#เก็บมาฝาก
หมายเลขบันทึก: 48617เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2006 12:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

กว่าจะเป็นชาติ

กว่าจะมีแผ่นดิน

แล้วได้เป็นชาติของเรา เป็นแผ่นดินของเรา

ก็ของให้พวกเรารัก และดูแล

เพื่อ ลูกหลาน และคนรุ่นหลัง กันต่อไปครับ

ขอบคุณครับ

อ่านแล้วอดคิดถึงคนไทยบางจำพวก ที่ร้องเพลงภาษาไทยก็ไม่ค่อยชัด  หรือเด็กวัยรุ่นที่มักเขียนภาษาไทยแบบผิดๆ  อ่านแล้วรู้สึกรำคาญจริงๆ

ขอขอบคุณอาจารย์เจนจิต...                                

  • เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากครับ
  • ได้ยินมาว่า มีคนไทยไปทำบุญประเภทผ้าป่า กฐินในมาเลเซีย > บางทีอาจจะไปทำบุญร่วมกับคนไทยกลุ่มนี้นี่เอง

ผมเคยดูรายการนี้แล้ว ซาบซึ้งมาก เข้าใจความรู้สึกของชนกลุ่มน้อย เมื่อต้องมาอยู่ร่วมกับชนกลุ่มใหญ่ที่ไม่ไช่เชื้อชาติเดียวกัน เหมือนกับตัวเองขาดที่พึ่ง ความรู้สึกของคนไทยในเคดาห์ คงอยากจะกลับมาอยู่ร่วมกับคนไทยในประเทศไทย พวกเขามีความรู้สึกที่ดีต่อคนไทย แต่ถ้าหากเขาได้มาอยู่ในเมืองไทยจริง ๆ ในปัจจุบัน เขาคงทำใจไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลงที่เมืองไทยเป็นอยู่ในปัจจุบัน ดูรายการนี้แล้วทำให้เกิด ความรักในชาติไทย รักวัฒนธรรมไทย ประเพณีไทย ศรัทธาในศาสนาพุทธ ที่มีความงดงาม เรียบง่าย มีความสามัคคีกัน ทำไมรายการดี ๆ เช่นนี้ จึงไม่มีใครเห็นความสำคัญ อยากจะให้คนไทยในประเทศไทย เป็นกำลังใจต่อคนไทยในต่างแดน น่าจะมีกิจกรรมติดต่อเชื่อมโยงความสัมพันธกัน ไม่ว่าเป็นภาคเอกชน หรือ ภาครัฐ โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมประเพณีไปที่เคดาห์ ในช่วงมีการทำบุญทางศาสนา หรือทางสถาบันการศึกษาของไทย น่าที่จะให้ความสำคัญ อาจจะมีทุนการศึกษาให้กับคนไทยในต่างแดน มาศึกษาในประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยควรริเริ่ม ประชาสัมพันธ์ การท่องเที่ยวไปพบคนไทยในต่างแดน โดยร่วมในช่วงที่มีประเพณีทางศาสนา คงจะทำให้คนไทยในเคดาห์ มีความอบอุ่นใจ ที่ได้พบปะกับคนไทย ไม่รู้สึกถูกทอดทิ้งไป ผมอยากจะได้รายการนี้ ใครที่อัดรายการดังกล่าวเอาไว้ หรือ ทางช่อง ๙ มีแจ้งให้ทราบด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท