ตัวอย่างการวิจัยแบบ PAR


การดำเนินงานธุรกิจกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านยือริ

ตัวอย่างการวิจัยแบบ PAR

เรื่อง

การดำเนินงานธุรกิจกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านยือริ

หมู่ที่ 5  กิ่งอำเภอกรงปินัง  จังหวัดยะลา

----------- 

      การดำเนินงานธุรกิจกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านยือริ  หมู่ที่ 5  กิ่งอำเภอกรงปินัง  จังหวัดยะลา  เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม  ระหว่างนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร  เกษตรตำบล และสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร  ระหว่างเดือนสิงหาคม 2542 - กุมภาพันธ์ 2543

     กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านยือริ  จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2536  ปี พ.ศ. 2538 มีการออมทรัพย์  ปี พ.ศ. 2540  กรมส่งเสริมการเกษตร สนับสนุนงบประมาณ จำนวน  15,000 บาท  จึงได้ผลิตกล้วยกรอบแก้วออกจำหน่าย  ปี พ.ศ. 2541  กรมส่งเสริมการเกษตร ได้สนับสนุนงบประมาณอีก จำนวน  60,000 บาท  ปรากฎว่า ถั่วเคลือบน้ำตาล ขายได้ดี  ตามร้านน้ำชา กาแฟ  ในหมู่บ้านจึงได้ผลิตออกจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง

     ในปี พ.ศ. 2542  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร  จากสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา  ร่วมกับเกษตรตำบล และสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร  ซึ่งมีจำนวน  12 คน  ได้ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา และนำแนวทางแก้ไขไปปฏิบัติ  โดยระยะแรก มีการประชุมร่วมกันทุกสัปดาห์  จนกระทั่งกลุ่มสามารถดำเนินการประชุมได้ด้วยกลุ่มเอง 

     จากการประชุมวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน  กลุ่มจึงได้มีการปรับปรุง พัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป  ในสิ่งต่อไปนี้

     1)  มีการแบ่งหน้าที่ให้คณะกรรมการอย่างชัดเจน  ได้แก่  ฝ่ายการตลาด  ฝ่ายการผลิต  ฝ่ายจัดหาวัสดุ  ฝ่ายการเงินและบัญชี  2) มีการประชุมคณะกรรมการทุกสัปดาห์  เพื่อแก้ไขปัญหาบริหารงาน  ปัญหาบางประเด็น ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมประจำเดือนของสมาชิก  3)  ออกระเบียบข้อบังคับครอบคลุมทุกเรื่อง  เช่น  การลงหุ้น  การแบ่งกำไร  ค่าแรงงาน เป็นต้น  4) จัดให้มีคณะกรรมการตรวจนับเงินสด  สินค้าคงเหลือ และปัจจัยการผลิตคงเหลือ  5) จัดวางระบบบัญชีให้ถูกต้อง  เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย  6) ระดมเงินทุนด้วยการลงหุ้นของสมาชิก  โดยแปลงเงินออมเป็นทุนเรือนหุ้น  7) จัดให้มีผู้คัดเมล็ดถั่วลิสงให้ได้คุณภาพเพื่อนำมาผลิต และคัดออกเมล็ดถั่วลิสงเคลือบน้ำตาลที่หนาเกินพอดี  8)  สำรวจร้านนำชา  กาแฟ ในหมู่บ้านต่างๆ ร้านที่เป็นลูกค้า ให้ทำทะเบียนไว้  สำหรับร้านที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ให้ทดลองนำสินค้าไปวางฝากขาย  ถ้าเป็นหมู่บ้านห่างไกล จะหาตัวแทนจำหน่าย  9) ปรับปรุงใบแทรกที่ใส่ถุงบรรจุผลิตภัณฑ์  โดยทำอักษรเครื่องหมายชัดเจน และสวยงาม  10) ขอเครดิตร้านค้าที่จำหน่ายปัจจัยการผลิต  เช่น  ถั่วลิสง  น้ำตาลทราย เป็นต้น  11) จัดทำตารางคำนวณต้นทุนสินค้า เมื่อปัจจัยการผลิตสูงขึ้นหรือต่ำลง  จะได้ปรับราคาให้สอดคล้องกับความเป็นจริง  12)  ขนาดของบรรจุภัณฑ์ มีทั้ง  1 กิโลกรัม  0.5  กิโลกรัม  แต่ที่ขายได้ดี คือ แบ่งใส่ถุงเล็กๆ แล้วร้อยเป็นพวง  จำนวน  12 ถุงต่อพวง  13) สมาชิกได้รายได้จากค่าแรงงานการผลิตถั่วลิสงเคลือบน้ำตาล และแบ่งกำไรตามทุนหรือหุ้น  14) ปรับปรุงภูมิทัศน์รอบๆ โรงงาน  ทำทางระบายน้ำ  15)  ส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปลูกถั่วลิสง

     ผลการวิจัย  ทำให้กลุ่มสามารถผลิตถั่วเคลือบน้ำตาล ได้วันละ  120 กิโลกรัม  นำออกจำหน่ายตามร้านน้ำชา กาแฟ  ภายในหมู่บ้าน ทั้งอำเภอที่ตั้งและอำเภอใกล้เคียง  รวม  450 ร้าน  ภายใน  5 เดือนแรก  กลุ่มมีกำไรสุทธิ  21,852 บาท  สมาชิกมีรายได้จากค่าแรงงานผลิตถั่วเคลือบน้ำตาล คนละ  1,719.50 บาท/เดือน

*********

หมายเลขบันทึก: 48609เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2006 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท